top of page

พบผลการค้นหา 220 รายการ

  • ความเจ็บปวดที่ชุมชนป้อมมหากาฬ "เมืองประวัติศาสตร์ต้องมีชุมชน"

    เผยแพร่ครั้งแรก 1 มี.ค. 2559 วัดราชนัดดารามฯ พ.ศ. ๒๔๖๓ และ ๒๕๑๑ ตามลำดับ Image Source: Kanno Rikio, Japan, จากเพจ https://www.facebook.com/77PPP หลังจากเงี่ยหูฟังมาโดยตลอดของยุคสมัยที่มีกฎหมายสูงสุดกลายเป็นมาตรา ๔๔ และรัฐธรรมนูญทั้งฉบับกำลังถูกร่างแล้วร่างเล่าและยังไม่เห็นภาพของกฎหมายสูงสุดของประเทศที่จะทำให้ชีวิตวัฒนธรรมของชาวไทยดำเนินไปอย่างสันติสุขเสียที หลังจากกรุงเทพมหานครเริ่มไล่รื้อย่านตลาดเก่าและตลาดใหม่ ที่ทำมาหากินของชาวบ้านชาวเมืองไปแทบจะหมดเพื่อพัฒนาพื้นที่ตามเกณฑ์การจัดระเบียบพื้นที่ต่าง ๆ ก็มาถึงลำดับการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ งานสำคัญที่ยังทำไม่เสร็จตลอดระยะเวลาเข้าปีที่ ๒๔ แล้ว แม้ปัญหาจะยืดเยื้อเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบมามากมายจนแทบจะไม่รู้จุดเริ่มต้นหรือจุดสิ้นสุดของปัญหาการไล่รื้อชุมชนที่นับวันจะกลายเป็นนโยบายแสนจะล้าหลังไปแล้วว่า ควรมีกระบวนการแก้ปัญหาที่ใดหรือทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทั้งกระบวนการพัฒนาพื้นที่ย่านเมืองเก่า การท่องเที่ยวเมืองประวัติศาสตร์ และทำลายภาพลักษณ์ของประเทศด้วยความรุนแรงในการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมมากไปกว่านี้ รู้จัก "ตรอกพระยาเพชรฯ" และความเป็นชุมชนย่านชานพระนคร เมื่อผู้สื่อข่าวไปถามผู้อำนวยการท่านหนึ่งของกรุงเทพมหานครถึงเรื่องการไล่รื้อชุมชนที่อาจเสี่ยงต่อการหายไปของชุมชนเก่าแก่ภายในย่านของกรุงเทพมหานคร ท่านให้คำตอบกลับมาว่า บริเวณชุมชนที่ใกล้ กับป้อมมหากาฬนั้นไม่มีรากเหง้าหลงเหลืออีกแล้ว หากจะมีก็ต้องให้เห็นภาพประจักษ์ดังเช่น "บ้านสาย" ที่เคยถักสายรัดประคดแต่เลิกไปหลายปีแล้วเพราะไม่มีผู้ทำ แต่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ของเอกชนที่ลูกหลานได้รับพระราชทานที่ดินจากพระมหากษัตริย์ในการเป็นผู้บูรณะวัดเทพธิดารามฯ หรือต้องเห็นคนนั่งตีบาตรแบบ "บ้านบาตร" ย่านตีบาตรพระมาตั้งแต่เริ่มสร้างกรุงฯ และปัจจุบันยังมีผู้สืบทอดการตีบาตร คนบ้านบาตรต่อสู้กับโรงงานปั๊มบาตรราคาถูกด้วยตนเอง ไม่มีหน่วยงานใดไปช่วยเหลือ ทุกวันนี้ยังตีบาตรกันอยู่ ๓-๔ รายด้วยลมหายใจรวยริน และแน่นอนพื้นที่นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งกรุงเทพมหานครไม่มีส่วนได้เสียหรือรับผิดชอบร่วมจัดการให้คนอยู่กับย่านเก่าแต่อย่างไร บรรยากาศภายในชุมชนป้อมมหากาฬในปัจจุบัน จะให้เข้าใจกันมากกว่านี้ ต้องขอส่งผ่านความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองกรุงเทพมหานครในบริเวณที่เป็นเมืองกรุงเทพฯ แต่แรกเริ่มในพื้นที่ย่านประวัติศาสตร์ กรุงเทพมหานครเป็น “ เมืองประวัติศาสตร์” แห่งหนึ่งที่ยังมีชีวิต [Living Historic City] ซึ่งแม้จะมีร่องรอยกลิ่นอายชุมชนย่านเก่าแก่ทั้งหลายอยู่ แต่ดูเหมือนจะไม่มีการศึกษาหรือกล่าวถึงเป็นชิ้นเป็นอันที่เป็นการศึกษาจากภายใน ชุมชนที่ยังมีชีวิตเหล่านี้ต่างเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยที่กรุงเทพฯ ได้เปลี่ยนแปลงมากว่า ๒๐๐ ปี จากเมืองตามขนบจารีตแบบเมืองโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั่วไป มาเป็นเมืองในแบบสมัยใหม่ตั้งแต่เมื่อราวรัชกาลที่ 4 ลงมา และปรับเปลี่ยนไปมากเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ราชสำนักที่เคยอุปถัมภ์งานช่างงานฝีมือ การมหรสพต่างๆ ของผู้คนรอบพระนครก็เปลี่ยนแปลงไป จนต้องมีการผลิตและค้าขายด้วยตนเอง ซึ่งก็มักต้องพบกับทางตัน และทำให้งานช่างฝีมือเหล่านี้ที่ไม่ได้รับการเอื้อเฟื้อจากราชสำนักขุนนาง คหบดีอีกต่อไปแล้วถึงแก่กาลจนแทบจะหายไปหมดสิ้น จากย่านสำคัญต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เหลือไว้แต่เพียงผู้สูงอายุที่เคยทันงานช่างต่าง ๆ และคำบอกเล่าสืบต่อกันมา นอกกำแพงเมืองส่วนที่ต่อกับคูคลองเมืองนั้นเรียกว่า “ชานพระนคร” เป็นพื้นที่ซึ่งเคยนิยมอยู่อาศัยเป็นธรรมเนียมปกติ สืบทอดกันมาตามขนบชุมชนแบบโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อกับกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นเมืองริมนำ้และเมืองลอยน้ำที่มีการคมนาคมและซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าโดยใช้เรือเป็นพาหนะผู้คนจึงนิยมอาศัยทั้งบนเรือ ในแพ และบ้านริมน้ำมากกว่าบริเวณพื้นที่ภายในที่ต้องใช้การเดินบนบก บริเวณ "ชานพระนคร" ด้านหน้ากำแพงเมืองใกล้ป้อมมหากาฬมาจนจรดริมคลองหลอดวัดราชนัดดาเป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชการ และชาวบ้านมาหลายยุคสมัยมีการปลูกสร้างอาคารเป็นแนวยาวตลอดตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศจรดแนวคูคลองวัดเทพธิดารามในปัจจุบัน ในบุคตั้งแต่ราวครั้งรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา บริเวณนี้ผู้คนเรียกกันว่า "ตรอกพระยาเพชรฯ" ชุมชนป้อมมหากาฬ พ.ศ. ๒๕๑๕ ช่างภาพ Nick DeWolf, Image Source: Steve Lundeen, Nick DeWolf Photo Archive, United States, จากเพจ https://www.facebook.com/77PPP ชุมชนป้อมมหากาฬ พ.ศ. ๒๕๑๕ ช่างภาพ Nick DeWolf, Image Source: Steve Lundeen, Nick DeWolf Photo Archive, United States, จากเพจ https://www.facebook.com/77PPP  "ตรอกพระยาเพชรฯ" เคยเป็นนิวาสสถานของพระยาเพชรปาณี (ตรี) ข้าราชการกระทรวงวังและเป็นชาวปี่พาทย์โขนละครเป็นแหล่งกำเนิดลิเกทรงเครื่อง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเขียนถึงสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ใน "สาส์นสมเด็จ" ถึงต้นกำเนิดของลิเกว่า อาจจะเป็นพระยาเพชรปาณี (ตรี) ติดตั้งโรงลิเกเก็บค่าดูและเล่นเป็น "วิก" ตามแบบละครเจ้าพระยามหินทรที่มีวิกละครอยู่ที่ท่าเตียน และเล่นเป็นเรื่องต่าง ๆ เหมือนอย่างละครไม่เล่นเป็นชุด โดยเอาดิเกร์แบบชาวมลายูผสมกับละครนอกของชาวบ้านเริ่มเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๐ ลิเกของพระยาเพชรปาณีเป็นลิเกแบบทรงเครื่องคือส่วนที่เป็นสวดแขกกลายเป็นการออกแขก มีผู้แสดงแต่งกายเลียนแบบชาวมลายูออกมาร้องเพลงอำนวยพร ส่วนที่เป็นชุดออกภาษากลายเป็นละครเต็มรูปแบบ วงรำมะนายังคงใช้บรรเลงตอนออกแขก แต่ใช้ปี่พาทย์บรรเลงในช่วงละคร เดินเรื่องฉับไว เครื่องแต่งกายหรูหราเลียนแบบข้าราชสำนักในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และเอาใจความชอบแบบชาวบ้าน เพลงรานิเกลิงหรือเพลงลิเกคิดขึ้นโดย นายคอกคิน เสือสง่า ในยุคลิเกทรงเครื่องช่วงรัชกาลที่ ๖ แพร่หลายไปทั่วภาคกลางอย่างรวดเร็ว มีวิกลิเกเกิดขึ้นทั้งในพระนครและต่างจังหวัดนำเนื้อเรื่องและขนบธรรมเนียมของละครรำมาใช้ แต่เมื่อเกิดสงครามโลกครั้ง ๒ มีความขาดแคลนไปทั่ว ลิเกทรงเครื่องก็หมดไป วงรำมะนาที่ใช้กับการออกแขกก็เปลี่ยนไปใช้วงปี่พาทย์แทน ต่อมานายหอมหวล นาคศิริ ได้นำเพลงรานิเกลิงไปร้องด้นกลอนสดดัดแปลงแบบลำตัดทำให้เป็นที่นิยมจนมีชื่อเสียงและมีลูกศิษย์มากมาย วิกลิเกที่โด่งดังมาตลอดยุคสมัยของความนิยมในมหรสพชนิดนี้คือ "วิกเมรุปูน" ซึ่งอยู่ทางฝั่งวัดสระเกศฯ และไม่ไกลจากวิกลิเกดั้งเดิมของพระยา เพชรปาณี ที่ใกล้ป้อมมหากาฬ ตัวอย่างร่องรอยของผู้คนที่เกี่ยวเนื่องในการแสดงมหรสพลิเกในย่านตรอกพระยาเพชรฯ คือสถานที่ผลิตเครื่องดนตรีไทย ตั้งเสียงระนาด และขุดกลองคุณภาพดีในช่วงรัชกาลที่ ๖ ที่ควรจดจำคือ  นายอู๋และนางบุญส่ง ไม่เสื่อมสุข  ที่เป็นผู้สร้างกลองเป็นพุทธบูชาในหลายวัดและที่สำคัญคือ กลองที่ “ศาลเจ้าพ่อหอกลอง” กรมการรักษาดินแดน ข้างกระทรวงมหาดไทย บ้านของนายอู๋และนางบุญส่ง ไม่เสื่อมสุข สืบทอดมาจากบิดาอีกทอดหนึ่ง และท่านทั้งคู่เป็นตาและยายของ คุณธวัชชัย วรมหาคุณ ผู้นำชุมชนป้อมมหากาฬ ผู้ซึ่งอายุห้าสิบกว่าปีแล้ว ดังนั้น บ้านหลังนี้จึงอยู่อาศัยสืบทอดตกกันมาไม่ต่ำกว่าในยุครัชกาลที่ ๕ หรือน่าจะใกล้เคียง ซึ่งควรจะมีรากเหง้าอยู่อาศัยมาไม่ต่ำกว่าร้อยปีแล้ว พื้นที่ดังกล่าวของบ้านเรือนในป้อมมหากาฬมีเจ้าของที่ดินหลายโฉนดหลายแปลงทั้งของเอกชนและของวัดราชนัดดาฯ เมื่อต้องถูกพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินเพื่อใช้สำหรับสร้างสวนสาธารณะให้กับโครงการเกาะรัตนโกสินทร์ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อครั้งหลังยังมีกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ที่ต้อง “ปรับภูมิทัศน์” พื้นที่ต่าง ๆ ในย่านเมืองประวัติศาสตร์ โดยไม่เห็นความสำคัญของชุมชนที่อยู่อาศัยมาแต่เดิมและคงอยู่ในสภาพทรุดโทรมเพราะติดปัญหาในด้านทุนทรัพย์ซ่อมแซมในรุ่นลูกหลานและเปลี่ยนมือเนื่องจากการย้ายออกไปของกลุ่มตระกูลและการย้ายเข้าของผู้มาใหม่ ซึ่งเป็นปกติของการอยู่อาศัยในย่านเมือง  การออกพระราชบัญญัติเวนคืนในยุคดังกล่าวนั้น น่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสืบตกทอดมาถึงทุกวันนี้คือ  “ไม่ได้ศึกษารอบด้านในเรื่องประวัติศาสตร์สังคมของชุมชนต่างๆ จนละเลยจนกระทั่งถืออภิสิทธิ์ไม่เคารพสิทธิชุมชนหรือกฎเกณฑ์ทางสังคมที่ถือเอากรรมสิทธิ์ทางกฎหมายปัจจุบันเป็นหลักแบบมัดมือชก”   เช่นนี้   เป็นที่น่าหดหู่เมื่อเกิดปัญหาการไล่รื้อชุมชน ซึ่งกรุงเทพมหานครให้ข่าวว่าจะกำหนดให้เสร็จสิ้นในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙ นี้ โดยไม่ได้เริ่มเจรจากับชุมชนแต่อย่างใด  ชุมชนตามธรรมชาติแห่งนี้ไม่สามารถเติบโตหรือสืบทอดการอยู่อาศัยในพื้นที่ชานพระนครได้มานานแล้วเพราะการไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการปกครองของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากปัญหาทางกฎหมายจากพระราชบัญญัติเวนคืนและการควบคุมไม่ให้มีผู้คนเพิ่มจากที่มีอยู่เดิม   แต่พื้นที่เหล่านี้ยังมีผู้คนที่สืบทอดความทรงจำของคนตรอกพระยาเพชรปราณี วิกลิเกแหล่งมหรสพชานพระนครอยู่ และยังคงสภาพความร่มรื่นชื่นเย็นในบรรยากาศแบบเมืองประวัติศาสตต์ในอดีตที่ยังมีชีวิตชีวา  หากกรุงเทพมหานครยังยืนยันว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินจากพระราชบัญญัติเวนคืนที่ศาลปกครองได้ตัดสินไปแล้ว โดยไม่สนใจสิทธิแบบจารีตและสิทธิชุมชนที่ควรจะได้รับการพูดคุยถกเถียงในช่วงเวลาที่การท่องเที่ยวชุมชนและการท่องเที่ยวเมืองประวัติศาสตร์กำลังเป็นที่เข้าใจแก่ผู้คนทั่วไปและเห็นประโยชน์ในการเก็บรักษามรดกวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ที่มีผู้คนอยู่อาศัยได้จริงและมีชีวิติชีวานั้นไว้ หากจะเหลียวมองดูการทำงานการจัดการกับชุมชนในพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับที่ทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติต่อชุมชนต่าง ๆ มาเป็นเวลาสักระยะแล้ว เพื่อทำให้ผู้คนสามารถอยู่อาศัยในพื้นที่ประวัติศาสตร์ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีระบบระเบียบและสร้างความเป็นชุมชนด้วยการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อดูแลตนเอง ก็จะช่วยให้พื้นที่เหล่านี้ไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นการสร้างตึก สร้างสนามหญ้าที่ไม่มีจิตวิญญาณหรือบรรยากาศของสภาพความเป็นเมืองประวัติศาสตร์แต่อย่างใด พวกเราสูญเสียสิ่งมีค่าในพระนครเก่าของเราไปแล้วมากมายและไม่สามารถเรียกคืนได้เนิ่นนานแล้ว อย่าปล่อยให้ชาวบ้านที่ย่านป้อมมหากาฬต่อสู้เพียงลำพัง การย้ายออกไปนั้นง่ายดาย แต่หากย้ายไปแล้ว หมดสิ้นสภาพย่านเก่าที่มีชีวิตวัฒนธรรมให้เหลือเพียงความทรงจำในแผ่นป้ายหรือกระดาษนั้น ไม่นับว่าเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดินและผู้คนแต่อย่างใด หากมีการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นมรดกแห่งความบอบช้ำและความสูญเสียที่พวกเราต้องรับไม้ต่อแทนชาวชุมชนป้อมมหากาฬ เป็นมรดกแห่งความทุกข์ยากที่ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งมอบไว้ให้ผู้คนในเมืองกรุงเทพฯ และปัญหาอันไม่มีวันจบสิ้นนี้พวกเราทั้งสิ้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกันสืบต่อไปนานเท่านาน เป็นตราบาปแก่ใจที่ไม่สามารถพูดคุยให้เกิดความก้าวหน้าในการจัดการเมืองประวัติศาสตร์ที่มีปัญหายืดเยื้อยาวนาน จนแทบจะไม่น่าเชื่อว่าเรากำลังสู้ทนในสิ่งเหล่านี้เพื่ออะไร วลัยลักษณ์ ทรงศิริ อ่านเพิ่มเติมได้ที่:

  • ตลาดนางเลิ้งยังไม่ตาย

    เผยแพร่ครั้งแรก 1 ธ.ค. 2558 โรงหนังอาคารไม้ที่เหลืออยู่แห่งเดียวในกรุงเทพมหานคร โรงหนังเฉลิมธานีแห่งตลาดนางเลิ้ง ผมเกิดที่นี่และบริเวณตรงนี้เป็นที่พักอาศัยเริ่มแรกเลย (ใกล้กับโรงหนังเฉลิมธานี) ตลาดนางเลิ้งแต่ก่อนเป็นชุมชนที่อยู่กลางใจเมือง ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้โดยรอบก็จะมาจับจ่ายใช้สอยในตลาดนางเลิ้ง เพราะแต่ก่อนคมนาคมดี อาศัยว่ามีรถรางรอบเมืองก็เลยมาจับจ่ายใช้สอยหรือใกล้ ๆ ก็จะเดินมา ผมเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ สมัยญี่ปุ่นบุกพอดี ตอนนี้อายุ ๗๔ ปีแล้ว ชีวิตเด็ก ๆ ก่อนไปโรงเรียนผมมีหน้าที่ตั้งเตากาแฟติดเตากาแฟหรือทำอะไรก่อนถึงจะไปทานข้าวไปเรียนคุณพ่อคุณแม่ขายกาแฟค้าขายเลย และส่วนหนึ่งชีวิตมันก็ผกผันว่าพ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงเรา ส่งเราไปอยู่แถวทุ่งมหาเมฆ ไปฝากเขาเลี้ยงคือค้าขายจนไม่มีเวลาดูแล ตลาดสมัยนั้นคึกคักมาก ในละแวกนี้แม้กระทั่งคนแถวศรีย่านหรือแถวราชวัตรต้องมาทานอาหารที่นี่จะกินอาหารก็ต้องมานางเลิ้งมีทุกอย่างครับ สมพงษ์ โชติวรรณ ทายาทผู็เช่าโรงหนังเฉลิมธานี จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คุณพ่อคุณแม่เชื้อสายจีนก็มาตั้งรกรากที่นี่เป็นคนจีนจากเมืองจีนแต้จิ๋วแซ่ลี้ครับ ตรงนี้มีคนจีนเชื้อสายหลายเชื้อสาย มีแต้จิ๋ว มีแคะ มีกวางตุ้ง แต้จิ๋วจะมากกว่า แต่ไหหลำจะไปอยู่ทางวัดสระเกศมากกว่า แล้วก็ทางวัดญวนแถววัดสระเกศพวกนี้ทำเรื่องที่เกี่ยวกับธุรกิจไม้มากกว่าส่วนหนึ่งคือผมได้อยู่ได้รู้จักคนแถววัดสระเกศคนหนึ่งก็ไปขยายงานคือไปทำประปาที่สี่แยกหลานหลวงก็พยายามหาอาชีพที่ดูแล้วจะก้าวหน้าเลยขายเครื่องประปาตรงสี่แยกหลานหลวง ไปเรียนชั้นประถม เรียนอยู่พักหนึ่ง ต้องไปอยู่กับคนรู้จักครับแต่มันก็เท่ากับฝากให้ชีวิตเรามันเข้มข้นขึ้น คือเช้าก่อนจะไปโรงเรียนก็ต้องไปซื้อกับข้าวมาทำกับข้าว ติดเตาหุงข้าวอีก แต่ชีวิตเราก็มามองดูว่าเรื่องของศาสนานี้ ส่วนหนึ่งนี่บุญวาสนาเราแยะ ผมว่าเป็นตัวอย่างที่เราจะช้าหรือเร็วต้องใส่บาตรทุกเช้า บุญกุศลจะส่งเสริมให้เราไม่ตกอับ บางทียังนึกถึงว่าเรามีหน้าที่อย่างนี้ทำมันก็มาส่งเสริมให้เรามีชีวิตที่ดี เสร็จแล้วก็ต้องกลับมาที่นี่ ก็มาเรียนต่ออีกที ผมไปจบที่พาณิชย์ตั้งตรงจิตร ความเห็นพ่อไม่อยากให้เรียน อยากให้ทำงานตรงนี้ชีวิตมันแปรผันครับก็มีเพื่อนของพ่อมาชวน ช่วงนั้นเรามาทำธุรกิจเช่าโรงหนังจากสำนักงานทรัพย์สินฯ ดำเนินการอยู่ ผมอายุสิบกว่ายังไม่ถึงยี่สิบปีพ่อก็อยากจะทำน่ะ เพราะว่าจริง ๆ เราอยู่หน้าโรงหนัง ขายอาหารก็เลยได้สัมผัสมาโดยตลอด ลองดูว่ามันเป็นอาชีพที่ดีหรือไงก็เลย ก็ไปได้ดี แล้วเพื่อน ๆ คุณพ่อก็มาชวนไปช่วยบริหารโรงภาพยนตร์ที่จังหวัดระยอง ผมก็เลยช่วงนั้นต้องวิ่งขึ้นวิ่งลงระหว่างกรุงเทพฯ-ระยองระยะทางตั้งแต่สัตหีบไประยองนี่ ๔๗ กิโลเมตร ฝุ่นแดงหมดตลอดทางระยะทางจากกรุงเทพฯ ไปถึงระยองลาดยางแค่ถึงสัตหีบ จากสัตหีบไประยองเป็นทางฝุ่นแดง เป็นโรงหนังใหม่ของเทศบาลครับ ช่วงนั้นอายุ ๒๐ กว่าช่วงนั้นก็วิ่งขึ้นวิ่งลงพ่อแยกมามีร้านขายเครื่องประปาตอนอายุ ๑๐ กว่าปี ผมก็ได้ฝากงานอยู่หลายอย่าง เพราะสมัยก่อนตรงหลานหลวงก็ตรงข้ามกับบริษัทสหศรีชัยของคุณบรรหาร ตรงหลานหลวง ตรงข้ามกันเลย ตอนที่เรามาทำครั้งแรกมันไม่ดีทีเดียว แต่ทุกอย่างมันก็ค่อยเติบโตของมัน แต่ก่อนมีลิเกอะไรบ้าง หนังยังไม่เข้ามาเต็มที่มันก็มีข้อจำกัด เพราะแต่ก่อนหนังจะเป็น 16 มิลลิเมตร ก็ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นหนังไทยที่ไปเปิดมีเพลงเป็นเสียงในฟิล์มก็คงไปล้อจากหนังอินเดียทุกข์ก็ร้องเพลง ดีใจก็ร้องเพลง หนังไทยเวลานั่นเสร็จต้องมีเพลงประกอบ ก็ค่อย ๆ พัฒนาตอนเริ่มทำคือหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ เล็กน้อย เข้าสมัยจอมพลสฤษดิ์แล้ว ตอนนั้นผมเข้าพาณิชย์แล้ว เข้าเรียนตั้งตรงจิตรแล้ว บุ๊กกิ้งหรืออะไรต่างๆ ก็เป็นเจ้าหน้าที่หนึ่งคนที่ทำ เราเป็นคนบริหาร เราก็เท่ากับเรียนรู้วิธีการทำงานของเขาจะจัดมาเป็นกรุ๊ปเข้ามาเลย เป็นสายของเขาอยู่แล้ว โรงหนังมีไม่มากครับ มีบางลำพู มีบุศยพรรณ โรงหนังศรีบางลำพูอยู่ทางวัดบวร บุศยพรรณก็อยู่ทางตลาดนานา แล้วก็มาที่นางเลิ้งแล้วก็ไปทางบางกระบือ ไปบางซื่อก็มีหนังหลายเรื่องที่คนมาแย่งตีตั๋วหนังดู แต่จริง ๆ โรงหนังมันจะมีเวที นอนดูบนเวทีเลย ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าสมัยก่อนสิ่งบันเทิงมันมีจำกัด ทีวีก็ไม่มีต้องคนที่มีฐานะดีถึงจะมีเครื่องรับทีวี สื่อที่ถูกที่สุดคือภาพยนตร์ สมัยก่อนเขาจะมีนักเลงประจำถิ่น ถิ่นใครถิ่นมันอยู่ คือต้องมีชั้นก็เป็นตัวเอ้ในทางถิ่นนี้จะมีฉายาหมดพวกนี้มาจากบางลำพูพวกนี้นางเลิ้งหรืออะไร บางทีพวกนี้มาลองของอยู่ยงคงกระพัน เพราะแต่ก่อนต้องสักยันต์ เราจะเห็นคนโบราณมาสักยันต์หรืออะไรต่าง ๆ มีอะไรก็มาลองของกันบ้างจะเป็นนักเลงหัวลำโพงมากกว่าที่ดังที่มีชื่อสมัยยุคโน้นมันยุคเกชา เปลี่ยนวิถี พวกนั้นนักเลง ถ้าจีบผู้หญิงมันเป็นอีกเรื่องคือ แม่ค้าที่นี่ขายของต้องแต่งตัวสวยเป็นเอกลักษณ์ที่คนจะต้องมาซื้อของ สินค้าจะขายได้ไม่ได้แม่ค้าจะออกมาขายของต้องแต่งตัวสวย แม้กระทั่งขายขนมหวานอะไรต่าง ๆ พอตกเย็นต้องแต่งตัวสวย พอลูกค้ามาแล้ว เรียกว่าแต่งตัวแข่งกันเลยล่ะ ร้านค้านี่ต้องแต่งตัวแข่งกัน สนุกนะ พูดถึงแล้วก็สนุกขนมหวานจะขายตรงนี้ออกไปทางซอย ออกทางเส้นคลองผดุงกรุงเกษม มันจะเป็นช่วง ๆๆ ดักลูกค้า หน้าโรงหนังเป็นร้านค้าร้านขายอาหาร ตกเย็นคนก็มาจับจ่ายใช้สอยกัน ผมเทียบให้เหมือนหมู่บ้านชานเมือง ทางหมู่บ้านชานเมืองที่มีร้านค้า คนเดินขวักไขว่ ลักษณะเหมือนกันลูกค้าที่ไกล ๆ เมืองเลยก็มี คือตรงนี้ถ้าเราบอกว่า ถ้าถามอย่างนี้มันทำให้ผมนึกถึงแต่ก่อนที่ตรงนี้ที่มันรุ่งเรืองเพราะว่าส่วนหนึ่งเพราะมีทั้งกรรมกรคนจีนเป็นพวกจับกัง คำว่าจับกังคือที่มาแบกหามอะไรต่าง ๆ แล้วก็มากินใช้ตรงนี้ คนจีนแต่ก่อนมาขายโรงงานอย่างนี้บ่อย พอหมดรุ่นคนจีนคนอีสานมา คนอีสานมานี่ใช้จ่ายมาก ได้ง่ายปุ๊บก็ทำให้การสะพัดของเงิน ถ้าพูดถึงแล้วก็ตรงนี้เขาก็รับจ้างแบกของทำอะไรต่าง ๆ เสร็จ กลับมามีเงินจับจ่ายใช้สอย ตรงนี้เหมือนกับสลัมเป็นบ้านเช่า แต่จริง ๆ ก็ทำให้ตรงนี้มีความเจริญเพราะทุกอย่างจะเจริญได้จะได้จากคนหาเช้ากินค่ำมากกว่าพวกเงินเดือน วันนี้เขาได้มาปุ๊บ คนอีสานสมัยก่อนมาจะไม่คำนึงถึงเรื่องอดออมนี่ไม่เลยครับ มีเท่าไหร่ใช้หมด โรงหนังรูปแบบนี้มันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่ก่อนตรงนี้เป็นโรงที่ไม่ได้ปรับปรุงอะไรเลย แล้วเราก็มาปรับปรุงแค่ที่เราทำได้นอกจากสำนักงานทรัพย์สินฯ แล้วมีคนอื่นมาเช่าก่อนหน้าแต่ว่าทำไม่ไหวค่าใช้จ่ายเขาอาจจะสูง แต่อาศัยว่าเราทำในครอบครัวค่าใช้จ่ายมันอาจจะถูกลงแล้วเราก็ขายของอยู่ตรงนี้ด้วย ประมาณช่วง ๒๕๒๐ กว่า ๆ ตลาดยังอยู่แต่โรงหนังไปก่อน เพราะวิดีโอเข้า ผมไปทำสายอยู่ที่ภาคตะวันออก ทำสายหนังอยู่พอดีในช่วงที่โรงหนังมันลง เราก็มองดูว่าถ้าเราอยู่อย่างนี้เราตาย ก็ปรึกษาแม่บ้าน เราไปทำสวนกันดีกว่า เรามองดูว่าอาชีพจัดสวนการเกษตรมันคงจะยั่งยืน ก็เข้าไปทำสวนที่ระยอง อำเภอแกลง ที่ผมกลับมากรุงเทพฯ ก็เพราะเรากลับมามองดูบ้านเราและท้องถิ่นมันไม่มีอะไรดีขึ้นเลย พอดีมีเด็กเขาชวนว่ามาช่วยกันหน่อยที่นี่ก็เลยเข้ามาทำงานชุมนุมเกือบ ๓ ปีแล้ว แต่ผมไป ๆ มา ๆ อยู่ครับบ้านอยู่ที่นี่ คุณพ่อคุณแม่ก็ยังอยู่ที่สร้างบ้านหลังนี้ก็จะสร้างบ้านให้แม่อยู่ก็พอดีเสียชีวิตไปก่อนบ้านเพิ่งเสร็จครับ แต่ก่อนเป็นบ้านไม้ อายุ ๙๐ กว่าปีก่อนเสีย อยู่ที่บ้านนี้ตลอดและไม่ได้ค้าขายมีคนดูแลอยู่ ทุกคนก็อยากมีที่เป็นของตัวเอง ที่ตรงนี้คือที่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ หมด ผมคิดว่าผมอยู่ที่นี่ เติบโตมาได้รับความอบอุ่นพอสมควรจากสำนักงานทรัพย์สินฯ อยู่กับสำนักงานทรัพย์สินฯ คงไม่มีใครมารังแก ถึงตกลงปลงใจที่จะลงทุนทำบ้านปลูกเองครับ พื้นที่ตรงนี้เช่าที่ไม่ได้เช่าตัวอาคาร พูดได้ว่าเป็นครอบครัวที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจของนางเลิ้งก็มีหลายครอบครัว บางทีเขาก็ไปตั้งรกรากที่ดีกว่านี้มีทำแท็กซี่ไปทำอะพาร์ตเมนต์ให้เช่าก็มี ที่เขาอยู่ประสบความสำเร็จที่นี่ คนอยู่ที่นี่แล้วไปร่ำรวยที่อื่นเยอะ ที่นี่มันมีทุกอย่างทั้งการพนันและอะไรมีคนทุกรูปแบบ ผมอยากทำงานที่คืนให้สังคมเพราะส่วนหนึ่งมองว่าตั้งแต่เราเด็ก เราเคยเห็นคนในท้องถิ่น ชีวิตเขาเป็นยังไง แล้วมาถึงสภาพตอนนี้ แล้วได้เคยไปดูแถวเวียดนามอะไรต่าง ๆ ความเป็นเอกภาพตรงนี้บ้านเราก็ทำได้ทำไมเราไม่ทำแล้วถ้าเราไม่มาหยิบยื่นให้เขาอีกหน่อยก็ไม่มีอะไรเหลือ ผมเคยนั่งคิดคนเดียว ทำยังไงให้ตรงนี้เขาอยู่แบบมีความยั่งยืน ให้เขารู้จักหวงแหนในท้องถิ่น เพราะสมัยแต่ก่อนเด็ก ๆ ริมถนนมีร้านค้าต่าง ๆ ครบหมดทุกอย่าง สมัยก่อนมีห้างพระจันทร์โอสถยาแก้ปวดฟันจุลโมกข์ บริษัทเทวกรรมโอสถ ตรงนี้เป็นที่รวบรวมอะไรต่าง ๆ แล้วทำยังไงเราจะดึงโครงสร้างอะไรต่าง ๆ ย้อนยุคกลับมาได้ มันก็ดี มันเป็นการค้าขายที่เรานั่น เราก็ต้องมองถึงถ้าคนในท้องถิ่นเขาบอกอยู่ที่นี่เขามีความมั่นคงก็เป็นการทำให้ท้องถิ่นอยู่แบบยั่งยืน ที่คิด ๆ อย่างนี้นะ ผมพอแล้วตรงนี้ ถ้าเรามาหยิบยื่นให้เขาจะเป็นยังไง ปัญหาคือคนส่วนใหญ่คิดว่า ธุระไม่ใช่เรายังต้องคิดว่าจะสร้างจิตสำนึกเขายังไง ให้เขารู้จักคุณค่า ผมเสียดายเงินที่พวกผู้นำท้องถิ่น ตัวแทนชุมชนไปเที่ยวไปดูงานต่าง ๆ ไปก็เพื่อไปหาเสียง แต่ไม่เคยมาหยิบยื่นชี้แนะว่าอย่างนี้ในท้องถิ่นเรา ถ้าเราพัฒนาตรงนี้ได้ ก็ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน ถ้าเราทำขึ้นมาแล้วถ้าเผื่อมีแนวร่วมอะไรดี ๆ คู่คิดดี ๆ ก็พยายาม กำลังคิดอยู่ ผมไม่ได้มายึดติดอะไรตรงนี้ ผมได้ยินได้ฟังจากเพื่อน ๆ ครูบาอาจารย์ต่าง ๆ เขาว่าถ้าการทำงานถ้าไปถึง ๓ เจนเนอเรชั่นด้วยกัน มีผู้สูงอายุ ระดับกลาง และระดับเด็ก คือคล้าย ๆ ให้เขาได้ซึมซับว่าแล้วจะไปต่อยอดให้เป็นบ้านเราได้ คนเก่า ๆ เขาก็พูดว่าเข้ามาแล้วก็มีแต่คนมาค่อนขอดเหมือนกัน บางทีถามว่าคนที่เข้ามาวัตถุประสงค์เพื่ออะไร เพราะบางอย่างการทำงานอาจจะมายึดโยงกับประโยชน์บางส่วนบางคนเขาก็พูดว่าพรรคพวกเขาบอกอย่าท้อนะ ถ้าท้อแล้วก็หมดแล้วไม่มีอะไรแล้ว เพราะผมก็มองดูว่า ผมไม่ยกยอตัวเองนะ ผมว่าถ้ารุ่นผมไม่มาอยู่ที่นี่เรื่องเล่าหรืออะไรต่าง ๆ ก็ไม่มีอะไรเหลือ ทำยังไงจะปลูกจิตสำนึกเขา ก็พยายามสนับสนุนคนบางส่วนที่เขามีใจตรงนี้ แต่เราต้องเป็นผู้ให้อย่างเดียวนะอย่าเป็นผู้รับ คือต้องสนับสนุนเขาจนเขาเกิดแรงก่อนบางทีก็ต้องเป็นความรู้บ้าง เงินทองบ้างที่มันขาดตรงนี้ที่จะสนับสนุน แล้วก็ต้องให้กำลังใจเขา ต้องชี้เราสนับสนุนเขาเสร็จต้องชี้ว่ามันจะเป็นยังไง ยกตัวอย่างบางคนแดดร้อน อยากเรียนเรื่องโซลาร์เซลล์ บอกคุณเรียนไม่ได้ คุณยังไม่มีพื้นฐานไฟฟ้า ก้าวกระโดดไปทำอะไรไม่ได้เดี๋ยวก็ตัน เรียนพื้นฐานโครงสร้างไฟฟ้าก่อน รู้จากตรงนี้เสร็จคุณถึงมาต่อยอดตรงนี้ได้ สิ่งแวดล้อมเหมือนกัน เราก็มองดูว่า สิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องสาธารณสุขของสิ่งแวดล้อมไม่ดีสุขอนามัยของคนจะไม่ดี ก็เริ่มมาทำเรื่องของการกำจัดแยกขยะอะไรต่าง ๆ ค่อนข้างยากเคยเห็นมาหลายรุ่นแล้ว แต่ก็ต้องเป็นงานที่ท้าทายที่ต้องทำ แต่เราจะไปทำแบบหักดิบเลยไม่ได้ ต้องค่อย ๆ ก็ค่อย ๆ ทำไป ทุกอย่าง ส่วนหนึ่งเราทำงานตรงนี้ผลงานมันก็เกิดขึ้นมา เราได้เงิน SML มาแล้วเราก็มาทำ เป็นเรื่องของเสียงตามสาย ในเรื่องกล้อง CCTV ก็ทำให้เห็นเป็นรูปธรรมขึ้นบางอย่างมันต้องใช้เวลานิดนึง เราไปทำแบบหักด้ามพร้าด้วยเข่าไม่ได้ ต้องใช้เวลา เราไม่ได้โกหกตัวเอง เราทำงานไม่เต็มร้อยเพราะว่าส่วนหนึ่งจะต้องคิดถึงปากท้องเราด้วย ส่วนหนึ่งให้กับสังคมแต่ส่วนหนึ่งต้องให้กับครอบครัว มีลูกที่มารับงานต่อจากบริษัทที่ทำไว้แต่เขาก็ไม่เข้าใจในเรื่องโครงสร้างออกแบบผลิตภัณฑ์ เพราะเราเรียนรู้มาเองผมทำอะไรผมเรียนรู้ของผม คิดว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้ดูโดดเด่นคิดว่าจะทำเพราะถ้าดีขึ้นมาอะไรก็ตามมา เรื่องท่องเที่ยวก็ต้องให้เขาค่อย ๆ เรียนรู้ คือมองให้เห็นว่าจุดเด่นจุดด้อยมันอยู่ตรงไหน คือตรงนี้ค่อนข้างหนักใจเรื่องท่องเที่ยวตรงนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่เขาจะค้าขายอยู่ได้หรือไม่ได้ คือการท่องเที่ยว แต่ต้องให้เขามองดูว่าถ้าเขาทำอย่างนี้เขาจะอยู่แบบยั่งยืน ก็ยังคิดอยู่ ได้สัมผัสกับคนขายน้ำเต้าหู้ตอนเย็น ได้คุย ว่าวันธรรมดาเขาขายดี แต่เสาร์อาทิตย์เขาเหลือเบอะบะเลย ในลักษณะอย่างนี้ก็มี เลยยังมองดูว่า เออ ถ้าเรามีเงินส่วนหนึ่งที่จะมาสำารอง แต่เราไม่ได้ให้เปล่า คล้าย ๆ ขาดทุนตรงนี้ยังพอกู้ยืมได้ แต่คุณต้องใช้เพื่อให้ค้าขายได้ ทีนี้มาที่นางเลิ้งไม่มีที่จอดรถ การคมนาคมไม่สะดวกก็มีปัจจัยหลายอย่าง แต่ทีนี้ก็ต้องมองดูว่า ทางราชการมีโครงสร้างอะไรที่จะมาเชื่อมโยงกันได้ให้เขามั่นใจว่าถ้าเขาทำแล้วเขาถามได้เราก็มาคิดว่าเราก็มีของดีนะในตลาด ศาลกรมหลวงชุมพร มารื้อฟื้นคุณผิดหวังจากตลาดแต่คุณก็ยังได้มากราบไหว้เสด็จเตี่ยหรืออะไรก็คิดหลายมุมไม่ได้คิดมุมเดียว คือการท่องเที่ยวผมไม่แฮปปี้กับเขาเลย คือเขาจะจัดทริปมาแต่ละทริปก็ต้องแจ้งว่าคุณจะมีกิจกรรมอะไร คุณจะมาโปรโมตมีคูปองหรืออะไรต้องติดต่อเรา เราเป็นคนจัดการกับแม่ค้า มาไม่มาก็ไม่รู้แล้ว ไม่ได้ติดต่อมาเลยคุณจะจัดอะไร คุณบอกเรา เราเสริมคุณได้ ว่าทางชุมชนอาจมาต้อนรับ เวลาเขาเข้ามาแล้วมันเกิดความอบอุ่นมาถึงท้องถิ่น ไม่ใช่จัดแล้วขอให้มาแล้วผ่านไปเราพยายามทำหลายอย่างไม่ใช่ว่าเราไม่ทำ ไม่ใช่ว่าเราต้องได้ประโยชน์ เราทำเพื่อให้ภาพรวม ถ้ามาแล้วมาได้รับการต้อนรับอะไรอย่างนี้ก็เป็นการโฆษณาที่ดีที่สุด ความมุ่งหวังที่กลับมาเพื่อจะพัฒนาให้ตลาดนางเลิ้งอยู่แบบยั่งยืนก็มองดูว่าตรงนี้คือโอกาส เรามีของดีอยู่ ไปดูที่อื่นเขาไม่เด่นอะไรเขายังทำหรูหราเลย แต่ตรงนี้เรามีอยู่แล้วเพียงแต่มาจัดให้ดีเราไปได้สบายเลย ปัญหาสำคัญที่สุดของตลาดนางเลิ้ง คือไม่มีความร่วมมือคือประโยชน์ไม่มี แต่เขายังมองไม่ออกว่าผลประโยชน์จะมีถ้ามันโตแล้ว มันดีกว่ากันเยอะเลย แต่ว่าตรงนี้เหมือนปลูกต้นไม้ ต้องรดน้ำพรวนดินให้ก่อน เขาจะปรับปรุงโรงหนังเขาพูดอย่างนี้อยู่แล้วว่าจะให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเพราะว่าเวลานี้ในตลาดส่วนหนึ่งชุมชนมาช่วยตลาดในเรื่องการจัดการ เรื่องความสะอาด หรือสิ่งแวดล้อมคือเจ้าหน้าที่กับคนในท้องถิ่นใครมีจิตสำนึกดีกว่ากัน คือยังขาดความเชื่อมั่นพยายามจะให้เขาคิดว่าไอ้ที่เขาอยู่แล้วที่พ่อค้าแม่ค้าให้เขามองว่าตัวเขามีคุณค่าในอาชีพเขา ถ้าคุณอยู่คุณทำตรงนี้ได้ คุณจะอยู่จนสืบทอดเจตนารมณ์ลูกหลานได้อีกที่จะอยู่แบบยั่งยืนไม่ต้องทำอาชีพอื่นเลย วัดแคเขาก็ไปอีกรูปแบบหนึ่งนะ ก็คุยกับทางวัดแคอยู่ว่าอะไรต่าง ๆ คุณอย่าไปทำคนเดียว คุณทำกิจกรรมรู้คนเดียวแต่เป้าหมายก็คือตลาดแต่ก่อนที่นี่เสียคือทางชุมชนไม่ได้ให้ความสำคัญกับโลกภายนอกเลย แต่เรามองเข้ามามองเห็นว่าต้องมีโลกภายนอกเข้ามาร่วมกับเรา เราถึงจะออกมีทางออกได้ น่าเสียดายตอนนั้นที่เราทำการเปิดตลาดใหม่ ๆ ผมไม่ได้เข้ามา ไม่มีการจัดการต่อเนื่อง ถ้าทำการจัดการต่อเนื่องป่านนี้ติด เหมือนโรงหนังคุณต้องโฆษณาตลอดจัดกิจกรรมตลอดเพราะโรงหนังสอนผมไว้ ต้องแอคทีฟตลอด หนังใหม่มา คอนเซปต์เป็นไง คนอยากดูไหมโรงหนังสอนผมไว้เยอะ.... วลัยลักษณ์ ทรงศิริ อ่านเพิ่มเติมได้ที่:

  • ความสับสนในที่มาของชื่อ นางเลิ้ง

    เผยแพร่ครั้งแรก 1 ก.ย. 2558 จากคำบอกเล่าของย่าแห แก้วหยก ชาวมอญค้าขายทางเรือแห่งบ้านศาลาแดงเหนือ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานีผู้ล่วงลับไปแล้วว่า ครอบครัวคนค้าขายทางเรือใช้เรือกระแซงลำใหญ่รับเอาสินค้าเครื่องปั้นดินเผาจากเกาะเกร็ดและบางส่วนจากราชบุรีขึ้นล่องไปขายในระหว่างพื้นที่ภาคกลางตั้งแต่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไปจนถึงจังหวัดอุตรดิตถ์และพิษณุโลกของที่ขายส่วนใหญ่จะเป็นพวกเครื่องปั้นดินเผาและถ้วยชาม สินค้าอื่น ๆ ก็มีปูนแดง เกลือ กะปิ น้ำปลา ปูเค็ม ปลาเค็ม เต้าเจี้ยว ไตปลา ของแห้งต่าง ๆ ที่ใช้ในครัวเรือน ใส่เรือกระแซงชักใบล่องเรือไปขายคราวละไม่ตำ่กว่า ๓ - ๔ เดือน ปีละ ๒ - ๓ ครั้ง เมื่อคราวคนรุ่นย่ายายยังสาว พวกเครื่องปั้นดินเผาจะไปรับของที่เกาะเกร็ดและบ้านหม้อที่คลองบางตะนาวศรีใกล้ ๆ เมืองนนท์ฯ ส่วนสินค้าของแห้งจะไปจอดเรือแถบสามเสนหรือซังฮี้ แล้วว่าเรือเล็กเข้าไปซื้อแถวคลองบางหลวง ตลาดพลู หรือทางคลองโอ่งอ่างตามแต่แหล่งสินค้าขึ้นชื่อจะมีที่ใด นำไปขายตามรายทางจนถึงปากน้ำโพ เข้าแม่น้ำน่านไปแถวบางโพท่าอิฐที่อุตรดิตถ์ก็มี ส่วนแม่น้ำปิงท้องน้ำเต็มไปด้วยหาดทรายทำให้เดินเรือไม่สะดวกจึงไม่ขึ้นไป บางลำก็แยกที่อยุธยาเข้าไปทางป่าสักขึ้นไปจนถึงแก่งคอยและท่าลานบางรายแยกไปทางลำน้ำลพบุรีเข้าบางปะหัน มหาราช บ้านแพรก บ้านตลุง ลพบุรี วิธีการค้าขายก็จะใช้สินค้าเหล่านี้แลกข้าวเปลือกเป็นหลัก ขากลับจะบรรทุกข้าวเปลือกมาเต็มลำเอาไปขายโรงสีแถวกรุงเทพฯ ในคลองผดุงกรุงเกษมที่มีอยู่หลายเจ้า เรือมอญบ้านศาลาแดงเหนือรุ่นที่ ๓ ไปซื้อโอ่งราชบุรีที่โรงงาน บ้านท่าเสา จังหวัดราชบุรี ถ่ายภาพโดยมาณพ แก้วหยก พ.ศ. ๒๕๓๘ การค้าขายเช่นกันนี้เองที่ทำให้ย่านริมน้ำบริเวณคลองผดุงกรุงเกษม แถบปากคลองเปรมประชากรที่เดินทางออกไปยังพื้นที่นอกเมืองได้สะดวกและอยู่ฝั่งตรงข้ามกับปากคลองวัดโสมนัสฯ และปากครองจุลนาค ที่ใช้ดเส้นทางน้ำไปออกคลองมหานาค ย่านเส้นทางเดินทางสำคัญเพื่อออกนอกเมืองทางฟากตะวันออกได้และเรื่อยมาจนถึงเชิงสะพานเทว กรรมฯ สาวงามและการถ่ายแบบกับตุ่ม "อีเลิ้ง" เรือมอญบ้านศาลาแดงเหนือรุ่นที่ ๒ จอดขายโอ่งราชบุรีในคลองชลประทาน สะพานอำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เรือของนางสุนทร เรืองเพชร ถ่ายในราว พ.ศ. ๒๕๑๒ หรือ ๒๕๑๗ ตุ่มอีเลิ้งคนในพระนครยังเรียกว่าตุ่มนครสวรรค์ น่าจะมาจากชื่อถนนนครสวรรค์ที่ต่อจากสะพานเทวกรรมฯ ไปยังประตูพฤฒิบาศที่กลายเป็นสะพานผ่านฟ้าฯ ในปัจจุบัน บริเวณนี้น่าจะเป็นย่านค้าขายเพราะมีหปากคลองใหญ่น้อยที่พักจอดเรือและเป็นตลาดขึ้น สินค้าหรือจะหาสินค้าพวก "ตุ่มสามโคก" หรือ "อีเลิ้ง" ที่คนมอญ (พิศาล บุญผูก) กล่าวว่าไม่ใช่ภาษามอญ เพราะคนมอญเรียกโอ่งว่า "ฮะรี" และภาชนะเครื่องปั้นดินเผาพวกโอ่งอ่างต่าง ๆ มาตั้งแต่เมื่อขุดคลองขุดเสร็จใหม่ ๆ ชุมชนแถบนี้เคยเป็นย่านที่อยู่ใหญ่ทั้งตึกชั้นเดียว บ้านชั้นเดียว ผู้คนย้ายมาจากหลายแห่งทั้งภายในพระนครและคนจากเรือมาขึ้นบกก็มีบ้างและมาจากต่างจังหวัดที่ใช้เรือค้าขายรอนแรมมาจากท้องถิ่นอื่น ๆ และบอกเล่าสืบกันมาว่าบ้างมีเชื้อสายมอญที่เคยมาค้าขายภาชนะต่าง ๆ ย่านนี้คือฝั่งด้าน ‘ตรอกกระดาน’ ต่อเนื่องมาจากริมคลองผดุงกรุงเกษมและอยู่ทางฝั่งเหนือตลาดนางเลิ้ง และบริเวณตรงข้ามกับแถบตลาดนางเลิ้งบนถนนศุภมิตร แต่หลังจากการไล่ที่เพราะเจ้าของต้องการขายที่ไปเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๐๐ ผู้คนจากฟากย่านนางเลิ้งฝั่งที่ดินมีเจ้าของของเหนือ ถนนศุภมิตรแตกสานซ่านกระเซ็นไปจนหมดแล้วจึงสร้างตึกขึ้นมาภายหลัง “ตุ่มสามโคก” หรือ “ตุ่มอีเลิ้ง” ลักษณะปากและก้นแคบป่องกลาง เนื้อดินสีแดงใบไม่ใหญ่นักและมีขนาดเล็กใหญ่ต่างๆกัน เพราะเคยปรากฏข้อความถึงการทำอาหารพวกน้ำยาเลี้ยงคนจำนวนมากก็ใส่อีเลิ้งหลายใบด้วยกัน เป็นของรุ่นเก่าที่เล่ากันว่าผลิตแถวสามโคกซึ่งยังหาร่องรอยไม่ได้ว่าผลิตขึ้นที่ใด และเลิกทำกันไปตั้งแต่เมื่อไหร่และแม้แต่เตาสามโคกที่วัดสิงห์ ก็ยังไม่พบร่องรอยการผลิตนั้น จะมีเลียนแบบตุ่มสามโคกที่รู้จักแหล่งผลิตก็คือตุ่มปากเกร็ดที่รูปร่างคล้าย แต่คุณภาพและเนื้อดินแตกต่างและด้อยกว่า ผู้คุ้นเคยกับตุ่มสามโคกมอง ๆ ดูก็รู้ ตุ่มปากเกร็ดหรือโอ่งแดงเหล่า นี้ปั้นขายกันแพร่หลายและก็เรียกกันต่อมาอย่างเข้าใจผิดว่าเป็นตุ่มสามโคกเช่นเดียวกัน ส่วนโอ่งมังกร น่าจะมีการผลิตขึ้นก่อนแถบริมคลองผดุงกรุงเกษม โอ่งรุ่นแรกจะเป็นแบบเรียบ ๆ ไม่มีลวดลาย ต่อมาจึงใส่ลายมังกรเข้าไปภายหลัง ที่วัดศาลาแดงเหนือมีโอ่งมังกรลายหมูป่าฝีมือดีอยู่ใบหนึ่งเขียน ข้อความเป็นภาษาไทยตัวใหญ่ว่า “อยู่เย็นเป็นสุข” เขียนแหล่งผลิต เป็นภาษาไทยว่า “คลองขุดใหม่” และยี่ห้อภาษาจีน สันนิษฐาน ว่าเป็นโอ่งเคลือบแบบโอ่งมังกรรุ่นแรก ๆ ที่ผลิตในประเทศไทย และศูนย์กลางแหล่งผลิต และย่านการค้าโอ่งมังกรแต่แรกคือ แถบคลองผดุงกรุงเกษมหรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า คลองขุดใหม่ ส่วนโอ่งมังกรของราชบุรี ทำโดยช่างชาวจีนที่เลียนแบบโอ่งจาก เมืองจีนน่าจะผลิตเมื่อราว ๗๐-๘๐ ปีมาแล้วนี่เอง ต่อมาเมื่อมีการสร้างเขื่อนภูมิพลแล้ว บางรายยังคงใช้เรือบรรทุกเฉพาะโอ่ง หม้อ ครก กระถางไปขายตามลำคลองแถบ คลองรังสิต คลองบางซื่อ คลองผดุงกรุงเกษม คลองเปรมประชากร คลองแสนแสบ เป็นพ่อค้าเร่ทางเรือที่ไม่ไกลบ้านเหมือนในอดีต ซึ่งคนรุ่นพ่อแม่ของชาวบ้านศาลาแดงเหนือที่อายุราว ๕๐ ปีขึ้นไป วิ่งเรือไปเอาโอ่งมังกรโดยใช้เส้นทางคลองภาษีเจริญผ่านท่าจีน เข้าคลองดำเนินสะดวกออกแม่กลองที่บางนกแขวก แล้วล่องไปรับโอ่ง มังกรที่ราชบุรี แต่ขากลับเรือที่เพียบแประต้องการพื้นนำที่ไม่วุ่นวาย เหมือนเส้นทางที่ผ่านมาก็จะเข้าทางแม่น้ำท่าจีนขึ้นไปทางสุพรรณบุรี ผ่านประตูน้ำบางยี่หน ผ่านบางปลาหมอ มาออกบ้านแพน แล้วล่องแม่น้ำน้อยมาออกแม่น้ำเจ้าพระยาแถวลานเท การค้าหม้อค้าโอ่งทางเรือค่อย ๆ เลิกรา เพราะคลองเริ่มเดินเรือไม่สะดวกและตลาดหรือที่ชุมชนไม่ใช่พื้นที่ริมฝั่งคลองอีกต่อไป เริ่มมีการเปลี่ยนจากเรือมาเป็นรถกันตั้งแต่ราวปี พ.ศ. ๒๕๑๗ สมมติฐานเรื่องการค้าขายภาชนะ เช่น ตุ่มสามโคกหรือสาวงามและการถ่ายแบบกับตุ่ม “อีเลิ้ง” ของชาวเรือมอญจากแถบสามโคกก็พ้องกันกับเรื่องราวของชื่อ "นางเลิ้ง" ที่เปลี่ยนตามสมัยนิยมของคนมีการศึกษาในเมืองไทยที่ไปเข้าใจคำว่า "อี" ที่ใช้มาแต่เดิมแต่โบราณนั้นเป็นคำไม่สุภาพ จากคำเรียกภาชนะแบบทับศัพท์ภาษามอญที่ใช้มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาที่บันทึกว่าในย่านคลองสระบัว แหล่งทำภาชนะใช้ในครัวเรือนสำหรับ ชีวิตประจำวันก็มีการทำภาชนะใส่น้ำแบบอีเลิ้งด้วย และคงมีการปั้นโอ่งหรือตุ่มรูปทรงนี้ต่อมาจนเข้าสู่สมัยกรุงเทพฯ จากภาชนะใช้ในครัวเรือนสำหรับชีวิตประจำวันก็มีการทำภาชนะใส่น้ำแบบอีเลิ้งด้วย และคงมีการปั้นโอ่งหรือตุ่มรูปทรงนี้ต่อมาจนเข้าสู่สมัยกรุงเทพฯ จากภาชนะที่เรียกว่าอีเลิ้ง และเรียกย่านนั้นว่าอีเลิ้ง ก็กลายมาเป็นย่านนางเลิ้งตามจริต คนไทยให้ฟังดูสุภาพเสีย เพราะมีการเปลี่ยนชื่อเช่นนี้เสมอ เช่นหอยอีรมเป็นหอยนางรม, นกอีแอ่นเป็นนกนางแอ่น หนังสือพิมพ์บางกอกสมัยฉบับวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ กล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเปิดตลาดนางเลิ้งรวมทั้งงานรื่นเริงต่าง ๆ นั้น ก็เขียนถึงตลาดนี้ในชื่อว่า “ตลาดนางเลิ้ง” มาตั้งแต่ครั้งเริ่มทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการแล้ว คำว่า นางเลิ้ง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๕ และ พ.ศ. ๒๕๒๕ ว่า “นางเลิ้ง” และ “อีเลิ้ง” เป็นคำนามหมายเรียกตุ่มหรือโอ่งใหญ่ว่าตุ่มอีเลิ้งหรือนางเลิ้งหรือ “โอ่งนครสวรรค์” ก็เรียก และยังหมายเป็นนัยถึงใหญ่เทอะทะ ปัจจุบันพบว่ามีความสับสนที่มาของชื่อ “นางเลิ้ง” ว่าเป็นชื่อมีที่มาอย่างไร สืบเนื่องจากมีการศึกษาชุมชนและตลาดนางเลิ้ง ในราว ๑๐ ปีหลังมานี้เป็นจำนวนมาก และอ้างอิงผลิตซ้ำคำอธิบายจาก “คำให้การผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมท้องถิ่น” ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โดยอ้างอิงมาจากศูนย์วัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพาณิชยการพระนคร ประวัติของชุมชนแต่เดิมในบริเวณนี้ก่อนการสร้างตลาดนางเลิ้งในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยเสนอสมมติฐานว่าเป็น คำที่สืบเนื่องจากภาษาถิ่นที่ใกล้เคียงกับภาษาเขมร ซึ่งเป็นชุมชน เขมรในพระนครที่เข้ามาพร้อมกับเชื้อพระวงศ์กษัตริย์เขมรเมื่อต้นรัชกาลที่ ๑ ข้อมูลเหล่านี้ปรากฏทั้งในอินเทอร์เน็ตและการคัดลอกผ่านงานศึกษาวิจัยต่าง ๆ ว่าสมมติฐานหนึ่งมาจากคำว่า "ฉนัง" และคำว่า "เฬิง" ในภาษาเขมร โดยแปลรวมกันว่าเป็นภาชนะขนาดใหญ่ แม้จะกล่าวว่าทั้งคำว่า "ฉนัง" และ "เฬิง" นั้นปกติในภาษาเขมรก็ไม่ได้นำมารวมกัน แม้จะมีหลักฐานว่าแต่เดิมเจ้านายเขมรนั้นพระราชทานที่ดินให้อยู่แถบตำบลคอกกระบือแถบวัดยานนาวา ต่อมาราว พ.ศ. ๒๓๒๙ จึงสร้างวังพระราชทานให้ที่ริมคลองเมืองเยื้องปากคลองลอดวัดราชนัดดา ฝั่งตรงข้ามวัดสระเกศซึ่งอยู่ภายในพระนครที่เรียกว่า "วังเจ้าเขมร" ส่วนครัวเขมรเข้ารีตราว ๔๐๐ - ๕๐๐ คนให้สร้างบ้านเรือนอยู่รวมกับชาวบ้านเชื้อสายโปรตุเกสที่มีศูนย์กลางของชุมชนคือวัดคอนเซ็ปชัญและบ้านญวนสามเสน ที่มีวัดเซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ซึ่งเป็น กลุ่มอพยพเข้ามาภายหลังในราวรัชกาลที่ ๓ บริเวณนี้เป็นที่รวมของผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกหรือชาวคริสต์ตังและอยู่ต่อเนื่องสืบมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วจากนั้นมาบ้านโปรตุเกสที่นี่จึงถูกเรียกอีกชื่อว่าบ้านเขมร และวัดคอนเซ็ปชัญก็ถูกเรียกว่า “วัดเขมร” ชุมชนบ้านเขมรริมแม่น้ำเจ้าพระยาแถบวัดคอนเซ็ปชัญนี้มีนายแก้วที่เป็นผู้ชำนาญการวิชาปืนใหญ่ เนื่องจากเคยได้เรียนกับชาวโปรตุเกส ต่อมาได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็นที่พระยาวิเศษสงคราม รามภักดี จางวางกรมทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายแก้วเขมรนี้เป็นหัวหน้าดูแลชาวหมู่บ้านคอนเซ็ปชัญด้วย ต่อมาบุตรหลานได้รับราชการสืบต่อมาเป็นลำดับ เชื้อสายสกุลพระยาวิเศษสงครามภักดี (แก้ว) ปรากฏอยู่คือ “วิเศษรัตน์” และ “วงศ์ภักดี” ในระหว่างรัชกาลที่ ๓ มีศึกสงครามกับญวนอยู่หลายปีมีชาวญวนเข้ารีตคริสต์ตังแถบ "เมืองเจาดก" ขอเข้ามาอยู่ในเมืองสยาม จึงนำมาอยู่เหนือบริเวณบ้านเขมร ภายหลังผู้คนในบ้านเขมรมีมากขึ้นดังจากเหตุดังกล่าว จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานขยายเขตหมู่บ้านเขมรออกไปอีก ทิศเหนือจรดวัดราชผาติการาม (วัดส้มเกลี้ยง) ทิศใต้จรดวัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) ทิศตะวันออกติดถนนสามเสน ทิศตะวันตกจรดแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนพวกญวนขยับจากที่เดิมไปบ้านเรือนทางด้านเหนือและสร้างโบสถ์เซนต์ฟรังซีสเซเวียร์เป็นศูนย์กลางของชุมชนอีกแห่งหนึ่งเมื่อราว พ.ศ. ๒๓๙๖ ในภายหลัง (ประวัติวัดและหมู่บ้านคอนเซ็ปชัญ, รวบรวมจากหนังสือที่ระลึกงานฉลองวัดคอนเซ็ปชัญครบ ๒๕๐ ปี, ห้องเอกสาร อัครสังฆณฑลกรุงเทพฯ, คัดลอกจากอินเทอร์เน็ต ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๘) จะเห็นได้ว่าไม่มีข้อมูลใด ๆ ที่เกี่ยวกับชุมชนเดิมที่นางเลิ้งสามารถเชื่อมโยงไปถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวเขมรบริเวณใกล้กับโบสถ์คอนเซ็ปชัญซึ่งเป็นชุมชนเขมรคริสต์ตังใหญ่ปนเปกับผู้มีเชื้อสายโปรตุเกส ส่วนที่เป็นเชื้อพระวงศ์และได้รับที่ดินและวังพระราชทานบริเวณเยื้องปากคลองหลอดวัดราชนัดดา วังพระราชทานนั้นหมดสิ้นไปแล้วเมื่อมีการบันทึกสารบาญชีของกรมไปรษณีย์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และอาจเป็นเพียงการเข้าใจผิดในชื่อสถานที่แรกตั้งถิ่นฐานที่มีชื่อ "คอกกระบือ" แถบวัดยานนาวาที่อยู่นอกพระนครทางด้านใต้ พ้องกันกับแถบสนามกระบือทางด้านตะวันออกของพระนคร และการนำคำที่ปรากฏลากเข้าหาสมมติฐานที่ตนเองต้องการคือ "ฉนัง-เฬิง" ให้กลายเป็น "นางเลิ้ง" ดังกล่าว ขอบคุณ มาณพ แก้วหยก, บ้านศาลาแดงเหนือ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี วลัยลักษณ์ ทรงศิริ อ่านเพิ่มเติมได้ที่:

  • คลองสาน : ที่เป็นมาและเปลี่ยนไป

    เผยแพร่ครั้งแรก 1 มิ.ย. 2558 ย่านคลองสาน เป็นพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีต ถือเป็นย่านการค้าและอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลายมากแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ถึงแม้ว่าปัจจุบันสภาพของย่านคลองสานจะเปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ร่องรอยความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและสังคมที่ประกอบด้วยผู้คนหลายชาติพันธุ์ยังคงปรากฏให้เห็นผ่านสถานที่ต่าง ๆ และในความทรงจำของคนในย่านที่ใช้ชีวิตอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ขณะเดียวกันการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงยังคงไม่หยุดนิ่ง เนื่องด้วยมูลค่าของพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีศักยภาพอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เป็นสิ่งที่ชวนให้คิดถึงอนาคตของคลองสานและวิถีชีวิตของคนในย่านว่าจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงระลอกใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างไร  บรรยากาศในอดีตของย่านคลองสาน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะเห็นเรือขนส่งสินค้าจอดกันหนาแน่น จากประเด็นดังกล่าวนี้ จึงเป็นที่มาของการเสวนาในโครงการบางกอกศึกษาครั้งที่ ๒ เรื่อง “คลองสาน : ที่เป็นมาและเปลี่ยนไป” จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ณ ห้องประชุมหลวงวิเชียรแพทยาคม สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา การเสวนาเป็นการร่วมพูดคุยกันระหว่างคนภายในซึ่งเป็นคน ๒ รุ่นที่มองเห็นภาพอดีตของคลองสานในยุคสมัยที่แตกต่างกัน ได้แก่ คุณชุณห์ คชพัชรินทร์และคุณสมบูรณ์ ศรีศุภภักดี และคนจากภายนอกคือ รศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ อาจารย์ประจำภาควิชาวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนถึงมุมมองในด้านการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำและความสำคัญของภาคประชาชนในการวางแผนพัฒนาพื้นที่เมือง จากการเสวนาพบว่ามีหลายประเด็นที่น่าสนใจและสามารถถ่ายทอดให้เห็นสภาพความเปลี่ยนแปลงของย่านคลองสานตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และความเป็นไปได้ในอนาคต ดังนี้    ภาพจำ ‘คลองสาน’ ผู้คนและย่านการค้าริมน้ำ “เมื่อสมัยที่ผมเด็ก ๆ คลองสานเป็นอำเภอที่เล็กก็จริง แต่พูดถึงในระดับเศรษฐกิจของประเทศ คลองสานของเราไม่แพ้สำเพ็ง อีกทั้งสำเพ็งเขาค้าขายปลีกย่อย ซึ่งวงเงินจะสู้ทางคลองสานไม่ได้” คุณชุณห์ คชพัชรินทร์ วัย ๗๘ ปี ผู้เติบโตขึ้นมาในย่านคลองสานและเป็นอดีตเจ้าของบริษัทใช่เฮงหลี ซึ่งเป็นบริษัทค้าของป่า กล่าวยืนยันถึงความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของคลองสานในอดีตเพราะเมื่อนึกถึงย่านเศรษฐกิจที่เก่าแก่ของกรุงเทพฯ คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงย่านการค้าในฝั่งพระนครเป็นหลัก เช่น ย่านเยาวราช สำเพ็ง ราชวงศ์ ทรงวาด แต่ขณะเดียวกันเมื่อข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งธนบุรี พบว่ามีย่านการค้าเก่าแก่อยู่มากมายเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะย่านคลองสานเลยไปจนถึงท่าดินแดง ถือเป็นย่านการค้าและอุตสาหกรรมที่สำคัญมากแห่งหนึ่ง ตลอดริมฝั่งแม่น้ำเป็นสถานที่ตั้งของโรงสีข้าว โรงงานต่าง ๆ รวมถึงโกดังเก็บสินค้าขนาดใหญ่ คุณชุณห์ได้เล่าถึงโรงงานและบริษัทต่าง ๆ ที่เคยตั้งเรียงรายอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา นับตั้งแต่ทางฝั่งด้านซ้ายของสะพานพุทธ ฝั่งธนบุรี ซึ่งเป็นเขตคลองสาน เรื่อยไปถึงท่าดินแดง ดังนี้  บริเวณพื้นที่อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนคริทราบรมราชชนนี เดิมเป็นที่ดินของคุณเล็ก นานา ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจนำเข้าส่งออก บริเวณที่ดินดังกล่าวเดิมมีชุมชนอยู่กันอย่างหนาแน่น ทั้งมุสลิมและคนจีน ใกล้ ๆ กับที่ดินของตระกูลนานา ตรงบริเวณเชิงสะพานพุทธ เป็นที่ตั้งของชุมชนชาวจีนไหหลำ ตรงนั้นมี ร้านกวงหลี  ซึ่งจะมีเรือที่บรรทุกของป่า เช่น สมุนไพร หนังสัตว์ เป็นต้น และสินค้าต่าง ๆ มาจอดที่นี่ตั้งแต่ช่วงเช้ามืด คนที่ต้องการจะซื้อต้องพายเรือไปตั้งแต่ตี ๓ เพื่อไปผูกจองสินค้าที่ต้องการ โดยใช้เชือกไปผูกที่เรือลำต่าง ๆ เป็นสัญลักษณ์ไว้ จากนั้นจึงนั่งดื่มกาแฟไหหลำรอเวลาจนถึงรุ่งเช้าราว ๘ โมง จึงนำเรือยนต์มาลากเรือพ่วงกลับไปที่บริษัทหรือโกดังของตนเอง  นอกจากจีนไหหลำแล้ว ย่านคลองสานยังมีพวกจีนแต้จิ๋ว มาทำการค้าขายและพวกฮกเกี้ยนมาเปิดกิจการค้าข้าว ซึ่งต้องการแรงงานกุลีเป็นจำนวนมาก   นอกจากนี้บริเวณดังกล่าวยังมีมัสยิดตึกแดง ซึ่งเป็นของมุสลิมกลุ่มเชื้อสายอินเดียและกลุ่มที่มาจากไทรบุรีที่เข้ามาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และในบริเวณใกล้เคียงกันเป็นที่ตั้งของ โรงชัน  ทำการผลิตชันผงและน้ำมันยาง ซึ่งเป็นยางไม้ที่ใช้สำหรับอุดรอยรั่วของเรือ ในย่านนี้มีอยู่ ๒ โรงด้วยกัน   ถัดไปจากมัสยิดตึกแดงมีศาลเจ้ากวนอูและบริเวณใกล้เคียงกันมี โรงน้ำปลาทั่งง่วนฮะ  ซึ่งเป็นโรงน้ำปลาเก่าแก่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นกัน มีชาวจีนเป็นเจ้าของกิจการถัดไปมี โรงเกลือ ที่รับเกลือเม็ดมาจากจังหวัดสมุทรสงครามและสมุทรสาคร ส่วนหนึ่งนำมาใช้ในอุตสาหกรรมทำหนังสัตว์ และส่วนหนึ่งนำมาล้างให้สะอาด เข้าเครื่องโม่บดละเอียด บรรจุกระสอบส่งขายทั้งในและต่างประเทศ  คุณชุณห์ คชพัชรินทร์ และคุณสมบูรณ์ ศรีศุภภักดี วิทยากรในงานเสวนา โดยมีคุณสุดารา สุจฉายา เป็นผู้ดำเนินรายการ ถัดไปเป็น แถบตึกขาว บริเวณนั้นมีท่าเรือ โรงสีข้าวขนาดใหญ่ และมีมัสยิดเซฟีหรือมัสยิดตึกขาว โดยรอบเป็นชุมชนของพวกกลุ่มแขกตึกขาวที่เป็นพ่อค้าชาวอินเดียที่เข้ามาในช่วงรัชกาลที่ ๕ ต่อมาทรัพย์สินที่ดินบางส่วนได้ขายให้ บริษัทเซ่งกี่ ทำเป็นโกดังเก็บสินค้า ที่ดินของพวกเซ่งกี่จึงมีอาณาบริเวณกว้างขวางมากยาวไปจรดถึงตรอกช่างนาก โกดังเซ่งกี่ทำเป็นอาคารสองแถวยาวขนานกัน  เปิดเช่าให้พวกที่ค้าของป่า สมุนไพร หนังสัตว์ ซึ่งในบริเวณย่านคลองสานในอดีตมีบริษัทย่อย ๆ ที่ทำธุรกิจค้าของป่าอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงย่านท่าดินแดงด้วยที่มีบริษัทค้าขายพวกครั่ง นุ่น  มะขาม เป็นต้น มีโรงเก็บเครื่องยาสมุนไพร ปลาทูตากแห้ง  โรงเลื่อยไม้ที่กิจการส่วนหนึ่งเป็นการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อบรรจุหนังสัตว์ส่งไปขายยังต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีโรงนึ่งปลาทูและปลาชนิดต่าง ๆ ที่คนจีนนิยมไปซื้อมารับประทานเป็นอาหารเช้า    จุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง  “คลองสานเป็นเมืองปิด” คำจำกัดความสั้น ๆ ที่คุณสมบูรณ์ ศรีศุภภักดี ประธานชุมชนตรอกช่างนาก–สะพานยาว วัย ๕๒ ปี ผู้เกิดและเติบโตขึ้นมาในย่านคลองสาน ใช้อธิบายคลองสานในยุคที่เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง เดิมทีคลองสานเจริญเติบโตขึ้นเป็นแหล่งการค้าขนาดใหญ่ได้เพราะทำเลที่ตั้งริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เอื้อประโยชน์ต่อการขนส่งสินค้าของบริษัทและโกดังสินค้าต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีคลองสาขาที่เชื่อมต่อระไปยังพื้นที่ต่าง ๆ คลองสำคัญ ในย่านคลองสาน เช่น คลองตลาดบ้านสมเด็จ เดิมเป็นคลองขนาดใหญ่ที่เข้ามาถึงวัดพิชัยญาติได้ โดยเรือต่าง ๆ สามารถเข้ามาได้โดยสะดวก สมัยก่อนมีด่านเก็บภาษีอากรอยู่ที่ปากคลองแห่งนี้ด้วย และยังเคยมี สะพานหัน ที่มีลักษณะอย่างสะพานหันที่ปากคลองโอ่งอ่าง ฝั่งพระนคร  เช่นเดียวกับที่มาของชื่อตรอกสะพานยาว เพราะสมัยก่อนบริเวณนั้นยังเป็นเรือกสวนเก่า เวลาเดินจะต้องผ่านร่องสวนของบ้านต่าง ๆ และบริเวณนี้เคยมีลำคลองอยู่ด้วย จึงมีการสร้างสะพานไม้เป็นทางเดินของคนในชุมชน เริ่มตั้งแต่ที่กิ่งอำเภอคลองสาน ตรงวัดทองล่างหรือวัดทองนพคุณ ทำเชื่อมต่อไปถึงแถววัดกัลยาณมิตร  จากความสำคัญของแม่น้ำลำคลองที่เป็นเส้นทางคมนาคมหลักในอดีต คนรุ่นก่อนจึงมักได้ยินคำโบราณที่บอกว่า  “ลูกรักให้ที่ใกล้น้ำ ลูกชังให้ที่ปลายน้ำ” เพราะที่ดินใกล้น้ำย่อมสร้างประโยชน์และมูลค่าได้มากกว่าที่ที่อยู่ลึกเข้าไปไกลจากแม่น้ำลำคลอง     อย่างไรก็ตาม บ้านเมืองย่อมมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง เพียงแต่ว่าการพัฒนานั้นอาจจะไม่สอดรับกับสภาพสังคมวิถีชีวิตที่มีมาแต่เดิม ย่านคลองสานก็เช่นเดียวกันที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพของบ้านเมืองและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบการคมนาคมทางบกที่เข้ามามีบทบาททดแทนแม่น้ำลำคลอง ทำให้กิจการห้างร้านต่าง ๆ ที่เคยอาศัยแม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าต่างพากันซบเซาไป ขณะที่ถนนตรอกซอยต่าง ๆ ที่เข้ามาถึงคลองสานก็ขาดการวางผังเมืองที่ดี ทำให้พื้นที่ริมน้ำจำนวนไม่น้อยกลายเป็นพื้นที่ปิดที่รถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงได้จนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้เต็มศักยภาพ   การพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบกในย่านคลองสานเริ่มมาก่อนยุคการเกิดถนนหนทางคือ การสร้างสถานีรถไฟปากคลองสาน ในอดีตนั้นใช้เป็นสถานีต้นทางรถไฟสายแม่กลอง เริ่มเปิดทำการในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ต่อมาทางรถไฟช่วงปากคลองสานถึงวงเวียนใหญ่ถูกยกเลิกไปเมื่อปี ๒๕๐๔ ในสมัยรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนปัจจุบันไม่หลงเหลือสภาพเดิมอีกแล้ว การเข้ามาของรถไฟนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากนัก นอกจากเป็นการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางไปยังตลาดแม่กลองและใช้ลำเลียงสินค้า เช่น ปลา ของทะเล เป็นต้น นอกจากนี้คุณชุณห์ยังเล่าให้ฟังอีกว่าเดิมสองข้างทางรถไฟเป็นสวนผลไม้นานาชนิด จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือ การตัดถนนประชาธิปก   หลังจากการสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์หรือสะพานพุทธ ที่เริ่มต้นจากวงเวียนใหญ่ผ่านสี่แยกบ้านแขกตัดกับถนนอิสรภาพ ข้ามคลองสมเด็จเจ้าพระยา ผ่านวงเวียนเล็ก ตัดกับถนนอรุณอมรินทร์ตัดใหม่และถนนสมเด็จเจ้าพระยาในพื้นที่คลองสาน ทำให้การพัฒนาต่าง ๆ หันหน้าออกสู่ถนน ขณะที่คลองสายเล็กสายน้อยต่าง ๆ จำนวนมากถูกถมไป ส่วนที่เหลืออยู่ไม่ได้มีการดูแลรักษาที่ดี แม้กระทั่งคลองสมเด็จเจ้าพระยาที่เป็นคลองสำคัญก็อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม เช่นเดียวกับการป้องกันน้ำท่วมโดยการสร้างเขื่อน ทำนบ ประตูน้ำ เท่ากับเป็นการตัดเส้นทางคมนาคมของเรือสินค้าต่าง ๆ ทำให้โรงงานริมน้ำหลายแห่งที่เคยอาศัยประโยชน์จากเส้นทางน้ำได้รับผลกระทบตามกันไป เช่น โรงเกลือต่าง ๆ ที่กิจการซบเซาลง เพราะเรือเกลือไม่สามารถวิ่งไปมาได้ เส้นทางที่เคยใช้ถูกตัดขาดทั้งหมด และไม่มีถนนขนาดใหญ่เพียงพอที่จะนำรถบรรทุกเข้าไปถึงยังโรงงานที่อยู่บริเวณพื้นที่ริมน้ำได้ เช่นเดียวกับโรงงานหนังที่ต้องย้ายออกไปด้วยข้อกำหนดเรื่องสุขลักษณะของชุมชน แต่ปัจจุบันที่โกดังเซ่งกี่ยังมีผู้เช่าเพื่อใช้เก็บเครื่องเทศ สมุนไพร และของป่า เช่น หนังวัวควาย รังนก ฯลฯ อนาคต ‘คลองสาน’ “การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่พวกเราโดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่ จะสามารถกำกับความเปลี่ยนแปลงให้เป็นประโยชน์แก่คนในชุมชนได้อย่างไร?”   รศ. ดร. นิรมล กุลศรีสมบัติ  ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ได้กล่าวถึงโจทย์จากการพัฒนาที่คนในย่านต้องเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงระลอกใหม่ เนื่องด้วยฝั่งธนบุรีนั้นเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงมากในการพัฒนา เช่นเดียวกับในย่านกะดีจีนและคลองสานที่เป็นย่านเก่าแก่ริมแม่น้ำด้วย อย่างไรก็ตามมีความแตกต่างเรื่องการถือครองที่ดินในย่านกะดีจีนและคลองสาน คือย่านกะดีจีนนั้น ที่ดินส่วนใหญ่เป็นของศาสนสถานซึ่งเป็นเครื่องช่วยการันตีได้ในส่วนหนึ่งว่าจะไม่มีการพัฒนาที่สร้างความเปลี่ยนแปลงมากนัก เมื่อเทียบกับทางฝั่งคลองสานที่ที่ดินส่วนใหญ่เป็นของเอกชน จากการทำงานด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน อาจารย์นิรมลได้ชี้ให้เห็นว่า  คุณค่าทางประวัติศาสตร์ของย่านเก่าจะสมบูรณ์ได้ถ้ามีหลักฐานทางกายภาพมาช่วยยืนยัน เหตุนี้จึงทำให้เกิดแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์โบราณสถานต่าง ๆ เพื่อให้ภาพความทรงจำทางประวัติศาสตร์มีความชัดเจนขึ้น  แต่เรื่องการอนุรักษ์ให้คงอยู่นั้นเป็นเพียงปัจจัยส่วนหนึ่ง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการวางแผนพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป โดยไม่ทำลายมรดกวัฒนธรรมดั้งเดิม ตัวอย่างที่ดีเรื่องการวางผังเมืองที่ผสมผสานระหว่างการดำเนินชีวิต วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมที่ดีมากคือในพื้นที่ย่านเก่า เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่สามารถออกแบบผังเมืองและปรับทัศนียภาพได้อย่างกลมกลืน ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างพลังในจิตใจคนและสำนึกหวงแหนถิ่นที่อยู่  กรุงเทพมหานครมอบหมายให้ ศูนย์ออกแบบพัฒนาเมือง (UddC) ทำการศึกษาวิจัยเพื่อวางแผนการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม โดยมุ่งเน้นที่การมีส่วนร่วมของคนในภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับผังเมือง ดังนี้      ๑.  ผังเมืองรวม  เป็นผังที่ควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในลักษณะที่มองเป็นภาพใหญ่ โดยมุ่งเน้นที่เรื่องความหนาแน่นของการใช้ประโยชน์ที่ดิน การประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ เช่น โรงงาน โรงฆ่าสัตว์ เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นการมุ่งไปที่เศรษฐกิจ สวัสดิภาพและสาธารณสุขของผู้อยู่อาศัยมากกว่าการให้คุณค่าด้านการอนุรักษ์  ๒.  ข้อบัญญัติท้องถิ่น เป็นสิ่งที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสามารถทำได้เลย ซึ่งสามารถครอบคลุมไปถึงเรื่องการอนุรักษ์ การสร้างออกแบบอาคารและทัศนียภาพภายในพื้นที่ ๓. การขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โดยกรมศิลปากร ดังเช่นที่ย่านคลองสานมีโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้วอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น วัด ป้อมป้องปัจจามิตร ฯลฯ ซึ่งต่อไปจำเป็นที่จะต้องออกข้อบัญญัติท้องถิ่นขึ้นมารองรับเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดเรื่องการอนุรักษ์โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียน   สภาพคลองสมเด็จเจ้าพระยาในอดีต  สำหรับกระบวนการศึกษาวางแผนเพื่อออกข้อบัญญัติท้องถิ่นโดยทางศูนย์ออกแบบพัฒนาเมืองมีทั้งในระดับกว้างคือกรุงเทพมหานคร และระดับเขตที่เป็นพื้นที่นำร่องคือย่านกะดีจีนและคลองสาน ที่ผ่านมาได้มีการทำ Workshop ร่วมกับกลุ่มต่าง ๆ เพื่อนำข้อคิดเห็นมานำเสนอในโครงการ มุ่งเน้นไปที่การมองภาพยาวถึงอนาคตของย่านโดยเชิญตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ อาทิเช่น ผู้นำทางศาสนา, ครูอาจารย์, ข้าราชการจากสำนักงานเขตและหน่วยงานราชการในพื้นที่ ตัวแทนชุมชน องค์กรภาคประชาสังคมและภาคเอกชนและนักพัฒนาที่ดินที่กำลังมีบทบาทอย่างสูงต่อย่านในปัจจุบัน  ผลจากการพูดคุยร่วมกันพบว่าภาคส่วนต่าง ๆ เห็นตรงกันว่ามรดกวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต้องรักษาไว้ แต่ขณะเดียวกันอนาคตของคลองสานจะพลิกโฉมหน้าเปลี่ยนไปจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ทั้งการอพยพเข้ามาของประชากร การพัฒนาการขนส่งมวลชนระบบรางที่กำลังเข้ามาสู่ย่านคลองสาน นำมาสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่คนในรุ่นปัจจุบันต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือการตั้งกฎกติการ่วมกันเพื่อกำหนดการพัฒนาของย่านให้เป็นไปในทิศทางที่ไม่ใช่การทำลายอัตลักษณ์ของตนเอง โดยนำภาพความรุ่งเรืองในอดีตมาใช้เป็นบทเรียนและเพื่อสร้างพลังร่วมกันให้คนในท้องถิ่น  อภิญญา นนท์นาท อ่านเพิ่มเติมได้ที่:

  • บางยี่ขัน ถิ่นวังเจ้าลาว โรงสุรา และโรงปูน

    เผยแพร่ครั้งแรก 1 มิ.ย. 2557 บรรยากาศโรงงานสุราบางยี่ขันก่อนมีการตัดสะพานพระราม ๘ “บางยี่ขัน” เป็นย่านเก่าแห่งหนึ่งในฝั่งธนบุรี ตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมทางน้ำ มีลำคลองบางยี่ขันเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางจาก คลองผักหนาม และอยู่ในจุดที่เป็นชุมชนใหญ่คือช่วงที่ตัดกับคลองบางบำหรุ ทั้งยังมีเส้นทางคลองเล็ก ๆ ลัดเลาะไปตามเรือกสวนต่าง ๆ  บางยี่ขันอยู่ไม่ไกลกับที่ตั้งของด่านขนอนบางกอก ซึ่งมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ความเก่าแก่ของชุมชนในย่านนี้สัมพันธ์กับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่ เช่น วัดบางยี่ขัน วัดพระยาศิริไอยสวรรค์ ที่มีประวัติว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลางและสมัยอยุธยาตอนปลายตามลำดับ   นอกจากนี้ยังมี วัดสวนสวรรค์  หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในนาม โบสถ์ร้าง  ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อดำ พระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของอุโบสถเช่นนี้พบตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ลงมา  ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง  ข้อมูลเกี่ยวกับบางยี่ขันปรากฏใน นิราศภูเขาทอง  ของสุนทรภู่ ที่แต่งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะเดินทางไปนมัสการเจดีย์ภูเขาทองที่กรุงเก่า  นิราศดังกล่าวบอกเล่าถึงสถานที่ ชื่อบ้านฐานถิ่นที่ตนเองเดินทางผ่าน ไล่เรียงมาตั้งแต่พระบรมมหาราชวังเรื่อยมา “ ถึงอารามนามวัดประโคนปัก ไม่เห็นหลักลือเล่าว่าเสาหิน  เป็นสำคัญปันแดนในแผ่นดิน มิรู้สิ้นสุดชื่อที่ลือชา ”  เป็นความตอนหนึ่งที่สามารถให้ภาพบริบทของพื้นที่บางยี่ขัน ที่อยู่ถัดจากวัดประโคนปักหรือวัดดุสิดาราม จากนั้นบทกลอนวรรคต่อมาได้ฉายภาพบริเวณนี้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า   “ ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา  โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย ”  แสดงว่าในย่านนี้มีโรงสุราตั้งอยู่ซึ่งอาจจะสืบเนื่องจนถึงโรงงานสุราบางยี่ขันในยุคหลัง ๆ  โรงสุราแห่งนี้อาจมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ และที่ตั้งอยู่สืบมาอย่างถาวรในย่านบางยี่ขันนั้น อาจเป็นไปได้ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นนิวาสถานเดิมของพระยาราชมนตรีบริรักษ์ (ภู่) ต้นสกุลภมรมนตรี ขุนนางผู้ได้กำกับดูแลอากรเตาสุราสมัยรัชกาลที่ ๓ จึงได้ตั้งเตากลั่นสุราขึ้นใกล้กับบ้าน  เพื่อความสะดวกในการควบคุมดูแล   กำแพงที่ถูกสันนิษฐานว่าเป็นกำแพงของวังบางยี่ขัน (ภาพ: สุดารา สุจฉายา) การตั้งโรงงานสุราในพื้นที่ ทำให้กลุ่มแรงงานชาวจีนเข้ามาเป็นคนงานในโรงงานต้มกลั่นสุรา และมาตั้งถิ่นฐานในย่านบางยี่ขันมากขึ้น  ซึ่งนอกจากจะเข้ามาทำงานในโรงสุราแล้ว บางส่วนได้ยึดอาชีพค้าขายพายเรือไปตามลำคลอง  เปิดโรงฝิ่นบริเวณริมแม่น้ำให้บริการคนในย่านบางยี่ขัน โดยเฉพาะกลุ่มกุลีในโรงงานสุราซึ่งคนกลุ่มนี้มีหัวหน้าควบคุมและขึ้นอยู่กับการบังคับบัญชาของนายอากร ต่อมาเมื่อรัฐบาลยกเลิกการผูกขาดการต้มกลั่นและจำหน่ายสุรา มอบการควบคุมดูแลให้กับกรมสรรพสามิตในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ชาวจีนที่เคยทำงานในโรงงานสุราเดิมก็เปลี่ยนไปสังกัดอยู่กับกรมสรรพสามิต ก่อนจะโอนโรงงานสุราให้ไปขึ้นตรงกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ และในช่วงหลังหลังปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นต้นมา ได้เปิดให้บริษัทสุรามหาราษฎรเข้ามารับช่วงสัมปทานโรงงานสุราบางยี่ขัน และดำเนินกิจการจนกระทั่งโรงงานแห่งนี้ปิดตัวลงในปี พ.ศ. ๒๕๓๘  หลังจากโรงงานปิดตัวลง คนงานในโรงงานบางส่วนได้ลาออกจากงาน แต่ยังคงปักหลักปักฐานประกอบอาชีพค้าขายอยู่ในย่านบางยี่ขัน บางส่วนได้ย้ายไปทำงาน ณ โรงงานแห่งใหม่ในจังหวัดปทุมธานี  ส่งผลให้ท่าเรือหน้าโรงงานที่เคยคลาคล่ำไปด้วยคนงานซึ่งข้ามฝั่งไปย่านบางลำพูต้องปิดตัวลง อาคารโรงสุรา รวมทั้งอาคารอำนวยการถูกปล่อยทิ้งร้าง และบางอาคารถูกรื้อเพื่อเป็นที่ตั้งของคอสะพานพระราม ๘  ปัจจุบันพื้นที่และอาคารของโรงสุราเดิมได้เปลี่ยนบทบาทเป็นสถานที่ทำการของสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.– มูลนิธิชัยพัฒนา) สถาบันอาหาร และสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา  สืบประวัติซากกำแพง  ถัดไปทางทิศเหนือของโรงสุราบางยี่ขัน คือพื้นที่ใต้สะพานพระราม ๘ ในปัจจุบัน ยังมีซากกำแพงเก่าทอดตัวยาวตามแนวตะวันออก-ตะวันตกขนานไปกับชุมชนบ้านปูน ปัจจุบันซากกำแพงดังกล่าวขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากร สันนิษฐานว่าซากกำแพงดังกล่าวคือ วั งของเจ้าอนุวงศ์ หนึ่งในสามของเชื้อพระวงศ์เวียงจันทน์ อันได้แก่ เจ้านันทเสน เจ้าอินทวงศ์ และเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งถูกนำตัวเข้ามาเมื่อครั้งกองทัพกรุงธนบุรีตีนครเวียงจันทน์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๒ แล้วโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินและวังให้เป็นที่ประทับ ณ บางยี่ขัน   วังเจ้าเวียงจันทน์มีรูปร่างลักษณะทางสถาปัตยกรรมเช่นไร สร้างขึ้นในสมัยใด ใครเป็นผู้สร้าง ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด มีเพียงถ้อยความจาก นิราศวังบางยี่ขัน  ซึ่งแต่งโดยคุณพุ่ม กวีหญิงผู้ได้รับสมญานามว่า “บุษบาท่าเรือจ้าง” เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๒  (สมัยรัชกาลที่ ๕) เมื่อครั้งตามเสด็จพระองค์หญิงนารีรัตนา (พระธิดาในเจ้าจอมมารดาดวงคำ เจ้าจอมในรัชกาลที่ ๔ ผู้มีศักดิ์เป็นพระนัดดาของเจ้าอนุวงศ์) และเจ้าจอมประทุม ไปเยี่ยมอาการป่วยเจ้าจันทรเทพสุริยวงศ์ เจ้าเมืองมุกดาหาร บิดาของเจ้าจอมประทุม ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าของเจ้าจอมมารดาดวงคำ แม้ในใจความจาก นิราศวังบางยี่ขัน จะฉายภาพความทรุดโทรมของสถานที่  แต่ก็เป็นข้อมูลลายลักษณ์สำคัญที่สนับสนุนว่าซากกำแพงเก่า ถาวรวัตถุสิ่งเดียวที่ยังคงหลงเหลืออยู่เป็นนิวาสถานของเจ้าเวียงจันทน์  รวมในย่านนี้ยังเคยเป็นชุมชนของชาวลาวที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอีกด้วย   บ้านบางยี่ขัน : คฤหาสน์ขุนนางริมเจ้าพระยา   ปัจจุบันหากใครสัญจรทางน้ำช่วงท่าเรือสะพานพระปิ่นเกล้าถึงท่าเรือสะพานกรุงธน (ซังฮี้) ต้องสะดุดตากับความความงามของอาคารสถาปัตยกรรมคอนกรีตสองชั้นริมน้ำเจ้าพระยาสไตล์โคโลเนียลที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีนผสมกับตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งอยู่ถัดไปทางตอนใต้ของโรงสุราบางยี่ขัน และเป็นจุดที่สามารถแลเห็นภูมิทัศน์ป้อมพระสุเมรุของย่านบางลำพูเบื้องหน้าได้ชัดเจน   อาคารดังกล่าวก็คือโรงแรม พระยา พาลาซโซ [Praya Palazo] ในปัจจุบัน ซึ่งชื่อใหม่นี้บอกนัยให้รู้ว่า นี่คือคฤหาสถ์แห่งพระยาชลภูมิพานิช  เนื่องจากเดิมอาคารหลังนี้มีนามว่า “บ้านบางยี่ขัน”  เป็นบ้านของพระยาชลภูมิพานิช (ไคตั๊ค อเนกวานิช) ขุนนางเชื้อสายจีนในสมัยรัชกาลที่ ๕ และคุณหญิงส่วน ผู้เป็นภรรยาและเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ   จนปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ทายาทได้ขายบ้านหลังนี้ให้แก่มูลนิธิมุสลิมกรุงเทพวิทยาทาน (มัสยิดปากคลองบางกอกน้อย) เพื่อใช้เป็นอาคารใหม่ของโรงเรียนราชการุณมูลนิธิ  กระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ โรงเรียนแห่งนี้ปิดตัวลง หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ โรงเรียนอินทรอาชีวะได้มาเช่าพื้นที่เพื่อดำเนินกิจการ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๙ โรงเรียนแห่งนี้ก็ปิดกิจการลงพร้อม ๆ กับปล่อยบ้านหลังนี้ทิ้งร้าง ทรุดโทรม แต่ยังคงเค้าความงามหลงเหลือให้เห็น ทำให้ในเวลาต่อมา ผศ. วิชัย พิทักษ์วรรัตน์ ผู้ซึ่งมองเห็นคุณค่าความงามได้มาขอเช่าและทำโครงการปรับปรุงซ่อมแซม โดยพยายามรักษาสถาปัตยกรรมดั้งเดิมให้ได้มากที่สุด จนกระทั่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๕๒  และเปิดให้บริการเป็นที่พัก ร้านอาหาร รวมถึงสถานที่จัดเลี้ยงในโอกาสต่าง ๆ   จิ ตรกรรมในอุโบสถวัดบางยี่ขัน ภาพสะท้อนท้องถิ่น เห็นต้นมะพร้าวและเงาะบางยี่ขัน (ภาพ: สุดารา สุจฉายา) ทำสวน ทำปูน  พื้นที่ฝั่งธนบุรีได้ชื่อว่าเป็นแหล่งสวนมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา บางยี่ขันจัดเป็นสวน “บางบน” ของสวนในบางกอก และมีผลไม้ขึ้นชื่อ คือ เงาะ  ซึ่งเป็นเงาะชั้นดีราคาแพง ด้วยเป็นเงาะเนื้อล่อน พันธุ์เหลืองใหญ่ เหลืองเล็ก และแฟบ อันเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) จึงทรงยกอากรสวนเงาะให้กับชาวบ้านบางยี่ขันทั้งหมด  ดังเห็นร่องรอยจากคำบอกเล่าของคุณสังวาลย์ สุนทรักษ์ ที่ว่า  “ตอนที่มาอยู่ยังมีสภาพเป็นสวน หลังโรงเรียนเป็นสวนชมพู่ ตอนนั้นย่านนี้เป็นสวนทั้งหมด สะพานพระปิ่นเกล้ายังไม่มี เขาเรียกว่า ‘สวนบางยี่ขัน’ เพราะนี่เป็นตำบลบางยี่ขัน...เงาะบางยี่ขันที่บ้านก็ปลูก มีขนสีแดง มี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเป็นสีอ่อนๆ ลูกกลมๆ แต่ถ้าลูกแบนก็ขนแดง มีเป็นพวงเลย มีชื่อทั้งสองอย่าง แต่ทีหลังหมดพันธุ์ เดี๋ยวนี้ไม่มี  ในช่วงนั้นทางจันทบุรีเขายังไม่ขึ้นชื่อเรื่องผลไม้...เคยทานเงาะบางยี่ขัน ขึ้นต้นเก็บเลย เลือกเก็บแต่ลูกแดง ๆ ต้องเป็นกะเทย กะเทยคือไม่มีเมล็ด  เนื้อจะคล้าย ๆ เงาะสีชมพู  เงาะที่มาจากปีนังขนมันคล้ำ แต่ว่าของบางยี่ขันขนสีแดงสวย เป็นชนิดลูกกลม เป็นพวงเหมือนกัน”    นอกจากขึ้นชื่อเรื่องผลไม้แล้ว ย่านบางยี่ขันยังเป็นที่ตั้งของชุมชนทำปูน จนกลายเป็นที่มาของชื่อบ้านสืบมาจนถึงทุกวันนี้  จุดเริ่มต้นของการทำปูนนั้นมีอยู่หลายสำนวน  บ้างก็ว่าเริ่มทำในช่วงราวสมัยรัชกาลที่ ๔ บ้างบอกว่ากลุ่มคนที่อพยพมาอยู่บ้านปูนนั้น มีอาชีพทำปูนมาก่อนที่จะอพยพลงมาหลังกรุงศรีอยุธยากำลังจะแตก หลังจากที่ย้ายมาตั้งรกรากที่นี่จึงได้ยึดอาชีพทำปูนสืบต่อมา   สวนสวรรค์ที่กลายเป็นวัดร้าง มีบ้านเรือนล้อมโดยรอบ (ภาพ: http://www.sujitwongthes.com ) การทำปูนนั้นต้องใช้เวลาเผาหินเป็นเวลากว่า ๕ วัน ๕ คืน หินที่นำมาเผาเป็นหินปูนจากจังหวัดราชบุรี  ปูนที่ได้นอกจากจะใส่ปีบขนลงเรือไปขายตามที่ต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นหนึ่งในเครื่องบริโภคที่ส่งเข้าไปในรั้วในวังอีกด้วย  นอกจากนี้ในอดีตย่านบางยี่ขันยังมีสวนหมากปลูกแซมไปกับผลไม้ชนิดอื่น ๆ ทั้งยังมีสวนพลูอยู่ห่างออกไปไม่ไกลมากนัก สวนพลูเก่านี้อยู่ในพื้นที่บริเวณซอยอรุณอัมรินทร์ ๓๔ และเป็นที่แน่นอนว่าสมัยก่อนหากใครจะเดินทางขึ้นเหนือหรือล่องใต้ไปตามลำน้ำเจ้าพระยา เมื่อมองเห็นเตาเผาหินทำปูนเรียงรายอยู่ตามลำน้ำ เป็นที่ทราบกันดีว่าที่นี่คือบ้านปูน   ปัจจุบันสวนผลไม้และเตาเผาปูนไม่หลงเหลือให้คนรุ่นหลังได้เห็นอีกต่อไปแล้ว แม้แต่คำคล้องจองที่ว่า “สวนในบางกอก สวนนอกบางช้าง” ยังคงเหลือเพียงแต่สวนนอกในย่านตำบลอัมพวา บางคณฑี บางนกแขวก และดำเนิน- สะดวกเป็นบางแห่ง พอให้คนรุ่นหลังได้เห็นวิถีชีวิตของชาวสวนตามลุ่มน้ำที่ยังสืบทอดภูมิปัญญาในการหาเลี้ยงชีพจากรุ่นสู่รุ่น ขณะเดียวกันวัฒนธรรมกินหมากกินพลูก็ค่อย ๆ เลือนหายไปจากสังคมไทย คงเหลือเพียงความทรงจำของคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนให้เล่าขาน ซึ่งนับวันจะเหลือน้อยเต็มที ความเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงกว่า ๖๐ ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมืองจากฝั่งพระนครมาสู่ฝั่งธนบุรี เห็นได้จากการเปิดใช้สะพานกรุงธนในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ และต่อมาคือสะพานพระปิ่นเกล้าในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนสองฟากฝั่ง หลังจากนั้นราวปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ห้างสรรพสินค้าพาต้าได้เข้ามาเปิดให้บริการในย่านนี้ กระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้สร้างสะพานพระราม ๘ ขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรบนถนนบรมราชชนนี และการสัญจรข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจากฝั่งธนบุรีไปยังฝั่งพระนคร  ระหว่างการก่อสร้างสะพานครั้งนั้นแม้มีเหตุกระทบกระทั่งกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับประชาชนในปัญหาการเวนคืนที่ดิน  แต่ด้วยการประสานประโยชน์เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ก็ทำให้สะพานแห่งนี้สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๔๓  เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕ อันเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  อย่างไรก็ดี วันนี้ภาพจำของคนในบ้านบางยี่ขันกำลังพร่ามัวลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากคนดั้งเดิมในพื้นที่โยกย้ายถิ่น ปล่อยที่ดินให้เช่าหรือไม่ก็ขายเปลี่ยนมือ คนจากต่างถิ่นทยอยเข้ามาจับจองอยู่อาศัย เกิดคอนโดมิเนียม อพาร์ทเม้นท์ บ้านเช่า อาคารพาณิชย์ ห้างสรรพสินค้า ผุดขึ้นมากมาย และบางส่วนเปลี่ยนสภาพกลายเป็นชุมชนแออัด ผู้อาศัยอยู่ในย่านเวลานี้น้อยคนที่จะทราบว่าย่านเก่าแก่แห่งนี้เคยเป็นโรงเหล้า  วังเจ้าลาว คฤหาสถ์ขุนนาง สวนเงาะมีชื่อ และแหล่งทำปูนกินหมาก มรดกที่เป็นรากฐานของย่าน ในขณะที่พลวัตรของเมืองกำลังแปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว จะมีหนทางใดที่จะเชื่อมร้อยส่งต่อเรื่องราวและมรดกอันมีชีวิตชีวาของย่านให้กับคนรุ่นหลัง ทั้งที่ยังคงอยู่สืบต่อจากบรรพบุรุษและคนใหม่ที่เข้ามาลงรากสร้างถิ่นฐานใหม่ ได้รับรู้และสามารถนำมรดกวัฒนธรรมเก่าแก่ของย่านตน เป็นแกนในการพัฒนาเปลี่ยนแปลงพื้นที่อย่างเท่าทันและยั่งยืน ไม่ว่าในอนาคตพลวัตรของเมืองจะนำพาชุมชนเก่าริมน้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ไปในทิศทางใด                                                    วริณาฐ  พิทักษ์วงศ์วาน ขอบคุณข้อมูลสัมภาษณ์  สังวาลย์ สุนทรักษ์, ชาญ คงเมือง,  รำพรรณ กัลยาณสุตร,  ลำไย แก้วภูผา,  วลี ชมพืช,  สุรัตน์ ฤาษีประสิทธิ์,  อุทิศ อุดมทรัพย์,  อานันท์ นาคคง และพิสุทธิลักษณ์ บุญโต  อ้างอิง กรุงเทพมหานคร. สะพานพระราม ๘ : โครงการแก้ไขปัญหาจราจรตามแนวพระราชดำริ .   ๒๕๔๓. ประภัสสร์  ชูวิเชียร. วัดสวนสวรรค์ บางยี่ขัน สวนสวรรค์ที่ถูกลืม . ศิลปวัฒนธรรม . ปีที่ ๓๓ ฉบับที่ ๘,  มิถุยายน ๒๕๕๕. (หน้า ๓๖ – ๔๑). สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ.. ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมจากวรรณคดีกวีสยามนำเที่ยว กรุงเทพฯ.   กรุงเทพฯ : มติชน ,๒๕๔๕. สุดารา  สุจฉายา, บรรณาธิการ. ธนบุรี . กรุงเทพฯ : สารคดี, ๒๕๔๒.  อ่านเพิ่มเติมได้ที่:

  • ศาลเจ้าเซี้ยอึ้งกง ศาลเจ้าหลักเมืองในย่านสำเพ็ง

    เผยแพร่ครั้งแรก 1 ก.ย. 2558 ในกลุ่มศาลเจ้าจีนที่ตั้งอยู่บริเวณย่านทรงวาดและสำเพ็งศาลเจ้าเซี้ยอึ้งกงหรือศาลเจ้าหลักเมืองตั้งอยู่ตรงตรอกชัยภูมิ ถือว่าเป็นหนึ่งในศาลเจ้าที่มีความเก่าแก่และมีคติความเชื่อที่น่าสนใจแตกต่างจากศาลเจ้าอื่น ๆ ในย่านนั้น ทั้งที่เป็นความสำคัญในฐานะเทพเจ้าหลักเมืองของชาวจีนในย่านสำเพ็งและคติความเชื่อที่เกี่ยวของกับความตาย ตรอกชัยภูมิ เป็นตรอกเล็ก ๆ อยู่ทางด้านข้างศาลเจ้าเล่าปุนเถ่ากงและโรงเรียนเผยอิง เชื่อมต่อระหว่างถนนทรงวาดกับซอยวานิช ๑ ภายในตรอกมีชุดอาคารห้องแถว ซึ่งเป็นอาคารเก่าที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เรียกกันว่า "ตึกสิบห้อง" มีความโดดเด่นที่ลวดลายไม้แกะสลักประดับอาคารที่ยังคงหลงเหลืออยู่ จากคำบอกเล่าของคุณมนตรี สุขกมลสันติพร ผู้ดูแลศาลเจ้าหลักเมืองและคนเก่าแก่ในชุมชนมิตรชัยภูมิกล่าวว่า เดิมตรอกชัยภูมิมีชื่อเรียกที่รู้จักโดยทั่วไปว่าตรอกแดง ก่อนที่จะมาเปลี่ยนชื่อเป็นตรอกชัยภูมิภายหลัง คำเรียก ตรอกแดง นั้น ยังปรากฎอยู่ในแผนที่เก่าที่ค้นได้จากหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเป็นแผนที่แสดงอาณาเขตของศาลเจ้าเก่าหรือศาลเจ้าเล่าปุ่นเถ่าถง ก่อนมีการตัดถนนทรงวาด จากคำบอกเล่าถึงประวัติและความสำคัญของตรอกแดงพบว่ามีความเกียวข้องกับ "เจ้าสัวติก" คหบดีชาวจีนแต้จิ๋ว ซึ่งมีบ้านอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาถัดจากท่าน้ำศาลเจ้าเก่า ซึ่งน่าจะเป็นบริเวณตรอกเจ้าสัวติกล้ง ริมถนนทรงวาดในปัจจุบันคนเก่าแก่ในชุมชนมิตรชัยภูมิยังคงบอกเล่าเรื่องราวของการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาวจีนภายในชุมชนว่า เจ้าสัวติกได้อุปถัมป์และจัดสรรที่อยู่ให้กลุ่มคนจีนโพ้นทะเลที่มาจากตำบลเดียวกัน ให้มาตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณตรอกแดง ภายหลังจากเหตุเพลิงไหม้ใหญ่ในตำบลสำเพ็งเมื่อรา ร.ศ.๑๒๕ หรือ พ.ศ.๒๔๔๙ ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นเหตุให้มีการตัดถนนทรงวาดขึ้น และในช่วงเวลาเดียวกันนี้เจ้าสัวติกได้ขอพระราชทานที่ดินสร้างอาคารตึกแถวภายในตรอกแดง และแบ่งที่ดินส่วนหนึ่งสร้างเป็นศาลเจ้าเล็ก ๆ เพื่อประดิษฐานเทพเจ้าหลักเมืองหรือเซี้ยอึ้งกงที่อัญเชิญมาจากเมืองจีน ชุดอาคารเก่าภายในตรอกชัยภูมิ สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๕ เทพเจ้าหลักเมืองเป็นเทพประธานของศาลทำเป็นเทวรูปแต่งกายแบบขุนนางจีนโบราณ และมีเทพบริวารขนาบข้างอยู่ซ้ายขวา นอกจากนี้ายในศาลยังเป็นที่เก็บรักษาระฆังโบราณที่มีจารึกปีศักราชกษัตริย์เต้ากวงปีที่ ๒๒ แห่งราชวงศ์เซ็งอีกด้วย คุณสมชัย กวางทองพาณิชย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัฒนธรรมจีน และเป็น "คนใน" ที่มีความสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภายในย่านสำเพ็งและพื้นที่ใกล้เคียง ได้แสดงความเห็นเรื่องศาลเจ้าเซี้ยอึ้งกงว่าในเมืองจีนจะมีการตั้งศาลเจ้าหลักกเมืองขึ้นบริเวณข้างกำแพงเมืองหรือคูเมือง บริเวณที่เป็นทางเข้าออกเมืองจะต้องผ่านศาลหลักเมืองนี้เพื่อเป็นการขออนุญาต ความสำคัญของศาลเจ้าหลักเมืองในคติความเชื่อของชาวจีนยังเกี่ยวข้องกับความตายอีกด้วย คือมีความเชื่อว่าเทพเจ้าหลักเมืองมีหน้าที่ควบคุมการเข้าออกของดวงวิญญาณ หากมีผู้เสียชีวิตจะต้องมาไหว้เพื่อแจ้งบอกกล่าวองค์เทพหลักเมืองให้ทราบก่อนทุกครั้ง ก่อนที่จะมีการเคลื่อนย้ายนำศพไปฝัง สำหรับศาลเจ้าเซี้ยอึ้งกงแห่งนี้มีคติความเชื่อเช่นเดียวกันเมื่อมีคนที่อาศัยในบริเวณย่านนี้เสียชีวิตไป ลูกหลานจะต้องมาไหว้แจ้งบอกกล่าวต่อเทพเจ้าเพื่อให้ช่วยคุ้มครองดวงวิญญาณ ซึ่งยังคงเป็นประเพณีปฏิบัติที่ยึดถือมาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้คุณสมชัยยังแสดงความเห็นว่าจากความสำคัญของศาลเจ้าหลักเมือง อาจจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งแสดงถึง "ความเป็นเมือง" ของย่านสำเพ็งในมโนทัศน์ของชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในย่านนี้ เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของสภาพพื้นที่ลำคลอง ตรอก และศาลเจ้าสำคัญ พบว่าจากบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไป จุดสำคัญที่เป็นประธานของเมืองคือ ศาลเจ้าเล่าปุนถ่างกง ซึ่งเป็นศาลเจ้าใหญ่และเก่าแก่ของกลุ่มชาวจีนแต้จิ๋ว ดังที่มีเรื่องเล่ากันว่า สมัยก่อนคณะงิ้วที่เดินทางมาจากเมืองจีน จะต้องขึ้นมาถวายที่ศาลเจ้าเล่าปุนเถ่ากงเป็นเวลา ๑ คืน ก่อนที่จะเดินทางไปแสดงยังที่อื่นได้ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของศาลเจ้าเล่าปุนเถ่ากงว่าไม่ใช่เฉพาะคนในพื้นที่เท่านั้นที่ให้ความศรัทธาหากแต่รวมถึงกลุ่มคนจีนที่เข้ามาใหม่ด้วย "เซี้ยอึ้งกง" เทพประธานภายในศาลเจ้า ในอดีตศาลเจ้าเล่าปุนเถ่ากง ถูกขนาบข้างด้วยคลองสำคัญคือครองมังกรและครองโรงกระทะ ปัจจุบันถูกถมเป็นถนนมังกรและถนนเยาวพานิช และมีตรอกโรงโคม (เต็งลั้งโกย) เป็นเส้นทางสัญจรสำคัญที่เป็นเสมือนแกนหลักของย่านในยุคก่อนตัดถนนสายต่าง ๆ ตรอกโรงโคมเป็นเส้นทางเชื่อมจากทางจากท่าน้ำศาลเจ้าเก่า (ศาลเจ้าเล่าปุนเถ่ากง) เข้าไปสู่ตลาดเก่า ผ่านศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ไปถึงศาลเจ้าปอเต็กตึ๊งที่ย่าพลับพลาไชย จากสภาพพื้นที่ของย่านสำเพ็งดังกล่าวนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงภาพความเป็นเมืองขนาดย่อม ๆ ดังนั้นการตั้งศาลเจ้าหลักเมืองขึ้นในบริเวณนี้ จึงน่าจะเป็นสิ่งที่เน้นย้ำถึงแนวคิดดังกล่าวด้วยก็เป็นได้ นอกจากนี้ศาลเจ้าเซี้ยอึ้งกงยังมีคติความเชื่อที่เป็นเรื่องเฉพาะของท้องถิ่นอีกด้วย จากคำบอกเล่าของคุณวิเชียร สุขกมลสันติพร เจ้าของเตียท่งเซ้ง ร้านทำซาลาเปาและขนมมงคลที่สืบทอดมาถึง ๓ รุ่นภายในตรอกชัยภูมิ กล่าวว่าบางคนเรียกศาลเจ้าแห่งนี้ว่า "ศาลเจ้าขี้ยา" เพราะสมัยก่อนคนนิยมนำฝิ่นมาเป็นเครื่องแก้บน ให้เทพบริวารของเทพเซี้ยอึ้งกง เพราะเชื่อกันว่าเทพบริวารทั้ง ๒ องค์มีหน้าที่ช่วยรับดวงวิญญาณซึ่งต้องทำงานตลอดทั้งวันทั้งคืน จึงต้องนำฝิ่นมาถวายเพราะคิดว่าฝิ่นเป็นยาที่ช่วยให้กระปรี้กระเปร่า ดังนั้นผู้ที่มาบนบานขอให้หายโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อมาแก้บนจะนำฝิ่นมาป้ายที่ปากของรูปเคารพบริวารทั้ง ๒ องค์ในยุคที่ฝิ่นกลายเป็นของผิดกฎหมายจึงเปลี่ยนเครื่องแก้บนเป็นบุหรี่ กาแฟดำ หรือชาร้อนตามสมควร การนำฝิ่นมาเป็นเครื่องก้บนบานศาลเก่านั้นยังปรากฏว่าเป็นความเชื่อที่พบในศาลเจ้าจีนแห่งอื่น ๆ อีกด้วย เพราะโรงฝิ่นถือว่าเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่นิยมในกลุ่มแรงงานชาวจีน ดังจะเห็นได้ว่าหากที่ใดมีชุมชนชาวจีน ย่อมเคยมีโรงฝิ่นเกิดขึ้นควบคู่กันเสมอ สมัยก่อนที่ตรอกแดงหรือตรอกมิตรชัยภูมิยังเคยเป็นที่ตั้งของโรงยาฝิ่น รวมถึงแหล่งเริงรมย์สำหรับบุรุษ ซึ่งแหล่งที่เกิดขึ้นชื่อภายในตรอกชัยภูมิคือ "กิมเทียนเหลา" โรงโสเภณีที่มีหญิงสาวชาวจีนกวางตุ้งคอยให้บริการ อย่างไรก็ตามแหล่งเริงรมย์ดังกล่าวได้เลิกราไปตามยุคสมัย ปัจจุบันอาคารต่าง ๆ ภายในตรอกส่วนมากถูกใช้เป็นที่อยู่อาศัยและบางส่วนถูกปรับเป็นโกดังสำหรับเก็บสินค้าของร้านในตลาดสำเพ็ง ในขณะที่ยุคสมัยแปรเปลี่ยน สภาพวิถีชีวิตของผู้คนในย่านสำเพ็งเริ่มเปลี่ยนแปลงตามกันไป แต่ศาลเจ้าเซี้ยอึ้งกงหรือศาลเจ้าหลักเมืองยังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจและที่นับถือศรัทธาของคนเชื้อสายจีนในย่านสำเพ็งเรื่อยมา ดังจะเห็นว่าศาลเจ้าหลักเมืองไม่เคยว่างเว้นจากผู้ที่มาสักการบูชา โดยเฉพาะในช่วงวันที่ ๒๕-๒๖ มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นงานประเพณีประจำปีไหว้เจ้าพ่อหลักเมือง และในช่วงเทศกาลสำคัญของชาวจีน เช่น ตรุษจีน สารทจีน ทิ้งกระจาด เช่นเดียวกับศาลเจ้าจีนแห่งอื่น ๆ ในบริเวณย่านจีนแห่งนี้ยังคงรักษาความเป็นศูนย์รวมจิตใจของลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลสืบมาจนถึงปัจจุบัน ขอขอบคุณ คุณสมชัย กวางทองพานิชย์, คุณมนตรี สุขกมลสันติพร และคุณวิเชียน สุขกมลสันติพร อภิญญา นนท์นาท อ่านเพิ่มเติมได้ที่:

  • ความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม กบินทร์บุรี เมืองด่านภาคตะวันออก

    เผยแพร่ครั้งแรก 1 มี.ค. 2557 แผนที่แสดงที่ตั้งเมืองกบินทร์บุรี ซึ่งอยู่ในที่สบกันของลำน้ำ บริเวณกบินทร์บุรีได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ   เพราะสภาพแวดล้อมเอื้อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และมีเส้นทางเดินทางทั้งทางน้ำและทางบกเชื่อมต่อได้ตลอดมาตั้งแต่สมัยโบราณที่เป็นเส้นทางเดินทัพและติดต่อกับบ้านเมืองในเขตเขมรต่ำและเขมรทะเลสาบตลอดจนทางภาคอีสานที่ผ่านช่องเขาของเทือกเขาพนมดงเร็กเข้าสู่อีสานใต้หรือเข้าสู่ลุ่มน้ำโขง หลังศึกทางฟากตะวันตกทางฝ่ายพม่าจบสิ้นลงเมื่อราว พ.ศ. ๒๓๙๓   สยามก็มีการศึกกับบ้านเมืองทางฟากตะวันออกคือ ลาว   เขมรและญวนกว่า   ๑๔   ปีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดรูปแบบหัวเมืองใหม่   ยกชุมชนหน้าด่านหลายแห่งขึ้นเป็นเมืองเช่น   “ด่านกบแจะ”   ยกเป็น   “เมืองประจันตคาม” “ด่านหนุมาณ” ยกเป็น “ เมืองกบินทร์บุรี” ยก “บ้านแร่หิน” เป็น “เมืองอรัญประเทศ” ยก “บ้านเขยก” เป็น “เมืองวัฒนานคร” และยก “บ้านสวาย” ขึ้นเป็น “เมืองศรีโสภณ” ฯลฯ (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๓ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาธิบดี, กรมศิลปากร) และเมื่อมีการกวาดต้อนครัวลาวจากหัวเมืองหลายแห่งที่เคยขึ้นต่อทั้งเวียงจันทน์และหลวงพระบางก็มีการเทครัวมาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่บริเวณเมืองด่านทั้งหลายคือ ประจันตคาม กบินทร์บุรี สระแก้ว วัฒนานคร อรัญประเทศ ตลอดจนไปถึงศรีมหาโพธิที่ต่อเนื่องไปถึงเมืองปราจีนบุรี บ้านสร้าง พนมสารคาม ฉะเชิงเทรา เป็นต้น บ้านเมืองทางหัวเมืองฟากตะวันออกนี้จึงมีความเป็นปึกแผ่นอันเนื่องมาจากจํานวนครัวชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งบ้านตั้งเมืองใหม่นี่เอง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เอง โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลอง “บางขนาก” จากหัวหมากไปถึงเมืองฉะเชิงเทราเป็นเส้นทางลําเลียงเสบียงอาหารและกําลังพลอาวุธต่าง ๆ เพื่อใช้ในการทําศึกทางฟากตะวันออก ต่อมาทั้งสองฝั่งคลองได้มีการเข้าไปบุกเบิกตั้งถิ่นฐานตามเส้นทางดังกล่าว จนกลายเป็นเส้นทางคมนาคมสําคัญระหว่างเมืองฉะเชิงเทราและพระนคร “ด่านหนุมาณ” น่าจะเป็นชุมชนด่านในระดับหมู่บ้านหรือเมืองขนาดเล็กและน่าจะตั้งอยู่บริเวณใกล้กับศาลเจ้าพ่อหนุมานบริเวณริมแควหนุมานฝั่งตะวันตกบริเวณบ้านเมืองเก่าที่คงมีจํานวนผู้คนไม่มากนัก เพราะในสมัยกรุงศรีอยุธยาผู้คนไพร่พลมีจํานวนน้อยและมักมีเหตุให้มีการเข้ามากวาดต้อนผู้คนจากบ้านใกล้เรือนเคียงเสมอ ดังนั้นยิ่งเมื่อเป็นเมืองด่านผู้คนพลเมืองจึงน้อยตามไปด้วย เราจึงไม่พบร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีของการตั้งถิ่นฐานปรากฏอยู่นอกจากความเชื่อที่ยังคงสืบต่อกันมา เช่น การสร้างศาลเจ้าพ่อพระปรง ชุมชนบ้านด่านเมืองด่านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลนักกับด่านหนุมาณ ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดําริให้สร้างป้อมเมืองปราจีนบุรี แต่สร้างแล้วเสร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพราะอยู่ในเส้นทางไปสู่เขมรและญวนซึ่งกําลังตกอยู่ในช่วงยุคแห่งการล่าอาณานิคม ความสําคัญของบ้านเมืองบริเวณนี้ที่ถือว่าอยู่ในเขตชายแดนจึงมีความสําคัญทั้งในการเริ่มสร้างขอบเขตดินแดนตามแผนที่อย่างสากลและต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ฝรั่งเศสอ้างสิทธิ์ในการปกครองกัมพูชาในสมัยพระเจ้านโรดมแทนไทย โดยอ้างว่าฝรั่งเศสมีอํานาจปกครองญวนก็ต้องมีอํานาจปกครองกัมพูชาด้วยเพราะญวนมีอํานาจปกครองกัมพูชา หัวเมืองที่เคยถูกปกครองโดยตระกูลพระยาอภัยวงศ์ ตั้งแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางไทยออกไปกินเมือง โดยตอบแทนความดีความชอบแก่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน)  ที่ทําสงครามและร่วมจัดการความวุ่นวายในเขมรจึงทรงขอเมืองที่ติดกับสยามจากสมเด็จพระนารายณ์ฯ (นักองค์เอง) ให้พระยาอภัยภูเบศรเป็นผู้ปกครองให้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ โดยตรงเพื่อคอยคุ้มครองเขมรอย่างใกล้ชิด เขมรจึงถูกแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือส่วนที่ขึ้นกับสยามโดยตรง เรียกว่า “เขมรส่วนใน” ประกอบด้วยหัวเมืองหลัก ๆ คือ พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ โปริสาท (โพธิสัตว์) และอุดงฤไชย และ “เขมรส่วนนอก” ตั้งแต่พนมเปญ ไปจนจรดเขตแดนภาคตะวันออกติดชายแดนญวน มีเจ้าเขมรปกครอง  การปกครองในเขตนี้มีลักษณะพิเศษเพราะถึงแม้จะขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ แต่ให้ปกครองกันเองตามประเพณีเขมร และให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) เก็บภาษีอากรใช้จ่ายในการปกครองได้ด้วยตนเอง ตําแหน่งเจ้าเมืองพระตะบองอันเป็นศูนย์กลางของการปกครองเขมรส่วนใน จึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของลูกหลานเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ต้นสกุลอภัยวงศ์ตลอดมารวมเวลา ๑๑๒ ปี (พ.ศ. ๒๓๓๗-๒๔๔๙) และเมื่อเปลี่ยนจากระบบเจ้าเมืองเป็นการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองเขมร ส่วนนอกอยู่ใน “มณฑลบูรพา” ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ ประกอบด้วย เมืองเสียมราฐ พระตะบอง พนมศก และศรีโสภณ หลังจากนั้นอีกราว ๓ ปี รัฐบาลสยามต้องทํา “อนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๐๔” แลกกับความเสียเปรียบในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและให้ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากจันทบุรีซึ่งต่อเนื่องจนถึงการแลกเปลี่ยนเมืองตราดและด่านซ้ายในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ซึ่งทางสยามต้องมอบพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ทําให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) เป็นเจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้ายและเป็นสมุหเทศาภิบาลสําเร็จราชการ มณฑลบูรพาก็พาผู้สมัครใจทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอนติดตามมาอยู่ ณ เมืองปราจีนบุรี ต่อมาท่านบริจาคทรัพย์สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล บูรณปฏิสังขรณ์วัดแก้วพิจิตรโดยเป็นผู้อํานวยการก่อสร้างและออกแบบเอง และเป็นท่านตาของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงสร้างตึกอภัยภูเบศร ซึ่งตั้งใจรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวในขณะนั้น โดยเป็นตึกทรงเดียวกับที่พํานักในเมืองพระตะบอง ตึกดังกล่าวนี้ภายหลังเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลอภัยภูเบศรที่ท่านบริจาคที่ดินให้ เมื่อเริ่มปฏิรูปการปกครองเป็นระบบเทศาภิบาลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ จึงได้ใช้เมืองปราจีนเป็นที่ว่าการ “มณฑลปราจีน” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ ประกอบด้วยเมืองปราจีนบุรี เมืองชลบุรี เมืองนครนายก เมืองฉะเชิงเทรา เมืองบางละมุง เมืองพนัสนิคม เมืองพนมสารคาม หมายถึงเป็นศูนย์กลางของท้องถิ่นในภูมิภาคตะวันออก และอีกประการหนึ่งคือมีการค้นพบแหล่งทองคําที่เมืองกบินทร์บุรี มีการทําเหมืองทองคําในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทําให้หัวเมืองปราจีนบุรีมีความสําคัญในฐานะที่หวังจะให้เป็นเมืองทางอุตสาหกรรมแร่ที่ให้คุณค่าทางเศรษฐกิจ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาส ปราจีนบุรี ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ และครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ โดยเสด็จจากพระนครลัดเลาะไปออกแม่น้ำนครนายก และเข้าสู่แม่น้ำบางปะกงที่ปากน้ำโยทะกา ส่วนขากลับเสด็จ พระราชดําเนินมาทางแม่น้ำปราจีนบุรีแล้วเข้าปากคลองบางขนากในอําเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วตัดมาออกที่ปากน้ำเมืองสมุทรปราการ  ผู้คนในเส้นทางเมืองด่านชายแดน ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรีจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สยามยกทัพไปตีหัวเมืองลาวทั้งทางหลวงพระบางทางตอนเหนือ ทางเวียงจันทน์ทางตอนกลาง และทางจําปาสักในเขตลาวใต้ จนตกเป็นประเทศราชขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และได้กวาดต้อนผู้คนทั้งไพร่พลและเจ้านายมาไว้ยังบ้านเมืองต่าง ๆ หลายครั้งหลายคราว จนครั้งสุดท้ายเมื่อครั้งรบกับเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ. ๒๓๖๙ ที่ยกทัพไปตีกรุงเวียงจันทน์และเผาเมืองจนแทบไม่เหลือหลักฐานบ้านช่องและร้างผู้คน แล้วกวาดต้อนผู้คนทั้งหมดมายังฝั่งสยามให้ตั้งบ้านเรือนอยู่หลากหลายท้องถิ่นที่ ปรากฏว่ามีมากก็ที่เขตเขมรป่าดงเมืองศรีษะเกษ เมืองขุขันธ์ และขุนหาญ ปรากฏชุมชนลาวเวียงตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ร่วมกับผู้คนเชื้อสายเขมรจากศรีษะเกษเดินทางผ่านช่องตะโกลงมายังเขตเมืองกบินทร์บุรี อรัญประเทศ และประจันตคามมีชุมชนลาวเวียงปรากฏอยู่จนทําให้บริเวณท้องถิ่นนี้เป็นเขตที่มีการอยู่อาศัยของชาวลาวและพูดภาษาลาวอย่างชัดเจน โดยทางอรัญประเทศยังปรากฏกลุ่มชาวญ้อซึ่งเป็นกลุ่มที่พูดภาษาลาวสําเนียงทางหลวงพระบาง ซึ่งชาวญ้อ เป็นคนกลุ่มใหญ่ในจังหวัดสกลนครที่เคลื่อนย้ายเข้ามาสู่สยามในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ส่วนกลุ่มคนพวนที่มาจากแถบเมืองเชียงขวางก็เป็นคนกลุ่มใหญ่ทางศรีมหาโพธิและปราจีนบุรีไปจนถึงลุ่มน้ำท่าลาด จากสนามชัยเขต เกาะขนุน และพนมสารคาม บริเวณและ ฉะเชิงเทรา รวมทั้งพนัสนิคมในจังหวัดชลบุรี เส้นทางการกวาดต้อนผู้คนจากทางฝั่งเชียงขวา’ และเมืองพวนรวมทั้งทางฝั่งเมืองเวียงจันทน์ก็ผ่านช่องทางด้าน “ช่องตะโก” ผ่านด่านพระจารึกด่านพระปรง ด่านหนุมาณ และเดินทางสู่ ท้องถิ่นต่าง ๆ ในภูมิภาคตะวันออกก็ใช้เส้นทางนี้เป็นเส้นทางสําคัญทางหนึ่ง กลุ่มลาวเวียงที่มีจํานวนไม่น้อยตั้งถิ่นฐานที่หัวเมืองแถบสระบุรีและนครนายก เช่น แถบแก่งคอย หนองแค หนองแซง เสาไห้ วิหารแดง บ้านหมอ ปะปนไปกับลาวแง้วที่มาจากทางแถบหลวง พระบางและคนยวนจากเชียงแสนที่เข้ามาก่อนหน้านั้นในช่วงเวลา ต่างกันเล็กน้อย และเลยไปถึงลพบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ ที่มีทั้งลาวเวียง ลาวแง้วและคนพวนที่เป็นกลุ่มไทดําจากเมืองพวน แถบเชียงขวาง และข้ามไปทางภาคตะวันตกที่อุทัยธานี สุพรรณบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี ดังนั้นผู้คนที่เป็นประชากรโดยพื้นฐานของบริเวณ “บ้านด่าน” ชายแดนสยามประเทศในบริเวณ “ด่านพระจารึก” “ด่านพระปรง” และ “ด่านหนุมาณ” คือชาวลาวจากฝั่งขวาของแม่น้ำโขงที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รวมเวลาแล้วอยู่ในช่วงกว่า ๒๐๐ ปีมาแล้วและมีลูกหลานสืบเชื้อสายสืบทอดมาหลายชั่วอายุคนจนสามารถตั้งขึ้นเป็น “เมือง” เช่น เมืองกบินทร์บุรีที่ตั้งขึ้นจากบ้านด่านหนุมาณกลายเป็นเมืองหน้าด่านทางภาคตะวันออกของสยามในช่วงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว   ที่เมืองกบินทร์บุรี ชุมชนชาวลาวเวียงที่เป็นกลุ่มใหญ่ ที่สุดอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าตําบลเมืองเก่า บริเวณแควหนุมาน ที่บ้านด่าน เรียกว่า “ด่านหนุมาณ” ซึ่งเป็นชุมชนมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นบ้านด่านสําหรับเฝ้าระวังในเส้นทางเดินทัพไปยังเขมร พบว่าน่าจะเป็นจุดที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อหนุมานบริเวณริมแควหนุมานฝั่งตะวันตกห่างจากบ้านใต้ของบ้านเมืองเก่าราว ๑ กิโลเมตร และชาวบ้านรื้อถอนเพื่อบูรณะและให้มาอยู่ใกล้กับชุมชนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ปัจจุบันตั้งอยู่ติดกับ “หนองหนุมาน” บริเวณบ้านใต้ ๑ กิโลเมตร  เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) อพยพผู้คนจากเมืองพระตะบองมายังเมืองปราจีนบุรีหลังจากสยามเสียดินแดนเขมรส่วนในรวมทั้งพระตะบองให้กับฝรั่งเศส สภาพแวดล้อมบริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่มใกล้ลําน้ำซึ่งมีทั้งแควหนุมานและห้วยโสมง โดยบริเวณบ้านเรือนจะตั้งอยู่บนโคกเนินที่เป็นแนวยาว บ้านเมืองเก่าประกอบไปด้วยบ้านเหนือ บ้านกลาง บ้านใต้ ต่อด้วยบ้านเลียบ บ้านหนองรู บ้านโนนแดง บ้านงิ้ว และบ้านม่วง มีหนองน้ำขนาดใหญ่คือ หนองรูและหนองปลาแขยงที่บางส่วนปรับมาเป็นอุทยานกบินทร์เฉลิมราช ชาวบ้านจึงมีการปลูกผักกระเฉดซึ่งมีวิธีการทําให้ยอดผักกระเฉดอ่อนและกรอบอร่อย เรียกว่า “ผักกระเฉดชะลูดน้ำ” ก็มีแหล่งที่มาจากบริเวณนี้ บริเวณบ้านเมืองเก่าซึ่งเป็นบ้านด่านแต่เดิมคงมีผู้คนอยู่อาศัยไม่มาก แต่เมื่อมีการกวาดต้อนอพยพคนลาวจากทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงจึงมีการให้ชาวลาวเวียงจํานวนหนึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านด่านหนุมาณ ช่วงเวลานี้ไม่น่าจะเกินราว พ.ศ. ๒๓๖๙-๒๓๗๐ จากเมื่อครั้งศึกเจ้าอนุวงศ์ ชุมชนที่นี่จึงขยายใหญ่ขึ้นแต่ก็ยังไม่มีการลงหลักฐานที่มั่นคงเพราะมีสงครามต่อเนื่องกับทางเขมรและ อันนัมหรือญวนอีกกว่า ๑๐ ปี ชาวบ้านที่นี่ยังคงเล่าสืบต่อกันมาว่า ชาวบ้านที่เป็นลาวเวียงที่บ้านเมืองเก่าต้องถูกเกณฑ์ไปรบในทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองเขมร ได้รับความยากลําบากอย่างยิ่ง ต้องทําถนนเพื่อเดินทัพทางบกจากด่านหนุมาณไปยังเมืองเขมรและเป็นกําลังสําคัญในการสู้รบด้วย รูปปั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่วัดพระยาทำริมลำน้ำหนุมาน เมืองกบินทร์บุรี มีวัดสําคัญที่เกี่ยวเนื่องกับการตั้งทัพและเดินทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชาคือ “วัดหนองรู” บ้านหนองรูซึ่งเปลี่ยนเป็นชื่อ “วัดแก้วฟ้ารังษี” ในปี พ.ศ. ๒๔๓๐ บริเวณนี้อดีตเคยใช้บริเวณวัดเป็นกองบัญชาการตั้งทัพเพื่อไปรบกับเขมร และเป็นสถานที่ สําหรับทําพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการในหัวเมืองแถบนี้ปัจจุบันยังคงเหลือรูปแบบทางศิลปกรรม เช่น พระอุโบสถและพระพุทธรูปที่เป็นแบบลาวอยู่บ้างเล็กน้อย อีกแห่งหนึ่งคือ ที่บ้านดงเย็นวัดที่บ้านนี้มีประวัติว่าเจ้าพระยาบดินทรเดชาเมื่อกลับจากสงครามแล้วจึงได้สร้างวัดหลวงบดินทรเดชา และนําพระพุทธรูปปางมารวิชัยจากเขมรมาประดิษฐานไว้ในอุโบสถ  ทั้งสองแห่งยังพบร่องรอยความทรงจําของผู้คนในปัจจุบัน ที่มีต่อเส้นทางเดินทัพไปรบกับญวนและเขมร ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและการเกณฑ์แรงงานชาวลาวไปทําถนนและสู้รบแม้เวลาจะผ่านล่วงเลยมาเกือบสองร้อยปีก็ตาม ต่อมามีการอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งชุมชนริมแม่น้ำที่ “บ้านปากน้ำ” ซึ่งเป็นที่สบกันของแควพระปรงและแควหนุมานเป็นจุดเริ่มต้นของแม่น้ำบางปะกง และกลายเป็นศูนย์รวมการคมนาคมในราว พ.ศ. ๒๔๔๙ ซึ่งตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นช่วงเวลาที่สยามต้องยกดินแดนมณฑลบูรพา ได้แก่ เสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณให้ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับจังหวัดตราดและเกาะทั้งหลายรวมทั้งเกาะกูดคืน ในเขตลุ่มน้ำบางปะกงในยุคสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมามีการปลูกอ้อยเพื่อหีบใช้ทําน้ำตาลและเป็นสินค้าส่งออกที่สําคัญและยังมีการปลูกข้าวหมาก ผลไม้จากสวนต่าง ๆ ของป่าจากเทือกเขาภายใน จึงเป็นเขตพื้นที่ทางเศรษฐกิจการเกษตรและของป่าที่สําคัญของสยามประเทศ และเป็นช่วงเวลาที่สยามทําสนธิสัญญาเปิดการค้าเสรีกับทางอังกฤษมีการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานชาวจีนจํานวนมากตั้งแต่ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแล้ว แรงงานชาวจีนนี้ส่วนใหญ่แต่แรกเริ่มเข้ามาขายแรงงานเพื่อการสาธารณูปโภคเพิ่มเติมกับแรงงานไพร่ส่วยที่มีไม่เพียงพอและกระจายไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ กลุ่มคนจีนมักรวมกลุ่มกันตามที่มาจากท้องถิ่นต่าง ๆ ในเมืองจีน เป็นจีนกวางตุ้ง แคะ ไหหลํา แต้จิ๋ว เพื่อช่วยเหลือระหว่างกันในกลุ่มผู้มาก่อนและกลุ่มผู้มาใหม่ และมักมีการตั้งหัวหน้าที่ได้รับ ความนับถือกันในกลุ่มเรียกว่า “ตั้วเหี่ย” ในภาษาแต้จิ๋ว หรือ “ตั้วก่อ” ในภาษาฮกเกี้ยน ที่แปลว่า “พี่ใหญ่” นอกจากทํางานขุดคลองบางขนากเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๐ แล้ว แรงงานชาวจีนที่มีการรวมกลุ่มถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่กันจึงมีความชํานาญในการทําอุตสาหกรรมน้ำตาล รวมทั้งเป็นช่างต่อเรือ ช่างไม้ และสามารถในการเดินเรืออีกด้วย เมืองฉะเชิงเทราในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ที่มีการบุกเบิกพื้นที่เป็นเส้นทางเดินทัพและมีแหล่งทรัพยากรสําคัญจึงมีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่อาศัย จํานวนมากรวมทั้งชาวจีนด้วย จึงมีการปลูกอ้อยและทําโรงน้ำตาล มากขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐได้ให้ความสนใจก่อสร้างโรงงานน้ำตาล ของหลวงขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกัน แต่ขาดทุนเนื่องจากการทุจริตของข้าราชการและการขาดประสบการณ์ทางธุรกิจ แตกต่างจากชาวจีนที่มีความเชี่ยวชาญการผลิตน้ำตาลทุกขั้นตอน เป็นทั้งแรงงานและผู้ประกอบการ เพราะมีความชํานาญเป็นหัวหน้าคนงานเสมียน และ ผู้จัดการอย่างเบ็ดเสร็จ สามารถผลิตเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตน้ำตาลเช่น เครื่องหีบอ้อย พลั่ว จอบ เสียม กระทะ และสามารถในการเดินเรืออีกด้วย เมืองฉะเชิงเทราในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ที่มีการบุกเบิกพื้นที่เป็นเส้นทางเดินทัพและมีแหล่งทรัพยากรสําคัญจึงมีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่อาศัยจํานวนมากรวมทั้งชาวจีนด้วย จึงมีการปลูกอ้อยและทําโรงน้ำตาลมากขึ้น กรณีจีนตั้วเหี่ยครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๗ ที่เมืองจันทบุรีเกิดจากการวิวาทระหว่างจีนฮกเกี้ยนและจีนแต้จิ๋วและเกิดขึ้นตามมาอีกหลายแห่ง เช่นที่เมืองนครชัยศรี และเมืองสาครบุรี และอีกหลายจุด โดยทําฝ่าฝืนกฎหมายและยังมีปัญหาเรื่องการค้าฝิ่น การจลาจลของจีนตั้วเหี่ยที่เมืองฉะเชิงเทราเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๑ เกิดขึ้นจากแรงงานคนจีนต่อต้านการข่มเหงของขุนนางท้องถิ่นโดยเฉพาะจากเจ้าเมือง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงลงโทษแต่บรรดาแกนนําอย่างรุนแรง ส่วนผู้ร่วมเหตุการณ์ระดับล่างจํานวนมากได้รับการปล่อยตัว แต่ก็มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ มากกว่าครั้งใด ๆ ถึง ๓,๐๐๐ คน หลังจากนั้นจึงทรงปรับปรุงการแต่งตั้งเจ้าเมืองโดยให้ขุนนางเชื้อสายจีนจากกรมท่าซ้ายเป็นเจ้าเมืองคนใหม่เพื่อปกครองเมืองฉะเชิงเทราที่มีคนจีนอยู่มาก (นนทพร อยู่มั่งมี, “เผาบ้าน เผาเมือง จลาจลโรงน้ำตาล กรณีจีนตั้วเหี่ยเมืองฉะเชิงเทรา สมัยรัชกาลที่ ๓” ศิลปวัฒนธรรม หน้า ๘๘-๑๐๒) ความเป็นเมืองท่าใกล้ปากน้ำชายทะเลของเมืองฉะเชิงเทราจึงเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าและส่งออกสินค้าการเกษตรพวก น้ำตาล ข้าว หมากและผลไม้และของป่า จึงกลายเป็นศูนย์กลางที่คนจีนโพ้นทะเลจะอพยพเข้ามาทํางานอยู่อย่างต่อเนื่องในช่วงเวลานับศตวรรษ และเมื่อสะสมทุนพอได้หรือมีเครือข่ายญาติพี่น้องหรือ คนในกลุ่มเดียวกันอยู่ที่ใดก็จะโยกย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานตามท้องถิ่น ภายในริมลํานํ้าบางปะกงที่เรียกเป็นช่วง ๆ ว่าแม่นํ้านครนายกและ แม่นํ้าปราจีนบุรี ดังพบได้ตามตลาดท่าน้ำริมน้ำสําคัญ ๆ ที่มีผู้คนเชื้อสายจีนซึ่งมักแต่งงานกับคนท้องถิ่นแล้วทําการค้าเป็นหลักจนทําให้เกิดตลาดหรือเมืองริมแม่น้ำ เช่น ที่บางคล้า พนมสารคาม ปราจีนบุรี ท่าทรายหรือท่าประชุมที่ดงศรีมหาโพธิ จนมาสิ้นสุดเส้นทางเดินทางนํ้าที่เป็นชุมชนตลาดขนาดใหญ่ที่ไกลที่สุดจากปากน้ำบางปะกงก็คือที่ “ตลาดกบินทร์บุรี” บนจุดบรรจบของแควหนุมานและแควพระปรงต้นแม่น้ำบางปะกงนั่นเอง ส่วนทางบางคล้ามีการอพยพของคนจีนรุ่นเก่าเข้ามา ทําสวนยกร่องในเขตที่มีอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนเข้ามาได้และ มีสภาพเป็นและต้องเสียค่าอากรสวนให้แก่รัฐได้มาก สามารถเดินทางแยกออกไปทางนครนายกสู่พนมสารคาม ซึ่งเป็นชุมทางค้าควายและมีกองเกวียนค้าขายแหล่งใหญ่ที่พ่อค้าและนายฮ้อยชาวอีสานเดินทางมาจากช่องตะโกและมาพักเกวียนแถบนี้ และสามารถติดต่อกับปราจีนบุรีที่เดินทางขึ้นไปถึงดงศรีมหาโพธิที่มีชุมทางใหญ่อยู่ที่ “ท่าหาดหรือท่าเขมร” ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “ท่าประชุม” อันเป็นชุมทางซึ่งมีทั้งโรงสีข้าวและโรงเลื่อยอยู่ไม่น้อย ต่อเนื่องขึ้นไปถึงเมืองกบินทร์บุรีซึ่งเป็นชุมชนภายในที่ติดต่อกับเขตชายเทือกเขาที่มีการบุกเบิกทําไม้ซุงและทํานาไม่ใช่น้อย ทําให้มีคนจีนไปสร้างหลักแหล่งในฉะเชิงเทรามากขึ้นจนสามารถสร้างโรงสีข้าว โรงงานน้ำตาล โรงเลื่อย อันส่งผลให้เมืองฉะเชิงเทรากลายเป็นศูนย์กลางความเจริญแทนเมืองปราจีนบุรีที่เจริญขึ้นมาตั้งแต่เป็นจุดพักสําคัญใน เส้นทางเดินทัพสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองกบินทร์บุรีเคยยกฐานะขึ้นเป็น “จังหวัดกบินทร์บุรี” เมื่อ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ โดยมีอําเภอกบินทร์บุรี อําเภออรัญประเทศ อําเภอสระแก้ว และอําเภอวัฒนา จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๙ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ จึงยุบเป็นอําเภอกบินทร์บุรีขึ้นกับจังหวัดปราจีนบุรี  ต่อมามีการสร้างทางรถไฟต่อจากเมืองฉะเชิงเทราไปเชื่อมกับทางรถไฟกับกัมพูชาที่คลองลึกอําเภออรัญประเทศเปิดการเดิน รถไฟจากฉะเชิงเทราถึงกบินทร์บุรีระยะทาง ๑๐๐ กิโลเมตร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗ และเปิดการเดินรถไฟจากกบินทร์บุรี ถึงตําบลคลองลึก อําเภออรัญประเทศระยะทาง ๙๔ กิโลเมตร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เชื่อมกับเส้นทางรถไฟของกัมพูชาหรืออินโดจีนฝรั่งเศสในขณะนั้นสิ้นสุดที่เมืองพนมเปญ ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ รูปปั้นที่ศาลเจ้าพ่อพระปรง ด่านสำคัญในเส้นทางสู่เขมรแต่โบราณ มณฑลเทศาภิบาลปราจีนบุรีถูกยกเลิกไปเมืองปราจีนบุรี มีฐานะเป็นจังหวัดปราจีนบุรีเมื่อหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ แต่เนื่องจากจังหวัดปราจีนบุรีมีพื้นที่กว้างขวางจึงแยกออกเป็นจังหวัดนครนายก ใน พ.ศ. ๒๔๘๙ และจังหวัดสระแก้วใน พ.ศ. ๒๕๓๖ สําหรับเหตุการณ์สําคัญในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ หรือ สงครามมหาเอเชียบูรพาที่ทําให้เกิดความทรงจําในสภาพของ สงครามและความเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดปราจีนบุรีและกบินทร์บุรี ก็คือ ญี่ปุ่นได้ยกกองทัพสู่ประเทศไทยทางตะวันออกด้าน อําเภออรัญประเทศผ่านวัฒนานคร สระแก้ว กบินทร์บุรี เพื่อเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ โดยที่กบินทร์บุรีทหารญี่ปุ่นใช้พื้นที่วัดต่าง ๆ เช่น วัดพระยาทํา ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับตลาดเก่าเป็นที่พักแรมของทหารญี่ปุ่น ชาวบ้านที่ตลาดเก่าซึ่งเกิดทันยังจดจําเรื่องราวเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเรื่องสะพานดําหรือสะพานข้ามทางรถไฟที่ตลาดกบินทร์ไม่ถูกระเบิดจากเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรเพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนจีนในตลาดยังจดจําได้มาจนถึงปัจจุบัน หลังจากการบุกครองอินโดจีนของญี่ปุ่นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ฝรั่งเศสถูกบีบยินยอมอนุญาตให้ญี่ปุ่น ตั้งฐานทัพในอินโดจีนและภายหลัง เมื่อสิ้นสุดกรณีพิพาทโดยมีญี่ปุ่นเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส มีการลงนามในอนุสัญญาสันติภาพที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ จึงทําให้ไทยได้ดินแดนพิพาทมาอยู่ในปกครอง และจัดตั้งเป็นจังหวัดใหม่ขึ้น ๔ จังหวัด คือ นครจัมปาศักดิ์ ลานช้าง พิบูลสงคราม และพระตะบองซึ่งจังหวัดดังกล่าวนี้ไทยได้ปกครองในช่วงเวลาสั้น ๆ จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ อ่านเพิ่มเติมได้ที่:

  • เส้นทางข้ามสมุทรเคคาห์-ปาตานี ความเป็นเมืองท่าและความสำคัญของทรัพยากรต่อบ้านเมืองภายใน

    เผยแพร่ครั้งแรก 1 ก.ย. 2557 แผนที่แสดงเส้นทางข้ามคาบสมุทรยุคโบราณมาเลย์-สยาม บริเวณแผ่นดินของคาบสมุทรมาเลย์-สยามตั้งแต่โบราณกีดขวางการเดินทางระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก อันหมายถึงผู้คนทางฝั่งอินเดียที่เชื่อมต่อกับอาหรับ เปอร์เซีย และโรมันทางฝั่งตะวันตกกับจีนแผ่นดินใหญ่ทางฝั่งตะวันออก การเดินทางระยะไกลข้ามทวีปในช่วงแรกเริ่มเหล่านี้มนุษย์ล้วนแต่ใช้เรือเป็นพาหนะเดินทางต้องแล่นเรืออ้อมช่องแคบมะละกาที่มีขนาดเล็กหรือเดินทางบกข้ามคาบสมุทรมาเลย์-สยามในหลายช่องทาง ในยุคหนึ่งช่องแคบมะละกามีปัญหาโจรสลัดชุกชุมและการเดินทางที่อ้อมแหลมใช้เวลานาน ตลอดจนปัญหาเรื่องเวลาที่ต้องพึ่งพาลมมรสุม จึงมีความนิยมขนส่งสินค้าหรือเดินทางข้ามคาบสมุทรจนทำให้เกิดบ้านเมืองชุมชนใหญ่น้อยที่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางขึ้นหลายแห่ง ปรากฏหลักฐานโบราณคดีบริเวณเส้นทางข้ามคาบสมุทรหลายเส้นทางตั้งแต่บริเวณตอนต้นตั้งแต่มะริดะกุยบุรีและเพชรบุรี กระบุรี-ชุมพร ตะกั่วป่าและกระบี่-อ่าวบ้านดอนและนครศรีธรรมราชตรังะพัทลุง เคดาห์หรือไทรบุรี-สงขลา และเคดาห์-ปัตตานี เป็นต้น ต่อมาเส้นทางเหล่านี้ถูกลดความสำคัญจากเส้นทางข้ามคาบสมุทรเป็นเส้นทางที่ใช้ในท้องถิ่นเนื่องจากการเดินเรือนั้นสามารถเดินเรือผ่านช่องแคบได้สะดวกกว่าในอดีต จึงไม่มีความจำเป็นต้องขนถ่ายสินค้าขึ้นบกอีกต่อไป และเส้นทางสำคัญจากเคดาห์ในมาเลเซียสู่ยะรังและปาตานี ซึ่งมีการพบกลุ่มเมืองโบราณสำคัญ ๓ กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มเมืองโบราณที่ ยะรัง ปรากฏเมือง ๓ เมือง ได้แก่ บ้านวัดบ้านจาเละ และปราแว 2.กลุ่มเมืองบริเวณเขาหน้าถ้ำ ที่ยะลา 3.กลุ่มเมืองบริเวณปากแม่น้ำเมอบก บริเวณหุบเขาบูจังหรือหุบเขาแม่ม่ายซึ่งอยู่ในบริเวณเคดาห์ กลุ่มเมืองทั้งสามแห่งนี้มีบทบาทสำคัญในการทำให้การติดต่อระหว่างจีนและอินเดียดำเนินไปได้โดยสะดวกโดยมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ซึ่งเป็นช่วงที่การค้าระหว่าง ตะวันออกกลาง อินเดีย และจีนเติบโตเป็นอย่างมาก กลุ่มเมืองดังกล่าวมีศูนย์กลางของบ้านเมืองขนาดใหญ่ที่เมืองโบราณยะรังซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็น “ลังกาสุกะ” เมืองสำคัญในเอกสารโบราณ บทบาทของกลุ่มเมืองยะรังในขณะนั้นคือ เป็นเมืองการค้าที่เป็นเมืองท่าภายใน [Entrepot] ตั้งอยู่ห่างจากอ่าวปัตตานีราว ๑๖-๑๗ กิโลเมตร ร่องรอยที่ปรากฏคือคูน้ำคันดินของเมืองขนาดใหญ่และเล็ก ๓ แห่งเรียงจากทิศใต้ขยายไปยังทิศเหนือ ได้แก่บ้านวัด บ้านจาเละ และบ้านปราแว เหตุผลที่เมืองท่ายะรังอยู่ห่างจากชายฝั่งลึกเข้ามาในแผ่นดินถึง ๑๖-๑๗ กิโลเมตรนั้น เนื่องจากบ้านเมืองแรกเริ่มมักตั้งถิ่นฐานห่างไกลชายฝั่งทะเลเป็นระยะทางที่เหมาะสม ไม่ไกลและใกล้เกินไปจากเหตุผลการทำเกษตรกรรมที่จำเป็นต้องมีที่ราบและน้ำจืดเพื่อสะดวกแก่การเดินทางทั้งจากบ้านเมืองภายในแผ่นดินและภายนอก โดยรูปแบบการตั้งเมืองเช่นนี้ปรากฏในยุคสมัยเดียวกับบริเวณอื่น ๆ เช่น เมืองนครปฐมโบราณ เมืองอู่ทอง เมืองคูบัว ฯลฯ ปรากฏหลักฐานว่าเมืองปราแวในกลุ่มเมืองยะรังนี้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยจนถึงยุคสมัยของรายากูนิง เมื่อย้ายบ้านเมืองมาตั้งอยู่ที่ริมฝั่งทะเลแล้วและแม้กระทั่งเปลี่ยนมาเป็นยุคแบ่งออกเป็น ๗ หัวเมืองแล้วก็ยังคงมีผู้คนอาศัยอยู่เรื่อยมา  กลุ่มเมืองโบราณที่ยะรังนี้มีการค้นพบเส้นทางน้ำภายในหลายเส้นทาง และมีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด เนื่องจากระยะทางจากภูเขาในเขตยะลาจนถึงปากน้ำปัตตานีมีระยะทางไม่เกิน๓๐ กิโลเมตร อันเป็นระยะทางไม่ไกลนัก ทำให้เส้นทางน้ำเปลี่ยนแปลงโดยง่ายเมื่อมีการจัดการน้ำในรูปแบบทำนบหรือเขื่อนขนาดเล็กในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง เช่น ในสมัยของรายาฮิเยาก็มีการบันทึกว่ามีการทำทำนบกั้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งภายหลังจากการสิ้นพระชนม์แล้วก็มีการรื้อออกเนื่องจากสร้างปัญหาในการทำนาเกลือ โดยทำนบโบราณนั้นคงมีปรากฏร่องรอยให้เห็นถึงปัจจุบัน โบราณวัตถุที่สำคัญที่พบในกลุ่มเมืองยะรังนี้ พบวัตถุโบราณเกี่ยวกับศาสนาพุทธมหายาน เช่น สถูปจำลองต่าง ๆ โบราณวัตถุของศาสนาฮินดู ได้แก่ โคนนทิและศิวลึงค์ในรูปแบบมุขลึงค์ แสดงให้เห็นถึงการได้รับอิทธิพลของศาสนาฮินดูและพุทธแบบมหายานด้วย กลุ่มเมืองบริเวณถ้ำคูหาภิมุข ที่ยะลา เป็นพื้นที่ภูเขาหินปูนซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนผ่านการเดินทางจากน้ำเป็นบกหรือเข้าเขตภูเขาจากเรือที่ล่องเข้ามายังแม่น้ำปัตตานี ถ่ายสินค้าหรือเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางขึ้นเขาโดยมีช้างเป็นพาหนะและเดินทางสู่ปากอ่าวอีกริมฝั่งทะเลหนึ่งเพื่อล่องเรือต่อ ในเขตถ้ำคูหาภิมุขนี้ ได้พบพระพิมพ์ดินดิบจำนวนมาก โดยรูปแบบของพระพิมพ์เป็นพระพุทธรูปประทับบนปัทมอาสน์ ซึ่งเป็นแบบมหายาน และยังค้นพบพระพิมพ์รูปแบบเดียวกันนี้ที่เคดาห์ ซึ่งสามารถแสดงถึงความร่วมสมัยและความเกี่ยวโยงกันได้อย่างชัดเจน เส้นทางข้ามคาบสมุทรบริเวณบ้านเมืองจากฝั่งเคดาห์ ลังกาสุกะ และปาตานี กลุ่มเมืองบริเวณหุบเขาบูจังที่เคดาห์นี้ มีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นที่ราบสำหรับทำการเกษตร โบราณวัตถุที่พบในเขตนี้เป็นจารึกสำคัญ คือ “จารึกมหานาวิกะ พุทธคุปต์” อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ซึ่งมีอายุรุ่นก่อนเมืองโบราณที่ยะรัง อีกทั้งปรากฏศาสนสถานของชาวฮินดูที่เรียกว่า “จันทิ” [Chandi] จำนวนมาก ซึ่งเป็นกลุ่มพ่อค้าจากอินเดียในช่วงเวลาร่วมสมัยและภายหลังจากเมืองโบราณที่ยะรังเจริญถึงขั้นสูงสุดแล้ว  จากข้อมูลทางโบราณคดีดังกล่าว ทำให้เห็นว่า กลุ่มเมืองทั้งสาม ต่างได้รับอิทธิพลของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธมหายานซึ่งมีความร่วมสมัยกับศรีวิชัย และเห็นพ้องกับแนวคิดที่ว่า ศรีวิชัยไม่มีศูนย์กลางอย่างชัดเจน แต่เป็น “สหพันธรัฐเมืองท่า” [Port Politics] ที่ปรับตัวตามความเหมาะสม มีศูนย์กลางหลายแห่ง และเคลื่อนย้ายไปตามช่วงเวลา  การที่เมืองเริ่มย้ายตัวออกมาสู่บริเวณปากแม่น้ำในเวลาต่อมา ว่าเป็นเหตุผลของพัฒนาการด้านการค้ากับชาวตะวันตกเพื่อย่นระยะเวลาและเพิ่มความคล่องตัวในการติดต่อค้าขายที่มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ศาสนาอิสลามเผยแผ่สู่ท้องถิ่นได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย เมืองปัตตานีเป็นเมืองที่มีบทบาทสำคัญมาก เนื่องจากมีแม่น้ำปัตตานีเชื่อมต่อถึงปากอ่าวที่มีภูมิประเทศกำบังลมได้และมีความปลอดภัยจากลมมรสุม อีกทั้งยังมีพื้นที่ราบลุ่มกว้างขวางเหมาะแก่การเพาะปลูก โดยสินค้าที่สำคัญของปัตตานีคือ  เกลือ  และสินค้าของป่า, พวกแร่ธาตุ และช้าง ทำให้เมืองปัตตานีมีบทบาทเป็นเมืองท่าที่สำคัญกับทั้งตะวันตกและพ่อค้าตะวันออก  แม้ในยุคที่ตะวันตกเข้ามาทำการค้าโดยตรงปัตตานีก็ยังคงมีความสำคัญในฐานะเมืองท่าตลอดมา เนื่องจากมีการค้นพบเครื่องถ้วยของดัตช์ในปัตตานีจำนวนมาก จึงเป็นหลักฐานแสดงความเชื่อมโยงระหว่างปัตตานีและชาวตะวันตกและความเป็นเมืองท่าสำคัญในภูมิภาคนี้ได้เป็นอย่างดี แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งเมืองโบราณที่ยะรัง แม่น้ำ และอ่าวปัตตานี เรื่องราวการเข้ามาของศาสนาอิสลามในดินแดนแถบคาบสมุทรมลายูนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีหลายแนวคิด โดยอ้างถึงบทความเรื่อง “สังเขปประวัติศาสตร์ปัตตานี” ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ว่าการเผยแผ่ศาสนาอิสลามจะเผยแผ่สู่ชาวบ้านโดยผ่านโต๊ะครูเป็นหลักซึ่งเป็นการเผยแผ่สู่ฐานที่กว้างที่สุด โดยมีลักษณะที่ต่างจากการเผยแผ่ศาสนาฮินดูและพุทธ ซึ่งจะเริ่มที่ชนชั้นปกครองเป็นกลุ่มแรกที่เริ่มรับศาสนาและสร้างศาสนสถาน อุปถัมภ์นักบวช ทำให้ศาสนาอิสลามมีความมั่นคงเนื่องจากเกิดขึ้นมาจากฐานของประชาชนจำนวนมาก นิธิ เอียวศรีวงศ์ยังเสนอต่ออีกว่า กลุ่มอิสลามที่เข้ามาน่าจะเป็นนิกายซูฟี เนื่องจากนิกายนี้เชื่อในเรื่องผีบรรพบุรุษ ทำให้ปรับตัวเข้ากับแนวคิด Animism ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างไม่ยากนัก  อีกทั้งมีอีกทฤษฎีหนึ่งที่เชื่อว่า การเข้ามาของมุสลิมอาจเข้ามาพร้อมกับ เจิ้งเหอ ขันทีชาวมุสลิมจากกวางตุ้ง ในรัชสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ ราชวงศ์หมิง ที่เป็นแม่ทัพนำกองเรือออกสู่ดินแดนโพ้นทะเล เนื่องจากมีความร่วมสมัยกับรัชสมัยของเจ้าชายปรเมศวรผู้สถาปนามะละกาด้วย แผนผังบริเวณที่ตั้งกลุ่มเมืองโบราณที่ยะรังที่สันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึงรัฐลังกาสุกะ ปัตตานีในยุครัฐรายามีความเป็นปึกแผ่นและรุ่งเรืองมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง เช่น การให้ความสำคัญกับสตรีโดยสังเกตได้จากผู้ปกครองมีจำนวนหลายพระองค์ที่เป็นอิสตรีเรื่องราวของช้างในปัตตานีมีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้ขนส่งสินค้าซึ่งจำเป็นอย่างมากในยุคนั้น แม้ขบวนเสด็จก็ยังปรากฏรูปช้างในขบวนด้วย รูปแบบของเมืองในคาบสมุทรนั้นทั้งในเคดาห์ ปัตตานี และมะละกามีลักษณะไม่ยืนยาว เปลี่ยนแปลงไปตามปัญหาการเมืองภายในและภายนอกของผู้ปกครอง อีกทั้งปัตตานีนั้น เป็นเมืองที่อยู่ท่ามกลาง ๒ ภูมิวัฒนธรรม คือ สยามและมลายู โดยตอนแรกปัตตานีอยู่ภายใต้การปกครองของนครศรีธรรมราช ต่อมาตกอยู่ใต้อำนาจของสงขลา จนเข้าสู่การแบ่งเป็น ๗ หัวเมือง ทำให้ปัตตานีและสยาม เข้าใจบทบาทของตนไม่ตรงกัน กล่าวคือปัตตานีเข้าใจว่าตนเองดำรงสถานะรัฐสุลต่าน [Sultaness] โดยตลอด ในขณะที่สยามมองปัตตานีว่าเป็นรัฐเมืองในอารักขาที่ต้องส่งบุหงามาศ และมีบ้านเมืองที่มีบทบาทสำคัญภายในคาบสมุทรที่ดูเหมือนจะหล่นหายไปในประวัติศาสตร์ในช่วงที่ปาตานีถูกแบ่งออกเป็น ๗ หัวเมืองแล้ว (ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ รัชกาลที่ ๑ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์) และอยู่ในเส้นทางข้ามคาบสมุทรแต่โบราณที่ยังคงใช้ประโยชน์จากเส้นทางเชื่อมต่อและทรัพยากรธรรมชาติในแผ่นดินทั้งของป่าและเหมืองแร่มาอย่างต่อเนื่อง คือ “เมืองรามัน” ซึ่งเป็นเมืองภายในแผ่นดินที่ไม่มีพื้นที่ติดกับชายฝั่งทะเล พระพิมพ์แบบมหายานดินดิบพบที่ถ้ำคูหาภิมุข จังหวัดยะลา ต่วนลือบะห์  ลงรายา (หลวงรายาภักดี) บุตรเจ้าเมืองรามันผู้ถูกเรียกไปที่กรุงเทพฯ และหายสาบสูญไป (ซ้าย) ตันปุ่ย หรือหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง ต้นตระกูลคณานุรักษ์ (ขวา) การแยกหัวเมืองจากศูนย์กลางริมชายฝั่งทะเลทำให้เกิดเมืองภายใน เช่น ที่เมืองยาลอซึ่งเป็นจุดเริ่มการเดินทางจากพื้นที่ราบเป็นที่สูงใกล้ฝั่งน้ำปัตตานี เมืองระแงะที่ตันหยงมัสซึ่งอยู่กึ่งกลางของที่ราบระหว่างเชิงเขาบูโดและสันกาลาคีรีที่ยังไม่เคยมีหัวเมืองสำคัญใดตั้งขึ้นมาก่อน และเมืองรามันที่อยู่เชิงเขาใกล้กับลำน้ำสายบุรี ซึ่งต่อมากลายเป็นเมืองที่ถูกกล่าวขานและถูกจดจำจากผู้คนในท้องถิ่นกลายเป็นตำนานเรื่องราวต่าง ๆ จนทำให้เห็นภาพพจน์ว่าเมืองรามันในยุครุ่งเรืองนั้นมีอาณาเขตใหญ่โต เป็นต้นกำเนิดประเพณีและการละเล่นในราชสำนักมลายูแบบโบราณหลายเรื่องรวมทั้งมีผู้นำซึ่งผูกพันและใกล้ชิดกับชาวบ้านในหลายท้องถิ่นในการควบคุมแรงงานเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทรัพยากร เช่น ช้างป่า การเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้งาน เช่น ม้า วัว ควาย การทำนาแบบทดน้ำและการทำเหมืองแร่ดีบุก  เจ้าเมืองรามันตั้งแต่แรกเริ่มตั้งเมืองจนถึงท่านสุดท้ายสามารถคุมอำนาจในการดูแลและทำเหมืองแร่ดีบุก ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในระยะนั้น ทำให้เจ้าเมืองมีฐานะและอำนาจจนมีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับเจ้าเมืองรามันทั้งเรื่องไปเที่ยวจับช้างป่าหรือออกรบกับเมืองไทรบุรีหรือส่งคนไปควบคุมการปลูกข้าวปรากฏตามท้องถิ่นต่าง ๆ ในแถบเทือกเขาบูโดและไกลไปจนข้ามสันปันน้ำในฝั่งรัฐเประของมาเลเซีย  เมืองรามันซึ่งมีเขตแดนกว้างไกลและบางครั้งไม่สามารถตกลงในเรื่องขอบเขตของผลประโยชน์และเหมืองแร่ดีบุกกับรัฐเประทางเหนือเพราะเมืองรามันถือเอาดินแดนที่อยู่เลยสันปันน้ำเข้าไปในดินแดนของเประเสมอ เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ดีบุกและสามารถส่งแร่ไปทางลำน้ำมูดาออกสู่ชายฝั่งทะเลฝั่งอันดามันได้สะดวกกว่า และรัฐปาตานีแต่เดิมก็ถือว่าเขตแดนที่เป็นบริเวณเหมืองดังกล่าวนั้นเคยอยู่ในดินแดนปาตานีซึ่งเมืองรามันก็ถือตามนั้น และยังไม่กำหนดใช้เส้นเขตแดนแบบรัฐสมัยใหม่หรือรัฐอาณานิคมที่ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นกำหนดขอบเขตของบ้านเมือง เหมืองแร่ทางเขตสันปันน้ำฝั่งเประ คือ เกลียนอินตัน บริเวณที่เรียกว่า ฮูลูเประ ในปัจจุบัน เหตุที่ตั้งชื่อเช่นนี้ก็เพราะมีตัวแทนของเมืองรามันที่ไปคุมการขุดแร่ดีบุกที่นั่นชื่อ วันฮีตัม ผู้คนจึงเรียกว่าเกลียนวันฮีตัม หมายถึงเหมืองของวันฮีตัม คำว่า ฮีตัม แปลว่า ดำแต่เพื่อให้มีความหมายที่ดีจึงเปลี่ยนมาเป็น เกลียนอินตัน ซึ่งแปลว่าเหมืองเพชร  กล่าวกันว่าเจ้าเมืองรามันซึ่งมีเชื้อสายเป็นญาติกับเจ้าเมืองทางปัตตานีและยาลอมักไปดูเหมืองแร่บ่อยๆ เวลาไปแต่ละครั้งจะมีช้างหลายร้อยเชือก บางครั้งถึง ๓๐๐ เชือกก็มี จึงไม่มีที่อาบน้ำให้ช้าง วันฮีตันในฐานะเป็นตัวแทนของเจ้าเมืองรามันจึงได้ทำทำนบ เพื่อขังน้ำสำหรับให้เป็นที่ช้างอาบน้ำ จึงเรียกว่า ทำนบวันฮีตัน หลังจากเกิดการขัดแย้งต่อต้านรัฐสยาม ต่วนมันโซร์ หรือ ต่วนโต๊ะนิ หรือสำเนียงท้องถิ่นว่าตูแวมาโซ เป็นเจ้าเมืองต่อไป และรายได้สำคัญที่สร้างความร่ำรวยให้แก่เจ้าเมืองรามันในขณะนั้นคือ “ดีบุก”  โดยเฉพาะเหมืองแร่ที่ เกลียนอินตัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตรัฐเประ  ผลประโยชน์จากแร่ดีบุกนี่เองทำให้เมืองรามันกับเประวิวาทกันจนถึงรบราฆ่าฟันเพราะสุลต่านเประส่งทหารไปยึดค่ายกูบูกาแปะห์ เกลียนอินตัน และกัวลากปายัง ต่วนโต๊ะนิ เจ้าเมืองรามันจึงเตรียมพลพรรคเพื่อยึดค่ายและเหมืองแร่ มีแต่กัวลากปายังที่ยึดไม่ได้เพราะกำลังทหารจากเประมีมาก แต่เมื่อยึดภาคเหนือของเประที่ฮูลูเประได้แล้ว เจ้าเมืองรามันก็ถอยกลับโดยตั้งลูกสาวชื่อว่า โต๊ะนังซีกุวัตเป็นผู้คุมเหมืองที่เกลียนอินตันและโกระ ในราว พ.ศ. ๒๓๗๙  เมื่อ ต่วนโต๊ะนิ เจ้าเมืองรามันสิ้นชีวิต ศพของท่านถูกฝังไว้ที่โกตาบารู มีตำนานเกี่ยวกับโต๊ะนิปรากฏตามท้องถิ่นต่าง ๆ ถือเป็นกุโบร์ศักดิ์สิทธิ์ของคนในหลายท้องถิ่นและหลายชาติพันธุ์ทั้งไทยจีนและมลายูซึ่งมีอยู่ ๓ แห่ง คือที่โกตาบารู ที่เบตง และที่โกระในฝั่งเประ เจ้าเมืองรามันผู้นี้มีเรื่องเล่าลือสืบต่อกันมามากมายเช่น โต๊ะนิ เลี้ยงช้างหลายร้อยเชือกและเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องช้าง ขนาดช้างตกมันยังไม่กล้าทำร้ายและยังขึ้นไปขี่ได้อีก วิชานี้ถ่ายทอดไปถึงเจ้าเมืองระแงะคนสุดท้าย กล่าวกันว่าถ้าช้างป่าเข้าไปทำลายไร่สวนของผู้ใด ถ้านึกถึงโต๊ะนิแล้วช้างป่าโขลงนั้นจะไม่ทำลายไร่หรือสวนนั้นอีกเลย เป็นเวลากว่า ๑๐ ปีที่เมืองรามันมีอำนาจเหนือฮูลูเประต่อมาทางเประพยายามยึดคืนก็ไม่ได้ เมืองรามันสามารถป้องกันแต่ก็มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากปรากฏเป็นกุโบร์ของทหารทั้งสองฝ่ายที่เขตต่อแดนระหว่างเมืองเประและรามันบริเวณใกล้ชายแดนในอำเภอเบตงในปัจจุบัน  ซึ่งนักเดินทางชาวอังกฤษก็บันทึกถึงการเดินทางที่ผ่านกูโบร์ของนักรบจากสงครามที่ถูกจดจำได้ตลอดมา  จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ฝ่ายเประไม่ได้ส่งคนไปรบกวนอีก แต่ตรงกันข้ามฝ่ายเมืองรามันรุกล้ำเข้าไปเขตเมืองเประ เรื่อย ๆ จนได้ครอบครองฮูลูเประเกือบทั้งหมด และมีหลักฐานของกุโบร์ที่ฝังศพแม่กองเดเลฮาจากการทำสงครามนี้และถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเมืองเบตงจนกระทั่งปัจจุบัน หลังจาก ต่วนโต๊ะนิ สิ้นชีวิต ลูกชายคือ ต่วนนิฮูลู เป็นเจ้าเมืองแทน ซึ่งต่อมาท่านมีบุตรที่โดดเด่นสองท่านคือ ต่วนนิยากงหรือตงกูอับดุลกันดิสหรือพระยาจาวัง และ ต่วนนิลาบู ซึ่งเป็นหญิง ต่อมาเมื่อต่วนนิยากงเป็นเจ้าเมืองก็ส่งให้น้องสาวคือต่วนนิลาบูเป็นผู้ดูแลเหมืองแร่ต่าง ๆ ที่เกลียนอินตันแทนโต๊ะนังซีกุวัต ซึ่งเป็นบุตรสาวของต่วนโต๊ะนิ ซึ่งเป็นผู้ดูแลกิจการเหมืองมาก่อน ร่ำลือกันว่าต่วนนิลาบูเป็นผู้หญิงเก่งและชาวบ้านเชื่อว่าเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์เหนือคนธรรมดา ปรากฏในเอกสารว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ต่วนนิลาบูกับบริวาร ๖ คน เป็นทูตนำสาสน์ของเจ้าเมืองรามันไปให้ข้าหลวงอังกฤษประจำเประ เธอได้เดินทางท่องเที่ยวไปดูกิจการความทันสมัยของเมืองไทปิง เช่น พิพิธภัณฑ์ โรงพยาบาล เรือนจำโดยการโดยสารรถไฟซึ่งเป็นเรื่องทันสมัยมากในยุคนั้น  ภรรยาของต่วนนิยากงเจ้าเมืองรามันมีนามว่า เจ๊ะนีหรือเจ๊ะนิงเรียกตามภาษามลายูว่า รายาปรัมปูวัน เป็นผู้หญิงเก่งกล้าสามารถอีกเช่นกัน หลังจากสยามจัดระบบการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาลและยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองต่าง ๆ เธอสูญเสียสามีและบุตรชายอันเนื่องมาจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงเหล่านี้แต่ทำให้กรรมสิทธิ์เหมืองแร่ที่เกลียนอินตันเป็นของเธอ จึงพาบริวารอพยพจากโกตาบารูไปอยู่อาศัยที่เมืองโกระจนสิ้นชีวิต เมื่อเมืองรามันรุกล้ำเข้าไปในเประมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ สุลต่านเประจึงได้ร้องเรียนไปยังราชสำนักสยามผ่านทางเคดาห์ จนถึงพ.ศ. ๒๔๒๕ โดยความร่วมมือของเจ้าเมืองสงขลาจึงมีการปักเขตแดนระหว่างเประกับรามันที่ บูเก็ตนาซะ ซึ่งอยู่ระหว่างกือนายัตกับตาวาย แต่หลังจากปักหลักเขตแล้วก็ยังมีการปะทะกันประปรายตลอดมาจนมีการทำสัญญากันระหว่างอังกฤษกับสยามที่เมืองโกระเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ ที่เรียกว่า Anglo-Siamese Treaty 1909 เหตุการณ์จึงสงบลง ทำให้เขตแดนของเมืองรามันเหลือเพียงบริเวณเบตงและยะรม ส่วน อินตัน โกรเน บาโลน และเซะหรือโกระในอีกฝั่งสันปันน้ำนั้นกลายเป็นของสหพันธรัฐมลายา พิธีการมอบดินแดนตามสนธิสัญญานี้มีนายฮิวเบิร์ต เบิร์กลีย์ [Hubert Berkeley] เป็นผู้แทนฝ่ายอังกฤษ การที่มีรายได้จากค่าสัมปทานการทำเหมืองแร่ ทำให้เจ้าเมืองรามันและยาลอซึ่งตั้งเมืองใหม่ที่อยู่ลึกเข้ามาภายในแผ่นดินและอยู่ในเส้นทางการเดินทางขนส่งสินค้าโดยเหมาะกับการทำเหมืองแร่ดีบุกมีบทบาทอาจจะมากกว่าหรือเทียบเท่าเจ้าเมืองที่อยู่ทางฝั่งทะเลซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ดั้งเดิมของรัฐปาตานี  เส้นทางแม่น้ำปัตตานี เมื่อจะไปออกปากอ่าวหรือชายฝั่งทะเล เรือแพที่ขึ้นล่องค้าขายกับเมืองยะลาและรามันต้องผ่านด่านภาษีของเจ้าเมืองหนองจิก เพราะเส้นทางออกทะเลสายเดิมนั้นออกที่ปากน้ำบางตะวาเมืองหนองจิก โดยเฉพาะภาษีดีบุก ทำให้เมืองปัตตานีขาดผลประโยชน์ไปมาก “ตนกูสุไลมาน” เจ้าเมืองปัตตานี (พ.ศ. ๒๔๓๓-๒๔๔๒) จึงขุดคลองลัดหรือคลองสุไหงบารูหรือคลองใหม่จากหมู่บ้านปรีกีมายังหมู่บ้านอาเนาะบูลูดหรือชาวบ้านเรียกว่าอาเนาะบูโละในอำเภอยะรังระยะทาง ๗ กิโลเมตร อยู่ในเขตของเมืองปัตตานีโดยไม่ต้องผ่านเมืองหนองจิกอีกต่อไปและทำให้เมืองหนองจิกที่เคยอุดมสมบูรณ์ต้องกลายเป็นพื้นที่นาร้างเพราะน้ำกร่อยเนื่องจากลำน้ำขาดเป็นช่วง ๆ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ นี่เอง  ดังนั้นการเมืองระหว่างเจ้าเมืองหนองจิกและเจ้าเมืองปัตตานีจึงเป็นการแย่งชิงค่าภาคหลวงอากรดีบุกที่ปากน้ำซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผลประโยชน์ที่แย่งชิงกันจากดีบุกนั้นมีมูลค่ามหาศาล หลังจากสนธิสัญญาแองโกลสยาม พ.ศ. ๒๔๕๒ เป็นต้นมาก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ก้าวเข้ามามีบทบาทรับสัมปทานการทำเหมืองแร่ดีบุกในเขตแดนเมืองยะลาแทนที่กลุ่มเจ้าเมืองรามันที่สูญเสียเหมืองแร่ไปให้ทางฝั่งเประแล้ว คือ ตระกูลชาวจีนที่มี ปุ่ย แซ่ตัน หรือตันปุ่ย ขึ้นสำเภามาอยู่ที่จังหวัดสงขลา ขายของชำเป็นอาชีพได้ร่วมเป็นอาสารบกับพวกไทรบุรีและกลายเป็นคนสนิทของเจ้าเมืองสงขลาซึ่งมีเชื้อสายจีนอยู่แล้ว เมื่อบ้านเมืองที่ปัตตานีเรียบร้อยดีแล้วเจ้าเมืองสงขลาจึงให้ย้ายมาอยู่ที่เมืองปัตตานีเป็น “กัปปีตันจีน”ปกครองผู้คนฝ่ายจีนรวมทั้งเป็นนายอากรเก็บส่วยภาษีโรงฝิ่นบ่อนเบี้ย ส่งไปให้เจ้าเมืองสงขลา ต่อมาเลื่อนยศเป็น ”หลวงสำเร็จกิจกรจางวาง” ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้แม่น้ำปัตตานีที่เรียกว่าหัวตลาดหรือตลาดจีนต่อมาได้ขอสิทธิ์สัมปทานเหมืองแร่ดีบุกในเมืองยะลาหลายแปลงหลายตำบล เป็นต้นตระกูลคณานุรักษ์คหบดีและกลายเป็นชนชั้นนำในเมืองปัตตานีในเวลาต่อมา  ภูมิวัฒนธรรมของบ้านเมืองในคาบสมุทรรวมทั้งบริบททางการเมืองในยุคสมัยต่าง ๆ ทำให้บ้านเมืองในปาตานีไม่เคยโดดเดี่ยว ตั้งแต่เมื่อตั้งถิ่นฐานในลักษณะของการเป็นเมืองท่าภายในและอยู่ในระหว่างเส้นทางสองฝั่งมหาสมุทรจนถึงการเป็นเมืองท่าริมอ่าว ทำให้เกิดการติดต่อค้าขายจากโพ้นทวีป รับส่งวัฒนธรรมและผู้คนในกลุ่มชาติพันธุ์ ต่าง ๆ ให้อยู่ร่วมกันจนกลายเป็นสังคมพหุลักษณ์ที่มิได้แตกต่างไปจากบ้านเมืองในเขตอื่น ๆ แต่อย่างใด การทำความเข้าใจภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในเขตรัฐปาตานีหรือในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ จึงต้องอาศัยความเข้าใจในบริบททางภูมิศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมในทุกระยะ จึงจะเข้าใจประวัติศาสตร์แบบสัมพัทธ์ [Relativism] ที่ไม่ติดยึดอยู่กับภาพตัวแทนเพียงช่วงเวลาเสี้ยวใดเสี้ยวหนึ่งทางประวัติศาสตร์เท่านั้น วลัยลักษณ์ ทรงศิริ อ่านเพิ่มเติมได้ที่:

  • ช่างแทงหยวกสายวัดอัปสรสวรรค์

    เผยแพร่ครั้งแรก 1 ก.ย. 2557 งานแทงหยวกที่ใช้ในงานศพ (ที่มา: Facebook ช่างแทงหยวก สกุลวัดอัปสรสวรรค์) งานแทงหยวก เป็นงานช่างที่ใช้การสลักลวดลายลงบนหยวกกล้วย เพื่อใช้ประดับอาคารชั่วคราวหรือปะรำพิธีในงานต่าง ๆ  คนทั่วไปมักเข้าใจว่างานแทงหยวกจะใช้ในงานศพเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้วสามารถใช้ในงานมงคลได้ด้วย เช่น ใช้ประดับปะรำในงานโกนจุก งานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น เพียงแต่ว่าไม่ค่อยพบเห็นมากนักในปัจจุบัน  ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา พบว่ามีกลุ่มช่างแทงหยวกกระจายอยู่ตามย่านต่าง ๆ ทั้งในฝั่งธนบุรีและพระนคร เช่น ช่างแทงหยวกสายวัดสังเวช ย่านบางลำพู, ช่างสายวัดพลับ (วัดราชสิทธาราม), ช่างสายวัดระฆังโฆษิตาราม, ช่างสายวัดจำปา ย่านตลิ่งชัน, ช่างสายวัดดงมูลเหล็ก วัดทองนพคุณ เป็นต้นแต่ทว่ากลุ่มช่างแทงหยวกที่ยังหลงเหลือสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งแล้ว หนึ่งในนั้นคือ ช่างสายวัดอัปสรสวรรค์ ย่านภาษีเจริญ โดยมีครูเชิด สกุล คชาพงษ์ เป็นผู้ดำเนินการสืบทอดวิชาการแทงหยวก   บ้านของครูเชิดตั้งอยู่ในตรอกใกล้กับวัดอัปสรสวรรค์ ตำบลปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ ซึ่งเป็นบ้านที่อยู่อาศัยและแหล่งสืบทอดวิชาการแทงหยวกมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ  ครูเชิดเล่าให้ฟังว่า งานแทงหยวกของสายวัดอัปสรสวรรค์ในรุ่นปัจจุบัน มีที่มาสืบมาจากครูช่าง ๒ สาย ได้แก่ สายช่างวัดพลับ หรือวัดราชสิทธาราม ซึ่งได้สืบทอดมาจากฝั่งของปู่และพ่อ คุณปู่ของครูเชิดชื่อว่า โพ ส่วนคุณพ่อชื่อว่า นายขันธ์ คชาพงษ์  ท่านทั้งสองมีพื้นเพเป็นคนบางกอกใหญ่ และได้ร่ำเรียนวิชาการแทงหยวกมาจากช่างพระที่วัดพลับ ซึ่งในสมัยก่อนนั้นถือว่าเป็นแหล่งรวมของครูช่างหลายประเภท โดยเฉพาะงานแทงหยวกที่นับว่ามีความงามเป็นเลิศ นอกจากนี้ยังมีช่างแกะสลักไม้ ช่างแกะสลักเครื่องสด ผัก ผลไม้ ช่างทำหีบศพและโกศ ช่างเขียนลาย ช่างลงรักปิดทอง เป็นต้น  ส่วนอีกสายหนึ่งคือ สายวัดอัปสรสวรรค์ ได้รับสืบทอดมาจากฝั่งของตาท่าน ชื่อหมื่นสวัสดิ์ประชารักษ์ (จ้อย ม่วงนุ่ม) เป็นผู้ใหญ่บ้านและไวยาวัจกรอยู่ที่วัดอัปสรสวรรค์ ภายหลังเมื่อฝ่ายคุณพ่อแต่งงานจึงย้ายเข้ามาอยู่บ้านตรงที่วัดอัปสรสวรรค์แห่งนี้ และรับช่วงต่องานแทงหยวกภายหลังจากที่คุณตาเสียชีวิต ทำให้ลักษณะงานแทงหยวกของทั้งสองสายผสมผสานสืบทอดมาถึงรุ่นของครูเชิดในปัจจุบัน ในวัยเด็กครูเชิดมีโอกาสได้เห็นการทำงานของช่างแทงหยวกมาโดยตลอด ทั้งสายวัดพลับและวัดอัปสรสวรรค์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เริ่มสนใจและฝึกฝนงานแทงหยวกในเวลาต่อมา  “ตอนเด็กๆ ผมชอบตามไปด้วย เพราะว่าไม่ต้องเสียเงินค่าขนม เขามีข้าวเลี้ยง ดึกๆ ก็มีข้าวต้ม พอไปดูก็เริ่มติดตา ติดใจ ... ผมเริ่มฝึกแทงหยวกตอนอายุได้ ๑๐ ปี แต่ไปขลุกอยู่ตั้งแต่อายุประมาณ ๗ ปี  พอย่างเข้าอายุ๑๑–๑๒ ปี ก็ทำได้แล้ว พอรุ่นตาหมดไป รุ่นพ่อหมดไป ก็เข้ามารับช่วงต่ออยู่จนถึงปัจจุบัน”  การฝึกฝนงานแทงหยวกต้องเริ่มจากการฝึกการเขียนลวดลาย โดยฝึกเขียนบนกระดาษก่อน เมื่อเขียนได้แม่นยำดีแล้ว จึงไปฝึกแทงลายลงบนกาบกล้วย บางคนในขั้นแรกอาจใช้วิธีการแทงลายตามกระดาษที่วางไว้ แต่ช่างที่ชำนาญแล้วจะสามารถแทงลวดลายลงบนกาบกล้วยได้เลยโดยไม่ต้องร่างแบบ งานแทงหยวกจึงเป็นงานที่ช่างได้อวดชั้นเชิงฝีมือของตนเอง ทั้งยังเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนและความรวดเร็วแข่งกับเวลา ด้วยข้อจำกัดเรื่องการใช้วัสดุธรรมชาติ  อุปกรณ์ที่ใช้ในงานแทงหยวก ได้แก่ มีดขนาดต่าง ๆ สำหรับใช้แทงหยวกและแกะสลักเครื่องสด  แม่พิมพ์แบบต่าง ๆ ที่ใช้กดพิมพ์ลงบนผลฟักทองหรือมะละกอ สำหรับที่นี่ช่างทุกคนจะมีเครื่องมือประจำตัว และต้องทำกันเองเพราะส่วนมากไม่มีขาย อีกทั้งความถนัดของช่างแต่ละคนไม่เหมือนกัน วัสดุที่สำคัญที่สุดคือหยวกกล้วย ต้องใช้กล้วยตานีเท่านั้นเพราะมีช่องน้ำเลี้ยงกว้าง เก็บน้ำเลี้ยงได้มาก ทำให้ไม่เหี่ยวง่าย ทั้งยังมีความเหนียว ไม่กรอบแตกง่ายเหมือนกล้วยชนิดอื่น ๆ และกาบมีสีขาว เรียบเนียน ไม่มีรอยด่าง  ถ้าเป็นสมัยก่อนกล้วยตานีหาไม่ยาก อย่างที่วัดอัปสรสวรรค์คุณตาของครูเชิดปลูกต้นกล้วยตานีเอาไว้จำนวนมากที่บริเวณป่าช้า เวลาจะใช้ก็ไปตัดมา แล้วไปนั่งทำกันที่หน้าวัด แต่ในปัจจุบันหยวกกล้วยตานีต้องสั่งมาจากต่างจังหวัดเท่านั้น เช่น นนทบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ฯลฯ และมีราคาสูงมากขึ้น เช่นเดียวกับพวกพืชผลอื่นๆ ที่ใช้ประกอบกับงานแทงหยวก เช่น ฟักทอง มะละกอ เผือก มัน ก็มีราคาสูงขึ้นเช่นกัน  การทำงานแทงหยวกในปัจจุบันจึงถือว่าเป็นงานที่ใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนนิยมใช้งานแทงหยวกในพิธีต่าง ๆ ลดน้อยลง งานแทงหยวกของช่างแต่ละสายต่างมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ซึ่งขึ้นอยู่กับฝีมือช่างที่สืบทอดกันมา รวมถึงระเบียบแบบแผนของการใช้งานแทงหยวกในพิธีต่าง ๆ ที่มักจะข้อแตกต่างเล็กน้อยระหว่างงานมงคลและงานอวมงคล ซึ่งช่างสายวัดอัปสรสวรรค์ก็มีแบบแผนเช่นเดียวกัน   งานแทงหยวกที่ใช้ในงานศพเป็นงานที่ช่างได้แสดงฝีมือทั้งการออกแบบลวดลายและการประดับงานเครื่องถม ซึ่งก็คือการกดพิมพ์รูปต่าง ๆ ลงบนผลไม้เนื้อแข็ง เช่น มะละกอ ฟักทอง ทำเป็นรูปดอกไม้ ใบไม้ เพื่อประดับบนกาบกล้วย สำหรับช่างสายวัดอัปสรสวรรค์นั้น การใช้งานเครื่องถมจะทำกันเฉพาะในงานอวมงคลเท่านั้น   การสร้างปะรำพิธีเพื่อใช้ในงานศพ จะทำลักษณะเป็นอาคารชั่วคราว มีฐาน เสา และเครื่องบน โดยทั้งหมดจะประดับด้วยงานแทงหยวกที่ฉลุเป็นลวดลายรองด้วยกระดาษสีต่างๆ ประดับด้วยงานเครื่องถม และงานแกะสลักเครื่องสดเป็นรูปร่างต่าง ๆ ได้แก่ พุ่มดอกไม้ สิงสาราสัตว์ในเทพนิยาย เช่น นรสิงห์ มังกร และประเภทรูปบุคคล เช่น เทวดานางฟ้า ตัวละครจากวรรณคดี เช่น รามเกียรติ์ สังข์ทอง เป็นต้น รวมไปถึงสัญลักษณ์ตามปีนักษัตรของผู้ที่เสียชีวิต ซึ่งงานแกะสลักเครื่องสดเหล่านี้จะใช้ประดับบริเวณฐาน เสา และส่วนยอด  งานแกะสลักเครื่องสดเป็นรูปตัวละครต่าง ๆ นิยมใช้ฟักทองเป็นวัสดุหลัก เช่น ตัวหนุมานจะใช้ฟักทองมาแกะสลักอย่างเดียว หนุมานหนึ่งตัวจะใช้ฟักทอง ๔ ลูก ส่วนโค้งของลูกฟักทองจะใช้ทำแขนและขา ส่วนหัวใช้ฟักทองประมาณครึ่งลูก ซึ่งการเลือกฟักทองเพื่อนำมาแกะสลักนั้น ถ้ายังอ่อนเกินไปจะใช้ไม่ได้ หรือลูกที่แบนจนเกินไปก็ใช้ไม่ได้เช่นกัน ส่วนพวกมะละกอ เผือก และหัวไชเท้า จะนิยมใช้สลักเป็นดอกไม้และใบไม้ ครูเชิดกล่าวว่าการประดับดอกไม้และใบไม้ประกอบกันเป็นช่อใหญ่ ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของงานแทงหยวกสายวัดอัปสรสวรรค์ เพราะบางแห่งมักจะติดดอกไม้ประกอบกับใบไม้เพียง ๒ – ๓ ใบ แต่ไม่ได้จัดรวมกันเป็นช่อขนาดใหญ่ นอกจากนี้ลักษณะของลวดลายของช่างสายวัดอัปสรสวรรค์มีความคมชัดและมีรายละเอียดมาก  นอกจากนี้การใช้งานแทงหยวกในพิธีศพยังมีรายละเอียดของการประดับและสีสันที่มากน้อยแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสถานะและความอาวุโสของผู้ตายเป็นสำคัญ ถ้าเป็นงานศพของพระภิกษุ ช่างสายวัดอัปสรสวรรค์จะทำให้แตกต่างจากบุคคลทั่ว ๆ ไปคือ จะใช้การแกะสลักหยวกกล้วยล้วน ๆ ไม่มีการลงสีที่หยวกกล้วย หรือติดดอกไม้ใบไม้จำนวนมาก และกระดาษสีที่นำมารองหยวกที่ฉลุลายจะใช้กระดาษสีทองเท่านั้น     ส่วนงานแทงหยวกในประเภทงานมงคล สมัยก่อนนิยมทำกันมากทั้งในงานโกนจุก งานสรงน้ำพระ แห่พระพุทธรูป เป็นต้น งานประเภทนี้เรียกว่า   งานเบญจา คือจะทำการตั้งเบญจาหรือแท่นเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป อ่างน้ำมนต์ เป็นต้น โดยเบญจาจะประดับด้วยงานแทงหยวก  เช่น เบญจาโกนจุก ใช้เป็นที่ตั้งของอ่างน้ำมนต์ที่จะใช้อาบตัวเด็กที่เข้าพิธีโกนจุกเบญจาพระเจดีย์ทรายในงานขึ้นบ้านใหม่ ซึ่งงานเหล่านี้ปัจจุบันแทบไม่หลงเหลือแล้ว    รูปแบบของงานแทงหยวกที่ใช้ในงานมงคลของช่างสายวัดอัปสรสวรรค์ จะแตกต่างจากที่ใช้ในงานอวมงคลอย่างสิ้นเชิง คือใช้การแกะสลักหยวกกล้วยเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการตกแต่งด้วยเครื่องถมและรูปดอกไม้ใบไม้ แต่จะแต้มสีสันลงบนหยวกกล้วยเพื่อความสวยงามได้ และจะใช้หยวกกล้วยประดับเฉพาะส่วนฐานเท่านั้น โดยจะทำซ้อนกัน ๒ – ๓ ชั้นก็ได้ ส่วนเสาและหลังคาจะไม่นำกาบกล้วยไปประดับเลย แต่จะประดับด้วยผ้าขาวและงานร้อยดอกไม้ พวงมาลัย พวงอุบะ  ซึ่งลวดลายแทงหยวกที่นิยมใช้ในงานมงคลคือ ลายบัวกลุ่ม ทำเป็นลักษณะอย่างดอกบัว มีก้านบัว กลีบบัว และเกสรบัว แต้มด้วยสีเขียว สีเหลือง และชมพู เรียงซ้อนเป็นชั้น ประกอบเข้ากับลายฟันห้า     ครูเชิดเล่าว่า ในอดีตงานแทงหยวกถือว่ามีงานชุกมาก ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล โดยเฉพาะงานศพที่สมัยก่อนยังไม่มีเตาเผาศพ จึงต้องจัดทำเมรุขึ้นกลางแจ้ง เวลามีงานแต่ละครั้งกลุ่มช่างแทงหยวกจะนำวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ขนลงเรือเอี้ยมจุ๊นไปยังวัดต่าง ๆ ในแถบฝั่งธนบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงเพราะยังไม่มีถนนหนทางมากนัก ช่างที่ทำงานแทงหยวกได้ต้องมีความอดทนสูงและต้องมีความชำนาญมาก เนื่องจากต้องทำงานแข่งขันกับเวลา การเตรียมงานแทงหยวกจะมีขึ้นก่อนวันงานจริงหนึ่งวัน โดยช่างจะต้องดูสถานที่เพื่อออกแบบให้มีความเหมาะสม ทั้งความกว้าง ความสูง แล้วจึงเริ่มทำงานตั้งแต่ตอนเย็นไปจนตลอดทั้งคืนเพื่อให้ทันวันงานที่จะมีขึ้นในวันรุ่งขึ้น โดยจะมีช่างฝีมือหลาย ๆ คนแบ่งกันทำงาน ทั้งช่างแทงหยวก ช่างแกะสลักเครื่องสด ช่างทำเครื่องถม ติดดอกติดใบ และช่างร้อยดอกไม้ ครูเชิด สกุล คชาพงษ์ ผู้สืบทอดงานแทงหยวกสายวัดอัปสรสวรรค์ ปัจจุบันกลุ่มช่างสายวัดอัปสรสวรรค์ยังรับทำงานแทงหยวกอยู่ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยมากจะเป็นงานศพ รวมถึงงานประเภทอื่น ๆ เช่น งานทำบุญกระดูก งานตั้งศาลพระภูมิ เป็นต้น ซึ่งครูเชิดยังคงเป็นหัวแรงหลักในการทำงานแทงหยวก ขณะเดียวกันก็ถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกหลานและช่างรุ่นใหม่ ๆ  “ทุกวันนี้เวลามีงานผมยังไปเอง ถึงมีลูกศิษย์แต่ยังไปกำกับด้วยตนเอง แล้วยังมีลูกชายและหลาน แล้วมีเด็ก ๆ พาไปฝึกด้วยอีก ๒ – ๓ คน ให้ได้รู้ได้เห็นเพราะกลัววิชานี้จะสูญไป ... ทางสายผมก็เหลือแค่ผมที่ถือหางเสืออยู่เท่านั้นอย่างผมทุกวันนี้เริ่มมีปัญหาเรื่องสายตา แกะตอนกลางคืนไม่ได้แล้ว ต้องทำกลางวัน ซึ่งการแกะหยวกกล้วยยังพอไหว แต่ว่าให้แกะพวกมะละกอไม่ได้แล้ว” ในอนาคตครูเชิดหวังว่างานช่างแทงหยวกของช่างสายวัดอัปสรสวรรค์จะคงอยู่และสืบทอดไปในอนาคต ไม่สิ้นสูญไปเหมือนอย่างช่างแทงหยวกสายฝั่งธนฯ ที่ค่อย ๆ ล้มหายไปจนแทบไม่เหลืออยู่อีกแล้วในปัจจุบัน      อภิญญา นนท์นาท อ่านเพิ่มเติมได้ที่:

  • ทวาย บ้านเมืองที่เราไม่รู้จัก

    เ ผยแพร่ครั้งแรก 1 มี.ค. 2558 เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย “ทวาย” เมืองชายฝั่งทะเลอันดามันในรัฐตะนาวศรีของพม่า ซึ่งเป็นรัฐที่อยู่ใต้สุดของแผ่นดิน ระยะทางห่างจากฝั่งไทยที่ด่านพุน้ำร้อน เมืองกาญจนบุรีเพียง ๑๔๐ กิโลเมตร ผ่านเทือกเขาตะนาวศรี ลำน้ำตะนาวศรี ลงสู่ที่ราบและลุ่มน้ำทวาย ก่อนจะมีแนวสันเขาเตี้ย ๆ กั้นพื้นที่เพื่อเข้าสู่ชายฝั่งทะเลอันดามัน และบริเวณนั้นถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมทวายที่กลุ่มบริษัทอิตัลไทยผลักดันมา ๓ ปี โดยจัดการสร้างถนนและจัดพื้นที่ไว้ในเขตชายฝั่งไว้ระยะหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนในเขตชายฝั่งหลายแห่งหลายชุมชน และสร้างความกังวลต่อผู้คนจำนวนหนึ่งในเขตทวายไม่ใช่น้อย โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเริ่มจากปี พ.ศ. ๒๕๕๑เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและพม่า จนปี ๒๕๕๓ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานเพื่อดำเนินโครงการเป็นเวลา ๖๐ ปี และจัดการแผ้วถางพื้นที่ หมู่บ้าน และทำถนน โดยร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นสัดส่วน ๗๕% และ ๒๕%  แต่พอปี พ.ศ. ๒๕๕๕ โครงการนี้ไม่มีแหล่งเงินกู้จึงถูกระงับไปก่อนจะพยายามหาทุนจากที่อื่น ๆ มาร่วมลงทุนหลังจากที่แหล่งทุนหลายแห่งถอนตัวไปเมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา จึงได้รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันรับรองร่วมลงนามบันทึกเพื่อความเข้าใจ [MoU] กับรัฐบาลพม่าผลักดันให้เกิดโครงการต่อไป อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม และอาจารย์ซอ ทูระ ผู้ศกษาเรื่องสภาพแวดล้อมและประวัติศาสตร์โบราณคดีจากทวายกำลังสนทนากัน ครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มบริษัทอิตัลไทยกับนิคมอุตสาหกรรมโรจนะที่เพิ่มเข้ามาเพื่อผลักดันโครงการเขตเศษฐกิจพิเศษทวายนี้ให้ได้ และมีการกล่าวถึงการสร้างรถไฟความเร็วสูงจากญี่ปุ่น แต่ทางฝ่ายญี่ปุ่นก็มีเงื่อนไขว่าโครงการนี้ต้องถูกผลักดันให้สำเร็จเป็นรูปร่างเสียก่อน โครงการทวายบางโครงการอยู่ห่างจากตัวเมืองทวายราวๆ๒๐ กิโลเมตร โครงสร้างพื้นฐานหลักๆ คือ ท่าเรือน้ำลึกและอู่ต่อเรือ โรงกลั่นน้ำมันครบวงจร โรงถลุงเหล็ก โรงงานผลิตปุ๋ยเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงงานแปรรูปกระดาษ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่หาดมองมะกัน หาดท่องเที่ยวของชาวทวาย อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ การก่อสร้างถนนขยายเป็นสี่เลน การทำเหมืองแร่ต่าง ๆ แน่นอน สิ่งเหล่านี้กำลังเดินซ้ำรอยโครงการนิคมอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมทั้งการก่อสร้างถนนที่คาดว่าจะให้เชื่อมต่อเป็นระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก ผ่านประเทศไทยวกเข้าที่แหลมฉบังแล้วแยกไปออกที่เขมรออกสู่ฝั่งทะเลทางทะเลจีนใต้ อันเป็นความใฝ่ฝันของนักลงทุนมาทุกยุคสมัย สภาพแวดล้อมตั้งแต่เขตเทือกเขาศักดิ์สิทธิ์ที่เมืองมิตยา สวนหมากตามชุมชนในเขตที่สูง และบ้านเรือนชาวบ้านทวายที่เมืองวีดี ในทางหนึ่ง ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นย่อมกระทบอย่างจริงจังต่อทั้งพื้นที่ในทวายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแม้แต่ในแผ่นดินพม่าเอง และจะส่งผลกระทบแก่พื้นที่ของระบบการขนส่งในประเทศไทยอย่างมโหฬารที่ยังไม่มีกระบวนการศึกษาผลกระทบใด ๆ จากเส้นทางดังกล่าว แน่นอน ผลกระทบต่อเมือง ผู้คน และชุมชนที่อยู่ในโซนการจัดตั้งพื้นที่อุตสาหกรรม การทำเหมืองแร่ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของทวาย และจะมีความเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพแวดล้อมอย่างขนานใหญ่จนถึงรากเหง้าโครงสร้างทางสังคม เราจะช่วยกันเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่กำลังสร้างห่วงโซ่ตามมาอย่างมหาศาลทั้งต่อคนทวาย สังคมคนทวาย และสังคมไทยอย่างไร ? คำถามเหล่านี้ยังไม่มีคำตอบ เพราะพวกเราเพียงแต่คุ้นเคยกับคำว่า “ทวาย” ทั้งที่ถูกเรียกกลุ่มคนทวายที่เข้ามาตั้งชุมชนในกรุงเทพฯ ยุคเก่า วัฒนธรรมทางอาหาร และคำบอกเล่าในทางประวัติศาสตร์บางช่วงเวลามากกว่าจะรู้จักเมืองทวายอย่างที่เป็นอยู่ เมืองทวายที่เราไม่รู้จัก หลังจากมีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมืองทวายสำหรับคนไทยสามารถเดินทางเข้าออกได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าเหมือนเมืองอื่นๆ และมีการสร้างจุดผ่านแดนถาวรที่บ้านพุน้ำร้อน เมืองทวายเปิดรับทุนไทยเสียมากมายจนพอมองเห็นแล้วว่ากำลังจะเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งในอนาคต เมื่อข้ามเทือกตะนาวศรี ผ่านต้นน้ำตะนาวศรีและลำน้ำสาขาที่เห็นได้ชัดว่า ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำของบริษัทจีน จนลำน้ำตื้นเขิน ขุ่นมัว มองเห็นได้ชัดจากภาพถ่ายดาวเทียมและถนนที่เพิ่งตัดผ่านป่าเขาในเขตนี้ เมื่อลงจากเทือกตะนาวศรีแล้วก็ถึงที่ราบลุ่มแคบๆ ของลุ่มน้ำทวาย เมืองทวายในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำทวาย ซึ่งอยู่ห่างจากปากน้ำที่อยู่ทางทิศใต้ราว ๆ ๔๐ กิโลเมตร และมีเทือกเขาเตี้ย ๆ กั้นระหว่างที่ราบลุ่มลุ่มน้ำทวายภายในและชายฝั่งทะเลที่ติดกับทะเลอันดามัน ข้ามไปสู่อ่าวเบงกอลได้สะดวก ที่ตั้งของเมืองทวายในปัจจุบัน อยู่ซ้อนทับและเหลื่อมอยู่กับเมืองทวายในยุคอยุธยา ที่มีบทบาทอยู่ในประวัติศาสตร์ของรัฐสยามอยู่ไม่น้อย  ทวายยังมีเมืองโบราณที่สำคัญในยุคพยู่ตอนปลายเรื่อยมาจนถึงยุคร่วมสมัยกับศรีวิชัย จนถึงสมัยอยุธยาซึ่งพบร่องรอยหลักฐานหลายอย่างที่สืบเนื่องในวัฒนธรรมแบบอยุธยา เมืองทาคะระหรือสาคะระ [Thagara]  ที่แปลว่าเมืองสาครหรือสายน้ำในภาษาบาลี อยู่ทางเหนือของเมืองทวายปัจจุบันและอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำทวาย ในบริเวณที่มีลำน้ำสายสั้น ๆ เชื่อมต่อ แต่ปัจจุบันเมื่อไม่มีการใช้งานก็ทำให้ตื้นเขินไปมาก ตัวเมืองในรัศมี ๑ ไมล์ มีการกำหนดขอบเขตห้ามใช้ที่ดินเพื่อการกระทำต่าง ๆ หลังจากมีโครงการสร้างถนนตัดผ่านและชาวทวายเรียกร้องไปที่รัฐบาลกลางและได้ผลตอบกลับที่ดี ทำให้โครงการสร้างถนนยุติไป ที่นี่มีการขุดค้นทางโบราณคดีจากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบของพม่าสองสามจุด เช่น ที่บริเวณซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า ‘วัง’ ทางฝั่งทิศเหนือทำให้เห็นอาคารในรูปแบบศาสนสถานชุดหนึ่งรวมทั้งสำรวจบริเวณรอบ ๆ และบริเวณที่เรียกว่า ‘ท่าเรือ’ [Jetty] ที่ยังคงมีร่องรอยทางน้ำเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่ ซึ่งพบโบราณวัตถุและฐานอาคารอิฐหลายแห่ง ฐานอาคารโบราณสถานในเมืองสาคะระที่ชาวบ้านเข้าใจว่าเป็น "วัง" แต่น่าจะเป็นอาคารทางศาสนาอาจจะเป็นฮินดูหรือพุทธก็ได้ โบราณวัตถุที่พบจากเมืองสาคะระ, แผ่นหินสลักรูปอาจจะเป็นพระศรีหรือลักษมีเทวี เทพแห่งความรุ่งเรืองที่นิยมกันในยุคนั้น (พยู่ตอนปลาย) เมืองสาคะระน่าจะมีการตั้งถิ่นฐานในรุ่นแรกๆ ในเขตลุ่มน้ำทวาย เพราะพบหลักฐานแตกต่างจากเมืองโบราณในทวายอื่นๆ นักวิชาการบางท่านจัดอยู่ในช่วงยุคเพี่ยวหรือพยู่ [Pyu] ซึ่งกำหนดอายุราว ๖-๑๔ แต่เมื่อเห็นหลักฐานทางโบราณคดี อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ประเมินคร่าว ๆ ว่าอาจจะอยู่ในช่วงยุคปลายของยุคพยู่แล้ว ส่วนอิฐที่พบมีหลายรูปแบบทั้งขนาดใหญ่และเล็กลงมาเล็กน้อยและหลายก้อนมีร่องรอยลายสัญลักษณ์ประทับอยู่หลายแบบ นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุหลายชิ้นที่ต่อเนื่องกับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ขวานหินขัดต่างๆ ลูกปัดแก้วหลายสี และบางชิ้นเป็นหินอาเกต พบแผ่นหินมีรูปสลักอาจจะเป็นพระศรีหรือพระลักษมีก็เป็นได้ พระพุทธรูปนั่งปางประทานอภัยขนาดเล็ก ๆ เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ของเมืองทวายซึ่งคล้ายกับพระพุทธรูปนั่งศิลาขนาดใหญ่พบที่วัฒนธรรมทวารวดีแบบภาคกลางของไทยหรือจันทิเมนดุต เกาะชวา เมืองสาคะระมีการอยู่อาศัยอย่างเบาบางเพราะพบหลักฐานการอยู่อาศัยน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองโบราณสมัยทวารวดีในประเทศไทย แต่มีการขยายขอบเขตของเมืองสองสามครั้ง เพื่อดึงน้ำหรือรับน้ำทางฝั่งตะวันตกและเหนือของเมืองที่อยู่ใกล้พื้นที่ชายเขา เพื่อเก็บน้ำในคูน้ำทางพื้นที่ที่สูงกว่าทางตะวันตก อย่างไรก็ตามก็ยังพบเครื่องถ้วยจีนบางชิ้นและเครื่องเคลือบหยาบๆ ที่แสดงว่ามีการอยู่อาศัยเรื่อยมาจนถึงการร่วมสมัยกับเมืองวีดีหรือเมืองทวายในยุคอยุธยาเช่นกัน โบราณวัตถุที่พบจากเมืองสาคะระ, ลูกปัดแก้ว ชิ้นส่วนเทวรูปยืนตริภังค์ น่าจะเป็นเทวรูปเช่นเดียวกับที่พบในแถบคาบสมุทรมลายู-สยามหลายแห่งซึ่งอยู่ในช่วงศรีวิชัย เมืองโมกติ  [Mokti]  อยู่ทางใต้ของเมืองทวายทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำทวาย เป็นเมืองรูปร่างซับซ้อน เพราะแยกออกจากกันโดยธรรมชาติ ด้านทิศเหนือมีร่องรอยของแนวกำแพงสามชั้นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งทางฝั่งขวาที่ติดกับเชิงเขา มีร่องรอยของแนวคันดินในพงป่าที่รกรื้อและเข้าสำรวจรูปร่างที่แท้จริงได้ยาก กล่าวกันว่ามีการพบเทวรูปทั้งสี่ด้านของเมือง ซึ่งชาวบ้านนำเทวรูปพระนารายณ์มาไว้สักการะที่ริมถนนทางเข้าเมืองด้านเหนือและสร้างหลังคาคลุมอยู่ ส่วนเทวรูปอื่นๆ ที่มีทั้งส่วนที่ใส่เครื่องประดับยืนตริภังค์ พระคเณศวร พระนารายณ์ ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เมืองทวายที่วัดใหญ่ประจำเมือง และสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ พระพิมพ์ขนาดใหญ่เป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิ และปางหัตถ์แตะธรณี มีสถูปจำลองประดับทั้งสองข้าง ลักษณะคล้ายคลึงกับพระพิมพ์ที่พบในเขตคาบสมุทรภาคใต้และพบเป็นจำนวนมาก อายุของเมืองนี้น่าจะอยู่ในช่วงระหว่างช่วงอายุที่สืบเนื่องมาจากเมืองสาคะระในรุ่นพยู่ตอนปลายและสมัยอยุธยา จากวัตถุที่พบที่เป็นเทวรูป และพระพิมพ์ที่พบเช่นเดียวกันในแถบคาบสมุทรภาคใต้ ทำให้เห็นว่าน่าจะอยู่ช่วงกลุ่มรัฐศรีวิชัยหรือบ้านเมืองที่ติดต่อค้าขายทางทะเลในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ภาพถ่ายทางอากาศแสดงเมืองโบราณ ๓ แห่งในที่ราบลุ่มน้ำทวาย เมืองสาคะระ เมืองโมกติ และเมืองวีดี บริเวณเนินดินกลางทุ่งในเขตที่มีแนวคันดินซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นส่วนของวังเจ้าชายรัชทายาท ใกล้กันนั้นมีบ่อน้ำดื่มศักดิ์สิทธิ์และมีตำนานกล่าวถึงเจ้าชายชาวฉานซึ่งคนทวายเรียกชื่อทั้งคนจากรัฐฉานและคนจากเมืองไทย เป็นเนินดินศักดิ์สิทธิ์ที่ยังใช้กราบไหว้ประจำปีและไม่มีผู้ใดไปทำลาย โบราณวัตถุพบที่เมืองวีดี เหรียญตะกั่วและดีบุกภาพบนเหรียญที่ปรากฏส่วนใหญ่เป็นสัตว์ในจินตานาการทางพุทธศาสนาเป็นพวกสัตว์ผสมบ้าง เช่น นาค หงส์ มังกร ? พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยและพระพุทธรูปที่พระพักตร์ยังคงเค้าลักษณะพระรุ่นอู่ทองที่วัดชินโมที ในเมืองโมกติ ที่นี่พบระฆังที่กล่าวถึงชนชั้นสูงที่เป็นคนไทยมาถวายไว้ ศักราช พ.ศ. ๑๙๗๕ เทวรูปพระนารายณ์ที่ชาวบ้านนำไปตั้งไว้หน้าเมืองโมกติ แต่เมืองนี้ยังมีการอยู่อาศัยสืบเนื่องตลอดมาจนถึงเมื่อคราวกรุงศรีอยุธยายกทัพมายึดทวายและผลัดกันปกครองกับฝ่ายพม่าตั้งแต่เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ ดังเห็นได้จากวัดเก่าที่อยู่บนเขา ซึ่งเป็นวัดสำคัญของเมืองและมีคูน้ำคันดินล้อมรอบเขานี้ด้วยทางฝั่งทิศใต้ใกล้กับลำน้ำที่ต่อเนื่องกับแม่น้ำทวาย พบจารึกภาษาพม่าพระพุทธรูปปางประทานอภัยที่มักพบในเขตทวายซึ่งได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมทางอยุธยา รวมทั้งการมีโบสถ์ที่อยู่บริเวณนี้ด้วย ส่วนที่กลางเมืองมีวัดสำคัญของเมืองทวายคือวัดชินโมที ซึ่งมีตำนานเล่าถึงพระพุทธรูปพี่น้อง ๕ องค์ลอยน้ำมาจากลังกาและขึ้นที่เมืองท่าสำคัญของรัฐมอญและทางทวาย ที่นี่พบระฆัง ที่กล่าวถึงชนชั้นสูงที่เป็นคนไทยมาถวายไว้ศักราช พ.ศ. ๑๙๗๕ รวมทั้งยังคงมีพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยและพระพุทธรูปที่พระพักตร์ยังคงเค้าลักษณะ พระรุ่นอู่ทอง แม้จะมีการบูรณะปรับเปลี่ยนไปมากก็ตาม เมืองนี้ค่อนข้างถูกทำลายบริเวณกำแพงเมืองไปหลายส่วนแล้ว ทั้งจากการอยู่อาศัย และการสร้างถนนและการก่อสร้างทางรถไฟที่ไม่ได้ใช้งาน เมืองวีดี [Weidi ] เป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำทวาย มีการขุดคลองขุดเป็นแนวตรงเข้ามาสู่ตัวเมืองและใช้เป็นแนวคูน้ำด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นลำน้ำธรรมชาติที่มีสภาพเป็นป่าชายเลนน้ำกร่อย ที่นี่น่าสนใจเพราะพบเหรียญและแม่พิมพ์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว ๑๐ เซนติเมตร มีทั้งที่เป็นตะกั่วและดีบุก บริเวณเมืองทวายในเขตที่เป็นเทือกเขา ในแนวเทือกเขาตะนาวศรี มีแร่ธาตุดังกล่าวอยู่มาก จนกล่าวกันว่า ที่เมืองวีดีเมื่อครั้งกองทัพกู้ชาติเพื่ออิสรภาพของพม่ารวมตัวกันเดินทางจากเมืองไทย เข้าสู่ทวายเป็นที่แรก และใช้พื้นที่บริเวณเมืองวีดีเป็นแคมป์ ก็ขุดแนวกำแพงด้านหนึ่งออกไป (เราจะพบว่าเมืองนี้แนวกำแพงมีร่องรอยถูกรื้อทำลายเพื่อใช้พื้นที่อยู่มาก) และพบเหรียญตะกั่วและดีบุกดังกล่าวนี้ ก็ใช้นำมาหลอมเป็นกระสุนในช่วงเวลานั้นเสียจำนวนมาก อายุสมัยของเหรียญขนาดใหญ่ดังกล่าวน่าจะสัมพันธ์กับเมืองวีดี ที่มีอายุเข้าสู่ยุคสมัยแบบการเป็นเมืองท่าค้าขายชายฝั่งอันดามันที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญของทั้งพม่าตอนบนและกรุงศรีอยุธยาแล้ว คือในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒  ภาพบนเหรียญที่ปรากฏส่วนใหญ่ก็เป็นภาพที่มีลักษณะของสัตว์ในจินตนาการทางพุทธศาสนา เป็นสัตว์ผสมบ้าง เช่น นาค หงส์ มังกร ? ดูเหมือนที่ใช้ในงานศิลปกรรมทางศาสนาแบบคนไตหรือไทใหญ่ ซึ่งในเมืองนี้ก็มีร่องรอยตำนานเรื่องคนสาม หรือเสียม หรือเสียน ที่เป็นคำที่คนทวายใช้เรียกทั้งคนไตที่รัฐฉานและคนไทยจากเมืองไทยหรือกรุงศรีอยุธยาด้วย พื้นฐานดั้งเดิมของความเป็นเมืองทวาย หัวเมืองชายฝั่งทะเลทางใต้ของพม่ายังมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมอีกมากที่คนไทยยังไม่มีโอกาสรับรู้ แม้จะยังไม่มีการศึกษาเรื่องของเมืองทวายออกมามากนัก แต่ก็ควรตระหนักไว้เสมอว่า หากโครงการเศรษฐกิจพิเศษทวายเดินหน้าจะสร้างผลกระทบอย่างมากมายและถาวรแก่สังคม คนทวายและประเทศพม่าแล้ว สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นส่วนหนึ่งในความรับผิดชอบของคนไทยด้วยเหมือนกัน ที่จะต้องรู้ และเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างที่ทวาย ก็เพราะพวกเราเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย ที่ไปรับรองโครงการนี้ให้เกิดขึ้นอย่างเต็มที่นั่นเอง วลัยลักษณ์ ทรงศิริ อ่านเพิ่มเติมได้ที่:

เกี่ยวกับมูลนิธิ

เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ลำดับที่ ๕๘๐ ของประกาศกระทรวงการคลังฯ เผยแพร่ความรู้และความเข้าใจทางสังคมวัฒนธรรมในท้องถิ่นต่างๆ และเพื่อสร้างนักวิจัยท้องถิ่นที่รู้จักตนเองและรู้จักโลก

SOCIALS 

© 2023 by FEEDs & GRIDs. Proudly created with Wix.com

bottom of page