พบผลการค้นหา 220 รายการ
- เมื่อออกจากกระดอง
เผยแพร่ครั้งแรก 1 พ.ค. 2548 ระหว่างเดือนมีนาคม–เมษายน–พฤษภาคม ที่แล้วมา ข้าพเจ้ามีโอกาสเดินทางไปศึกษาภูมิวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านบนพื้นแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ เขมร พม่า เวียดนาม และลาว ตามลำดับ ความประสงค์ที่ไปก็เพื่อจะดูว่าเพื่อนของเราที่คนไทยมักดูแคลนมาเสมอว่าไม่มีอะไรทัดเทียมเราในด้านความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองนั้นเป็นอย่างไร เพราะในทำนองตรงข้าม บรรดาประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ก็มีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อประเทศไทยเหมือนกัน อันเนื่องมาจากเหตุการณ์และความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยการล่าอาณานิคมของอาณาจักรนิยมอังกฤษและฝรั่งเศสจนมาถึงสมัยอเมริกาทำสงครามกับเวียดนาม โรงเรียนในบริเวณเวียดนามตอนกลาง สภาพที่ดูเปลี่ยนแปลง อาคารขยายใหญ่ขึ้นและใหม่ขึ้นกว่าเดิม ด้วยเวลาอันน้อยนิดแต่อยากรู้อยากเห็นมากๆ ข้าพเจ้าและคณะใช้วิธีศึกษาภูมิศาสตร์วัฒนธรรมสองข้างทางไปเรื่อย ๆ จากบริเวณหนึ่ง ท้องถิ่นหนึ่งไปเรื่อย โดยดูรายละเอียดบางจุดที่น่าสนใจเป็นสำคัญ เพราะการสังเกตการณ์ไปตลอดทางนั้นทำให้แลเห็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของ นิเวศวัฒนธรรม (cultural ecology) ได้ไม่มากก็น้อย ในการรับรู้และเรียนรู้ของข้าพเจ้าถือว่าความสัมพันธ์ของระบบนิเวศทั้งสองเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกันกับความมั่นคงทางสังคม และวัฒนธรรมของผู้คนในสังคมแต่ละประเทศเป็นอย่างมาก เมืองไทยหรือประเทศไทยของเราที่รัฐและประชาชนที่มีโอกาสทั้งหลายชอบโอ่เป็นนักหนาว่าเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจดีกว่าเพื่อนบ้านนั้น แท้จริงกำลังขาดดุลยภาพในเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างนิเวศวัฒนธรรมและนิเวศเศรษฐกิจการเมือง ด้วยกระทำของรัฐและประชาชนที่มีโอกาสเหล่านั้น การกระทำที่ทำให้เกิดการรุกล้ำของนิเวศเศรษฐกิจการเมืองอย่างไม่มีกาลเทศะนั้นคือการทำลายนิเวศวัฒนธรรมที่มีผลทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางสังคมและวัฒนธรรมในแทบทุกภูมิภาคของประเทศในขณะนี้ เพราะการรุกล้ำของนิเวศเศรษฐกิจและการเมืองของบรรดาประชาชนที่ได้โอกาสหรือฉวยโอกาสก็คือการบุกรุกของนายทุนที่ใช้อำนาจทางการเมืองของรัฐเข้าไปแย่งพื้นที่และทรัพยากรท้องถิ่นของผู้คนที่ด้อยโอกาสในท้องถิ่น จนเกิดเป็นความขัดแย้งอย่างไม่รู้จบในปัจจุบัน เกิดความเคลื่อนไหวทั้งจากบรรดาปัญญาชนที่เป็นนักวิชาการสุจริตชนและองค์กรเอกชนร่วมมือกับบรรดาชาวบ้านชาวเมืองในท้องถิ่นที่ได้รับการเดือดร้อน โต้แย้ง คัดค้าน เดินขบวนกันอยู่เนือง ๆ ผลที่เกิดตามมาก็คือ แทบทุกเมื่อเชื่อวันจะมีการประชุมสัมมนาทั้งเป็นเรื่องของการเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น และการอบรมการปฏิบัติการทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยสถาบันการศึกษาจากทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคกันอย่างกว้างขวาง หลายต่อหลายแห่งก็มีการเชิญบรรดานักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ปราชญ์ผู้รู้ชาวบ้านที่มีชื่อเสียงมาให้ความรู้ทั้งแนวคิด ทฤษฎี และการปฏิบัติการกันเป็นประจำ ข้าพเจ้านับเป็นคนหนึ่งในบรรดาผู้ที่ถูกอุปโหลกว่าเป็นผู้รู้และเชี่ยวชาญ เคลื่อนไหวอยู่ในวังวนแห่งการวิจัยและการไปพูดไปสัมมนาอยู่กว่า ๑๔ – ๑๕ ปีที่ผ่านมา เมื่อมีโอกาสได้โผล่ออก นอกกระดอง ไปยังประเทศเพื่อนบ้านในครั้งนี้แล้วตกใจ เพราะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมของเขาแล้วดูมีสมดุลระหว่างระบบนิเวศวัฒนธรรมและนิเวศเศรษฐกิจการเมืองที่จะยังให้เกิดความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจแก่คนทั้งหลายในชาติดได้ดีกว่าเรา ไม่ว่าเขมร เวียดนาม พม่า และลาวที่เคยเป็นสังคมนิยมต่างขานรับการลงทุนขนาดใหญ่จากภายนอกตามกระแสโลกาภิวัตน์ทั้งนั้น แต่ทั้งรัฐและสังคมจะคำนึงถึงผู้คนในท้องถิ่นเป็นสำคัญ หาได้ปล่อยให้นิเวศเศรษฐกิจการเมืองรุกล้ำเข้าไปทำลายนิเวศวัฒนธรรมของท้องถิ่นไม่ ประเทศเวียดนามคือตัวอย่างที่จะพูดถึงในที่นี้ ข้าพเจ้านั่งรถวิ่งผ่านแต่เมืองลาวบาวที่อยู่ต่อแดนประเทศลาว มายังเมืองดงฮา เมืองเว้ เมืองดานัง เมืองญาจัง เมืองพันราง เมืองฟันเทรียด เมืองไซ่ง่อนไปจนถึงเมือง กันเธอ ริมแม่น้ำโขง แลเห็นการเปลี่ยนแปลงแต่ละพื้นที่สองฝั่งถนนที่มีความแตกต่างกันทางภูมิศาสตร์จากเหนือจดใต้ชัดเจน จำได้ว่าเมื่อ ๑๔ ปีที่ผ่านมา บ้านเรือนของคนเวียดนามทั้งในเมืองและชนบทมีขนาดเล็กคับแคบและมีสภาพแวดล้อมที่สกปรก อาหารการกินและสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันดูขาดแคลน เพราะเป็นประเทศที่ถูกย่ำยีแหลกลาญโดยสงครามกับอมนุษย์ที่ใช้เทคโนโลยีทำลายล้างอย่างขี้ขลาดและบ้าคลั่งมาเมื่อ ๖ ปี ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าเข้าไปพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่ก็ยังห่างไกลกับความเจริญในด้านความสะดวกสบายในชีวิตความเป็นอยู่จากผู้คนในประเทศไทยอีกมาก แม้ว่าอาหารการกินและการพัฒนาที่อยู่อาศัยรวมทั้งการเกษตรอุตสาหกรรมจะดีขึ้นเป็นอย่างมากก็ตาม แต่ทว่าสิ่งที่ข้าพเจ้าได้เห็นแก่ตาในปีนี้ เวียดนามเจริญเติบโตอย่างคาดไม่ถึง แทบทุกหนแห่งบ้านเรือนที่เคยติดพื้นชั้นเดียวมี ๓ ห้อง มีการขยายตัว มีห้องเพิ่มขึ้น บางแห่งก็เป็นสองชั้น รวมทั้งเกิดบ้านและตึกของคนรวยเพิ่มขึ้น มีการขยายถนนและปรับปรุงถนนให้สะดวกสบายเพิ่มขึ้นให้เหมาะแก่การคมนาคมและสัญจรของคนในท้องถิ่น แทบทุกบ้านมีสวนครัวที่เลี้ยงตัวเองได้อย่างไม่ต้องพึ่งตลาด เพราะพื้นที่แทบทุกตารางนิ้ว หน้าบ้าน หลังบ้าน หรือรอบบ้านถูกใช้เป็นที่ปลูกพืชผักต่างๆ อย่างมีระเบียบ ผลผลิตที่ได้ไม่เพียงแต่จะใช้บริโภคภายในครัวเรือนเท่านั้น ส่วนเกินยังสามารถนำไปขายในตลาดสดเช้าเย็นที่มีอยู่ทุกย่านทุกตำบลด้วย เพื่อขายให้กับผู้คนในเมืองที่ไม่มีพื้นที่ทำสวนครัวได้ เวียดนามไม่มีซุปเปอร์มาร์เก็ตอย่างคลั่งไคล้และบ้า ๆ บอ ๆ แบบของไทย แต่มีตลาดสดเช้าเย็นที่อุดมสมบูรณ์ทั้ง ผัก ปลา หมู เป็ด ไก่ที่ชาวบ้านและผู้ผลิตรายย่อยที่มีทุนรอนน้อย ๆ สามารถทำมาค้าขายได้ ทำให้คนมีอาหารการกินอยู่ดีทุกระดับ สิ่งที่เวียดนามชนะไทยอย่างขาดลอยคือ การจัดการน้ำและการเกษตร เพราะแม้จะมีพื้นที่ทางเกษตรน้อยกว่าเมืองไทยและมีประชากรถึง ๘๒ ล้านคนมากกว่าหกสิบกว่าล้านคนของไทยก็ตาม ก็สามารถปลูกข้าวส่งออกได้เป็นอันดับสองรองจากไทย ที่ว่าชนะก็เพราะมีการกระจายรายได้ให้แก่ประชาชนทั่วไปได้ดีกว่าของไทย เห็นได้จากการทำนาทำไร่ตามที่นาหรือพื้นดินแปลงเล็ก ๆ เพียงไม่กี่ไร่ มักเป็นการร่วมแรงกันทำโดยคนกลุ่มเล็ก ๆ ประมาณ ๓–๖ คนและใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับกำลังทุนของแต่ละกลุ่ม เช่น ยังใช้วัวและความรวมทั้งแทรคเตอร์ขนาดเล็กในการเพาะปลูก การจัดการน้ำเข้านาและที่เพาะปลูกก็ยังเป็นแบบเดิม โดยอาศัยการชลประทานราษฎร์ที่ถนอมลำน้ำและทางน้ำธรรมชาติซึ่งมาจากที่สูง บรรดาลำน้ำธรรมชาตินี้แหละที่สัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานของคนเวียดนามและสามารถผันและดึงเข้าไปใช้ในการเพาะปลูกแบบแบ่งปันกันอย่างเสมอภาคหาได้เป็นการแย่งน้ำกันอย่างของเมืองไทยไม่ การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ รวมทั้งการขุดคลองส่งน้ำในลักษณะที่เป็นชลประทานหลวงดูมีน้อย เพราะจะเป็นการทำลายสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น แต่การปล่อยให้คนในท้องถิ่นจัดการร่วมกันไปตามธรรมชาติ ได้ทำให้ความเป็นอยู่ของคนในสังคมเกษตรกรรมของเวียดนามดูเป็นระเบียบเสมอภาคและสัมพันธ์กับธรรมชาติสภาพแวดล้อมอย่างกลมกลืน พื้นที่เกษตรกรรมกลายเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำ ลำน้ำ และทางน้ำดูไม่ขาดแห้ง หรือดูดีเป็นแห่ง ๆ อย่างของไทย กลับดูเย็นตาคล้ายกันไปหมด โดยเฉพาะผู้คนที่ต่างคนออกไปทำงานอย่างขยันขันแข็งเป็นกลุ่มเป็นระเบียบ สิ่งเหล่านี้คนไทยแต่ก่อนเคยมี แต่เมื่อโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาและการทำเกษตรอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาแทนแรงงานคนและสัตว์ก็ทำให้เปลี่ยนแปลงไปจนหมดสิ้น จนเดี๋ยวนี้เราแยกคนที่เป็นชาวนาทำไร่กับคนที่เป็นกรรมกรใช้แรงงานในกิจกรรมทางอุตสาหกรรมไม่ออก วิถีชีวิตที่เคยอยู่กันเป็นกลุ่มก้อนและเป็นปึกแผ่นในระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเพียงพอหายไปหมดสิ้น แต่สภาพการเช่นนี้คือสิ่งที่แลเห็นในหมู่คนเวียดนาม สังคมอุตสาหกรรมและเกษตรอุตสาหกรรมในเมืองไทยกำลังเปลี่ยนให้คนไทยเป็นอมนุษย์ เพราะกำลังพัฒนาให้คนเป็นปัจเจกอย่างผิดวิสัยของมนุษยชาติ แต่เวียดนามพัฒนาคนให้อยู่เป็นกลุ่มเป็นเหล่าตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องเป็นสัตว์สังคม ในเวียดนามรัฐและสังคมดูเป็นอันหนึ่งเดียวกันในการพัฒนาให้มนุษย์อยู่ติดพื้นที่อันเป็นมาตุภูมิหรือแผ่นดินเกิด เพราะแทบทุกแห่งที่ผ่านไปจะพบว่าผู้คนในท้องถิ่นนอกจากมีความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนในลักษณะที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนที่ความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งในระดับเครือญาติและเพื่อนร่วมท้องถิ่นและความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติในลักษณะที่มีการจัดการสภาพแวดล้อมธรรมชาติในเรื่องการทำมาหากิน การตั้งถิ่นฐาน การอยู่อาศัย และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันแล้ว ยังมีความสัมพันธ์กับสิ่งนอกเหนือธรรมชาติอย่างแนบแน่นและดูไม่เสื่อมคลายทั้ง ๆ ที่เป็นสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ เพราะท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น มีการจัดการกับหลุมศพเป็นเงาตามตัว บ้านบางบ้านสร้างหลุมศพของคนตายในครอบครัวไว้ในเขตบ้าน และในพื้นที่ทำกินไม่ว่าจะเป็นไร่นาและเรือกสวน เมื่อมองไปตามทุ่งนาจะแลเห็นหลุมศพกระจายกันอยู่เป็นหย่อม ๆ หรือบางที่ในบรรดาพื้นที่สาธารณะป่าเขาและบริเวณแห้งแล้งก็ปรับเปลี่ยนให้เป็นแหล่งฝังศพกระจายกันอยู่ทั่วไป เวียดนามคล้ายจีนแต่ไม่เหมือนจีน เป็นสังคมที่ให้ความสำคัญลัทธิบูชาบรรพบุรุษ (ancestor focus) แต่ไม่นำศพผู้ตายในครอบครัวหรือตระกูลไปฝังไว้รวมกันเป็นสุสานใหญ่ ๆ ในที่ห่างไกลกับเอาไว้ใกล้ตัว และบ้านเรือนดูกระเดียดไปทางข้างญี่ปุ่นมากกว่า บรรดาหลุมศพและแหล่งฝังศพทั้งที่พบตามบ้านและแหล่งทำกินดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าคนเวียดนามและสังคมเวียดนามเน้นการอยู่ร่วมกันในถิ่นกำเนิดแต่แรกเกิดจนตาย ช่วงเวลาของการอยู่ร่วมกันในท้องถิ่นเดียวกันเป็นเวลาหลายชั่วคน คือสิ่งที่สร้างให้คนเวียดนามปรับสภาพแวดล้อมธรรมชาติของท้องถิ่นให้เป็นระบบนิเวศวัฒนธรรมร่วมกันได้ เกิดสถานที่และแหล่งประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมที่จรรโลงสำนึกท้องถิ่นและความเชื่อท้องถิ่นที่มีทั้งประวัติศาสตร์ จารีต ประเพณี และพิธีกรรมรวมกัน ข้าพเจ้าคิดว่าคนไทยเคยมีในสิ่งเหล่านี้ แต่ปัจจุบันไม่มี เพราะถูกทั้งรัฐและนายทุนทำลาย ข้าพเจ้าเชื่อว่ารัฐเวียดนามมีจิตใจที่เอื้ออาทรต่อคนท้องถิ่นที่ไม่เหมือนรัฐไทย เพราะตลอดทางที่นั่งรถผ่านไปข้าพเจ้ามักบ่นถึงความล่าช้าในการเดินทาง คือเวียดนามนั้นแม้ว่าจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วก็ตาม แต่เรื่องเส้นทางคมนาคมดูล้าหลัง การคมนาคมจากกรุงฮานอยทางเหนือมายังเมืองไซ่ง่อนหรือโฮจิมินห์ทางใต้ขึ้นอยู่กับทางหลวงเพียงสายเดียว ซึ่งแม้ว่าจะทำถนนให้ดีและสะพานข้ามแม่น้ำลำน้ำสายต่าง ๆ ได้สะดวกกว่าแต่ก่อนก็ตาม แต่ก็เป็นถนนขนาดเล็กที่รถวิ่งสวนทางไปมาในช่องทางเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การขับขี่ยานยนต์ต้องมีการควบคุมความเร็วให้อยู่เพียง ๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะฉะนั้นการเดินทางจากเหนือไปใต้ด้วยรถยนต์จึงกินเวลาหลายวันทีเดียว บ้านเรือนในชนบทของเวียดนาม ที่เพาะปลูกไม่ไกลจากบ้านเรือนและยังมีการใช้แรงงานร่วมกัน แต่เมื่อแลเห็นบรรดาทุ่งนาและพื้นที่ทางเกษตรและที่อยู่อาศัยที่เขียวและชุ่มน้ำ ความรู้สึกในเรื่องตำหนิก็หมดไป เพราะคิดได้ว่า ถ้าหากเวียดนามพัฒนาถนนหนทางอย่างใหญ่โตและมากมายไปทุกหนแห่งแล้ว บรรดานักการเมือง พ่อค้า ข้าราชการและนายทุนคงร่ำรวยมิใช่น้อย เพราะค่าคอมมิชชั่นคงแพร่สะพัด และคนธรรมดาที่เป็นชาวบ้านในท้องถิ่นก็คงเดือดร้อน เพราะบรรดาถนนหนทางเหล่านั้นคือสิ่งที่กีดขวางทางเดินและการกระจายตัวตามธรรมชาติของน้ำที่จะยังความชุ่มชื้นให้แก่การเพาะปลูกและการอยู่อาศัยของผู้คนได้ ตลอดเส้นทางข้าพเจ้าแทบมองไม่เห็นภาพพจน์ของกรมทางหลวง กรมชลประทาน องค์กรจัดการไฟฟ้าพลังน้ำ และกรมป่าไม้แบบที่พบในประเทศไทยแต่อย่างใด รวมทั้งแทบไม่พบพื้นที่ทางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่บรรดานายทุนข้ามชาติต่างแย่งเข้ามากันยึดครองพื้นที่สาธารณะและถิ่นทำกินของชาวบ้านอย่างเช่นในเมืองไทยที่แทรกซึมไปทั่วทุกระแหงจนคนไทยกลายเป็นทาสติดที่ดิน ที่พบเห็นในประเทศเวียดนามก็มีอยู่ในเขตเมืองไซ่ง่อนและบริเวณปริมณฑลที่มีนักลงทุนข้ามชาติของไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง ครั้นหวนกลับมาที่ถนนสายเดี่ยวที่สะท้อนความล้าหลังในเรื่องการพัฒนาอีกทีก็กลับทำให้ได้แลเห็นอะไรลุ่มลึกกว่าแต่เดิม เพราะถนนเส้นนี้ที่ต้องนั่งรถแลสองข้างทางไปอย่างช้า ๆ นี้ ไม่เพียงแต่ให้แลเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ร่มรื่นในชนบทแต่ละท้องถิ่นเท่านั้น หากเป็นเส้นทางที่ผ่านไปตามเมืองต่าง ๆ ทั้งระดับอำเภอและจังหวัด ทำให้ข้าพเจ้าได้แลเห็นโครงสร้างบางอย่างที่ทางรัฐได้พัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างมีความหมาย ในเขตเมืองนั้น ย่านตลาด ร้านค้า ห้องแถว และที่อยู่อาศัยพัฒนาขึ้นตามสองฝั่งถนนแบบที่พบในเมืองไทยเมื่อราว ๓๐-๔๐ ปีก่อน แต่สิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตและโดดเด่นก็คือโรงเรียนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากการเป็นอาคารขนาดเล็กชั้นเดียวมาเป็นสองชั้นขนาดใหญ่ที่มีบริเวณกว้างขวางมีสีสันที่สวยงาม ล้วนเป็นอาคารที่ใหญ่โตกว่าอาคารอื่นๆ รวมทั้งสถานที่ทางราชการและศูนย์กลางในการบริหารด้วย ข้าพเจ้าไม่เคยพบเห็นเช่นนี้ในเมืองไทย เพราะโรงเรียนแบบนี้มีเป็นจำนวนมาก นับเป็นศูนย์กลางของท้องถิ่นที่ขานตอบการศึกษาของเด็กนักเรียนในท้องถิ่นโดยแท้และเป็นสถานที่มีการเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก เพราะเด็กนักเรียนในท้องถิ่นต้องเข้าโรงเรียน ในเวลาไปโรงเรียนพักกลางวันและกลับบ้าน เด็กนักเรียนจะเดินและขี่รถจักรยานกันตามถนนดูแน่นไปหมด อันแสดงให้เห็นว่าตำแหน่งของโรงเรียนอยู่ใกล้บ้าน เดินทางกลับไปทานอาหารกลางวันที่บ้านได้อย่างสบาย ซึ่งผิดกับโรงเรียนในเมืองไทยราวฟ้าและดินที่โรงเรียนห่างบ้านและมีระดับสำรับคนรวยคนจน แต่ที่แย่ก็คือคนจนและคนด้อยโอกาสมักไม่ได้เรียนกัน ดูเหมือนความต่างกันของโรงเรียนในเมืองไทยกับเวียดนามในยุคปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มาจนถึงรัฐบาลพรรคไทยรักไทยก็คือ โรงเรียนของไทยอยู่ในเขตการศึกษาอันเป็นเขตการบริหารที่แลเห็นแต่ระบบการจัดการต่างๆ ในเรื่องตำแหน่งงานของผู้บริหาร ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และอุปกรณ์การศึกษาจนแลไม่เห็นเด็กนักเรียนกับวัฒนธรรมท้องถิ่น โรงเรียนในเวียดนามคือศูนย์กลางของท้องถิ่น เป็นสิ่งที่อยู่ในพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับกระบวนการอบรมทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น นับเป็นสถานที่สร้างสำนึกท้องถิ่นและกระตุ้นให้เด็กได้เรียนรู้ในวิชาการต่าง ๆ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับศักยภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของท้องถิ่นโดยแท้ โรงเรียนในเวียดนามคือสถานที่เพื่อเตรียมคนในด้านความรู้เพื่อขานรับกับการรุกล้ำของนิเวศเศรษฐกิจการเมืองที่มาจากโลกาภิวัตน์ โรงเรียนคือสิ่งที่ทำให้เด็กในท้องถิ่นเรียนรู้นิเวศวัฒนธรรมและนิเวศเศรษฐกิจการเมืองเพื่อการปรับให้มีความสัมพันธ์กันอย่างมีดุลยภาพ โรงเรียนคือหัวใจของกระบวนการท้องถิ่นวัฒนา (localization) ซึ่งเป็นกระบวนการปฏิรูปการศึกษาที่เมืองไทยไม่เคยคิดที่จะให้ดี จากการที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมดังกล่าวมานี้ ข้าพเจ้าก็มาถึงบางอ้อว่า การพัฒนาของเวียดนามนั้นแท้จริงคือสิ่งที่อยู่ในกรอบความคิดของคนตะวันออกที่มีมาแต่เดิม คือการเน้นให้ผู้คนอยู่ติดที่ ให้อยู่กันอย่างยั่งยืนมีรากเหง้าเป็นกลุ่มเป็นแหล่ง มีความเป็นอันหนึ่งเดียวกันในวัฒนธรรมจารีตและประเพณี ซึ่งต่างกันกับคนตะวันตกที่เน้นอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สนับสนุนให้คนโยกย้ายถิ่นไปตามที่ต่าง ๆ จนไม่มีโอกาสและเวลาที่จะอยู่ติดที่ร่วมกันจนเป็นชุมชนขึ้นมา มีแต่สร้างให้คนเป็นปัจเจกที่อาจมีบ้านพักทันสมัยโอ่อ่ามีความสะดวกสบาย แต่ต่างคนต่างอยู่ ต่างซุกหัวนอนไปวัน ๆ ดังเห็นได้จากการเกิดบ้านจัดสรร ทาวน์เฮ้าส์และคอนโดมิเนียมทั่วทุกระแหงในเมืองไทยขณะนี้ พลันข้าพเจ้านึกถึง คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเล็ก–ประไพ วิริยะพันธุ์ขึ้น ครั้งเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่และออกเดินทางตระเวนไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อศึกษารวบรวมข้อมูลมาสร้างเมืองโบราณ ท่านสังเกตว่ามีการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากจังหวัดและท้องถิ่นหนึ่งไปท้องถิ่นหนึ่งเพื่อการทำงานตามสถานที่ประกอบการทางอุตสาหกรรมและการบริการอยู่ตลอดเวลา จึงบอกกับข้าพเจ้าว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีจะเกิดความยุ่งยากขึ้น การตรึงคนให้อยู่กับที่ซึ่งทำให้ท่านคิดอะไรที่ออกนอกไปจากการสร้างเมืองโบราณในขณะนั้นว่า อยากจะก่อตั้งโรงเรียนช่างสิบหมู่ขึ้นตามท้องถิ่นต่าง ๆ เพื่อให้คนในท้องถิ่นได้ฟื้นความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมาช้านาน ในด้านปัจจัยสี่และสิ่งที่เป็นศิลปวัฒนธรรมมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นตามกาลเทศะและฤดูกาลขึ้นก็จะทำให้เกิดรายได้จากส่งที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และเกิดพลังและความภูมิใจในถิ่นกำเนิดหรือมาตุภูมิของตนขึ้น ความคิดของท่านแม้ไม่อาจทำให้เป็นรูปธรรมได้ในขณะนั้น แต่ก็เป็นสิ่งสืบเนื่องมาเป็นงานอย่างหนึ่งของมูลนิธิฯ ในการออกไปช่วยจัดการในเรื่องความรู้เพื่อให้ท้องถิ่นจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้นมา รวบรวมหลักฐานข้อมูลทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาเพื่อถ่ายทอดให้เกิดสติปัญญา และสำนึกท้องถิ่นของชาวบ้านในท้องถิ่นต่าง ๆ ของประเทศ การได้มีโอกาสไปเวียดนามครั้งนี้ของข้าพเจ้าทำให้แลเห็นอย่างสว่างในความคิดของคุณเล็ก และแลเห็นการพัฒนาท้องถิ่นที่ผิดทิศทางอย่างแท้จริงในเมืองไทย ตราบใดที่คนไทย สังคมไทยยังเต็มไปด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานไปทำมาหากินตามถิ่นต่าง ๆ อย่างไม่มีหัวนอนปลายตีนกันอยู่เช่นนี้ การลงหลักปักหลักที่เป็นปึกแผ่นทางสังคมและวัฒนธรรมไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะการพัฒนาความเป็นกลุ่มหรือชุมชนที่มีโครงสร้างสังคมจากระดับครอบครัว เครือญาติ ชุมชนและท้องถิ่นที่มีสำนึกร่วมกันทางชีวิตวัฒนธรรมนั้น ต้องใช้เวลาของการอยู่ในพื้นที่ร่วมกันไม่ต่ำกว่า ๒–๓ ชั่วคน สิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้ดูเป็นเรื่องเปิดโอกาสให้ปัจเจกบุคคลที่เป็นนายทุนหรือผู้ที่ฉวยโอกาสทั้งหลายจากภายนอกเข้าไปตั้งถิ่นฐานแย่งทรัพยากร ตั้งตัวเป็นเจ้าพ่อเอาเปรียบชาวบ้านชาวเมืองในรูปแบบที่อ้างว่าทำเพื่อชุมชนหรือทำเพื่อคนส่วนรวมในระดับชาติอยู่ตลอดเวลา ข้าพเจ้าคิดว่าเวียดนามเดินทางมาถูกทาง และการพัฒนาทางสังคมวัฒนธรรมอยู่ในขอบเขตที่ควบคุมได้ ในขณะที่ของไทยผิดทั้งทิศทางและหลงทางจนไม่อาจแก้ไขอะไรได้ในขณะนี้ นอกจากโรงเรียนแล้ว โครงสร้างทางกายภาพที่โดดเด่นในสังคมเมืองอีกอย่างหนึ่งของเวียดนามที่นับว่าเป็นการดำเนินการของรัฐก็คือ อนุสาวรีย์ที่ฝังศพวีรชนในสงครามกับอเมริกัน ทุกอำเภอและจังหวัดจะมีอนุสาวรีย์และแหล่งฝังศพดังกล่าวนี้ดูเด่นเป็นสง่ามองเห็นแต่ไกล เหนือหลุมศพมีรายชื่อของวีรชนที่เสียชีวิตไว้อย่างชัดเจน อนุสาวรีย์นี้มีความสัมพันธ์กับโรงเรียนเป็นอย่างมาก เพราะดูเหมือนจะมีการกำหนดให้โรงเรียนและเด็กนักเรียนมาทำความสะอาดและขัดชื่อจารึกของวีรชนอยู่เป็นประจำ ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงคำพูดของประธานาธิบดีโฮจิมินห์ที่กล่าวต่อโลกในการทำสงครามกับมหาอำนาจอเมริกันว่า เวียดนามเป็นหนึ่งเดียวจะแบ่งแยกจากกันมิได้ แต่ความเป็นหนึ่งเดียวของท่านโฮจิมินห์นั้น คือการทำให้ผู้คนหลายชาติพันธุ์หลายศาสนาที่มีความแตกต่างกันตามท้องถิ่นต่าง ๆ ตั้งแต่เหนือจดใต้ มีสำนึกในการอยู่แผ่นดินเวียดนามเดียวกัน โดยแต่ละคนมีหน้าที่ร่วมรบเพื่อปกป้องแผ่นดินร่วมกันอย่างเสมอภาค บรรดาวีรชนที่มีชื่อปรากฏบนแผ่นดินเหนือหลุมศพแหล่งนั้น ล้วนเป็นคนในท้องถิ่นที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนาทั้งสิ้น เวียดนามแลเห็นเอกลักษณ์ท่ามกลางความหลากหลายในโครงสร้างสังคมที่เท่าเทียมและเสมอภาค ในขณะที่สังคมไทยและรัฐไทยเพ้อเจ้อและคุกคามให้ผู้คนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนากลายเป็นคนไทยแบบเชื้อชาติเดียวกัน เหตุการณ์ในภาคใต้คือปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นในความคิดแบบนี้ อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
- นิเวศวัฒนธรรมในหุบปัตตานีและหุบสายบุรี
เผยแพร่ครั้งแรก 1 ม.ค. 2549 ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าพื้นที่บริเวณสามจังหวัดภาคใต้มีลักษณะพิเศษในเรื่องสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างไปจากบรรดาพื้นที่ในจังหวัดอื่น ๆ ที่อยู่ทางฝั่งทะเลตะวันออกด้วยกัน เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลา คือเป็นพื้นที่บนคาบสมุทรมลายูที่ถูกกำหนดโดยเทือกเขาสันกาลาคีรี เพราะบริเวณนครศรีธรรมราชและสงขลานั้นถูกกำหนดโดยเทือกเขานครศรีธรรมราชกับเทือกเขาบรรทัด ซึ่งเป็นทิวเขายาวเหยียดตรงขนานไปกับชายฝั่งทะเลตั้งแต่อำเภอสิชลลงมาจนถึงจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลา ทำให้เกิดพื้นที่ราบชายฝั่งทะเลเป็นแนวยาว มีลำน้ำสายสั้น ๆ ไหลลงจากเทือกเขามาออกทะเลทางด้านตะวันออก ไม่มีทิวเขาและที่สูงขั้นระหว่างลำน้ำสายต่าง ๆ ที่ไหลลงทะเล และโดยการกระทำของคลื่นลมที่ซัดเข้าฝั่งทะเล ทำให้เกิดเป็นแนวสันทรายยาวขนานไปกับชายฝั่งทะเลหลายแนว แผนที่แสดงสภาพภูมิศาสตร์ในเขตภาคใต้ตอนล่าง แต่ทำนองตรงข้าม พื้นที่ในเขตเทือกเขาสันกาลาคีรีถูกกำหนดโดยเทือกเขาที่คดเคี้ยวจากเหนือลงใต้ และมีแขนงเขาแยกลงมาทางด้านตะวันออกเป็น ๘ ทิวด้วยกัน โดยพื้นที่ระหว่างเขามีลำน้ำไหลผ่ากลางจากทิศตะวันตกไปออกชายฝั่งทะเลทางตะวันออก ได้แก่ ลำคลองนาทับ ลำน้ำเทพา แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำบางนรา พื้นที่ระหว่างเขาที่มีแม่น้ำทั้งห้าสายนี้ไหลผ่าน ล้วนเป็นพื้นที่ในหุบเขาที่กว้างมีทั้งที่ราบที่สามารถทำนาและทำสวนได้ แต่หุบเขาใหญ่ที่สัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานเป็นบ้านเมืองสำคัญนั้น ได้แก่ หุบเขาทางลุ่มน้ำปัตตานีและลุ่มน้ำสายบุรี ที่หุบปัตตานี แม่น้ำปัตตานีมีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาทางตะวันออกที่กั้นแดนประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย ผ่านเขตอำเภอเบตงลงมาสู่บริเวณที่ต่ำกว่าซึ่งกลายเป็นเขื่อนบางลาง ไหลผ่านจากที่ลาดลงสู่บริเวณบ้านหน้าถ้ำที่มีเขาหินปูนขนาบอยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ นับเป็นการสิ้นสุดของพื้นที่ราบระหว่างเขาเข้าสู่พื้นที่ราบกว้างใหญ่ที่เริ่มแต่เขตจังหวัดยะลาไปยังจังหวัดปัตตานี ลุ่มน้ำปัตตานีถูกแยกออกมาจากลุ่มน้ำสายบุรี โดยทิวเขาทางด้านตะวันออกที่ผ่านเขตอำเภอบันนังสตามายังอำเภอเมืองยะลาแล้วลดระดับความสูงเป็นกลุ่มเขาขนาดเล็กอันทำให้เกิดช่องทางคมนาคมจากลุ่มน้ำปัตตานีไปยังเขตอำเภอรามันในลุ่มน้ำสายบุรี ต่อจากนั้นก็ยกระดับขึ้นสูงตั้งแต่เขตอำเภอทุ่งยางแดงผ่านอำเภอมายอไปจนจรดชายทะเลที่อำเภอปะนาเระ ทิวเขานี้ทำให้เกิดลุ่มน้ำสายบุรีขึ้น เพราะถูกขนาบด้วยเทือกเขาบูโดทางด้านตะวันออกที่เริ่มจากเขตอำเภอสุคิริน ผ่านอำเภอจะแนะ อำเภอรือเสาะ อำเภอบาเจาะ ไปจนถึงอำเภอกะพ้อ ทางด้านตะวันออกของเขาบูโดก็คือ ที่ราบลุ่มต่ำไปจนจรดชายทะเล เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีพรุขนาดใหญ่เกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ราบทั้งหมด และเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำบางนรา ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ของอำเภอสุไหงโกลก อำเภอยี่งอ อำเภอเมือง อำเภอตากใบ และอำเภอไม้แก่น จังหวัดนราธิวาส ลุ่มน้ำสายบุรีในหุบสายบุรี เป็นหุบที่มีที่ราบริมฝั่งแม่น้ำยาวไกลกว่าหุบปัตตานี โดยเริ่มแต่อำเภอสุคิรินมายังอำเภอศรีสาคร ซึ่งมีพื้นที่ราบกว้างเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ได้ และตั้งแต่เขตอำเภอศรีสาครเป็นต้นมา ก็ยังมีลำน้ำสายเล็ก ๆ ไหลลงมาจากทิวเขาที่ขนาบทั้งทางด้านตะวันตกและตะวันออกไหลลงมาสมทบ โดยเฉพาะเขตอำเภอรือเสาะ จำนวนธารน้ำที่ไหลลงมาจากเขาทั้งสองข้างเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดหุบเขาเล็ก ๆ ที่ผู้คนเข้าไปตั้งถิ่นฐานได้ ความต่างกันของหุบเขาปัตตานีกับหุบสายบุรีก็คือ แม้จะมีลำน้ำยาวขนาดใหญ่พอกันก็ตาม แต่ลำน้ำปัตตานีไหลจากบริเวณต้นน้ำทางใต้ผ่านซอกเขาที่ไม่มีพื้นที่ราบมาจนถึงเขตอำเภอบันนังสตา ซึ่งทำให้ทางราชการใช้ประโยชน์ในการสร้างเขื่อนบางลางขึ้น กว่าจะมีที่ราบพอตั้งถิ่นฐานชุมชนและที่ทำกินของผู้คนได้ก็ต้องผ่านมายังเขตอำเภอเมืองยะลา ในเขตบ้านหน้าถ้ำ ซึ่งนับเป็นเขตปากหุบปัตตานี จาก บ้านหน้าถ้ำ ลำน้ำปัตตานีจึงไหลลงพื้นที่ที่เป็นแอ่งใหญ่ มีลำน้ำหลายสายทั้งจากซอกเขาและหุบเขาใกล้ ๆ ไหลมาสมทบเป็นแอ่งกว้างใหญ่ที่ทำให้เกิดบ้านเมืองในเขตอำเภอเมืองยะลา อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอยะรัง อำเภอหนองจิก อำเภอยะหริ่ง และอำเภอเมืองปัตตานี ในทำนองตรงข้าม หุบสายบุรีกลับมีพื้นที่ราบตามลำแม่น้ำยาวลึกกว่าหุบปัตตานี แต่ต้นน้ำในเขตอำเภอสุคิรินลงมาก็มีพื้นที่ตั้งถิ่นฐานทำกินได้ พอถึงเขตอำเภอศรีสาครก็กลายเป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่ มีลำน้ำสาขาเล็ก ๆ ไหลลงมาจนสมทบกับลำน้ำสายบุรี ทำให้ลำน้ำใหญ่ขึ้นจนมีการเดินทางโดยทางเรือขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าเข้ามาถึง แม่น้ำสายบุรีในหุบสายบุรี เมื่อเข้าเขตอำเภอรือเสาะ พื้นที่ราบจะมีลำน้ำเล็ก ๆ จากหุบเล็กและแอ่งเล็ก ๆ ไหลลงมาสมทบทำให้เกิดบริเวณที่ลุ่มน้ำขังที่เรียกว่า พรุ มากมาย แต่ละพรุก็คือ พื้นที่แก้มลิงที่กักน้ำและระบายน้ำตามธรรมชาติเข้าสู่ลำน้ำสายบุรี พรุที่สำคัญก็คือ พรุลานควายในเขตอำเภอรามัน ที่ทำให้ลำน้ำสายบุรีกว้างใหญ่ก่อนไหลไปออกทะเลที่อ่าวสายบุรี แต่ทว่าหุบสายบุรีแม้จะยาวลึกเป็นที่ผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานได้ก็ตาม แต่ก็ไม่มีบริเวณที่เป็นแอ่งใหญ่ติดกับทะเล เช่น หุบปัตตานี งานวิจัยการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในเขตสามจังหวัดภาคใต้ที่มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เข้าไปเกี่ยวข้อง ได้เลือกพื้นที่ในการศึกษาที่อยู่ภายในของทั้งหุบปัตตานีและหุบสายบุรีเป็นสำคัญ เพราะการศึกษาในพื้นที่ราบชายทะเลได้ทำการศึกษาไปแล้ว ในหุบปัตตานีได้เลือกชุมชนหมู่บ้าน [Village] ในเขต บ้านหน้าถ้ำและบริเวณใกล้เคียงเป็นแหล่งทำการศึกษารวบรวมข้อมูล พื้นที่บริเวณอยู่ในเขตรอยต่อระหว่างที่ราบในหุบเขาตามลำน้ำปัตตานีกับที่ราบของแอ่งปัตตานี อันเป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ไปจนถึงชายฝั่งทะเล ในขณะที่ทางหุบสายบุรีนั้น เริ่มตั้งแต่บริเวณต้นน้ำในเขตอำเภอสุคิริน ริมสองฝั่งลำน้ำสายบุรี จะมีพื้นที่ราบพอแก่การเพาะปลูกและตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของผู้คน จากเขตอำเภอสุคิริน พื้นที่ราบริมฝั่งน้ำก็ขยายใหญ่จนเป็นทุ่งราบในเขตอำเภอศรีสาครอีกทั้งมีธารน้ำสายเล็ก ๆ จากทิวเขาทั้งทางด้านตะวันตกและตะวันออกมาสมทบด้วย เลยทำให้มีความสมบูรณ์ในเรื่องน้ำท่า อีกทั้งทำให้ลำน้ำสายบุรีกว้างขึ้นกลายเป็นท้องถิ่นที่มีหลายชุมชนเกิดขึ้น รวมทั้งเป็นบริเวณที่เรือค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าจากทางฝั่งทะเลที่ปากแม่น้ำสายบุรีเดินทางเข้ามาถึง ณ บริเวณภายในนี้ ทางโครงการวิจัยได้เลือกชุมชน บ้านซากอและบ้านกาเยาะมาตี เป็นตัวแทนในการศึกษาการเก็บข้อมูล ทำให้เห็นความสำคัญของท้องถิ่นนี้ในลักษณะที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมของบริเวณภายในของหุบสายบุรี เพราะนอกจากเป็นบริเวณที่เป็นท่าเรือจอดของเรือสินค้าจากปากน้ำสายบุรีเข้ามาถึง และนำสินค้าของกินจากทางชายทะเลเข้ามาแลกเปลี่ยนกับสินค้าเกษตรและของป่ากับกลุ่มคนที่อยู่ภายในแล้ว ยังเป็นที่ซึ่งคนที่อยู่ในหุบเล็กและที่สูงในเขตอำเภอสุคิรินที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น คนซาไกเดินทางโดยช้างและล่องแพมาติดต่อ แต่ที่สำคัญ พื้นที่ซึ่งเป็นทุ่งราบของอำเภอศรีสาครนั้น เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงช้าง สัตว์ และโคกระบือได้ดี จึงทำให้กลายเป็นที่ตั้งของชุมชนหลาย ๆ ชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เมื่อเดินทางตามลำน้ำสายบุรี ผ่านเขตอำเภอศรีสาครขึ้นไปก็จะถึงเขตอำเภอรือเสาะ อันเป็นบริเวณที่มีชุมชนตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ มีเส้นทางผ่านช่องเขาบูโดไปยังอำเภอระแงะทางทิศตะวันออกไปลงแม่น้ำสายบุรีทางตะวันตก มีชุมชนหลายชุมชนตามหุบเขาเหล่านี้ ชุมชนที่เลือกขึ้นมาเป็นตัวแทนในการศึกษาครั้งนี้ คือ ชุมชนบ้านตะโหนด เหนืออำเภอรือเสาะขึ้นไปตามลำน้ำสายบุรีไปยังเขตอำเภอรามัน ภูมิประเทศสองฝั่งแม่น้ำเป็นที่ต่ำลงมีที่ลุ่มต่ำเป็นพรใหญ่น้อยไปจนถึงพรุลานควายที่เป็นพรุขนาดใหญ่ อันมีลักษณะเป็นแก้มลิงที่รับน้ำจากลำน้ำลำห้วยต่าง ๆ ที่ไหลลงจากที่สูงจากเทือกเขาทางด้านตะวันตกและตะวันออก โดยเฉพาะที่มาจากเขตอำเภอรามัน จึงทำให้มีน้ำไหลจากพรุลงสู่ลำน้ำสายบุรีทำให้เกิดเป็นลำน้ำใหญ่ไหลลงสู่ที่ราบลุ่มไปออกปากน้ำที่อำเภอสายบุรี ชุมชนที่เลือกทำการศึกษาในลุ่มน้ำสายบุรีในเขตอำเภอรามันนี้ ได้แก่ บ้านเกะรอที่ตั้งอยู่ใกล้กับพรุ ผู้คนในพื้นที่นี้ดังกล่าวได้ใช้พื้นที่ราบของพระปลูกข้าวเป็นนาพรุเพื่อเป็นอาหารหลักแต่โบราณมา จากการเลือกชุมชนศึกษาในบริเวณภายในของทั้งหุบปัตตานีและหุบสายบุรีตามที่กล่าวมาในทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมในขั้นแรกนี้ ได้ทำให้เห็นการตั้งถิ่นฐานของบ้านเมืองของผู้คนที่แตกต่างและเหมือนกัน ดังต่อไปนี้ ในหุบปัตตานีนั้น แม้ว่าแม่น้ำปัตตานีจะเป็นลำน้ำใหญ่และยาวกว่าลำน้ำสายบุรีก็ตาม แต่การตั้งถิ่นฐานนั้นไม่เข้าไปลึกเท่ากับหุบสายบุรี เพราะตังแต่เขตอำเภอบันนังสตาไป พื้นที่สองฝั่งน้ำเป็นซอกเขาที่ไม่มีพื้นที่ราบพอแก่การตั้งถิ่นฐานของชุมชนการเกษตรได้ดี เป็นเรื่องของบริเวณที่สูงที่เป็นป่าเป็นเขาที่เหมาะกับผู้คนที่ทำไร่และเก็บของป่า เช่น พวกซาไก เป็นต้น ชุมชนสำคัญจึงไปเกิดที่เขตอำเภอยะหาและทางบ้านหน้าถ้ำแทน เพราะเป็นบริเวณที่นอกจากมีที่ราบใกล้ลำน้ำลำห้วยที่ทำการเพาะปลูกได้ดีแล้ว ยังเป็นชุมชนทางการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำด้วย ทางบกก็คือเป็นชุมทางของการเดินทางข้ามคาบสมุทรจากต้นน้ำปัตตานีและเขตอำเภอเบตงลงมาพบกับเส้นทางเดินทางที่มาจากเขตอำเภอสงขลา ผ่านอำเภอโคกโพธิ์มายังอำเภอยะหา ในขณะที่ทางน้ำนั้น บริเวณนี้เป็นท่าเรือติดต่อไปออกทะเลที่เมืองปัตตานี โดยเหตุนี้จึงทำให้เกิดเป็นเมืองขึ้นภายในหุบปัตตานีขึ้นจนกลายเป็นเมืองยะลาในปัจจุบัน ซึ่งเท่ากับว่า เมืองปัตตานีคือ เมืองท่าชายทะเล ในขณะที่เมืองยะลาคือเมืองภายใน การเติบโตของชุมชนเป็นบ้านเป็นเมือง เริ่มแต่ บ้านยาลอ ในเขตอำเภอยะหา มายังเขต บ้านหน้าถ้ำก่อนที่จะเปลี่ยนตำแหน่งไปยังตัวจังหวัดยะลาในปัจจุบัน ในเขตบ้านหน้าถ้ำนั้นขนาบด้วยภูเขาหินปูนที่มีทั้งเขาหินอ่อนและถ้ำที่เป็นศาสนสถานมาแต่โบราณสมัยศรีวิชัย เพราะพบภาพเขียนสี พระพิมพ์ รวมทั้งการใช้เป็นศาสนสถานสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน มีผู้คนทั้งคนมุสลิม คนจีน และคนไทยพุทธเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ด้วยกันอย่างสงบ ในบางพื้นที่ซึ่งคนมุสลิมเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อน แต่พบว่าเป็นบริเวณที่มีโบราณสถานวัตถุทางพุทธศาสนาก็เลยมีการแลกที่กับกลุ่มคนซึ่งเป็นชาวพุทธ ส่วนคนจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพราะเป็นแหล่งที่เรือจากทะเลและปัตตานีมาจอดแลกเปลี่ยนสินค้ากับคนภายในที่มาจากทางโคกโพธิ์ บันนังสตา และอำเภอรามันในหุบสายบุรี จึงพบว่าชุมชนหมู่บ้านบางแห่งมีชื่อที่เกี่ยวข้องกับคนจีน ผู้คนที่เป็นชาวบ้านชาวเมืองในท้องถิ่นบ้านหน้าถ้ำไม่ว่าจะเป็นคนไทยพุทธ คนจีน และคนมุสลิมเคยมีความสัมพันธ์ต่อกันทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นอย่างดี อย่างเช่น คนมุสลิมก็ร่วมงานประเพณีของคนพุทธ แม้ว่าจะไม่เข้าร่วมในพิธีกรรมทางศาสนาก็ตาม และคนทั้งสามกลุ่มคือ คนพุทธ คนมุสลิม และคนจีน เชื่อถือในโชคลางและข้อห้ามในระบบความเชื่อของท้องถิ่นที่เกี่ยวกับพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต ความอุดมสมบูรณ์ และการรักษาพยาบาลร่วมกัน ในงานรื่นเริงในเวลามีพิธีกรรม เช่น การมีหนังตะลุง มะโย่ง และดีเกฮูลู ทั้งคนพุทธ คนมุสลิม และคนจีนก็มาดูการแสดงร่วมกัน เป็นต้น ส่วนในหุบสายบุรีนั้น มีความลึกของการตั้งถิ่นฐานตามลำน้ำสายบุรีไปจนเกือบถึงบริเวณต้นน้ำในเขตอำเภอสุคิรินที่ไกลกว่าหุบปัตตานี แต่ชุมชนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่าชุมชนในหุบปัตตานีมักเป็นชุมชนของคนมุสลิมที่ผู้คนจำนวนหนึ่งเคลื่อนย้ายมาจากเมืองโกตาบารู ในรัฐ กลันตันของมาเลเซีย คนพุทธทั่วไปตั้งถิ่นฐานน้อย ซึ่งแลเห็นได้จากการมีวัดทางพุทธศาสนาไม่กี่แห่ง อีกทั้งชุมชนใหญ่ ๆ จะเกิดขึ้นก็เฉพาะบริเวณที่เป็นชุมทางคมนาคมตั้งแต่เขตอำเภอศรีสาครลงมา เพราะมีท่าเรือที่ติดต่อมาออกทะเลที่อำเภอสายบุรีได้ ชุมชนในหุบสายบุรีนี้จะเกาะกลุ่มกันเป็นท้องถิ่น ๆ ไป เช่น บ้านซากอ และบ้านกาเยาะมาตี ในเขตอำเภอศรีสาครก็นับเนื่องเป็นกลุ่มที่อยู่ในนิเวศวัฒนธรรมหนึ่ง กับกลุ่มบ้านตะโหนดในหุบเขาทางตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอรือเสาะก็นับเนื่องเป็นอีกนิเวศวัฒนธรรมที่ต่างกันออกไป ในขณะที่บ้านเกะรอก็อยู่ในกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมที่มีการทำนาพรุร่วมกัน บรรดาชุมชนในแต่ละนิเวศวัฒนธรรมเหล่านี้ ต่างอยู่แยกจากกัน จนเกิดเป็นความแตกต่างกันระหว่างท้องถิ่นขึ้น สิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างกัน เกิดจากการติดต่อกันทางสังคมและเศรษฐกิจน้อย ในขณะที่แต่ละท้องถิ่นมีความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกระชับแน่น อันเนื่องจาก การแต่งงานกันเองจากภายใน [Village Endogamy] ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง อาชีพหลักในการทำมาหากิน ได้แก่ การทำสวนดูซงและสวนยางนั้น เป็นสวนแบบสมรมที่ไม่เพียงแต่ปลูกพืชเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังรวมไปถึงบรรดาต้นไม้และพืชพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นทั้งวัสดุในการก่อสร้าง อาหารการกิน และยารักษาโรคด้วย รวมทั้งกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจร่วมกันอีกหลายอย่างที่ทำให้ท้องถิ่นมีลักษณะ อยู่ได้อย่างเพียงพอ [Self Contain] โดยไม่ต้องพึ่งพาภายนอกเท่าใด ผู้คนแต่ละชุมชนในท้องถิ่น ล้วนมีส่วนสำนึกร่วมกันสูง อีกทั้งมีศักยภาพในการจัดกลุ่มและองค์กรในเรื่องการศึกษาเศรษฐกิจและสังคมร่วมกันอย่างมั่นคง ผู้คนในหุบปัตตานีกับหุบสายบุรี แม้จะอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ด้วยกันก็ตาม แต่ก็มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมในระดับท้องถิ่นอย่างเห็นได้ชัด ในหุบปัตตานีมีพัฒนาการทางสังคมเป็นบ้านเป็นเมืองมาช้านาน จึงมีผู้คนหลายชาติพันธุ์ ทั้งคนมุสลิม คนไทยพุทธ และคนจีนสังสรรค์และอยู่ร่วมกันมาเป็นเวลานาน รับการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกได้เร็วและง่ายกว่า ในขณะที่ทางหุบสายบุรี การตั้งถิ่นฐานของผู้คนเป็นชุมชนบ้านเมืองเกิดขึ้นไม่นานเท่าใด ผู้คนที่เกิดขึ้นเคลื่อนย้ายมาจากเมืองโกตาบารูในรัฐกลันตันของมาเลเซีย และผู้คนที่อยู่ในหุบ เช่น พวกซาไกและผู้ทำไร่หาของป่า เป็นต้น ผู้คนเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับผู้คนที่อยู่ในเขตอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดนราธิวาสที่ต่อไปยังเขตมาเลเซียมากกว่าทางจังหวัดปัตตานี การอยู่ในเขตภายในหุบเขาที่มีการติดต่อกับภายนอกในเขตชายทะเลน้อย ทำให้มีคนจีนและคนไทยพุทธไปเกี่ยวข้องด้วยน้อยมาก ดังนั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบระหว่างกันแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ผู้คนในหุบปัตตานียังเปิดโอกาสให้มีการติดต่อเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนภายนอกได้ดีกว่าคนในหุบสายบุรีที่มีลักษณะเป็นสังคมปิด แต่ท่ามกลางความแตกต่างระหว่างผู้คนในสองหุบเขาก็มีอะไรหลายอย่างที่คล้ายกันในหมู่คนมุสลิมในเรื่องของความเชื่อ วิถีชีวิต และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม นั่นคือ ศาสนา โดยเฉพาะคำสอนของพระเจ้ายังคงเป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตคนมุสลิมยังคงยึดมั่นในพิธีละหมาด ผู้ที่เคร่งครัดจะต้องทำกันวันละ ๕ ครั้ง และเชื่อว่าสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกเป็นของพระเจ้า ความเชื่อและพิธีกรรมดังกล่าวนี้ คือพื้นฐานสำคัญที่ทำให้คนมุสลิมมองมนุษย์ทุกคนเสมอภาคกันหมด ไม่ว่าคนไทยพุทธและคนจีน ถัดลงมาจากพระเจ้าก็คือ ผู้นำทางคุณธรรม เช่น โต๊ะครูและโต๊ะอิหม่าม โดยเฉพาะโต๊ะครูนั้นดูเหมือนเป็นผู้นำทั้งทางโลกและทางธรรม เพราะเป็นคนปกครองโรงเรียนปอเนาะที่เป็นสถาบันการศึกษาที่สำคัญของสังคม โต๊ะครูคือบุคคลที่มักได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ที่คนนำเอาคำพูดคำสอนไปปฏิบัติ แต่ก่อนคนศักดิ์สิทธิ์แบบนี้คลุมไปถึงบรรดาผู้อาวุโสหรือผู้รู้ที่รู้ในเรื่องเวทมนต์คาถาที่สามารถปัดเป่าความชั่วร้ายและให้การรักษาพยาบาลในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บด้วย คนศักดิ์สิทธิ์ประเภทนี้ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะคนมุสลิมเท่านั้น หากยังเป็นคนที่คนพุทธและคนจีนเคารพนับถือด้วย ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม ผู้คนในสองหุบเขาก็มีอะไรที่คล้ายคลึงกัน ผลกระทบทางเศรษฐกิจและความเจริญทางวัตถุทำให้คนมุสลิมที่เคยมีภรรยาหลายคน เปลี่ยนมาเน้นการมีภรรยาคนเดียว ลูกผู้หญิงส่วนใหญ่มีการศึกษาดีกว่าลูกผู้ชาย รวมทั้งการจัดประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิตก็ลดความใหญ่โตและการสิ้นเปลืองลง แต่ที่สำคัญคนส่วนใหญ่เลิกประกอบอาชีพพื้นฐานทางเกษตรกรรม เช่น การปลูกข้าวและการทำน้ำตาลโตนด จึงเกิดมีนาร้าง โดยเฉพาะคนทำนาพรุนั้นแทบจะหมดไปแล้วก็มี การทำสวนยาง ทำไร่ และทำสวนผลไม้ แม้ว่ายังดำรงอยู่ แต่ราคาของผลิตผลกลับขึ้น ๆ ลง ๆ เช่น ลองกอง เป็นต้น ชาวบ้านเตรียมต้นกล้าสำหรับดำนา แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเห็นจะได้แก่ ช่องว่างระหว่างวัยของคนรุ่นลูกรุ่นหลาน ที่มีการมองโลกแบบใหม่และคิดใหม่ ไม่ยึดมั่นในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตของคนรุ่นเก่า ไม่ใคร่สนใจกับการเรียนทางศาสนาอย่างแต่เดิม ออกไปทำงานนอกบ้านและมีการสังสรรค์ระหว่างกันตามโรงน้ำชา รวมทั้งการเที่ยวเตร่และสนใจในสิ่งอบายมุขเพิ่มขึ้น นับเป็นความเข้าใจในขั้นพื้นฐานทางประวัติศาสตร์สังคมของท้องถิ่น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่สามารถนำมาตั้งคำถามเพื่อการดำเนินการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมต่อไป อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
- เมืองไทยเป็นสองเมืองหรือ? ปัญหาระหว่างประชาธิปไตยกับธรรมาธิปไตย
เผยแพร่ครั้งแรก 1 มี.ค. 2549 เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศที่นับวันจะรุนแรงจนถึงอาจควบคุมอะไรไม่ได้ทุกวันนี้ ในความคิดของข้าพเจ้านับเนื่องเป็นวิกฤติทางศีลธรรมของสังคมในระบอบประชาธิปไตยที่ชอบอ้างความชอบธรรมในเรื่อง “ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” จนถึง “ประชาชนกว่า ๑๙ ล้านคนเลือกข้าฯ ขึ้นมาบริหารราชการแผ่นดิน” หรือที่ดังแว่ว ๆ ในทีวีเมื่อเร็วนี้ว่า “คน ๑๖ ล้านคนเลือกข้าฯ” อะไรทำนองนั้น ถ้าพูดให้ทันสมัยหน่อย วาทะเช่นนี้ดูเป็นวาทกรรมที่ผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าในบรรดาพรรคการเมืองที่ผลัดกันเข้ามาเป็นรัฐบาล เพราะจำได้ว่าเมื่อครั้งคนปากมูนเดินขบวนเรียกร้องรัฐบาลในการสร้างเขื่อนปากมูน ทั้งรัฐบาลและรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลชุดก่อน ๆ พูดออกมาทำนองเดียวกันว่า “ต้องทำเพื่อคน ๖๐ ล้านคน” ความชั่วร้ายซึ่งเป็นพื้นฐานวิกฤติทางศีลธรรมที่ดูเหมือนตกผลึกอยู่ในสังคมประชาธิปไตยของประเทศไทยก็คือ การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่แก้ไม่ตกในกระบวนการประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ทั้งที่มักจะมีผู้นำทางปัญญาของชาติออกมาตำหนิและแนะหนทางแก้ไขอยู่เป็นประจำก็ตาม ข้าพเจ้าจำได้ว่าสมัยที่แล้วเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ครองเมืองก็มีผู้เสนอคำว่า “ธรรมาภิบาล” ซึ่งเน้นความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ แต่ก็ไม่มีผู้นำทางการเมืองและผู้รับผิดชอบในรัฐบาลนำไปปฏิบัติ จนรัฐบาลที่แล้วสิ้นสุดไปเพราะพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย พรรคไทยรักไทยเข้ามาครองแผ่นดินแทน ได้ทำอะไรค่อนข้างสว่างไสวอยู่ ๒-๓ ปี ก็กลายเป็นแดนสนธยาที่มาถึงทุกวันนี้ บ้านเมืองอยู่ในสภาพอับแสงและมืดมิดทั้งทางปัญญาและศีลธรรม คนโง่ ๆ อย่างข้าพเจ้านึกอะไรไม่ออกนอกจากคิดได้เป็นอย่างเดียวว่า นี่คือทางตันของระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยในทัศนะของคนในวัฒนธรรมตะวันตก เป็นทั้งเครื่องมือและอุดมการณ์ที่ยังความเสมอภาคและเป็นธรรมแก่ประชาราษฎร์ แต่ประชาธิปไตยในเมืองไทยกลับเป็นวิธีการและเทคนิคของคนฉลาดที่คดโกงขาดสำนึกทางศีลธรรม ได้ใช้สร้างตัวเองและพรรคพวกจากสภาวะที่เคยเป็นศูนย์มาเป็นราชามหาเศรษฐีกันอย่างคับบ้านคับเมืองในเวลานี้ กระแสทุนนิยมแบบข้ามชาติได้เปลี่ยนความเป็นมนุษย์ที่เคยเป็นสัตว์สังคมที่มีศีลธรรมของคนไทยที่มีมากว่าพันปีในอดีต ให้กลายเป็นสัตว์เดรัจฉานกินหญ้ากินเนื้อและกินเลือดกันเองไป ทุกวันนี้คนระดับรากหญ้ากลายเป็นคนกินหญ้า คนชั้นกลางกลายเป็นพวกไม่มีหัวนอนปลายตีนและสายตาสั้น ซึ่งก็รวมทั้งคนที่มีปัญญาที่บ้าประชาธิปไตยจนติดกรอบ ทางตันดังกล่าวนี้ทำให้รัฐในปัจจุบันกำลังกลายเป็นทรราช เพราะรัฐกับประชาชนมีช่องว่างจนไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสังคมได้ จึงเกิดปัญหาทางสังคมและวัฒนธรรมที่แก้ไขอะไรไม่ได้ ดังเช่น ปัญหาของผู้คนในสามจังหวัดภาคใต้และที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ตลอดจนอีกหลายแห่งทั่วประเทศที่กำลังตามมา ปรากฏการณ์ของความขัดแย้งที่รุนแรงในขณะนี้ นักรัฐศาสตร์ นักปกครอง มักพูดว่าเป็นเรื่องของ รัฐล้มละลาย [Failed State] หรือที่ปัญญาชนส่วนใหญ่มองไปในแง่ความล้มเหลวทางจริยธรรม แต่ข้าพเจ้าคิดตามภาษาคนโง่ว่าเป็น การล้มเหลวทางศีลธรรม [Demoralization] อย่างชัดแจ้ง ซึ่งถ้าปล่อยให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงต่อไป ก็จะนำไปสู่ ความล่มสลายของความเป็นสัตว์มนุษย์ [Dehumanization] ได้ อันเนื่องมาจากทุกวันนี้สำนึกเดรัจฉานกระจายไปทั่วทั้งแผ่นดิน ในช่วงเวลากว่าปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้ามีประสบการณ์ในสังคมภาคใต้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันจนทำให้รู้สึกหดหู่ โกรธแค้น และสิ้นหวัง ทางฝั่งอ่าวไทยข้าพเจ้าเรียนรู้หลายอย่างจากการได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ ได้แลเห็นและเข้าใจปัญหาและข้อเท็จจริงที่น่าจะแก้ไขได้จนถึงแก้ไขไม่ได้และควบคุมไม่ได้ในที่สุด เพราะความเป็นรัฐล้มละลายนั่นเองจึงทำให้มีการใช้ความรุนแรงที่ถูกกฎหมายปะทะกับความรุนแรงที่ไม่ถูกกฎหมายจนไม่มีทางสมานฉันท์ได้ รัฐไทยสามารถทำให้คนในโลกมุสลิมและโลกสากลตำหนิและตั้งคำถามในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยธรรม รวมทั้งการทำให้คนมุสลิมภายในขัดแย้งฆ่ากันเอง ซึ่งก็รวมไปถึงบรรดาคนพุทธ ครู และข้าราชการในท้องถิ่นด้วย แต่กลับสามารถสร้างภาพพจน์ที่อธิบายทางสื่อให้คนส่วนใหญ่ในชาติเห็นว่าคนมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้คือพวกที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน ในขณะที่คนทางฝั่งอันดามันที่ด้อยโอกาส ไม่ว่าเป็นชาวบ้านซึ่งเป็นคนไทย คนมุสลิม และชาวเลซึ่งได้รับภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์สึนามิจนหมดตัว หมดฐานะแล้ว ยังกลายเป็นคนไร้ปัฐพี เพราะแผ่นดินที่อยู่อาศัยถูกยึดครองและขับไล่โดยพวกนายทุนทั้งในชาติ ข้ามชาติ และนานาชาติ ในทำนองตรงข้าม เมื่อมองผ่านสิ่งต่าง ๆ เข้าไปกลับกลายเป็นดินแดนสวรรค์ของการท่องเที่ยวที่จะทำรายได้อย่างมหาศาลเข้าประเทศ ข้าพเจ้าแลเห็นความขัดแย้งและความเดือดร้อนในทำนองนี้ที่แผ่ขยายไปแทบทุกภูมิภาคของประเทศ แต่ก็ต้องยอมรับด้วยความอัศจรรย์ใจที่ว่า ท่ามกลางการเป็นรัฐที่ล้มเหลวของรัฐบาลนี้ รัฐมีศักยภาพเป็นพิเศษในการครอบงำให้ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศมีความสุขสันต์ชื่นชมรัฐท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่เป็นนรก แต่ห้วงความรู้สึกมืดมิดและสิ้นหวังทางสังคมที่กล่าวมา เผอิญมีแสงสว่างบางอย่างเกิดขึ้นที่น่าเปลี่ยนทัศนคติจากร้ายกลายเป็นดี เมื่อเกิดมีการเคลื่อนไหวทางสังคมเรียกกันว่า ม็อบสะพานมัฆวาน ที่เกิดขึ้นมาต้านระบอบทักษิณของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ม็อบนี้เป็นม็อบแค่ชื่อเพราะความจริงเป็นการชุมชนเคลื่อนไหวที่มีโครงสร้างแตกต่างไปจากม็อบอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็น ม็อบรถอีแต๋นกับม็อบดอกกุหลาบ ม็อบมัฆวานเริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวที่เป็นม็อบตั้งแต่บริเวณสวนลุมพินีจนถึงท้องสนามหลวง เกิดจากแกนนำม็อบเพียงคนเดียว แต่ภายหลังวันที่ ๔ มีนาคมที่แล้วมา ก็เกิดแนวร่วมและความคิดร่วมขึ้นจากกลุ่มคนที่หลากหลายทั้งอาชีพและวัยวุฒิ แต่กลุ่มที่ข้าพเจ้าให้ความสำคัญและเห็นเป็นนิมิตหมายที่มีทางสังคมก็คือ กลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ดูเหมือนจะถูกกลบจมปัฐพีไปด้วยการผลิตแบบปริมาณของแทบทุกมหาวิทยาลัยและความต้องการเศษกระดาษที่เป็นปริญญามากกว่าความรู้ มาครั้งนี้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างน่าอัศจรรย์ใจจากการรวมกลุ่มของนักศึกษาเช่นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกมาแสดงความคิดเห็นและประกาศการรวบรวมรายชื่อประชาชน ๕๐,๐๐๐ คน เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีก็เพราะ บรรดานักศึกษาผู้มีความคิดเหล่านั้นหาได้มีความคิดเห็นและมุมมองที่เป็นแบบเดียวกันไม่ แต่ต่างคนมาพูดคุยกันเพื่อหาจุดร่วมกันอย่างเป็นสมานฉันท์ [Unity] ในขณะเดียวกัน กลุ่มนักศึกษาดังกล่าวก็หาได้เห็นพ้องกับความคิดและการดำเนินการของแกนนำม็อบที่ท้องสนามหลวงไม่ แต่มีความเห็นตรงกันในการจัดการกับการกระทำของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ไม่ชอบด้วยจริยธรรม หลังจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาก็เกิดการตื่นตัวกันในหมู่คนมากมายหลายกลุ่ม เรียกว่าทั่วประเทศก็ได้ เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่มีทางปกปิดหรือปิดบังได้ถึงแม้ว่ารัฐจะควบคุมกลไกต่างๆ ในการสื่อสารได้มากกว่ารัฐบาลในสมัยใด ๆ ก็ตาม ท่ามกลางการเคลื่อนไหวที่มีขึ้นอย่างมากมายเกือบทั่วประเทศนั้น ได้มีจุดร่วมกันเป็นรูปธรรมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์บนถนนราชดำเนินนอก ซึ่งเป็นเส้นทางไปสู่รัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล พฤติกรรมของม็อบนี้เป็นสันติวิธีที่หลีกเลี่ยงความรุนแรง คนแก่ ๆ อย่างข้าพเจ้าก็สนใจอยากไปดูไปเห็นก็เลยสวมหัวใจความเป็นนักมานุษยวิทยาสมัยหนุ่ม ๆ เข้าไปสังเกตการณ์ทั้งตอนกลางวันและกลางคืน ตอนกลางวันอากาศร้อนดูเหมาะกับคนที่ร่างกายแข็งแรง และมีความคิดความอ่านที่ร้อนแรง จึงมีคนมาชุมนุมน้อยกว่าตอนเย็นและกลางคืน กลุ่มคนตอนกลางวันที่ข้าพเจ้าเห็นนั้น ดูคุ้น ๆ หน้าไปหมดเพราะมีทั้งพวกครูบาอาจารย์ นักศึกษา และปัญญาชนต่าง ๆ ที่เคยพบเห็น ทั้งตามสถาบันการศึกษาและการประชุมสัมมนาตามที่ต่างๆ ของประเทศ เลยเดินทักทายกันไปตั้งแต่เชิงสะพานผ่านฟ้าจนถึงสะพานมัฆวานและหน้าทำเนียบ คนที่มาชุมนุมเหล่านี้จับกันเป็นกลุ่มๆ พุดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ถึงความเป็นไปที่เลวร้ายของบ้านเมือง เป็นการชุมนุมแบบมีโครงสร้างความสัมพันธ์กันหาใช่ม็อบไม่ เพราะแต่ละกลุ่มก็มีความคิดเห็นเป็นตัวเองไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังและทำตามคำแนะนำและความคิดของกลุ่มแกนนำเสมอไป แม้แต่กลุ่มแกนนำเองก็มีความแตกต่างในมุมมองทางความคิด แต่ท่ามกลางสิ่งที่เสมือนกั้นธารน้ำใหญ่น้อยมากมายหลายสาขาจากที่อื่น ๆ ต่างก็มารวมเป็นกระแสเดียวในเรื่องการเรียกร้องให้เกิดสิ่งที่เป็นความถูกต้องทางจริยธรรมในสังคมไทย เพราะฉะนั้น ปัญหาและจุดร่วมกันของการชุมนุมที่เรียกว่าม็อบมัฆวานนี้ก็คือเรื่องจริยธรรมไม่ใช่เรื่องความถูกต้องตามกระบวนการประชาธิปไตยที่ทำอะไรต่ออะไรต้องถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับของรัฐธรรมนูญตามแนวคิดและนโยบายประชานิยมของรัฐบาล แต่สิ่งที่เป็นอัศจรรย์แก่ข้าพเจ้าที่คิดว่าตนเองเป็นคนแก่ท่ามกลางม็อบหนุ่มสาวก็คือ ได้พบคนแก่กว่าข้าพเจ้าอีกมากในตอนกลางวันนี้ ที่ว่าแก่กว่าก็เพราะท่านเหล่านั้นล้วนมีอายุกว่า ๗๐ ปีขึ้นไป บ้างเป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ พลเรือน ครูบาอาจารย์ พ่อค้า นักธุรกิจที่จัดเป็นพวกบำนาญแทบทั้งสิ้น คนเหล่านี้ออกมาพูดคุยแสดงความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวกับความถูกต้องทางประชาธิปไตยหรือความชอบธรรมทางจริยธรรมแต่เพียงอย่างเดียว แต่แสดงความเกี่ยวข้องทางศีลธรรมของบ้านเมืองโดยตรง ประสบการณ์และความมีอายุคือสิ่งที่ท่านเหล่านี้เคยเห็นความสันติสุขที่เคยมีมาแต่เดิมเป็นอย่างไร ถึงแม้ว่าจะไม่มียุคใด สมัยใดที่สมบูรณ์แบบตามอุดมคติหรืออุดมการณ์ก็ตาม แต่ก็ไม่เคยอยู่ในภาวะที่ “ฉิบหาย” เหมือนคราวนี้ ข้าพเจ้าประทับใจมากเมื่อมีคนไทยเชื่อสายเจ๊กที่ท่าทางเป็นนักธุรกิจอาวุโสพูดสำเนียงภาษาไทยไม่ค่อยชัด ออกมาแสดงอารมณ์ความขุ่นเคืองถึงความเหลวแหลกทางพฤติกรรมของคนรุ่นลูกหลานที่ไม่อยู่ในภาวะความเป็นมนุษย์ที่มีศีลธรรมในขณะนี้ และประกาศก้องออกมาว่าเป็นความผิดอย่างมหันต์ของรัฐบาล เพราะฉะนั้น ปัญหาของการเคลื่อนไหวของการชุมนุมที่เรียกว่าม็อบนี้ ไม่ใช่เพียงจริยธรรมเท่านั้น หากหมายไปถึงการเคลื่อนไหวทางศีลธรรมที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทางสังคมและวัฒนธรรมที่เคยจรรโลงความมั่นคงดังกล่าวนี้ด้วย ตอนกลางคืน ยิ่งเย็นยิ่งดึกคนยิ่งมากและยิ่งแน่นมาแทบทุกสาระทิศ ไม่ใช่เรือนหมื่นแต่เป็นเรือนแสน ทำให้พื้นที่บนถนนราชดำเนินนอกเกือบทั้งหมดกลายเป็นพื้นที่การแสดงมหรสพทางปัญญาที่เปิดตำราไม่พบในการชุมนุมที่เรียกว่า ม็อบ ทั้งหลายที่แล้ว ๆ มา ตรงเวทีใหญ่ที่บรรดาแกนนำที่เป็นดาราแสดงใหญ่ต่างผลัดกันออกมากล่าวโจมตีและขับไล่นายกรัฐมนตรี สลับด้วยดารารับเชิญที่เป็นนักวิชาการและนักอะไรต่ออะไรที่มาจากหลายกลุ่มหลายเหล่า ดูคล้าย ๆ กับการแสดงคอนเสริต์ของวัยรุ่นในทุกวันนี้ เพราะรอบ ๆ เวทีจะมีคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวและรุ่นแก่ที่ยังมีแรงแออัดยกไม้ยกมือส่งเสียงแสดงพลังรับเป็นลูกคู่แบบมีส่วนร่วม ถัดเวทีใหญ่ไปตามพื้นที่ถนนและพื้นที่โดยรอบ ได้มีการตั้งจอใหญ่ถ่ายทอดภาพและเสียงของบรรดานักแสดงบนเวทีไปให้คนที่มาชุมนุมนั่งฟังกันเป็นบริเวณ ๆ ไป คนที่อยู่หน้าจอเหล่านี้อาจมีส่วนร่วมในการขานรับเป็นลูกคู่ให้กับการปลุกระดมจากเวทีใหญ่เป็นครั้งเป็นคราว แต่เป็นจำนวนมากมีการจับกลุ่มเป็นกลุ่มเล็ก ๆ หันหน้าเข้าหากันพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดและประสบการณ์กัน กลุ่มคนเหล่านี้มีทั้งคนจนคนรวยที่ถ้ามองเผิน ๆ แล้วจะถูกเหมารวมๆ ว่าเป็นคนชั้นกลาง ข้าพเจ้าแลเห็นบรรดาคนจนที่เป็นพวกคนรับจ้าง ไม่ว่าพวกมอเตอร์ไซด์ แท็กซี่ หรือกรรมกรที่มาจากที่ต่าง ๆ ก็มีการจับกลุ่มและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้คนที่เดินผ่านไปมาและทักทายกัน ข้าพเจ้าเองได้รับทราบความเดือดร้อนของคนเหล่านี้จากการพูดคุยเช่นกัน โดยเฉพาะรับรู้ว่าการเข้ามาชุมนุมของคนเหล่านี้ไม่มีใครจ้างมาต่างพากันมาเองโดยหัวใจ ลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนก็คือ บรรดาผู้มาร่วมชุมนุมทั้งหลายเหล่านั้นเป็นจำนวนมากต่างพากันมาทั้งครอบครัว มีทั้งพ่อแม่ลูกรวมทั้งบางคนเอาญาติผู้ใหญ่มาด้วย พากันนั่งเป็นกลุ่ม ๆ อยู่หน้าจอถ่ายทอดการแสดงออกของดาราแกนนำ ตามสองข้างทางริมถนนนอกจากเป็นที่สัญจรไปมาของคนที่มาร่วมชุมนุมแล้วยังพวกพ่อค้า แม่ค้า นำอาหารและสิ่งของมาขาย ทำให้ผู้มาชุมนุมไม่อดอยาก เด็ก ๆ ก็มีของกินและของเล่น มีเต็นท์แสดงข่าวสารข้อมูลและกิจกรรมที่ให้ความรู้ รวมทั้งการอบรมสอนให้เด็ก ๆ เขียนภาพต่าง ๆ ที่ต่างคนต่างแสดงความคิดเห็นและจินตนาการจากเรื่องราวปัญหาของการขัดแย้ง ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้ภาพพจน์ของนายกรัฐมนตรีเป็นจุดรวม สำหรับผู้ชุมนุมที่เจ็บป่วยก็มีอาหารและยาแจก รวมทั้งอาหารมังสวิรัติของพวกกองทัพธรรมที่มาปักหลักชุมนุมแบบค้างแรม และมีโรงครัว โรงทานทำอาหารแจกอาหารไปด้วย สำหรับคนที่มาชุมนุมอีกเป็นจำนวนมากที่อยากแสดงความคิดเห็นโดยผ่านสื่อในทำนองเดียวกับที่ทางราชการจัดให้มีการส่งไปรษณียากรจากผู้คนในสังคมที่เขียนมาเชียร์นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบนั้น ม็อบมัฆวานก็มี คือการจัดเศษกระดาษเปล่า ๆ ให้ผู้คนที่มาร่วมชุมนุมเขียนแสดงความคิดเห็นแล้ววางไว้บนพื้นแบกะดินแทนผู้รับแสดงความคิดเห็นแบบทำเนียบ ข้าพเจ้าได้ยืนอ่านด้วยความเพลิดเพลิน เพราะนอกจากได้แลเห็นความคิดเห็นนานาชนิดแล้ว ยังเห็นคำพูดและความคิดที่เป็นกวี เป็นศิลปะของผู้มาชุมนุมด้วย จนรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวทางศิลปวัฒนธรรมไปด้วย คงจะไม่มีใครปฏิเสธในขณะนี้เลยได้ว่า เพลงดนตรีและการ์ตูน “ไอ้หน้าเหลี่ยม” นั้นเป็นผลผลิตทางสังคมที่เป็นศิลปะร่วมสมัยทั้งผู้ใหญ่และเด็กร่วมกัน ม็อบมัฆวานข้างทำเนียบที่มาจากผู้คนร่วมสมัยในสังคมที่หลากหลายในความคิดเห็นหาได้คิดแบบเดียวและอย่างเดียวกันกับผู้ที่เป็นแกนนำของม็อบไม่ อีกทั้งไม่ใช่ม็อบอย่างที่เคยคิดเห็นกัน หากเป็นการเคลื่อนไหวทางปัญญาของกลุ่มคนที่หลากหลายแต่มีจุดร่วมกันทางสังคมอย่างเป็นสมานฉันท์ (Unity) คือจะทำอย่างไรกับความชั่วร้ายทางสังคมในด้านจริยธรรมและศีลธรรม เพราะทุกคนเห็นว่า ความเป็นธรรมที่มาจากกฎหมาย จากกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยนั้นล้มเหลว เจตนารมณ์วันนี้ส่งผลไปถึงการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรที่เกิดขึ้นตามกติกาประชาธิปไตยหลังการยุบสภาของนายกรัฐมนตรีแห่งพรรคไทยรักไทย จึงเกิดการไม่ยอมรับการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นว่าเป็นความชอบธรรม พรรคการเมืองใหญ่ ๆ ทางฝ่ายค้านปฏิเสธที่จะเข้าร่วม การปฏิเสธความชอบธรรมของการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้ส่งผลให้เห็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในเจตนารมณ์ของปัญญาชน คือการไม่เลือกใครเลยเป็นผู้แทน ปรากฏการณ์โนโวต นี้ไม่เคยปรากฏเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในการเลือกตั้งที่เคยมีมาแต่ก่อน เป็นสิ่งที่รัฐบาลและสังคมต้องนำมาพิจารณา แต่ผลปรากฏว่าไม่เป็นเช่นนั้นทางฝ่ายรัฐและฝ่ายสนับสนุนกลับไม่ให้ความสำคัญ กลับไปสนใจกับการที่บรรดาผู้สมัครผู้แทนทางฝ่ายตนได้รับการเลือกตั้งจึงทำให้มาประกาศชัยชนะแบบเดิม ๆ ว่า “ประชาชน ๑๖ ล้านคน” เลือกตนและประสบผลสำเร็จในการรักษาประชาธิปไตย ในฐานะที่เป็นคนไทย ข้าพเจ้าอดสูแก่ประชาโลกและหวาดกลัวความแตกแยกที่จะนำไปสู่ความรุนแรงที่ไม่อาจควบคุมได้ในอนาคต การลงจากตำแหน่งที่มีอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่อ้างการรักษากติกาประชาธิปไตยครั้งนี้ หาใช่คำตอบขั้นสุดท้ายของการเคลื่อนไหวทางปัญญาของสังคมไม่ เพราะการที่จะนำประเทศชาติและสังคมไทยเข้าสู่สันติสุขได้นั้น รัฐบาลหรือผู้นำประเทศต้องตอบปัญหาและจัดการความชอบธรรมทางจริยธรรมและศีลธรรม ซึ่งเป็นความจำเป็นพื้นฐานก่อน เพราะเป็นความจำเป็นสากลของมนุษยชาติ ความเป็นประชาธิปไตยทั้งในลักษณะเป็นเครื่องมือหรืออุดมการณ์นั้น คือสิ่งที่จะต้องตั้งอยู่บนฐานทางศีลธรรมและจริยธรรม ถ้าหาไม่แล้วสิ่งที่เป็นอธรรมก็ครองโลก โลกที่เต็มไปด้วยประชาธิปไตยแบบไร้คุณธรรมเช่นนี้ ถ้าหันกลับไปคำนึงถึงความคิดของคนโบราณ ก็คงจะได้เห็นแต่การส่ายหน้าและบอกว่าต่อให้มีสิบพระเป็นเจ้าก็ช่วยอะไรไม่ได้ มาถึงตรงนี้ทำให้ข้าพเจ้าต้องไปอ้างคำพูดและข้อเขียนของบุคคลที่เป็นปราชญ์ทางพุทธศาสนาที่ผู้คนทั้งหลายยกย่องคือ ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนราธิวาส ที่ออกมาทันเหตุการณ์พอดีคือ “ธรรมาธิปไตยไม่มา จึงหาประชาธิปไตยไม่พบ” ข้าพเจ้าและเพื่อนมนุษย์ในม็อบมัฆวานโหยหาธรรมาธิปไตย ไม่ใช่ประชาธิปไตยในขณะนี้ ก่อนจบ ข้าพเจ้านึกเห็นอะไรจากหน้าจอทีวีเมื่อเร็ว ๆ นี้ จนเกิดความสังเวช เริ่มแต่นักการเมืองข้างทำเนียบฝ่ายรัฐมาออกรายการทีวีตอบโต้นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ในเรื่อง โนโวต ว่าไม่เห็นมีความสำคัญ เพราะคิดไว้แล้วว่าต้องเป็นแบบนี้ การที่มีโนโวตมากในภาคใต้ก็เพราะเป็นพวกพรรคประชาธิปัตย์ การอ้างเช่นนี้ดูสอดคล้องกับความเห็นของผู้ที่เข้าข้างฝ่ายรัฐบาลอีกเป็นจำนวนมาก นับเป็นการสร้างภาพที่ให้คนส่วนใหญ่เข้าใจไปว่าเมืองไทยขณะนี้แบ่งออกเป็นสองฝ่ายสองเมืองแล้วหรือ ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงก็น่าจะเป็นการยอมรับว่า บุคคลที่เป็นผู้นำของรัฐบาลคือบุคคลล้มละลายทั้งศักยภาพและความชอบธรรมในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของประเทศชาติได้ ประเทศไทยจึงต้องเป็นสองอย่างที่ว่ามา ดังนั้นการที่ผู้นำของประเทศที่ล้มเหลวประกาศเว้นวรรคทางการเมืองนั้นก็ดีแล้ว ซึ่งข้าพเจ้าอดสงสารไม่ได้ถึงความโศกเศร้าของพวกบริวารที่ปรากฏในจอทีวี ยิ่งมีปุโรหิตประจำทำเนียบขึ้นมากล่าวไว้อาลัยแล้ว ก็ยิ่งใจหายเพาะมีการอ้างบทวรรณคดีในเรื่องกฤษณาสอนน้อง“พฤษกภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง” มาอุปมาอุปไมย ธรรมดาคำร้อยกรองชุดนี้มักปรากฏในลักษณะเป็นประเพณีในคำอาลัยแก่ผู้ตายในงานศพ มักจะมากับพวงหรีด ท่านปุโรหิตอาจจะเผลอเลยเว้นวรรคไม่อ่านวลีสำคัญในบทร้อยกรองนี้ที่ว่า “นรชาติที่วางวาย” อีกทั้งยังอ้างไม่หมดถึงบทต่อไปที่ว่า “ความดีจะปรากฏ เกียรติยศก็ฤาชา ความชั่วจะนินทา ทุรยศยินขจร” การอ่านวรรณคดีแบบพื้น ๆ เหล่านี้เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าผู้ชอบอ่านบทวรรณคดีอย่างเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตต้องมีอาการเพี้ยนตามไปด้วย เมื่อวันหนึ่งก่อนรุ่งสางเกิดละเมอฝันไปถึงบทละครเรื่องรามเกียรติ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตอนพิเภกอย่าศึกกุมภกรรณ เมื่อกุมภกรรณด่าพิเภกว่า “ประเทศไทยเป็นของมึงหรือ จึงแบ่งยื้อให้เป็นเหนือเป็นใต้” อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
- หกสิบปีของในหลวงกับร้อยปีพุทธทาส
เผยแพร่ครั้งแรก 2 มี.ค. 2559 สังคมไทยในวันนี้วิกฤติจนน่าเป็นห่วง เพราะกำลังมาถึงทางตันที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจแบบรุนแรงอย่างที่เคยเกิดกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา และจีน เมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วมา อาจเป็นเพราะประเทศไทยไม่เคยเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกมาก่อนก็ได้ที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างไม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนคนปรับตัวตามไม่ทันเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน แต่นั่นก็หาได้หมายความว่าจะรอดพ้นอิทธิพลของตะวันตกไม่ เพราะได้ตกเป็นทาสทางความคิดและสติปัญญาแบบตะวันตกมาโดยตลอด วิกฤติการทางการเมืองและสังคมที่ผ่านมาในสองสามเดือนนี้คือสิ่งที่กำลังบอกว่าเวรและเวลาได้มาถึงแล้ว แต่ก่อนทั้งไทย ลาว เขมรและเวียดนาม ต่างก็มีโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจคล้ายคลึงกัน คือเป็น สังคมชาวนา [Peasant Society] ที่มีโครงสร้างสองโครงสร้างซ้อนกันอยู่ คือ โครงสร้างแบบเสมอภาคของผู้คนที่อยู่ร่วมกันในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร กับโครงสร้างศักดินาของคนเมืองที่มีลักษณะเหลื่อมล้ำ แต่ว่ามีลักษณะเกื้อกูลกับโครงสร้างแรกด้วยระบบอุปถัมภ์ ทำให้สังคมชาวนาไม่อยู่อย่างอิสระหากเป็นส่วนหนึ่ง [Part Society] ของสังคมใหญ่เสมอมา เมื่อตกเป็นเมืองขึ้นและอาณานิคมของตะวันตก โครงสร้างศักดินาที่สัมพันธ์กับสถาบันศาสนาและกษัตริย์ก็ถูกแทนที่โดย โครงสร้างโลกวิสัย [Secularized] ของเจ้าของอาณานิคมชาวตะวันตก อันเป็นโครงสร้างทางวัตถุนิยมที่เน้นความมีสิทธิและชอบธรรมของปัจเจกบุคคลในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีทุนนิยม ซึ่งเมื่อพัฒนาจนเป็นอุดมการณ์แล้วมีชื่อเรียกว่า ประชาธิปไตย โครงสร้างนี้มีลักษณะครอบงำและสืบเนื่อง แม้ว่าบ้านเมืองที่เคยเป็นอาณานิคมจะเป็นอิสระแล้วก็ตาม ได้ทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้คนในสังคมชาวนาจนทนไม่ได้ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติที่ใช้ความรุนแรง เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่ไม่เหมาะสมนี้มาเป็นโครงสร้างสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ สังคมไทยยังไม่เคยผ่านการปรับเปลี่ยนโครงสร้างแบบนี้ เพราะยังเข้ากันได้กับสังคมศักดินาที่ค้ำจุนโดยสถาบันศาสนาและกษัตริย์ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมาก็ตาม ทั้งโครงสร้างเสมอภาคของสังคมชาวนากับโครงสร้างศักดินาของคนเมืองและคนชั้นปกครองก็ยังคงดำรงอยู่ แต่นับตั้งแต่สมัย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นต้นมา การผันเงินสู่ชนบทเพื่อช่วยเหลือประชาชนในด้านเศรษฐกิจได้ทำลายโครงสร้างแบบเสมอภาคของสังคมชาวนาที่เคยอยู่ได้ด้วยตนเองแบบเกื้อกูลซึ่งกันและกันในทางเกษตรกรรม มาเป็นสังคมอุตสาหกรรมที่พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพิงสังคมเมืองที่บรรดาคนชั้นบริหารที่เคยเป็น ขุนนาง ข้าราชการที่เคยมีคุณธรรมเพี้ยนมาเป็นผู้แสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ให้กับตนเองและพรรคพวก สังคมเสรีประชาธิปไตยตั้งแต่สมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นต้นมา เป็นระยะเวลาที่แลเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในโครงสร้างของคนชั้นศักดินา สมัยศักดินาราชาธิปไตย มักมีคำพังเพยแบบแดกดันว่า “ยศช้างขุนนางพระ” เพราะเห็นแก่ยศศักดิ์เป็นใหญ่ แต่มาสมัยนี้กลายเป็น “ยศพระขุนนางพ่อค้า” แทน ขุนนางพระในสมัยนี้มั่งคั่งร่ำรวยกว่าแต่ก่อน ซึ่งแลเห็นง่าย ๆ จากบรรดาอาคารในสังฆาวาสและพาหนะขับขี่ราคาแพง ๆ อาจรวมทั้งบัญชีเงินฝากในธนาคารด้วย ที่น่าสงสารก็คือ ขุนนางช้างไม่มี เพราะนอกจากจะใกล้สูญพันธ์แล้วยังถูกนำไปใช้ลากซุง ร่อนเร่ขอทาน และแสดงละครสัตว์ในมหกรรมแสงเสียงของการท่องเที่ยว แต่ขุนนางใหม่ขึ้นมาแทนคือ ขุนนางพ่อค้านั้นได้พัฒนาตัวเองจากการที่เคยอยู่ใต้ใบบุญและพึ่งพิงขุนนางเดิมที่มีอำนาจทางฝ่ายบุ๋นและบู๊ มาเป็นเจ้าพระเดช นายพระคุณแทน พวกขุนนางเหล่านี้คือกลุ่มคนที่เป็นใหญ่เป็นโตมีอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง ไม่มีชาติแต่ข้ามชาติและพร้อมที่จะขายชาติ บุคคลเหล่านี้ไม่มีอุดมการณ์ที่เป็นประชาธิปไตย แต่อาศัยกระบวนการประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองและพรรคพวกในการที่จะเข้ามาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน บุคคลเหล่านี้ทั้งกายและใจเน้นความมีตัวตนและการเป็นปัจเจกบุคคลนิยมตามลัทธิเศรษฐกิจแบบเสรีทุนนิยม ไม่มีความดีและความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณและเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง มนุษย์เป็นเพียงแต่ทรัพยากรที่ตนสามารถกำหนดและบังคับใช้ได้ บุคคลเหล่านี้คือ ผู้ที่ใช้ความรู้ทางวิทยาการและเทคโนโลยีสร้างสิ่งที่เป็นสมองกลและสิ่งเสมือนจริง [Virtual Reality] ขึ้นมอมเมาเยาวชนและคนรุ่นใหม่ให้กลายพันธุ์จนเป็นเดรัจฉานไม่เป็นมนุษย์ เพราะความเป็นมนุษย์อยู่ที่การเป็นสัตว์โลกที่เป็นสัตว์สังคมหรือสัตว์หมู่ที่อยู่ร่วมกันได้ ด้วยความเชื่อทางศาสนาและจริยธรรมที่นำไปสู่การเป็นคนมีศีลธรรมของสังคม ด้วยประการที่กล่าวมานี้ ก็จะทำให้เห็นว่าสังคมไทยวันนี้กำลังอยู่ภายใต้อิทธิพลและการครอบงำของระบบเศรษฐกิจข้ามชาติ ทุนนิยมเสรีที่นับเนื่องเป็นโครงสร้างของเดรัจฉานโดยแท้ กำลังอยู่ในสภาพที่ตกผลึกจนยากที่จะแก้ไขได้ คนรากหญ้ากลายเป็นคนกินหญ้า คนชั้นกลางที่พอมีสติปัญญาก็กลายเป็นคนมักได้และสายตาสั้น เพราะฉะนั้น การโหยหาของปัญญาชนที่รักประชาธิปไตยเป็นอุดมการณ์ในเรื่องการแก้แต่เพียงรัฐธรรมนูญอย่างเดียวนั้นไม่น่าจะทำอะไรได้ เพราะอมนุษย์เหล่านี้รู้จักที่จะจ้างบรรดามือปืนทางกฎหมายมาแก้ต่างแก้ไขได้ไม่ยาก ปัญหาพื้นฐานที่เป็นอันตรายของชาติบ้านเมืองในทุกวันนี้ก็คือ การแบ่งทรัพยากรของผู้คนในแผ่นดินที่ทำให้ภาคใต้เลือดท่วม และภาคเหนือน้ำท่วมอย่างที่เห็นกันอยู่ รวมทั้งภูมิภาคอื่น ๆ ด้วยที่กำลังจะตามมาด้วยความรุนแรงอีกหลายอย่าง แต่ท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงและมืดมน ก็ยังมีแสงสว่างอยู่บ้างที่อาจเตือนสติและนำทางให้แก่ปัญญาชนทั่วไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงเป็นที่พึ่งของคนทั้งชาติในที่สุด คงไม่จำเป็นต้องพูดถึงพระราชกรณียกิจที่ทรงทำและทะนุบำรุงการเกษตรอันเป็นเศรษฐกิจพื้นฐานของแผ่นดิน โดยการเสด็จออกไปเยี่ยมเยียนราษฎร ทรงสอนและสนับสนุนให้ประชาชนมีที่ดินและแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก รวมทั้งการนำเอาอุตสาหกรรมที่เหมาะสมเข้ามาเชื่อมโยง จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ทรงชี้หนทางการอยู่รอดด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่สามารถต้านทานหรือต่อรองกับเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแบบเสรีทุนนิยมได้ ความสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นอยู่ที่ต้องเป็นคนพอเพียงทั้งกายและใจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นบุคคลที่พอเพียง เหตุที่เศรษฐกิจพอเพียงเคลื่อนไปได้ช้าก็เพราะคนเป็นจำนวนมากในสังคมไม่เป็นคนพอเพียงนั่นเอง โดยเฉพาะบรรดาขุนนางพ่อค้าที่เป็นใหญ่เป็นโตในสังคม เลยทำให้ต้องคิดถึง ท่านพุทธทาส ที่ได้ให้ ความหมายของคำว่าพอเพียงว่าเป็นสิ่งที่ไม่เกินและไม่ขาด สังคมไทยควรเป็นธรรมิกสังคมนิยม คือเอาการเป็นอยู่รวมกันอย่างพอเพียงไม่เกินไม่ขาดเป็นอุดมการณ์ แต่การจะบรรลุถึงได้นั้นต้องมีธรรมะ ท่านพุทธทาสสิ้นไปนานแล้วแต่สิ่งที่ท่านเทศน์ ท่านสอนหาสิ้นไปไม่ โดยเฉพาะการแสดงธรรมว่า ถ้าไม่มีธรรมะ การเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยก็เป็นการเลือกตั้งที่โกง ผู้แทนที่เลือกมาก็โกง รัฐสภาที่เกิดขึ้นก็โกง และในที่สุดก็ได้รัฐบาลโกง และสำหรับคนที่บูชาประชาธิปไตยจนตกขอบ ท่านก็เตือนสติไว้ว่า เสียงประชาชนไม่ใช่เสียงสวรรค์เสมอไป อาจเป็นเสียงนรกก็ได้ ถ้าหากไร้ศีลธรรม และการเมืองที่ดีก็คือ การมีศีลธรรมนั่นเอง รวมทั้งคนที่ยึดมั่นในศาสนาและพิธีกรรมตามรูปแบบ ก็ต้องเข้าใจว่าการเข้าถึงธรรมะที่แท้จริงนั้นก็คือการเห็นพระพุทธเจ้า คงไม่ใช่แต่เพียงการกราบไหว้บูชาพระพุทธรูป สร้างพระพุทธรูปใหญ่น้อยเป็นสำคัญ เพราะพระจักรพรรดิราชและพระยามารก็มีรูปลักษณะได้เช่นเดียวกับพระพุทธองค์ ถ้ามีสติและทบทวนให้ดีสังคมไทยอาจรังสรรค์ธรรมิกสังคมนิยมตามแนวคิดของท่านพุทธทาสโดยไม่ยาก เพราะยังมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงทัดดินต่างปิ่นเกล้า เป็นพระธรรมิกราชอยู่ แต่การเข้าถึงพระองค์นั้นคงไม่ใช่อยู่ที่การทำอะไรใหญ่โตอย่างสิ้นเปลืองจนเกินความพอเพียง การเป็นบุคคลที่มีความพอเพียงทั้งกายและใจต่างหากที่จะนำไปสู่การแก้ไขในสิ่งที่ไม่มีดุลยภาพของสังคมและบ้านเมืองในขณะนี้ได้ อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
- ไทย : สังคมบ้านแตกหรือสติแตก
เผยแพร่ครั้งแรก 1 ก.ย. 2549 สิ่งที่น่าสังเกตในปัจจุบันก็คือ สังคมไทยทุกวันนี้มีลักษณะโดดเดี่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านเพราะมองอะไรต่ออะไรแบบกรอบเดียวอย่างไม่มีการทบทวนและเปรียบเทียบ ดังเช่นการมองเหตุการณ์และสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยในขณะนี้ว่าเป็น วิกฤตทางประชาธิปไตย อันเนื่องจากการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลที่แล้วมา รวมไปถึงการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลที่อ้างสิทธิความเป็นประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งโดยฝ่ายทหาร ถึงแม้ว่าขณะนี้ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นเพื่อดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเตรียมการจัดการให้มีการจัดการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดรัฐบาลที่มีคุณสมบัติเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยตามอุดมการณ์หรือจินตนาการแบบสากล (ตะวันตก) ก็ตาม ก็ยังมีอาการของการต่อต้านและขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา จึงกลายเป็นอุปสรรคหลาย ๆ ประการที่นำไปสู่การจัดการตามขั้นตอนเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ราบรื่นนัก จึงสมควรที่ผู้มีสติปัญญาทั้งหลายได้มีการทบทวนอะไรต่ออะไรกันบ้าง โดยหันกลับไปมองเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในการล้มล้างรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งเป็นชุดที่เรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ในการจัดการบริหารประเทศกลับไม่เป็นประชาธิปไตยในอุดมคติที่ใคร ๆ ต้องการ ทำนองตรงข้าม กลับมีพฤติกรรมที่รวบอำนาจและคอรัปชั่นฉ้อราษฎร์บังหลวงและมอมเมาประชาชนที่ด้อยโอกาสเพื่อประโยชน์ของตนเองกับพรรคพวกจนเป็นเหตุให้เกิดการเคลื่อนไหวของบรรดาปัญญาชนขึ้นมาต่อต้าน ซึ่งก็มีลักษณะยืดเยื้อ อันอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงที่ควบคุมไม่ได้เพราะรัฐบาลที่แล้วกุมอำนาจเบ็ดเสร็จไว้หมด ในที่สุดก็ยุติลงด้วยการที่ฝ่ายทหารเข้ามาปฏิวัติล้มอำนาจรัฐบาลเดิมสำเร็จและจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้น แต่ก็ดูยังเป็นที่ไม่พอใจของบรรดาปัญญาชนที่มองประชาธิปไตยเป็นอุดมคติและอุดมการณ์อยู่นั่นเอง จึงมีการเคลื่อนไหวออกมาวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นานาว่าเป็นการกระทำที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยทั้งที่การเคลื่อนไหวแบบประชาธิปไตยก็ไม่อาจจัดการกับรัฐบาลที่ชั่วร้ายนั้นได้ ถึงกับหลายคนยังหันไปพึ่งการเรียกร้องในเรื่องนายกพระราชทานซึ่งก็ไม่เป็นประชาธิปไตยอีกเช่นกัน ข้าพเจ้าคิดว่าเหตุหนึ่งที่บรรดาปัญญาชนไม่พอใจก็เพราะไปเปรียบเทียบกับการปฏิวัติของทหารสมัย รสช. ที่ก็น่าคิด แต่ก็ควรให้เวลากับการปฏิวัติของทหารครั้งนี้ โดยเอาประชาธิปไตยในอุดมคติมาไว้ข้าง ๆ ก่อนแล้วมุ่งพิจารณาในเรื่องสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้รัฐบาลประชาธิปไตยซึ่งมาจากการเลือกตั้งชุดที่แล้วล้มเหลวและชั่วร้าย ความชั่วที่ไม่อาจอภัยได้คือการคอรัปชั่นฉ้อราษฎร์บังหลวง ทั้งเป็นเหตุแท้จริงที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน ในส่วนของข้าพเจ้าเองใคร่สนับสนุนฝ่ายทหารให้ทำการจัดการกับคอรัปชั่นอย่างถึงที่สุด โดยทหารต้องทำหน้าที่ในลักษณะของผู้เฝ้าระวังให้กับประชาธิปไตยในอุดมคติ [Watchdog of Democracy] ถ้าหากมีรัฐบาลไหนโกงอีกก็ปราบอีก ปราบแล้วก็กลับเข้ากรมกองไป ทำจนบรรดานักการเมืองที่ชั่วร้ายเข็ดหลาบไม่กล้าโกงกินอีกก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้นักการเมืองที่ดีเกิดขึ้นและมีโอกาสเข้ามารังสรรค์สิ่งที่เป็นประชาธิปไตยในอุดมคติได้ ข้าพเจ้าคิดว่าในเวลานี้ควรให้เวลากับ คมช. และรัฐบาลชั่วคราว แต่ขณะเดียวกันควรหันมาให้ความสนใจต่อปัญหาที่เลวร้ายลึกไปกว่าเรื่องคอรัปชั่นฉ้อราษฎร์บังหลวง นั่นคือ การขาดสิ่งที่เป็นคุณธรรมในสังคม อันได้แก่จริยธรรม ศีลธรรมและความเป็นมนุษย์ที่กำลังเพี้ยนไปกว่าแต่เดิมมากมาย เนื่องมาจากสังคมไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔-๕ ลงมาจนถึงปัจจุบัน ได้หักเหวิธีคิดในอารยธรรมตะวันออกที่มีมาแต่โบราณกาลมาตามแบบอย่างอารยธรรมตะวันตกแทน มาถึงทุกวันนี้ คนรุ่นกลางและรุ่นเด็กต่างก็มองอะไรและคิดอะไรเป็นแบบตะวันตกหมด อาจจะพูดอย่างเต็มปากได้ว่าสังคมไทยแม้จะไม่เป็นอาณานิคมทางการเมืองของมหาอำนาจทางตะวันตกอย่างประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายก็ตาม แต่ก็เป็นอาณานิคมทางปัญญาอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง ซึ่งผิดกับบรรดาประเทศเพื่อนบ้านอย่างมากที่ปัญญาชนของเขาล้วนแต่เป็นอิสระทางความคิดและปัญญาจากการครอบงำของตะวันตกแล้ว ความแตกต่างกันดังกล่าวนี้ เห็นได้จากการแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการและปัญญาชนในสังคมไทยเมื่อเปรียบเทียบกับคนในสังคมเพื่อนบ้าน ผู้ที่เป็นปัญญาชนของไทยส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการที่มีดีกรีจากการศึกษาในมหาวิทยาลัยมักมีกรอบและแนวคิดทฤษฎีที่เล่าเรียนมาเป็นตัวนำในความคิด ในขณะที่ปัญญาชนของสังคมเพื่อนบ้านมักไม่ผูกติดกับการเป็นนักวิชาการที่มีกรอบและทฤษฎี หากเป็นพวกมากด้วยประสบการณ์มักเอาสิ่งที่ได้เห็นได้สัมผัสและเข้าใจมาเป็นตัวนำก่อนการกำหนดกรอบและแนวคิดทฤษฎีเพื่อนำมาช่วยให้เกิดความเข้าใจอย่างลุ่มลึก ความถนัดและเข้าใจในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการดำเนินการใด ๆ ได้อย่างเป็นองค์รวมและรูปธรรม ที่บอกว่าเป็นรูปธรรมก็เพราะสามารถเสนอภาพของความเป็นจริงที่สื่อให้กับคนอื่น ๆ ทั่วไปได้ ซึ่งตรงข้ามกับบรรดานักวิชาการและผู้รู้ในสังคมไทย มักเสนอหรือแสดงอะไรในลักษณะที่เป็นเสี่ยง ๆ ตามความถนัดของตน จนเกิดความขัดแย้งกันเองเพราะแนวคิดทฤษฎีและกรอบแตกต่างกัน ทำให้เชื่อมโยงเป็นองค์รวมอย่างเป็นรูปธรรมไม่ได้ และในที่สุดก็สื่อกับคนทั่วไปไม่ได้นอกจากพวกเดียวกัน ถ้าจะให้ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมาแสดงในขณะนี้ก็คือ ระหว่างสังคมไทยและสังคมเวียดนามที่อยู่ในประเทศและดินแดนเอเชียอาคเนย์ที่มีความใหญ่โตของพื้นที่และจำนวนประชากรที่เสมอกัน อีกทั้งมีพัฒนาการเป็นรัฐใหม่หรืออาณาจักรเสมอกันมาแต่โบราณ หลังสงครามโลกครั้งที่สองอันเป็นช่วงเวลาของสงครามเย็น การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองทำให้เวียดนามเป็นสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ ในขณะที่สังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เลยทำให้เวียดนามกับไทยกลายเป็นปรปักษ์กันในด้านความคิดและอุดมการณ์ อย่างเช่นทางไทยมองว่าการเป็นคอมมิวนิสต์นั้นโหดร้ายทารุณและฆ่าผู้คนเสียนับมิถ้วน ทำลายสถาบันกษัตริย์ ศาสนา ศีลธรรม และประเพณีที่ดีงามของอารยธรรมตะวันออก ในขณะที่ทางเวียดนามเองก็เห็นว่าไทยเป็นขี้ข้าอเมริกันและมีลัทธินายทุนที่เอารัดเอาเปรียบผู้คนในสังคม การส่งกองทัพของอเมริกันเข้ามาทำสงครามที่เวียดนามและเขมร ไทยก็ช่วยเหลือฝ่ายอเมริกันอย่างออกหน้าทั้งให้พื้นที่ในประเทศเป็นฐานทัพและส่งกองกำลังเข้าร่วมสงครามครั้งนั้น ได้ทำให้ทั้งเวียดนามและเขมรกลายเป็นสังคมเมืองแตก [War torn Countries] ที่ผู้คนพลเมืองต้องตายในสงครามหลายล้านคน ทำให้ยากต่อการฟื้นฟูบ้านเมืองและผู้คนให้คืนดีและเป็นสุขได้ด้วยเวลาอันสั้น แต่ภายหลัง ๒๐ ปีที่ผ่านมาจนทุกวันนี้เวียดนามฟื้นตัวเองจากสังคมบ้านแตกได้อย่างมหัศจรรย์ จนมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมล้ำหน้าไปกว่าสังคมไทยที่ไม่เคยมีสภาพบ้านแตกเสียด้วยซ้ำ ลุงโฮ โฮจิมินห์ แบบอย่าของผู้นำทางวัฒนธรรมที่น่าเคารพ สังคมเวียดนามปัจจุบันเป็นสังคมที่ไม่อาจพูดได้ว่าเป็นสังคมเผด็จการคอมมิวนิสต์ที่โหดร้ายทารุณฆ่าฟันประชาชน ทำลายศาสนาและศีลธรรมอีกทั้งเป็นสาวกของประเทศมหาอำนาจคอมมิวนิสต์ใหญ่ ๆ อย่างรัสเซียและจีนอีกต่อไปได้แล้ว หากเป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์แบบรักชาติรักแผ่นดิน [Patriotism] ที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลก บุคคลที่เป็นคอมมิวนิสต์มีเพียงหยิบมือเดียวในประเทศและเป็นบุคคลที่สังคมยอมรับและยกย่องว่าเป็นบุคคลที่มีอุดมคติไม่บ้าอำนาจและโกงกิน ไม่มีสมบัติพัสถานใดและการมีผลประโยชน์แบบแฝงกับธุรกิจใด ๆ อันเป็นที่ติฉินนินทาจากประชาราษฎร์ได้ ในขณะที่ผู้คนในประเทศทุกกลุ่มเหล่าต่างได้อิสระในการดำรงชีวิตในกรอบประเพณีและกฎเกณฑ์ที่ทำให้บ้านเมืองอยู่ในลักษณะที่สงบสุขเป็นสำคัญ ภาพพจน์ที่แลเห็นในทุกวันนี้เวียดนามไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์แบบตกขอบและบ้าวัตถุแบบตะวันตกแม้กระทั่งแบบจีนในปัจจุบัน หากเป็นประเทศสังคมนิยมที่เป็นแบบตะวันออกที่ยังคงรักษาศาสนา ศีลธรรม และความเป็นมนุษย์ได้อย่างดี สังคมเวียดนามทุกวันนี้เป็นสังคมสมานฉันท์ที่มีการปรองดองและเอื้ออาทรระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ ที่เคยขัดแย้งแตกแยกและหนีภัยออกนอกประเทศ คนที่เคยออกไปกลับมาช่วยฟื้นฟูประเทศให้ก้าวหน้าด้วยความรู้แบบใหม่ที่เห็นว่าเหมาะสมกับผู้คนและสังคม สังคมเวียดนามคือสังคมที่มีความเสมอภาพและมีความเป็นปึกแผ่นทางสังคมนับแต่ท้องถิ่นจนถึงส่วนกลาง คนหลายชาติพันธุ์หลายหมู่เหล่าอยู่กันอย่างเท่าเทียมในนามของคนเวียด เวียดนามมีผู้นำที่ดีที่ควรเป็นแบบอย่างของผู้นำทางวัฒนธรรมที่ควรเคารพ คือ ลุงโฮ (โฮจิมินห์) ที่ไม่บ้ายศตำแหน่งเงินทองและความมั่งคั่งดังเช่นคนในสังคมไทย ความสำเร็จของบักโฮหรือลุงโฮในการสร้างเวียดนามปัจจุบันก็คือการขจัดความขัดแย้งภายใน รวมเวียดนามเหนือและใต้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยกระบวนการสมานฉันท์ภายหลังการขับไล่อริศัตรูอเมริกันและสาวกที่คุกคามสำเร็จ ในทำนองตรงข้าม สังคมไทยเมืองไทยไม่เคยมีศัตรูจากภายนอกมารุกล้ำและไม่เป็นสังคมบ้านแตกแบบเวียดนาม หากเป็นสังคมสติแตกที่กำลังเกิดความขัดแย้งกันในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และอุดมการณ์อย่างสุด ๆ ที่กำลังมีผลนำไปสู่ความรุนแรงและฆ่าฟันกันเองในที่สุด อันเนื่องมาจากการศึกษาอบรมของคนในชาติและการบริหารจัดการของรัฐที่ลอกเลียนแบบตะวันตกจนโงหัวไม่ขึ้น ความขัดแย้งที่โดดเด่นในปัจจุบันก็คือความบ้าประชาธิปไตยแบบตะวันตกแบบอเมริกันนั่นเอง ทำไมไม่คิดบ้างว่าความเป็นประชาธิปไตยหรือความเสมอภาคนั้นก็เป็นสิ่งสากลที่มีในอารยธรรมตะวันออกมาช้านาน โดยเฉพาะประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเป็นประชาธิปไตยที่ถูกจริตกับวัฒนธรรมของผู้คนในสังคม แต่หามีผู้ใดสนใจและนำมาขบคิดพิจารณากันบ้าง ถึงแม้ว่าจะมีอะไรดีในทางตะวันตกแต่ก็ควรนำมาทบทวนผสมผสานกับสิ่งที่ดีและมีมาในสังคมที่แล้วมาบ้าง ประชาธิปไตยในพระพุทธศาสนาเป็นประชาธิปไตยที่ให้ความเสมอภาคความเอื้ออาทรที่ตั้งอยู่บนฐานของสัจธรรมทางพระศาสนาและศีลธรรม แต่ประชาธิปไตยแบบตะวันตกมีแต่พูดถึงเศรษฐกิจการเมือง ความเป็นปัจเจกบุคคลอันเป็นคุณสมบัติของเดรัจฉานผิดมนุษย์ และอ้างความยุติธรรมที่มาจากตัวบทกฎหมาย ขาดทั้งความเข้าใจวัฒนธรรมกับสังคม และขาดทั้งพื้นฐานทางศาสนาและศีลธรรม ดังเห็นได้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลแต่ละชุดแต่ละฉบับ จนทำให้ศาสนาและศีลธรรมขาดไปจากสำนึกของผู้คนที่เป็นประชาชนรุ่นกลางและรุ่นเด็กในทุกวันนี้ ทำนองตรงข้าม กลับรับเอาความเชื่อที่เป็นไสยศาสตร์และคุณไสยเข้ามาแทนที่เพื่อความมั่นคงทางจิตใจของบรรดาเดรัจฉานที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่อำนาจและเงิน ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่มักพร่ำแต่คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ตามรับสั่งของในหลวง แต่ไม่เคยถอดรหัสได้เลยว่าคืออะไร และจะทำอย่างไร ถ้าหากยังบ้าตะวันตกอยู่ก็คงไม่มีทาง ผู้มีสติควรไปเรียนรู้จากเวียดนามและประเทศเพื่อบ้านบ้างก็คงจะดี อ่านเพิมเติมได้ที่:
- พระพุทธบาทที่บัวเชดและช่องบาระแนะ
เผยแพร่ครั้งแรก 1 ก.ย. 2550 ในรอบปีที่ผ่านพ้นมาได้พบหลักฐานและข้อมูลใหม่เกี่ยวกับพุทธศาสนาเถรวาทในท้องถิ่นอีสานใต้เพิ่มขึ้น นั่นคือ พระพุทธบาทที่เขาศาลา อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ และพระพุทธบาทคู่ที่ช่องบาระแนะ อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งสองแห่งอยู่ในบริเวณเทือกเขาพนมดงเร็ก นับเป็นการพบใหม่สำหรับข้าพเจ้า จากการบอกเล่าและนำทางของคนท้องถิ่น พระพุทธบาททั้งสองแห่งหาได้สร้างขึ้นไว้ในมณฑปหรืออูปมุงอย่างเช่นพบตามวัดที่มีมาแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยาอย่างที่ได้รับรู้และคุ้นเคยไม่ หากพบอยู่บนโขดหินและเขาธรรมชาติในบริเวณที่ห่างไกลชุมนุมชน โดยทั่วไปพฤติกรรมในการสร้างรอยพระพุทธบาทนั้นอาจมองอย่างแยกแยะได้เป็น ๒ ลักษณะ อย่างแรกคือสร้างเป็นรอยพระพุทธบาทแล้วจำหลักสัญลักษณ์ที่เป็นมงคลเกี่ยวกับจักรวาลลงบนรอย บางพระบาทก็มี ๑๐๘ สัญลักษณ์ หรือบางพระบาทก็แกะหรือจำหลักเฉพาะรูปธรรมจักรหรือดอกบัวอยู่ตรงกลางเท่านั้น แล้วนำไปประดิษฐานตามวัดหรือแทนที่สำคัญทางศาสนา ส่วนอย่างที่สองก็คือ การสลักลงบนโขดหินหรือเนินหินธรรมชาติที่ถูกกำหนดให้เป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ [Supernatural Sites] จะไม่ใคร่พบ แต่ที่คุ้น ๆ กันก็คือรอยพระพุทธบาทที่เขาพระพุทธบาทและที่เขาพระพุทธฉาย จังหวัดสระบุรี ที่มีการสร้างตำนานขึ้นมาอธิบายแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเป็นต้นมา พระพุทธบาทสองแห่งที่ทั้งบัวเชดและบาระแนะนับเนื่องในลักษณะอย่างที่สองที่กล่าวมานี้ และเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าให้ความสำคัญในที่นี้เพราะได้สะท้อนให้เห็นความคิดและความเชื่อในตำแหน่งศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติที่มีมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ข้าพเจ้าคิดว่าสังคมมนุษย์แทบทุกท้องถิ่นมีการกำหนดภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่ตนตั้งถิ่นฐานเป็น ภูมิวัฒนธรรม [Cultural Landscape] โดยการตั้งชื่อสร้างตำนานอธิบายเพื่อการใช้ร่วมกันในกิจกรรมทางความเชื่อ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ-สังคม และการเมืองการปกครอง ในด้านความเชื่อนั้นมักกำหนดด้านลักษณะธรรมชาติที่ดูโดดเด่นผิดปกติเป็นที่สะดุดตาให้เป็นบริเวณศักดิ์สิทธิ์ อันสัมพันธ์กับอำนาจเหนือธรรมชาติ อย่างเช่น ผาแต้ม ริมฝั่งแม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม ประตูผา ที่จังหวัดลำปางซึ่งมีการเขียนภาพสีมือแดงและสัญลักษณ์อื่น ๆ ลงไป บริเวณเวิ้งน้ำมีวังน้ำวนว่าเป็นที่อยู่ของจระเข้เผือกในภาคอีสาน หรือเขาลูกโดด เช่น เขาถมอรัตน์ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ เขาสามยอด ของจังหวัดลพบุรี หรือแม้แต่ เขาพระวิหาร บนเทือกพนมดงเร็กที่อยู่ต่อแดนเขมร หรือ เขาภูเก้า ที่เมืองจำปาสักของลาวที่มีแท่งหินธรรมชาติบนยอดเขาคล้ายกับศิวลึงค์ แม้แต่บนเทือกพนมดงเร็กในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ก็มีโขดหินธรรมชาติที่พวกขอมโบราณสลักเป็นแท่งศิวลึงค์แล้วสร้าง ปราสาทตาเมือนธม ครอบ ซึ่งเป็นตำแหน่งศักดิ์สิทธิ์บนช่องตาเมือนที่ผ่านและขึ้นลงจากเขมรต่ำ รอยพระพุทธบาทที่บาระแนะมีความคล้ายกับโขดหินที่ปราสาทตาเมือน เพราะอยู่บนช่องเขาแบบเดียวกัน ที่ผู้คนผ่านไปมาจะต้องแวะเข้าทำพิธีกราบไหว้เพื่อความปลอดภัยและความเป็นสวัสดิมงคลในการข้ามเขตแดนหนึ่งไปสู่อีกเขตหนึ่ง ในขณะที่รอยพระพุทธบาทที่บัวเชดอยู่ในตำแหน่งที่อาจไม่ใช่ทางผ่าน แต่เป็นเพิงหินที่มีลักษณะโดดเด่นอยู่ท่ามกลางพื้นหินโดยรอบ อีกทั้งตั้งอยู่ในระดับความสูงที่เป็นศูนย์กลางของสภาพแวดล้อมที่เป็นที่คนมาชุมนุม ประกอบพิธีกรรมร่วมกันได้เป็นจำนวนมาก ตำแหน่งที่เลือกเป็นตำแหน่งศักดิ์สิทธิ์นี้ก็ไม่ไกลไปจากเชิงเขาที่ปัจจุบัน เป็นที่ตั้งวัดเขาศาลาที่เต็มไปด้วยโขดและเพิงหินที่พระสงฆ์หรือฤาษีชีไพรมาพำนักบำเพ็ญภาวนา ดูคล้าย ๆ กันกับบริเวณ พระพุทธบาทบัวบก บนเทือกเขาภูพานในเขตอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ที่ทางราชการไปกำหนดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท บริเวณนี้มีความสำคัญมากเพราะเคยเป็นที่พระป่าของอีสาน เช่น หลวงปู่มั่น ท่านเคยธุดงค์ไปวิปัสสนา เมื่อมาถึงตรงนี้ข้าพเจ้าก็ใคร่สรุปว่า รอยพระพุทธบาทบัวเชดนั้นสร้างขึ้นบนเพิงหินศักดิ์สิทธิ์อันเป็นแหล่งประกอบประเพณีพิธีกรรมของพระภิกษุทางพุทธศาสนาที่มีสำนักอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น สำนักพระป่า ก็ได้ สำนักพระป่าและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาตินี้นับเป็นประเพณีของพระภิกษุอรัญวาสีของภาคอีสานมาแล้วแต่สมัยทวารวดี เพราะมีหลักฐานหลายแห่งมากมาย โดยเฉพาะแหล่งที่มีการสลักพระพุทธรูปนอนขนาดใหญ่ตามเขาต่าง ๆ เช่น พระนอนที่เขาภูเวียง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น พระนอนที่ภูปอและภูค่าวจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นต้น แต่ปัญหาและคำถามที่สำคัญสำหรับรอยพระพุทธบาททั้งที่บัวเชดและบาระแนะก็คือ ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยทวารวดีอย่างเช่นในที่อื่นที่กล่าวมาแล้ว อีกทั้งบริเวณเทือกเขาพนมดงเร็กนี้เป็นพื้นที่ของศาสนาฮินดูและพุทธมหายานในวัฒนธรรมขอม-กัมพูชาทั้งสิ้น ซึ่งก็ทำให้มีผู้รู้อย่างเผิน ๆ เป็นจำนวนมากมักอธิบายว่าพุทธศาสนาเถรวาทแพร่เข้ามาในอีสานใต้โดยพวกลาวล้านช้างและจำปาสัก ราวสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ ลงมา โดยอาจมีการเคลื่อนไหวในรัชกาลของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชแห่งนครเวียงจันทน์ ข้าพเจ้ายอมรับว่าคนลาวล้านช้างนิยมสร้างรอยพระพุทธบาทเหมือนกันกับทางสุโขทัยและอยุธยา เพราะติดมาจากพุทธลังกาและพุกาม อีกทั้งมีแพร่หลายมากราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ ลงมา แต่ยังแลไม่เห็นรอยพระพุทธบาทใดในอีสานและลาวที่มีอายุเก่ากว่าพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ขึ้นไป ยกตัวอย่างเช่น การสร้างรอยพระพุทธบาทบนภูพานที่บ้านผือ ไม่ว่าที่พระพุทธบาทบัวบาน พระพุทธบาทบัวบก พระพุทธบาทหลังเต่า หรือแม้แต่ที่เวินพระบาทริมแม่น้ำโขงในเขตอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ก็น่าจะเป็นของที่สร้างขึ้นแต่สมัยการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาของ พระครูหลวงโพนเสม็ก ในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ลงมา ข้าพเจ้าคิดว่าประเพณีการสร้างรอยพระพุทธบาทที่มาจากลังกานั้นมากับ ตำนานและความเชื่อในเรื่องของพระเจ้าเลียบโลก ที่สามารถอธิบายได้ถึงการสร้างรอยพระพุทธบาทตามที่ต่าง ๆ ในสุโขทัย อยุธยา ล้านนา และล้านช้าง โดยเฉพาะของล้านช้างนั้นเห็นชัดเจนในตำนานอุรังคธาตุของพระธาตุพนม แต่ความแตกต่างของรอยพระพุทธบาทนี้กับบรรดาพระพุทธบาทอื่น ๆ ไม่ว่าเป็นรุ่นลพบุรี สุโขทัยหรืออยุธยา แม้แต่ล้านช้างและเขมรก็คือ สัญลักษณ์ที่เป็นมงคล ๑๐๘ ประการ เป็นสัญลักษณ์ที่เปรียบเทียบไม่ได้กับสัญลักษณ์ที่เป็นมงคลในที่ไหน ๆ เลย ซึ่งธรรมดาแล้วมงคล ๑๐๘ ประการของพระพุทธบาทคือสิ่งที่ทำให้เห็นจักรวาลทางพุทธที่แตกต่างไปจากคติของศาสนาฮินดูในด้านภพภูมิ เพราะจะแสดงลำดับชื่อให้แลเห็นความเป็นไตรภูมิที่ประกอบด้วย กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ค่อนข้างชัดเจน รอยพระพุทธบาทของทางพุกามและสุโขทัยแลเห็นภาพสัญลักษณ์ในรูปต่าง ๆ ที่ไม่มีรูปคนและเทพเป็นตัวแทน แต่ทางลพบุรีและอยุธยามักมีรูปเทพแสดงภพภูมิต่างลำดับชั้น แต่รอยสัญลักษณ์ของพระบาทบัวเชดกลับเป็นรูปสัตว์และพันธุ์ไม้พันธุ์พืชนานาชนิดที่อยู่ในตำแหน่งที่สับสน กำหนดลำดับชั้นของภพภูมิไม่ได้เลย โดยเฉพาะสัตว์นั้นมีนับแต่สัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์เลื้อยคลาน ทาก กิ้งกือ ตะขาบ แมงป่อง หอย ปู ปลา และสัตว์อากาศ เช่น นก แมลง ดูแล้วเหมือนยกบรรดาสัตว์และพืชพันธุ์ทั้งหลายในป่ามาแสดงไว้ ฉะนั้น นับเป็นระบบสัญลักษณ์เฉพาะตัวที่สื่อกันเฉพาะคนในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันในท้องถิ่นหนึ่ง ๆ เท่านั้น บุคคลที่เป็นคนนอกคงไม่สามารถถอดรหัสความหมายได้ ซึ่งในที่นี้ทำให้ข้าพเจ้าต้องคิดเลยเถิดไปถึงความเป็นภาษาของสัญลักษณ์ในแต่ละช่องที่ทำให้ภาพมงคล ๑๐๘ ประการของพระพุทธบาทแห่งนี้เป็นภาษาในจารึกที่ผู้คนในท้องถิ่นใช้สื่อกันเอง ดังนั้น ถ้านำมาติดต่อเป็นบันทึกก็คงได้ความหมายที่ต้องการจะสื่อก็ได้ ข้าพเจ้าเชื่อว่ารอยพระพุทธบาทนี้ แม้ว่าจะมีกรอบโดยรอบเป็นบัวคว่ำบัวหงายตามประเพณีทางอารยธรรมอินเดียก็ตามที่เป็นพุทธหรือฮินดูก็ตาม แต่ลายสัญลักษณ์ที่เป็นสัตว์ พืช แมลง และอื่น ๆ นั้นสะท้อนให้เห็นถึงระบบความเชื่อแบบดังเดิมที่ใช้สัตว์ ต้นไม้ และสิ่งในธรรมชาติอื่นๆ เป็นสัญลักษณ์ในเรื่องความเชื่อ อีกทั้งล้วนเป็นรูปสัญลักษณ์ของคนอยู่ป่ามากกว่าอยู่ในเมือง เมื่อมาถึงตรงนี้แล้วก็ต้องมาหยุดอยู่ที่คำถามที่ว่า แล้วคนที่มาทำพิธีกรรมกราบไหว้รอยพระพุทธบาทนี้คือใคร คนเมืองหรือคนเผ่า ก็คงไม่ใช่คนเผ่าไท เผ่าลาว และเผ่าเขมร แล้วเป็นใคร ถ้าจะเดาคนเผ่าเหล่านี้ก็น่าจะเป็นคนในเผ่าพันธุ์มอญ-เขมร ที่ทางลาวเรียก ข่า ทางเหนือเรียก ลัวะ อะไรทำนองนั้น แต่ในเขตอีสานใต้นี้กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้องคงน่าจะเป็นพวกกูย พวกเยอ ที่น่าจะเคลื่อนย้ายเข้ามาแต่โบราณแล้ว แต่คนเหล่านี้ไม่ได้เลี้ยงช้างจึงไม่เรียกว่าส่วย หากมีอาชีพทำการเพาะปลูกและเก็บของป่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีงานวิจัยท้องถิ่นที่ผ่านตาข้าพเจ้ามาว่า กูยพวกหนึ่งที่มีอาชีพทำการเพาะปลูกนั้นเวลาทอผ้าได้ทำลายผ้าให้มีลายตะขาบรวมอยู่ในบรรดาลายต่าง ๆ ทั้งหลาย หรือคนกูยที่ไม่ใช่เลี้ยงช้างที่บ้านตรึมในเขตจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ มีการบูชาตะกวดเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ บางทีบรรดาสัตว์ ต้นไม้ และแมลงที่ปรากฏอยู่ในรอยพระพุทธบาทก็น่าจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ที่สืบเนื่องมาแต่ความเชื่อดั้งเดิมก็ได้ ยังมีอีกแนวทางหนึ่งในการทำความเข้าใจกับรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ก็คือ น่าจะเป็นอาการแรกเริ่มของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หันมานับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องของหลักธรรมคำสอนทางปรัชญาหากเน้นในด้านพิธีกรรมเป็นสำคัญ โดยใช้สัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สมบูรณ์ในตัวเอง ดังเช่นในงานวิจัยเรื่องคนกะเหรี่ยงในเขตจังหวัดราชบุรีของอาจารย์สุรินทร์ เหลือลมัย ระบุว่า คนกะเหรี่ยงเปลี่ยนเสาหลักบ้านให้เป็นเสาหงส์เมื่อเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา เลยทำให้เสาหงส์กลายเป็นสัญลักษณ์ของวัดไป ชาวกะเหรี่ยงเรียนรู้พุทธศาสนาผ่านพระธุดงค์ที่เข้าไปช่วยรักษาคนด้วยน้ำมันที่เป็นพุทธมนต์ ก็เลยเอาน้ำมันนั้นไปกราบไหว้บูชาเรียกว่า หลวงพ่อน้ำมัน โขดหินอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทแห่งนี้น่าจะเคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนในท้องถิ่นนี้มาก่อน และใช้ในการเดินทางเข้ามาประกอบพิธีกรรมตามฤดูกาลเพื่อความอุดมสมบูรณ์ นับเป็นที่ชุมนุมของคนหลายกลุ่มเหล่าทั้งใกล้และไกล ต่อเมื่อรับนับถือพระพุทธศาสนาก็เปลี่ยนให้เป็นรอยพระพุทธบาทโดยอาศัยกรอบบัวคว่ำบัวหงาย การกำหนดดอกบัวให้เป็นสัญลักษณ์จักรวาลและกรอบแสดงสัญลักษณ์มงคล ๑๐๘ ประการเป็นตัวบ่งชี้ เมื่อมากราบไหว้ประกอบพิธีกรรมกันตามฤดูกาลก็มีการนำเอากิ่งไม้หรือต้นไม้ขนาดเล็กมาค้ำไว้โดยรอบโขดหิน เพื่อแสดงการค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนและเพื่อต่ออายุของตนเองเช่นเดียวกันกับคนเหนือเอาไม้ไปค้ำต้นโพธิ์ต้นไม้ใหญ่ในวัด ปัจจุบันร่องรอยของซากกิ่งไม้ ลำต้นที่แห้ง ๆ จึงถูกนำมาค้ำรอยพระพุทธบาทที่เป็นเพิงหินไว้ อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
- ม็อบมัฆวานฯกับการสู้อย่างอหิงสา
เผยแพร่ครั้งแรก 1 ก.ย. 2551 ข้าพเจ้าไม่ชอบคำว่า “ม็อบ” เช่นเรียกการเคลื่อนไหวเรียกร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่าเป็นม็อบ แต่ก็ต้องใช้ในที่นี้เพื่อการสื่อให้เข้ากับความเข้าใจของคนทั่วไปในสังคม เหตุที่ไม่ชอบใช้คำว่า “ม็อบ” นี้ก็เพราะเป็นการมองปรากฏการณ์ในลักษณะที่เป็นรูปแบบอย่างผิวเผินจากภายนอก อีกทั้งมักได้รับการชี้แนะจากสิ่งที่เป็นแนวคิดทฤษฎีที่มาจากพวกนักวิชาการ การเคลื่อนไหวเรียกร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เรียกว่า ม็อบพันธมิตร ในขณะนี้ เป็นขบวนการสืบเนื่องมาจากม็อบมัฆวานฯ ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร นั้น แท้จริงหาใช่ม็อบ [Mop] ไม่ เพราะไม่ได้เป็นเพียงการที่ผู้คนมารวมกลุ่มกันแบบเฮโลเป็นพัก ๆ แล้วหยุดไปโดยไม่รู้จักมักคุ้นกัน แต่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ยาวนานและต่อเนื่อง โดยย่อก็คือไม่มีความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างที่ยืนนานนั่นเอง ม็อบพันธมิตรคือการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกิดการเห็นพ้องและรวมตัวของผู้คนในสังคมต่างกลุ่มและต่างชนชั้นที่มีความเห็นทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่แตกต่างไปจากรัฐบาลและคนส่วนใหญ่ในสังคม ในรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เรียกการบริหารการจัดการทางเศรษฐกิจ การเมืองของรัฐบาลว่าเป็นระบอบทักษิณ ซึ่งเป็นเผด็จการทางรัฐสภาที่ปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับรากหญ้า แต่เปิดโอกาสให้เศรษฐกิจแบบทุนนิยมสามาลย์เข้าครอบงำทรัพยากรและสภาพแวดล้อมธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยนโยบายประชานิยม จนสังคมท้องถิ่นล่มสลายตั้งแต่ครอบครัวและชุมชน การเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นจากการแสดงความคิดเห็นต่อต้านและวิจารณ์รัฐบาลโดยผ่านสื่อมวลชน และการเรียกร้องชุมชนกันตามที่ต่าง ๆ และในที่สุดก็เกิดการรวมตัวกันขึ้นเพื่อขับไล่รัฐบาลในนามของม็อบมัฆวานฯ เพราะได้อาศัยพื้นที่ส่วนใหญ่ใน ถนนราชดำเนินนอก บริเวณสะพานมัฆวานฯรังสรรค์ซึ่งเป็นต้นทางไปสู่ศูนย์กลางแห่งอำนาจสองแห่ง คือ ทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา เป็นพื้นที่ในการต่อสู้และต่อรอง การเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองนี้มีลักษณะที่เรียกว่า อหิงสา คือไม่ใช้ความรุนแรงด้วยกำลัง นับเป็นวิถีทางที่เป็นสันติวิธี จึงเป็นเหตุเกิดมีผู้นำหรือแกนนำของคนหลายกลุ่มที่มีความคิดเห็นเหมือนกันมารวมตัวกันในลักษณะที่เป็นแนวร่วม บุคคลที่เป็นแกนนำเหล่านี้แม้ว่าจะมีความคิดในเรื่องต้านระบอบทักษิณร่วมกันก็ตาม แต่ก็แตกต่างกันในความคิดเห็นส่วนตัว เพราะมีพื้นฐานความเป็นมาที่แตกต่างกัน บางคนก็เป็นนักหนังสือพิมพ์และเป็นนายทุน บางคนเป็นทหาร บางคนเป็น NGO เป็นต้น ทำให้การรวมตัวและการเรียกร้องของคนเหล่านี้เป็นไปแบบไม่มีใครเป็นผู้นำโดยเด็ดขาด มักมีการปรึกษาหาหรือถกเถียงกันจนมีเอกภาพจึงได้ดำเนินการ จากประสบการณ์ของแต่ละคนแต่ละกลุ่มที่เคยมีมาแต่สมัยความรุนแรงไม่ว่า ๑๔ ตุลา ๑๖ หรือ ๖ ตุลา ๑๙ หรือพฤษภาทมิฬ ได้ทำให้เกิดกระบวนการเรียกร้องและต่อสู้เป็นไปในลักษณะสันติวิธีที่เรียกว่า อหิงสา จึงเป็นเหตุให้บรรดาคนที่เป็นปัญญาชนไม่ว่านักวิชาการ พ่อค้า คหบดี ข้าราชการที่เป็นชนชั้นกลางและคนชั้นล่างที่เป็นกรรมกรและชาวบ้านเข้ามาร่วมด้วยเป็นกลุ่มพลังขนาดใหญ่ที่มีตัวแทนแของคนทุกภาคและแทบทุกจังหวัดมาร่วมด้วยในพื้นที่ของถนนราชดำเนิน จากสนามหลวงไปจนถึงรัฐสภา ถนนราชดำเนิน คือถนนที่เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการปกครองมาแทบทุกยุคทุกสมัย ที่เชื่อมต่อระหว่างพระบรมมหาราชวังถึงรัฐสภาอันเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์อำนาจ [Seat of power] จากสมัย สมบูรณาญาสิทธิราช ถึงสมัยการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประกอบด้วยพื้นที่สำคัญในการรวมตัวกัน ๓ แห่ง คือบริเวณท้องสนามหลวง หน้าพระบรมมหาราชวังในถนนราชดำเนินใน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในถนนราชดำเนินกลาง และลานพระบรมรูปทรงม้า หน้ารัฐสภาในบริเวณปลายถนนราชดำเนินนอก การชุมนุมกันของกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐบาลทักษิณสมัยนั้นเริ่มแต่บริเวณข้างสนามหลวงไปหยุดอยู่ที่สะพานมัฆวานฯ อันเป็นพื้นที่ต้นทางที่จะไปยังรัฐสภาและทำเนียบรัฐบาลอันเป็นตำแหน่งแห่งอำนาจของรัฐแต่ละครั้ง การเคลื่อนไหวของผู้คนที่เรียกร้องและต่อต้านรัฐบาลจะมุ่งที่ทำเนียบเสมอมา อย่างเช่นการเรียกร้องของสมัชชาคนจนในกรณีเขื่อนปากมูล เป็นต้น ที่มีคนจนและชาวบ้านจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาเรียกร้อง แต่การชุมนุมครั้งนี้แตกต่างไปจากการชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจน เพราะแทนที่จะไปอยู่บริเวณรอบทำเนียบรัฐบาลอย่างเคย กลับใช้พื้นที่บนถนนราชดำเนินนอกอันมีสะพานมัฆวานรังสรรค์เป็นศูนย์กลาง ทางรัฐบาลและคนทั่วไปจึงเรียกว่า “ม็อบมัฆวานฯ” ม็อบมัฆวานฯ ต่างกับม็อบสมัชชาคนจนในลักษณะที่มีองค์ประกอบที่ไม่ใช่คนจนและชาวบ้านแต่เพียงอย่างเดียว หากประกอบด้วยคนเมืองคนชั้นกลาง คนที่เป็นแรงงาน นักธุรกิจ ข้าราชการบำนาญ และกลุ่มปัญญาชนกรรมกร การชุมนุมก็แตกต่างไปจากการเข้ามายึดพื้นที่ค้างแรมเรียกร้องและกีดขวางการคมนาคมของกลุ่มสมัชชาคนจนมาเป็นการใช้พื้นที่ ทั้งต่อต้านกีดขวางเรียกร้อง และเป็นพื้นที่ทางสังคมทั้งในด้านสันทนาการและเวทีการแสดงความคิดเห็น และการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจร่วมกัน แต่ที่สำคัญคนส่วนใหญ่ไม่ปักหลักอยู่ในพื้นที่ตลอดเวลา หากมีกาลเทศะ คือตอนเช้า-สายและบ่ายแดดร้อนและไม่สะดวก คนส่วนใหญ่ก็กลับบ้านหรือไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ต่อตอนเย็นและค่ำจึงมาชุมนุมกันจนกระทั่งเที่ยงคืนหรือกว่านั้นเล็กน้อย โดยเฉพาะผู้ชุมนุมที่เป็นคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ก็มักจะพาลูกหลาน พ่อแม่ และตายายมาร่วมชุมนุมด้วย เกิดกลุ่มย่อยๆ มากมาย ตั้งวงสนทนาแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกันในกิจกรรมทางการเมือง โดยฟังการบรรยายและการปราศรัยของพวกแกนนำ และแขกรับเชิญบนเวที หรือในจอโทรทัศน์บ้างเป็นครั้งเป็นคราว ในขณะที่เด็ก ๆ ก็มีของกิน ฟังดนตรี หรือฝึกการเขียนรูปหน้าตานักการเมือง จนหลาย ๆ คนเขียนรูป ไอ้หน้าเหลี่ยม เป็นกันเกือบทุกคน พวกที่มีบทบาทดังกล่าวนี้ ก็คือบรรดาศิลปินที่ช่วยสร้างการบันดาลใจอะไรต่ออะไรในทางความเป็นมนุษย์ให้กับเยาวชน ในขณะเดียวกันบรรดานักศึกษาจากสถาบันการศึกษาที่มีมากมายหลายคณะหลายมหาวิทยาลัย ก็เข้ามามีส่วนร่วมและได้รับการเรียนรู้การเมือง การปกครองด้วยประสบการณ์นอกห้องเรียน นอกทฤษฎีของพวกครูบาอาจารย์ที่ชอบลอกเลียนฝรั่งมา การชุมนุมของม็อบมัฆวานฯ นี้ ย่อมไม่ใช่ม็อบ หากเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีการเติบโตและขยายตัวโดยใช้การหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่เรียกว่า อหิงสา เป็นสำคัญ ในที่สุดก็ขยายพื้นที่ไปชุมนุมเรียกร้องหน้าทำเนียบรัฐบาล ทำให้ทางฝ่ายรัฐที่ถือว่าตนมีอำนาจชอบธรรมตามกฎหมาย มีความคิดที่จะจัดการปราบปรามด้วยมาตรการที่รุนแรงอันจะนำไปสู่การนองเลือด จึงเปิดโอกาสให้ฝ่ายทหารอ้างความชอบธรรมมายุติด้วยการปฏิวัติในลักษณะเดียวกันกับครั้งยุคพฤษภาทมิฬที่ทำให้เกิด รสช. การปฏิวัติครั้งนี้เรียกว่า คมช. ก็อีหรอบเดียวกันกับครั้ง รสช. เพราะแรกเริ่มคนส่วนใหญ่ก็มาให้พวงมาลัยและช่อดอกไม้ แต่ตอนท้ายกลับให้พวงหรีดแทน ความล้มเหลวทั้งสองครั้งกลับทำให้เกิดรัฐบาลที่มีนักการเมืองและนายทุนในระบอบทักษิณกลับมาครองเมืองอีกและดูเข้มแข็งขึ้นอย่างเดิม แต่ก็กำลังถูกต่อต้านจากขบวนการเคลื่อนไหวที่สืบเนื่องมาจากครั้งม็อบมัฆวานฯ ของกลุ่มชนหลายชั้นหลายกลุ่มเพิ่มขึ้น มีการขยายตัวจากพื้นสะพานมัฆวานฯ มายึดทำเนียบรัฐบาลอันเป็นที่ทำการแบ่งอำนาจของรัฐบาลสำเร็จด้วยกระบวนการที่หลีกเลี่ยงความรุนแรงหรือที่เรียกว่า อหิงสา เช่นเดิม โดยใช้คำกล่าวใหม่ว่า “อารยะขัดขืน” [Civil disobediences] ครั้งนี้ ม็อบมัฆวานฯ เปลี่ยนชื่อมาเป็น ม็อบพันธมิตร (พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย-PAD) ที่แสดงอาการเคลื่อนไหวอย่างมีระบบและอุดมการณ์มากมายกว่าแต่เดิม พื้นที่ภายในทำเนียบรัฐบาลและสะพานมัฆวานฯ ได้ถูกปรุงแต่งให้เป็นชุมชนชั่วคราวขนาดใหญ่ที่อาจเรียกได้ว่า เป็นค่ายของกองทัพในลักษณะที่เรียกว่า บางระจัน ก็ได้ เพราะเป็นที่รวมกำลังของคนหลายชนชั้นหลายกลุ่มอาชีพแทบทุกภูมิภาคของประเทศ ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองการปกครองเหมือนกัน แต่โครงสร้างของค่ายหรือชุมชนแห่งนี้หาใช่ชุมนุมชนเพื่อการทำสงครามด้วยการใช้กำลังที่ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทำลายล้างชีวิตไม่ หากเป็นค่ายศึกแบบอหิงสาที่มีผู้หญิงและคนแก่เป็นไพร่พลเป็นสำคัญ โครงสร้างทางกายภาพของชุมชนเฉพาะกาล ค่ายรบแบบอหิงสานี้ แบ่งพื้นที่เป็นสองส่วนชั้นนอกและชั้นใน ภายในรั้วของทำเนียบคือชั้นใน เป็นทั้งที่ตั้งเวที ที่พักของพวกแกนนำและผู้คนที่มาร่วมชุมนุม รอบ ๆ ลานเวทีเป็นเต้นที่พักแรมมากมายหลายขนาด ที่ผู้ชุมนุมจัดหามาเพื่อใช้เวลาทั้งวันได้โดยตลอด ไม่ต้องกลับกลับบ้านหรือเข้าออกไปมาบ่อย ๆ เป็นเหตุให้การแสดงความคิดเห็นและการแสดงอะไรต่าง ๆ บนเวทีเป็นไปได้ตลอดวัน เมื่อเกิดความเมื่อยล้าก็นอนพักได้ พอหายเมื่อยแล้วก็รุกขึ้นมานั่งฟังและรวมกลุ่มกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อ นับเป็นการตรึงให้คนอยู่กับที่ได้อย่างยาวนาน แต่ที่สำคัญบรรดาผู้ที่มาแสดงความคิดเห็นการบ้านการเมืองบนเวทีนั้น ไม่ใช่จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มแกนนำที่มีราวสิบกว่าคนเท่านั้น หากเปิดโอกาสให้แขกรับเชิญที่เป็นผู้รู้ที่หลากหลายทั้งประสบการณ์ ความรู้และแนวคิด ทฤษฎีพลัดกันขึ้นมา นับเป็นการระดมสมองที่กว้างไกลและลุ่มลึกกว่า ความคิดเห็นของพวกแกนนำแต่ฝ่ายเดียว อีกทั้งเป็นการให้พวกแกนนำมีเวลาพักผ่อนและดำเนินนโยบายและยุทธวิธีที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้ ผู้คนที่อยู่ในบริเวณชั้นในภายในรั้วทำเนียบนั้น คือคนแก่ทั้งชายและหญิง คนวัยกลางคนและคนหนุ่มสาวที่ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง คนแก่ที่เป็นชายมักเป็นข้าราชการบำนาญ มีทั้งทหารและพลเรือน รวมทั้งนักธุรกิจอาวุโส ส่วนพวกคนแก่ที่เป็นหญิงมักมากับลูกสาวและหลาน ๆ หลายคนมีฐานะและภูมิฐานนั่งเก้าอี้ฟังอย่างสงบ พวกที่ชอบบู๊ก็มีคาดผ้าสัญลักษณ์ที่ศีรษะและแสดงอารมณ์ ส่วนคนวัยกลางคนและคนสาวหลายคนแต่งตัวสะอาดทันสมัยแบบไปเที่ยวปิกนิค มีมากมายหลายระดับล้วนแล้วแต่มีการศึกษาและมีอาชีพฐานะทั้งสิ้น คนเหล่านี้มีอาชีพค้าขายมากกว่าเป็นข้าราชการ มีเวลาพอเพียงที่จะมาร่วมชุมนุม แถมยังนำเอาลูกเต้ามานั่งเล่นนั่งฟังในเวลาที่ว่างจากโรงเรียน แต่ที่สำคัญคนเล่านี้ไม่ได้มามือเปล่า หากยังนำเงินทองสิ่งของมาร่วมบริจาคและต่อสู้ โดยเฉพาะอาหารและเครื่องอำนวยความสะดวกในการนั่งนอนอย่างสบาย การปรุงแต่งพื้นที่ไม่ให้มีการน้ำท่วมและกันฝนนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้กองทัพควบคุมอุปสรรคจากดินฟ้าอากาศ โดยเฉพาะฝนและพายุฝนได้ ภายในรั้วทำเนียบอีกเช่นกันที่มีเต๊นท์ของกลุ่มคนที่มาจากต่างจังหวัดหลายๆ จังหวัดอยู่โดยรอบ มีกลุ่มคนอาสาสมัครที่เป็นผู้รักษาความปลอดภัยดูแลตรวจตราและอำนวยความสะดวก มีแหล่งนำอาหารแจกฟรีที่รวมทั้งบรรดาอาหารที่ผู้มาชุมนุมนำมาสมทบ ทำให้มีเสบียงอาหารเลี้ยงกันอย่างพอเพียง แต่ที่สำคัญการกินอยู่มีระเบียบ มีกาลเทศะและไม่พร่ำเพรื่อ โดยเฉพาะไม่เอาเข้ามานั่งกินนั่งแทะกันในระหว่างฟังการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น บริเวณนอกรั้วทำเนียบนับเป็นชั้นนอก มีเต๊นท์ของผู้รวมชุมนุมจากจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งคนที่เข้ามาสมทบใหม่กระจายกันอยู่สลับไปด้วย สถานที่ประกอบอาหารแจกอาหาร สถานที่พยาบาลและยารักษาโรค มีหน่วยรักษาความปลอดภัยของชายอาสาสมัครรวมอยู่ด้วยตามจุดต่าง ๆ พื้นที่บริเวณนี้มีซุ้มของร้านและโต๊ะที่ตั้งขายสิ่งของอันเป็นอุปกรณ์ทางสัญลักษณ์ของการเป็นกลุ่มพันธมิตร เรียงรายอยู่มากมายไม่ว่าจะเป็นเสื้อ ผ้าคาดหัว เครื่องประดับ และเครื่องใช้ต่าง ๆ แต่ที่สำคัญก็คือ มือตบ ที่นับได้ว่าเป็นอัตลักษณ์ของการเป็นพันธมิตรเป็นอาวุธของการต่อสู้แบบอหิงสา มีมากมายกลายเป็นทั้งของที่ระลึกและเพื่อการท่องเที่ยว โต๊ะขายของที่ระลึกนี้เรียงรายไปสองข้างทางตั้งแต่หน้าทำเนียบไปตามถนนหน้าสำนักงาน ก.พ.ร. จนถึงลานพระบรมรูปทรงม้าและหักมุมไปตามถนนคู่ขนานริมทางของถนนราชดำเนินนอกไปจนมาสะพานมัฆวานฯ อันเป็นแหล่งชุมนุมของเหล่านักศึกษาและเยาวชนพันธมิตรที่มีเวทีอภิปรายเด่นตระหง่านอยู่กลางถนนราชดำเนิน บนสะพานมัฆวานรังสรรค์ พื้นที่ขายของที่ระลึกนี้สลับกันไปกับร้านขายอาหารการกินที่พ่อค้าแม่ขายจากที่ต่าง ๆ นำมาตั้งขายแก่ผู้คนที่อยากกินแบบเสียสตางค์ และพวกคนจากถิ่นต่างๆ ที่พากันมาเที่ยวทำให้บริเวณรอบนอกของค่ายพันธมิตรดูเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง เพราะในเวลาตอนเช้าและกลางวันผู้คนที่เข้ามาในบริเวณนี้มักเป็นพวกมาเที่ยวดูมากกว่ามาชุมนุม โดยมีคนหลายกลุ่มที่มาจากต่างจังหวัดรวมทั้งชาวต่างชาติเข้ามาในรูปของการจัดการท่องเที่ยว ที่เรียกว่า ทัวร์พันธมิตร ในความเป็นอยู่ของผู้คนในค่ายพันธมิตรที่ทำเนียบนี้ นอกจากมีการส่งเสบียง การจัดเสบียงให้คนมีกินมีอยู่อย่างสบายแล้ว การจัดการในรูปของห้องน้ำและห้องส้วมก็ดูมีระเบียบ แม้ว่าจะไม่สะดวกสบายอย่างความเป็นอยู่ในบ้านและในชุมชนก็ตาม อีกทั้งการจัดการในเรื่องการทำความสะอาด และกิจกรรมในชีวิตประจำวันก็มักเป็นการร่วมมือร่วมแรงกัน ทำในลักษณะที่เสมอภาคและช่วยเหลือกันเอง แต่ที่สำคัญไม่แลเห็นร่องรอยของความขัดแย้งที่มาจากการลักขโมยและการทะเลาะวิวาทกันเองแต่อย่างใด ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ คือการวิเคราะห์และพรรณนาให้เห็นถึงสถานที่และโครงสร้างทางกายภาพของชุมชนเฉพาะกาลที่เรียกว่า ค่ายพันธมิตร อันมีลักษณะที่แตกต่างไปจากสิ่งที่เรียกว่า “ม็อบ” เป็นสำคัญ แต่ต่อไปจะเป็นเรื่องของการอธิบายให้เห็นว่า คนพันธมิตร นั้นเป็นอย่างใด ถ้ามองจากภายนอกอย่างที่บรรดานักวิชาการส่วนใหญ่มองแต่ครั้งเริ่มการเคลื่อนไหวมาแต่สมัยยังเป็น ม็อบมัฆวานฯ คนที่เป็น ม็อบพันธมมิตร ก็คือคนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ จึงมักมีการตีความและอธิบายจากข้อมูลที่ผิวเผินว่า คนพวกนี้คือพวกที่มีความหน่อมแน้มและสบายแบบคนในเมืองที่ไม่รู้สึกร้อนหนาวกับความเดือดร้อนของคนชั้นล่าง โดยเฉพาะคนจนที่เคยมารวมกลุ่มกันเป็นสมัชชาคนจนต่อต้านรัฐบาล และเป็นกลุ่มคนที่ไม่ใคร่มีมันสมองถูกปลุกระดมโดยบรรดากลุ่มแกนนำให้มาต่อต้านรัฐบาลชุดที่แล้ว ที่ก็ยังมีการดำเนินการแบบประชานิยมเพื่อช่วยเหลือคนจน จึงทำให้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนจนและออกมาต่อต้านเผชิญหน้ากับกลุ่มพันธมิตรที่เป็นชนชั้นกลาง นักวิชาการเหล่านี้ แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่เอาเงินไปแจกชาวบ้านในลักษณะกองทุนหมู่บ้านก็ตาม แต่ก็ดูให้น้ำหนักไปในทางการเห็นใจและต่อสู้เพื่อคนจนและคนชั้นล่างจนเกินไป โดยไม่คำนึงว่าม็อบพันธมิตรนั้นไม่ใช่ม็อบแบบม็อบสมัชชาคนจน ที่มารวมตัวกันเป็นครั้งคราวแล้วเลิกไป อีกทั้งเป็นม็อบที่ทางรัฐบาลสามารถปลุกระดมให้มาสนับสนุนตนได้ด้วยเงินค่าจ้าง อันพอ ๆ กับเงินซื้อเสียง จากการที่ได้เข้าไปสังเกตและสัมผัสม็อบพันธมิตรที่มีทั้งโครงสร้างทางกายภาพและโครงสร้างสังคมด้วยตนเอง ข้าพเจ้าก็ยังยืนยันว่า ม็อบพันธมิตรไม่ใช่ม็อบ หากเป็นการเคลื่อนไหวของผู้คนในสังคมหลายชนชั้นและกลุ่มเหล่าที่มีความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับการเมืองแบบประชาธิปไตยเหมือนกันที่มารวมตัวกันอย่างเนือง ๆ จนมีระยะเวลาเกือบสี่เดือน กลุ่มคนเหล่านี้มาจากคนเมืองในกรุงเทพฯ และภาคกลาง ร่วมกับคนกรรมกร และชาวบ้านชาวเมืองในภาคใต้เป็นสำคัญ แม้ว่าจะมีชาวบ้านชาวเมืองจากภาคอื่น ๆ ไม่ว่าภาคเหนือและภาคอีสาน บ้างก็เป็นส่วนน้อย คนเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมืองของระบอบทักษิณที่เป็นทุนนิยมแบบปัจเจกเดรัจฉานในยุคโลกาภิวัตน์ โดยก่อนหน้ากันไม่ว่าจะเป็นคนชั้นกลาง คนเมืองและกรรมกร คนเหล่านี้คือคนที่ปรับตัวเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมที่มีความคิดเห็นนอกเห็นในได้ดี ซึ่งต่างกันกับคนในม็อบสมัชชาคนจนที่ยังอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของคนชาวนาที่มีมาแต่สมัยสังคมชาวนา รวมทั้งคนเมืองและคนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่เป็นพวกนายทุนสามานย์ ได้รับผลตอบแทนจากระบอบทักษิณ คนชั้นกลางของฝ่ายพันธมิตรก็คือกลุ่มคนที่เป็นคนรวยเก่าที่มีสำนึกในการเป็นคนที่มีโคตรเง่าและรักการเกิดในแผ่นดินไทย แลเห็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองแบบโลกาภิวัตน์ คือแบบข้ามชาติและเป็นทุนนิยมแบบปัจเจกเดรัจฉานจนขาดความเป็นมนุษย์กับคนชั้นกลางในระดับล่างพ่อค้าแม่ขายที่พอมีพอกิน ที่ถูกเบียดเบียนโดยการครอบงำของทุนนิยมข้ามชาติ คนเหล่านี้มักเป็นคนกรุงเทพฯ และคนส่วนใหญ่ตามเมืองในภาคกลาง ในขณะที่คนจากภาคใต้นั้นเป็นกลุ่มชนที่มีพัฒนาการเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมเป็นคนที่ดูทันโลกและรักในท้องถิ่นแผ่นดินเกิดที่ไม่เอาทุนนิยมแบบโลกาภิวัตน์ข้ามชาติ เหตุนี้คนพันธมิตรจึงอาจเรียกได้ว่าเป็น คนมีชาติ ในทางตรงข้ามทางฝ่ายรัฐบาลคือกลุ่มของนายทุนข้ามชาติ ที่เข้ามาบริหารประเทศสืบเนื่องแต่รัฐบาลที่แล้ว ซึ่งนอกจากจะยึดมั่นในระบอบทักษิณเหมือนเดิมแล้ว ยังพยายามแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลืออดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรให้พ้นผิดจากการถูกศาลตัดสินลงโทษในกรณีคอร์รัปชั่นและโกงชาติ การเป็นฝ่ายรัฐบาลนั้นคือการอ้างและอาศัยความชอบธรรมทางกฎหมายจากได้รับเลือกตั้งเข้ามาตามระบอบประชาธิปไตย ทำให้มีอำนาจทางกฎหมายที่จะจัดการกับฝ่ายพันธมิตร กลุ่มคนข้ามชาติที่เป็นนักธุรกิจและนักการเมืองที่มีอำนาจอยู่ในขณะนี้ จึงมีบรรดานักวิชาการจากมหาวิทยาลัยและสถาบันทางการศึกษาอีกจำนวนหนึ่งที่สนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม คนเหล่านี้ได้รับการอบรมแบบตะวันตกให้มีความคิดแบบข้ามชาติเช่นเดียวกัน ผู้ที่สนับสนุนทางตรงก็คือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและทำงานกับรัฐบาลตามหน้าที่ทางราชการ ส่วนพวกที่สนับสนุนทางอ้อมก็คือ พวกที่อยากทำตัวเป็นกลางตามหลักเหตุผล แนวคิดทฤษฎีและตีความง่าย ๆ อย่างขาดข้อเท็จจริง รวมทั้งมีเป็นจำนวนมากที่มีอคติกับทางพระมหากษัตริย์ในเหตุการณ์รุนแรงสมัย ๖ ตุลา อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตอบโต้ของทางฝ่ายรัฐบาลนั้น ก็ไม่มีแต่เฉพาะกลุ่มคนข้ามชาติเท่านั้น หากยังมีคนในชาติรวมอยู่ด้วย เพราะสามารถปลุกระดมและว่าจ้างมาเข้าเป็นพวกเป็นฝ่ายเพื่อให้เกิดความชอบธรรมทางกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ คนในชาติเหล่านี้ก็คือพวกชาวบ้านและคนจนที่ส่วนใหญ่ในจังหวัดทางภาคเหนือและภาคอีสาน คนเหล่านี้คือกลุ่มคนยังมีสำนึกเป็นคนชาวนาในสังคมชาวนา [Peasant society] แต่เดิมที่ปรับตัวไม่ทันโลกในเส้นทางการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม คนเหล่านี้ยังยึดมั่นในระบบอุปถัมภ์ที่เคยมีมากแต่เดิมระว่างชนชั้นปกครองและชนชั้นที่ถูกปกครอง แต่ระบบสังคมศักดินาจึงถูกพวกข้ามชาติสามารถมอมเมาด้วยวิธีการประชานิยมนำมาเป็นพวกพ้องและเครื่องมือในการต่อต้านและปราบปรามทางฝ่ายพันธมิตร ทำให้การจัดการกับกลุ่มพันธมิตรที่ใช้วิธีอหิงสาและสันติวิธีต้องเผชิญกับการใช้อำนาจปราบปรามด้วยอำนาจกฎหมายที่นำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งก็เห็นได้จากความแตกต่างในการชุมนุมทางฝ่ายพันธมิตรเรียกร้องด้วยการชุมนุมมีเวทีแสดงความคิดเห็น และมีมือตบเป็นอาวุธ อีกทั้งคนส่วนใหญ่เป็นหญิงคนแก่รวมทั้งเด็ก ในขณะที่ทางฝ่ายรัฐสนับสนุนม็อบ นปก. ที่จัดตั้งให้มาชุมนุมตอบโต้ แต่บ่อยครั้งกลับล้ำเส้นล้ำเขตเข้ามาทุบตีก่อความรุนแรง ซึ่งแต่ละครั้งก็แลเห็นประจักษ์จากสื่อมวลชนไม่ว่าหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ การเกิดความรุนแรงขึ้นแต่ละครั้งนั้น ทางฝ่ายรัฐบาลมักออกมาแก้ตัวและกล่าวหาว่าฝ่ายพันธมิตรเป็นผู้กระทำทั้งสิ้น แต่ก็ดูเหมือนเสียเปรียบแทบทุกครั้งไป เพราะความไม่ทันสมัยและล้าหลังในการสื่อสารของฝ่ายรัฐเอง ในขณะที่ทางพันธมิตรมีความทันสมัยทั้งวิธีการและการเสนอข่าว การแสดงความคิดเห็นที่ทำให้ปัญญาชนและวิญญูชนแลเห็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ได้ รวมทั้งอาจตรวจสอบความจริงใจของทางฝ่ายพันธมิตรได้ นั่นก็คือแม้ว่าทางพันธมิตรจะด้อยกว่าทางรัฐในแง่ของการสื่อทางหนังสือพิมพ์ ที่มีหลาย ๆ ฉบับเอียงไปทางข้างรัฐบาล แต่ทางพันธมิตรก็มี ASTV เป็นสื่อไปทั้งในและนอกประเทศให้แลเห็นขั้นตอนต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้ฟังแลเห็นภาพรวมได้อย่างตลอด โดยเฉพาะภาพที่เห็นในค่ายพันธมิตรตามที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม ที่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นพฤติกรรมของม็อบ การต่อสู้ของพันธมิตรอย่างอหิงสาหรือสันติวิธีนั้นเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ เพื่อให้อำนาจทางสังคมได้เข้ามาจัดการควบคุมและต่อรองให้รัฐได้ดำเนินการไปในทางที่ถูกต้อง [Social sanction] หาใช่การต่อสู้ด้วยกำลังเพื่อบีบบังคับจนเกิดบาดเจ็บอะไรไม่ การเข้ายึดทำเนียบนั้นนับเป็นชัยชนะของวิธีการอหิงสา ความสำคัญก็คือเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์อีกเช่นกัน เพราะเป็นศูนย์อำนาจทางการบริหาร ซึ่งก็น่าชมทางรัฐบาลและตำรวจที่ไม่ใช้การปราบปรามด้วยกำลังรุนแรง ต่อมาการเคลื่อนคนเข้าปิดล้อมรัฐสภาก็เป็นอหิงสาเช่นกัน เพื่อขัดขวางการประชุมของสภาไม่ให้มีการแก้กฎหมายได้เร็ว นับเป็นการทำลายเชิงสัญลักษณ์ของอำนาจทางนิติบัญญัติ และรอเวลาให้ทางฝ่ายศาลยุติธรรมได้ตัดสิน ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าฝ่ายพันธมิตรหวังพึ่ง หวังเห็น ศูนย์อำนาจหลักหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยได้ทำหน้าที่อย่างชอบธรรม โดยเหตุนี้การเข้าปิดล้อมรัฐสภา จึงไม่มีการรุกล้ำเข้าข้างในให้เกิดการกล่าวหาว่าจะมีการใช้กำลังรุนแรง แกนนำที่ทำไปก็กล่าวห้ามและเตือนผู้ชุมนุมตลอดเวลาไม่ให้เข้าไปในบริเวณรัฐสภาและเตรียมพร้อมที่จะยืนหยัดรับการจัดการทางฝ่ายตำรวจที่จะใช้แก๊สน้ำตาตามกระบวนการปราบจลาจลของรัฐบาลที่เป็นอารยะ เพราะจะไม่มีทางที่เกิดการบาดเจ็บจนเสียชีวิตได้ พฤติกรรมการเคลื่อนไหวนี้แลเห็นจากทีวีและภาพของสื่อมวลชนเป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันก็ได้แลเห็นการปราบปรามที่ทั้งผิดขั้นตอนของการใช้แก๊สน้ำตาด้วยวิธีทางอายะมาเป็นวิธีการรุนแรงแบบมุ่งหมายเอาชีวิตและทำลายล้าง การใช้การยิงแก๊สน้ำตาแบบทำลายล้างก็ดี รวมทั้งการแฝงด้วยอาวุธระเบิดก็ดี เป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รัฐบาลจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ แต่ที่เลวร้ายและไร้มนุษยธรรมก็คือ ทางฝ่ายรัฐได้แถลงข่าวและทำทุกอย่างในลักษณะโกหกเพื่อปฏิเสธความรุนแรงที่ทำให้คนได้เสียชีวิตและบาดเจ็บโดยสิ้นเชิง รวมทั้งเกิดขบวน การเคลื่อนไหวที่มีการปลุกขึ้น และจัดตั้งม็อบแบบ นปก. ให้มาเพื่อก่อความรุนแรงแบบทำลายล้างในเวลาที่จะมาถึงอีก สิ่งที่แสดงถึงการโกหกแบบอัปรีย์ชนของนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งก็คือ การให้สัมภาษณ์ว่า ผู้หญิงที่โดนระเบิดตายนั้นมาจากการหนีบระเบิดไว้ที่ตัวเอง ทุกวันนี้สังคมไทยแบ่งแยกเป็น ๒ ขั้ว โดยมีสีเหลืองและสีแดงเป็นสัญลักษณ์ กลุ่มเสื้อเหลืองคือกลุ่มของคน มีชาติ มีศาสนาและมีพระมหากษัตริย์ ส่วนพวกเสื้อแดงเป็นกลุ่มของคน ข้ามชาติที่ไม่มีชาติ คือแผ่นดินเกิดเป็นพวกที่ต้องการเป็นสากลจะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ เป็นพวกที่ไม่มีศาสนา เพราะนับถือแต่เงินและหลงใหลในทางวัตถุตามแบบสังคมตะวันตกอันมีอเมริกาและอังกฤษเป็นตัวอย่าง และคงจะไม่มีพระมหากษัตริย์ด้วย คนข้ามชาติ คือคนที่ไม่มีชาติ พร้อมที่จะขายชาติและขายตัวเพื่อความเป็นสากล แต่ก็พร้อมที่จะปลุกระดมและมอมเมาคนในชาติที่เป็นชาวบ้านให้เป็นคนคลั่งชาติและรับใช้นายทุนต่างชาติ ส่วนคนมีชาตินั้นคือคนรักชาติ ที่อาจจะต้องต่อสู้ด้วยวิธีที่ไม่ใช่อหิงสาหรือสันติวิธีอีกต่อไปก็ได้ เป็นที่น่ากลัวว่าในไม่ช้าความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ซึ่งรัฐที่มีกำลังตำรวจและทหารไม่มีน้ำยาในการจัดการให้สงบได้ กำลังจะมาเยือนคนไทยทั้งชาติในเร็ววันนี้ ...สังคมไทยกำลังเจ็บป่วย ที่เต็มไปด้วยคนบาปข้ามชาติ โอ้ ความวิบัติ อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
- เอ็มโอยู ๔๓ กับมรดกโลก–มรดกโลภ
เผยแพร่ครั้งแรก 1 ก.ค. 2553 เรื่องร้อนทางเศรษฐกิจ-การเมืองในเมืองไทยที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนในภาคประชาสังคมกับคนของรัฐในช่วงเวลานี้ก็คือ การขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลกขององค์การยูเนสโกมีความโน้มเอียงที่จะขึ้นทะเบียนให้เป็นเอกสิทธิของกัมพูชา ทั้ง ๆ ที่พื้นที่โดยรอบของตัวปราสาทนั้นทางประเทศไทยยืนยันอ้างสิทธิตามสันปันน้ำในการตกลงปักปันเขตแดนกับฝรั่งเศสแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อ ค.ศ.๑๙๐๔ แต่การดำเนินการปักปันเขตแดนที่สืบต่อมาจนเสร็จสิ้นใน ค.ศ.๑๙๐๗ นั้น ฝรั่งเศสโกงอย่างหน้าด้าน ๆ ด้วยการถืออำนาจดังประเทศมหาอำนาจ สร้างแผนที่ ๑: ๒๐๐,๐๐๐ ด้วยการขีดเส้นเขตแดนลงบนแผนที่อย่างไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในเรื่องสันปันน้ำ เลยทำให้ปราสาทพระวิหารตกอยู่ในเขตแดนประเทศเขมร ซึ่งเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านมาถึงสมัยสงครามอินโดจีนในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไทยเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ไทยก็อ้างสิทธิในการครอบครองดินแดนเสียมเรียบและพระตะบองในกัมพูชามาอยู่ในเขตแดนประเทศไทยอีกวาระหนึ่ง ครั้งเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ไทยก็จำต้องคืนดินแดนกลับคืนไปให้ฝรั่งเศสอีก แต่ก็ยังครอบครองพื้นที่บนเทือกเขาพนมดงเร็กแทบทั้งหมดไว้ ซึ่งรวมทั้งปราสาทพระวิหารที่ฝรั่งเศสโกงเอาไปด้วย เหตุที่ไทยอ้างสิทธิเช่นนี้ก็เพราะพื้นที่ในบริเวณสันปันน้ำแทบทั้งหมดอยู่บนที่ราบสูงโคราชในเขตไทย คนท้องถิ่นที่มีหลายชาติพันธุ์ซึ่งอาศัยตั้งถิ่นฐานชุมชนและแหล่งทำมาหากินในป่าและเขาก็ล้วนเป็นคนในพื้นที่ราบสูงโคราชแทบทั้งนั้น โดยผู้คนเหล่านี้มีการติดต่อกับคนในที่ราบต่ำเขมรโดยช่องเขาต่างๆ ในเทือกพนมดงเร็ก โดยไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนสิ่งของและสร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติ โดยเฉพาะการกินดองกันทางการแต่งงาน รวมทั้งการเข้ามาใช้พื้นที่สาธารณะตามป่าเขาทั้งสองฟากของสันปันน้ำในการหาของป่า ทำมาหากินร่วมกัน คนทั้งสองฟากเขามักมีแหล่งศักดิ์สิทธิ์ในระบบความเชื่อมาประกอบพิธีกรรมด้วยกันควบคูไปกับพื้นที่ย่านตลาดและแหล่งที่อยู่อาศัยในลักษณะที่เป็นชุมชนร่วมกันตามช่องเขาต่าง ๆ อันเป็นเส้นทางขึ้นลงระหว่างที่ราบสูงโคราชและที่ราบเขมรต่ำ พื้นที่บนสันปันน้ำที่มีคนท้องถิ่นทั้งสองดินแดนใช้ร่วมกันมาอย่างไม่มีความขัดแย้งใด ๆ นั้น เริ่มกระทบกระเทือนขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ที่รัฐบาลเขมรของสมเด็จพระนโรดมสีหนุ ฟ้องศาลโลกอ้างสิทธิครอบครองปราสาทพระวิหารที่อยู่ในเขตสันปันน้ำของไทย โดยอาศัยสนธิสัญญาในการแบ่งเขตแดนที่ฝรั่งเศสทำกับไทยในปี ค.ศ. ๑๙๐๗ ครั้งเขมรยังเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่สัมพันธ์กับแผนที่ ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ ที่ฝรั่งเศสทำไว้และบีบให้ไทยยอมรับในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในความจริง สนธิสัญญาและแผนที่ ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ ที่แสนชั่วของฝรั่งถ่อยนั้น ควรสิ้นสุดลงแล้วเมื่อเขมรเป็นเอกราช รวมทั้งไทยเองก็ไม่ควรรับมาพิจารณาและไปอ้างสิทธิเหนือบริเวณเสียมเรียบและพระตะบอง ดังเช่นรัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นด้วย แต่เจ้าสีหนุนั้นกลับอ้างสนธิสัญญาและแผนที่สมัยอาณานิคมมาแสดง ดุจดังเคยเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสเช่นเดิม ซึ่งก็ดูน่าประหลาดเป็นนักหนา ในการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมทางมนุษย์วิทยาชาติพันธุ์ของข้าพเจ้าที่เกี่ยวกับที่ราบสูงโคราช และเขมรต่ำในลุ่มทะเลสาบนั้น ข้าพเจ้าพบว่าประชาชนที่อยู่ในประเทศกัมพูชา ประกอบด้วยคนสองกลุ่มในสองพื้นที่มาช้านาน คือ คนที่อยู่บนพื้นที่สูงและพื้นที่ชายทะเล พวกที่อยู่ในที่สูงเป็นมนุษย์ในตระกูลมอญ-เขมร อันเป็นตระกูลภาษาย่อย ๆ ของตระกูลใหญ่ที่เรียกว่า ออสโตร-เอเชียติก [Austro-Asiatic] คนเหล่านี้กระจายอยู่บนที่ราบสูงโคราชอันเป็นอนุภาคหนึ่งของลุ่มน้ำโขงตอนกลาง และที่ราบลุ่มรอบ ๆ ทะเลสาบเขมร ในจดหมายเหตุจีนเรียกคนเหล่านี้ว่า “เจนละบก” ส่วนคนที่อยู่ทางชายฝั่งทะเลคือแถวลุ่มน้ำโขงตอนล่างที่เป็นดินดอนสามเหลี่ยม [Mekong Delta] เป็นมนุษย์ในตระกูลมาเลย์-จาม ซึ่งเป็นตระกูลย่อยของตระกูลภาษาใหญ่ที่เรียกว่า ออสโตรนีเซียน [Austronesian] หรือ มาลาโยโพลีนีเซียน [Malayo Polynesian] คนพวกนี้หากินตามชายทะเลและบนท้องทะเล เป็น นักเดินทางทะเลระยะไกลที่เก่ง [Seafarer] มาแต่สมัยโลหะในยุคก่อนประวัติศาสตร์ คือ แต่ราว ๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาลลงมา ราวต้นคริสตกาลการค้าระยะไกลทางทะเลระหว่างอินเดียและตะวันออกกลางกับจีนทางตะวันออกไกล ได้ทำให้เกิดกลุ่มรัฐชายทะเล [Port Polity] และ กลุ่มรัฐภายใน [Hinterland Polity] ขึ้น อันเนื่องมาจากการแลกเปลี่ยนสินค้าที่เป็นของป่า [Jungle products] และโลหะธาตุ [Mineral resource] ของดินแดนภายในกับผู้คนที่ทำการค้าขายทางชายฝั่งทะเล เป็นเหตุให้มีการแพร่อารยธรรมอินเดียและอารยธรรมจีนเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมพื้นเมือง โดยเฉพาะอารยธรรมอินเดียนั้น มีผลให้เกิดนครรัฐที่มีศาสนาการเมืองในระบบกษัตริย์แบบจักรพรรดิราชในศาสนาพุทธ ฮินดูและพุทธมหายานขึ้น ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ หรือคริสต์ศตวรรษที่ ๖-๗ เกิดกลุ่มนครรัฐที่มีลัทธิศาสนาทางราชการที่เป็นพุทธเถรวาท พุทธมหายาน และฮินดูขึ้นมาตามดินแดนต่าง ๆ ทั้งชายทะเลและภายใน ในเดลต้าแม่น้ำโขง มี รัฐฟูนัน อันเป็นรัฐของคนมาเลย์-จาม รวมสมัยกับรัฐจามปาทางเวียดนามกลาง รัฐเจนละ ที่อยู่ในที่ราบสูงโคราช รัฐทวารวดีและรัฐนครชัยศรี ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาของประเทศไทย กินไปถึง รัฐศรีเกษตร ของชนชาติ พะยู่ หรือ ผิ่ว ในแอ่งอิระวดีของพม่า ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ เป็นต้นมา การเติบโตของการค้าระยะไกลทางทะเลมากขึ้น เกิดบ้านเมืองใหญ่ ๆ และรัฐใหม่ ๆ ที่เป็นนครรัฐมากมาย มีทั้งแยกอยู่อย่างเป็นเอกเทศ มีทั้งการรวมกับรัฐเก่าเป็นรัฐใหม่ขึ้นมา ในดินแดนเดลต้าของแม่น้ำโขงที่ที่ราบสูงโคราช การแผ่ขายของคนกลุ่มที่เรียกว่ามอญ-เขมร ลงมาทางเดลต้าแม่น้ำโขง ทำให้รัฐฟูนันหมดความสำคัญไป เกิดรัฐใหม่ขึ้นมาแทนที่คนจีนเรียกว่า รัฐเจนละน้ำ ทำให้เจนละแต่เดิมที่แบ่งออกเป็นสองเจนละคือ เจนละบก มีเมืองสำคัญอยู่ที่ เชิงเขาวัดพู ริมฝั่งแม่น้ำโขงในแคว้นจำปาสักของลาว กับ รัฐเจนละน้ำ ที่มีเมืองสำคัญอยู่ที่ เมืองสมโบร์ไพรกุก ในลุ่มน้ำโขงในเขตแขวงกัมปงจามในปัจจุบัน บริเวณที่เป็นเจนละน้ำเริ่มแต่ชายทะเลมาถึงพนมเปญและเรื่อยขึ้นไปตามลำน้ำโขงจนถึง สตึงเตรง นั้น เป็นพื้นที่ของการผสมผสานของชนกลุ่มมอญ-เขมรกับกลุ่มจาม-มาเลย์ มีความเชื่อและวัฒนธรรมแตกต่างไปจากพวกเจนละบกที่ขยายตัวจากที่ราบสูงโคราชลงมายังลุ่มทะเลสาบในเขตเสียมเรียบและพระตะบอง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ลงมา เจนละน้ำมักมีการขัดแย้งกับพวกจามที่ถ่อยร่นขึ้นไปรวมอยู่ทางตอนกลางของเวียดนามเป็นประจำ เกิดสงครามกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองเกิดขึ้น คือ เกิดนครรัฐของพวกเจนละบกขึ้นมาใหม่ที่ริมของทะเลสาบ โดยอาศัย เขาพนมกุเลน เป็นศูนย์กลางของจักรวาล มี ลำน้ำโรราส และ ลำน้ำเสียมเรียบ ที่ไหลลงจากเขาพนมกุเลนหล่อเลี้ยง การสร้างบ้านแปงเมืองในบริเวณนี้ รัฐใหม่ที่เกิดขึ้นคือรัฐเมืองพระนครที่มีเมืองยโสธรปุระเป็นศูนย์กลางทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ การเกิดรัฐเมืองพระนครที่มีเมืองยโสธรปุระเป็นศูนย์กลางนี้ ดูคล้าย ๆ กับพระนครศรีอยุธยาที่ทำให้บรรดานครรัฐในเครือข่ายทั้งในพื้นที่เจนละบกในที่ราบสูงโคราช กับเจนละน้ำที่อยู่ทางเดลต้าแม่น้ำโขง พยายามแย่งชิงกันเข้ามาปกครองอยู่เนือง ๆ เกิดกษัตริย์ใหญ่ ๆ ที่พยายามบูรณาการรัฐและผู้คนทั้งสองเขตให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการปกครองและวัฒนธรรม ความเป็นหนึ่งเดียวของเมืองพระนครคือทั้งเจนละบกและเจนละน้ำนั้น เห็นเป็นรูปธรรมขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เมื่อพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ผู้มีเชื้อสายจาม-มาเลย์จากเจนละน้ำ เข้ามามีอำนาจในเมืองพระนคร ได้แบ่งวัฒนธรรมฮินดูของเมืองพระนครขึ้นไปยังดินแดนที่ราบสูงโคราช ทำให้เกิดปราสาทขอมในศิลปะแบบปาปวนขึ้นทั่วไป ทำให้ความคล้ายคลึงกันทางรูปแบบศิลปวัฒนธรรมกลายเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นอำนาจทางการเมืองไป ทั้งๆ ที่นัยซ่อนเร้นทางการเมืองนั้นน่าจะเป็นพระเจ้าสุริยวรมันต้องการสร้างความสัมพันธ์ในด้านกำลังคนจากที่ราบสูงโคราชเพื่อต่อต้านกับการรุกรามของพวกจามจากเวียดนามกลางมากกว่า รวมทั้งการที่ใช้เมืองพระนครที่อยู่ริมทะเลสาบเป็นที่มั่นในการสู้รบกับพวกจามด้วย แต่กระนั้นก็ไม่อาจต้านทานการโจมตีและจู่โจมจากพวกจามได้ เพราะหลังรัชกาลสุริยวรมันที่ ๑ แล้ว อาณาจักรเมืองพระนครปั่นป่วนและแตกแยก เปิดโอกาสให้พวกเจนละบกในที่ราบสูงโคราชที่มีนครรัฐอยู่ที่พิมาย-พนมรุ้ง ในบริเวณที่เรียกว่า มูละเทศะ แต่เดิมเข้ามามีอำนาจแทน คือกษัตริย์ในราชวงศ์มหิธระปุระที่ทรงพระนามว่า สุริยวรมันที่ ๒ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ คือผู้ที่สร้างปราสาทนครวัดที่มีชื่อเรียกในศิลาจารึกว่า วิษณุโลก เป็นสถานที่เพื่อการพระบรมศพของพระองค์ที่มีพระนามคล้ายพระวิษณุ (แต่ไม่เหมือน) ว่า พระบรมวิษณุโลก ภาพสลักในพระราชพิธีสนาม ก็คือการสวนสนามแสดงแสนยานุภาพของกองทัพขอมในระเบียงคด ปราสาทนครวัด ที่ประกอบด้วยกองทัพจากบรรดาเมืองขึ้นและเมืองที่เป็นพันธมิตรมากมายที่อยู่ในที่ราบสูงโคราชและกินมาถึงแคว้นสยามและละโว้ของสยามประเทศในลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้วย พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สร้างเมืองนครธมทับที่เมืองพระนครเก่าขึ้นมาโดยมีป้อมปราการแข็งแรงก่อด้วยศิลาแลง พร้อมกันก็สร้างปราสาทบายนขึ้นเป็นศูนย์กลางศาสนาพุทธมหายานของราชอาณาจักร แล้วทรงเชื่อมความสัมพันธ์อันดีของเมืองพระนครไปตามบ้านเมืองต่าง ๆ ทั้งในที่ราบสูงโคราชและที่ราบลุ่มทะเลสาบเลยไปจนถึงลุ่มน้ำโขงในเขตแคว้นที่แต่เดิมเป็นเจนละน้ำ เป็นการบูรณาการบ้านเมืองที่ต่างภูมิภาคและชาติพันธุ์เข้าไว้เป็นอันหนึ่งเดียวกันในอาณาจักรเมืองพระนคร แต่ว่าการรวมกันทั้งการเมือง วัฒนธรรมและเศรษฐกิจดังกล่าวนี้ก็ไปได้พักหนึ่ง เพราะเมืองสิ้นรัชกาลแล้ว บ้านเมืองก็แตกแยก กษัตริย์เมืองพระนครหลังรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ หันมานับถือและอุปถัมภ์ศาสนาฮินดูแล้วทำลายล้างพุทธมหายานของชัยวรมันที่ ๗ ในที่สุดอาณาจักรเมืองพระนครก็แตกแยก พุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์จากรัฐในประเทศสยามแพร่เข้ามาเป็นศาสนาราชการใหม่ ในยุคนี้ศูนย์กลางความเจริญใหม่เช่นอยุธยาก็เข้ามาแทนที่ ทางอยุธยาขยายอำนาจมาผนวกเจนละบกที่เป็นคนชาติพันธุ์เดียวกันกับคนบนที่ราบสูงโคราชให้อยู่ภายในราชอาณาจักร โดยเฉพาะการตีเมืองพระนครหลวงและกวาดต้อนครัวเขมรมาเป็นคนสยามในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ เจ้าสามพระยานั้น ได้ทำให้ความสำคัญของรัฐกัมพูชาเคลื่อนจากริมทะเลสาบไปยังพื้นที่เจนละน้ำในบริเวณจัตุรมุข อันเป็นแหล่งสบกันของแม่น้ำ ทะเลสาบ คือ แม่น้ำบาสัคและแม่น้ำโขง เกิดเมืองสำคัญขึ้นมาแทนที่ ตั้งแต่เมืองอุดงมีชัย อันลองเวงและพนมเปญตามลำดับ ความเป็นหนึ่งเดียวของกัมพูชาแต่สมัยเมืองพระนครก็สิ้นสุดลง เข้าสู่สมัยหลังเมืองพระนครที่กัมพูชาแบ่งออกเป็นเจนละบกและเจนละน้ำเหมือนเดิม เจนละน้ำมีความเจริญกว่า เพราะอยู่ใกล้ทะเลมีพ่อค้าและชนต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีนเข้ามาค้าขายตั้งหลักแหล่งรวมทั้งมีชนจามมุสลิมและอื่น ๆ ที่เข้ามาทางทะเลเป็นที่รู้จักรับรู้ของคนภายนอกทั่วไป ในทำนองตรงข้ามพวกเจนละบกที่เมืองพระนคร กลับไม่มีใครรู้จักและเชื่อว่าสูญหายไปหลังจากกองทัพไทยตีเมืองพระนครและกวาดต้อนผู้คนกลับไปเมืองไทย ก็เลยเป็นโอกาสของพวกฝรั่งเศสนักสำรวจล่าอาณานิคม เช่น อองเดร มูโอต์ อ้างตัวว่าเป็นผู้ค้นพบเมืองพระนครให้ทั่วโลกได้รับรู้ เรื่องเช่นนี้ถ้าเป็นคนท้องถิ่นที่อยู่กับความจริงแล้วก็คงนึกสมเพศในความโอ้อวดของฝรั่งที่พยายามแสดงตัวเองเป็นผู้ปลดปล่อยเสมอ ทั้งๆ ที่มีจิตใจที่โหดอำมหิตเสมอมา คนท้องถิ่นที่เป็นเจนละบกรู้ดีว่าแม้เมืองพระนครจะโรยร้างไปเช่นเดียวกับพระนครศรีอยุธยานั้นก็เพียงแต่สิ่งก่อสร้างปราสาทราชวัง แต่ประชาชนที่เป็นคนเมืองนั้นยังอยู่อย่างสืบเนื่อง เพียงเคลื่อนย้ายแหล่งที่อยู่อาศัยมาสองฝั่งของลำน้ำเสียมเรียบลงไปจนถึงทะเลสาบ เพราะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและทำกิน ทำนา จับปลาอยู่แล้ว เมืองเก่าและศาสนสถานหลายแห่งก็ยังคงมีการดูแลอยู่ ดังเห็นจากหลักฐานทางโบราณคดีสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ลงมา ว่าปราสาทหลายแห่งถูกแปลงให้เป็นพุทธสถาน รวมทั้งมีการสร้างพระอุโบสถ สร้างพระสถูปเจดีย์ อันแสดงให้เห็นความเป็นวัดวาอารามในทางพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์อย่างแจ่มแจ้ง โดยเฉพาะปราสาทนครวัดเองนั้น คนไทยสยามและพุทธศาสนิกชนอื่นๆ ก็รู้จักในนามของนครวัดแทนชื่อเก่าที่เรียกว่า วิษณุโลก มีการสร้างพระสถูปและปรับเปลี่ยนพื้นที่ห้องปราสาทและระเบียงคดให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนับเนื่องกันไปหมดมีหลายยุคหลายสมัย เพราะการสร้างพระพุทธรูปถวายวัดนั้นเป็นการทำบุญที่สำคัญในการสืบพระศาสนา นครวัดนั้นหาได้เป็นที่รู้จักกันแต่เพียงคนในเสียมเรียบเท่านั้น หากแทบทุกสารทิศ เพราะเป็นแหล่งจาริกแสวงบุญของคนทั่วภูมิภาค มีการสร้างตำนานขึ้นมาอธิบายต่าง ๆ นานา ยกเว้นไอ้พวกฝรั่งถ่อย ๆ เท่านั้นที่มองไม่เห็น พระมหากษัตริย์แห่งพระนครศรีอยุธยาเองก็หาได้ลืมนครวัดนครธมไม่ ยังคงเห็นว่าเป็นแหล่งอารยธรรมที่มีอิทธิพลในทางศิลปวัฒนธรรมเสมอมา ดังเช่นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตั้งชื่อเมืองสองแควอันเป็นเมืองสำคัญบนฝั่งน้ำน่านของสุโขทัยว่า “พิษณุโลก” ตามชื่อเมืองพระนครที่ชื่อ “วิษณุโลก” เป็นเมืองที่ประทับเกือบตลอดรัชกาล การสร้างพระบรมมหาราชวังและสถานที่สำคัญ ครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในสมัยอยุธยาตอนกลางมาจนถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองในยุคอยุธยาตอนปลาย ก็ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสถาปัตยกรรมเมืองพระนคร โดยมีการรับช่างและผู้รู้ไปถ่ายแบบมาปรับปรุงตลอดเวลา คนเจนละบกเองก็มีการขยับขายแหล่งที่อยู่อาศัยขึ้นมายังที่ราบสูงโคราชโดยข้ามเทือกพนมดงเร็กมาตามช่องเขาต่าง ๆ เข้ามาหาถึงถิ่นฐานสัมพันธ์กับพวกญาติพี่น้องในเขตจังหวัดโคราช บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ จนแยกไม่ออกในด้านชาติพันธุ์ของคนสองฟากเขาพนมดงเร็กทั้งฟากไทยและกัมพูชา ดูเหมือนการดำรงอยู่อย่างสืบเนื่องของคนเจนละบกนั้นเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันว่าคนเสียมเรียบ ที่แตกต่างจากพวกเขมรพนมเปญ ความแตกต่างกันนี้คนสยามในแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๐ ลงมารู้เป็นอย่างดี ดังเห็นจากการกล่าวถึงในตำนานพงศาวดารว่า ขอมแปรพักตร์ เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างอยุธยากับเมืองพระนครนั้น คือ ทางไทยเรียกคนเสียมเรียบว่าเป็น ขอม ส่วนคำว่าเขมรนั้นปรากฏในเอกสารว่าเกิดขึ้นแต่สมัยกัมพูชาย้ายเมืองสำคัญมาอยู่ที่อุดงมีชัย และต่อมาละแวกเมื่อเกิดสงครามขึ้นระหว่างอยุธยากับกัมพูชา คนไทยสยามจะเรียกคนที่อยู่ทางเมืองละแวกหรือต่อมาคือพนมเปญว่าเป็นพวก เขมร คนเหล่านี้แต่พุทธศตวรรษที่ ๒๑ ลงมา คือพวกเขมรน้ำที่สืบถิ่นฐานมาจากเจนละน้ำ เป็นกลุ่มชนที่ผสมผสานกันของคนหลายชาติพันธุ์ทั้งจาม จีนและอื่น ๆ เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งใกล้ทะเลติดต่อกับภายนอก มีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ จนมีความสำคัญทั้งการเมือง เศรษฐกิจล้ำหน้าพวกเขมรบก หรือเสียมเรียบ ทำให้พวกเสียมเรียบเกือบถูกลืมไปพร้อม ๆ กับความรุ่งเรืองทางอารยธรรมในสมัยเมืองพระนคร ข้าพเจ้าได้รับความกระจ่างแจ้งในเรื่องนี้จากนักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่ล่วงลับไปแล้ว คือศาสตราจารย์ เยเนโอะ อิชิอิ ครั้งพบกันในการประชุมสัมมนาได้บอกว่า พบเอกสารของชาวเสปนที่เข้าไปในกัมพูชาราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ซึ่งระบุว่า กัมพูชาในช่วงเวลานั้นมีกษัตริย์ปกครองสองถิ่น คือ กษัตริย์ของกลุ่มคนที่อยู่ทางภูเขา [King of the mountain] กับ กษัตริย์ของคนที่อยู่ทางทะเล [King of the sea] ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างกันระหว่างเขมรเสียมเรียบกับเขมรพนมเปญดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เขมรทั้งสองพวก สองถิ่นนี้ยังมีความแตกต่างกันสืบมาจนปัจจุบันก็ว่าได้ เพราะอาจสังเกตได้โดยไม่ยากสำหรับผู้ที่สนใจในทางชาติพันธุ์ของคนกัมพูชาในปัจจุบัน โดยเหตุที่ยังมีความแตกต่างกันเช่นนี้ จึงเป็นความพยายามของผู้นำทางการเมืองที่มีอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่พนมเปญในเขตเขมรน้ำที่จะสร้างการยอมรับอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของทางพนมเปญ ความต้องการเช่นนี้เห็นได้จากการกระทำของเจ้าสีหนุแต่สมัยกัมพูชาเป็นเอกราชจากฝรั่งเศส ได้ใช้การอ้างสิทธิในปราสาทพระวิหารเพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์เขมรโบราณว่าเหนือดินแดนประเทศไทยเพื่อสร้างความภักดีจากคนเสียมเรียบต่อพนมเปญ มาครั้งนี้ในกรณีมรดกโลกก็เช่นเดียวกัน นายกรัฐมนตรีฮุนเซนก็ต้องการเอาชนะใจคนเสียมเรียบและหาเสียงเพื่อสยบนักการเมืองฝ่ายค้านด้วยการประกาศศักดิ์ศรีในอดีตที่สูญหายไปแล้วของกัมพูชาเหนือดินแดนที่ราบสูงโคราชของประเทศไทยโดยอาศัยช่องว่างทางการเมือง-เศรษฐกิจในเรื่องเส้นแบ่งเขตแดน ซึ่งก็นับว่าได้ผลดี อันมาจากความไม่เอาใจใส่ของรัฐบาลและความไม่เอาไหนของหน่วยราชการที่รับผิดชอบอันได้แก่กระทรวงการต่างประเทศ และกรมแผนที่ทหารในปี พ.ศ.๒๕๔๓ รัฐบาลที่ว่านี้คือรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ อันมีนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการไปร่วมเซ็น MOU. ในการปันเส้นเขตแดนกับประเทศกัมพูชา ความผิดพลาดอย่างมหันต์ที่ไม่น่าให้อภัยในการเซ็น MOU. ครั้งนี้ก็คือการไปยอมรับข้อเสนอของทางฝ่ายกัมพูชาในการใช้แผนที่มาตราส่วน ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ แนบท้ายในการแบ่งเส้นเขตแดน เรื่องการใช้แผนที่นั้นเป็นเรื่องทางเทคนิค เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบอย่างจริงจังก็คือ กรมแผนที่ทหารและหน่วยงานในกิจการด้านดินแดนของกระทรวงการต่างประเทศ หาได้เอาใจใส่อย่างรอบคอบแต่อย่างใดไม่ กลับทำความผิดพลาด ทำนองเดียวกันกับสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อครั้งมีข้อพิพาทขึ้นศาลโลกกับกัมพูชาเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารในปี พ.ศ.๒๕๐๕ เพราะครั้งนั้นก็ยอมรับในการใช้แผนที่ ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ ในการแบ่งเขตแดนที่ฝรั่งเศสทำขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๕๐ (ค.ศ.๑๙๐๗) ซึ่งฝรั่งเศสขีดเส้นเขตแดนที่มีปราสาทพระวิหารเข้าไปอยู่ในเขตแดนกัมพูชาแล้ว ทั้งแผนที่ ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ และเส้นเขตแดนนั้นคือ ของการโกงที่ชั่วร้ายของฝรั่งเศส แต่สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดันไปยอมรับแล้วยอมขึ้นศาลโลก ดังเป็นเรื่องที่มั่นใจว่าจะชนะกระมัง เพราะทางไทยมีทนายความที่ดีระดับโลก เรียนจบมาแต่ฝรั่งเศส จึงลงเอยด้วยการแพ้และเสียปราสาทพระวิหาร ซึ่งครั้งนั้นก็นับว่าทางฝ่ายทหารของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ก็ยังไม่ยอมเสียดินแดนภายในเขตสันปันน้ำ เพราะถือว่าเขตแดนยังเป็นของไทย ซึ่งศาลโลกเองก็หาได้ระบุถึงพื้นที่รอบพระปราสาทพระวิหารให้เป็นของกัมพูชาแต่อย่างใด ข้อบกพร่องอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญของรัฐบาลและกรมแผนที่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ก็คือไม่คิดจะใช้แผนที่ ๑ : ๕๐,๐๐๐ เป็นหลักฐานสำคัญในการกำหนดเขตแดน เพราะครั้งนั้นแผนที่ ๑ : ๕๐,๐๐๐ ก็มีใช้กันอยู่แล้วเป็นแผนที่ซึ่งทหารอเมริกันทำขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง นั่นหมายถึงแผนที่ ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ ควรเป็นของล้าสมัยในความถูกต้องและชัดเจนไปแล้ว ความผิดพลาดที่ไม่อาจแก้ตัวได้โดยวิธีการอันใดก็ตาม ก็คือการเซ็น MOU. ๔๓ โดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์นั้นก็ยังตะแบงใช้แผนที่มาตราส่วน ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ อย่างมองไม่ออกว่า เป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากเส้นเขตแดนครั้งที่ฝรั่งเศสทำไว้แต่ดึกดำบรรพ์อย่างไร ก็เลยเข้าทางเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของรัฐบาลยุคพ่อค้าข้ามชาติ ครองแผ่นดินในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งนั้นข้าพเจ้าได้ยินมาจากนายทหารรักชาติตัวเล็ก ๆ ที่ไม่ใช่พวกนายพลข้ามชาติ ว่ารัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาได้วางแผนร่วมกันในการประชุมกัน เข้าใจว่าที่อุบลราชธานีในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจในบริเวณตะเข็บชายแดนบนเทือกพนมดงเร็ก แต่อุบลราชธานีที่มีเรื่อง สามเหลี่ยมมรกต ผ่านเขาพระวิหารและช่องเขาต่าง ๆ ลงไปถึงเขตชายทะเลเช่นถึงเกาะกง เป็นต้น เล่าว่าผู้เข้าร่วมประชุมก็มีทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทางรัฐบาล เช่น กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหม เป็นต้น นัยว่าเป็นการประชุมลับเสียด้วย เขาพระวิหารและปราสาทพระวิหารนับเนื่องเป็นแหล่งสำคัญแหล่งหนึ่ง ซึ่งต่อมารัฐบาลกัมพูชาภายใต้จอมทรราชฮุนเซน หักหลังไปสมรู้ร่วมคิดกับคณะกรรมการมรดกโลกในการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกปราสาทพระวิหารให้เป็นของกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียว ในเรื่องนี้เห็นอย่างโล่งโจ้งจากขั้นตอนขึ้นทะเบียนที่ยอมขึ้นตัวปราสาทพระวิหารก่อน ทั้ง ๆ ที่ความจริงในหลักการปกติเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีทางสมบูรณ์แบบ แต่คณะกรรมการมรดกโลกนั้นคาดผิด เพราะเคยชินต่อการจะเสนอแนะอะไรแล้วทางรัฐบาลไทยมักจะยอมตามตลอดเวลา โดยเฉพาะในด้านวิชาการที่บรรดานักวิชาการฝ่ายไทยยอมเป็นลูกไล่ฝรั่งแสมอมา นี่ถ้าหากไม่มีการที่ทางภาคประชาสังคมออกมาโวยวายต่อต้านกันอย่างต่อเนื่อง ดังเห็นกันในทุกวันนี้ แหล่งมรดกโลกพระวิหารก็คงเกิดขึ้นภายใต้คำว่า แหล่งมรดกโลกพระวิเหียร อันเป็นคำในภาษาเขมร ที่ศักดิ์ศรีอยู่ที่คนกัมพูชา ในขณะที่คนไทยเสียทั้งอำนาจอธิปไตยในเรื่องดินแดน ไร้ศักดิ์ศรีและผลประโยชน์ ส่วนผู้ที่มีส่วนได้ผลประโยชน์อย่างแท้จริงก็คือ กลุ่มคนข้ามชาติที่มีทั้งนักธุรกิจ นักการเมือง นักวิชาการข้ามชาติและข้ามเพศ ทั้งที่เป็นคนไทย คนเขมรและคนฝรั่ง คนจีน คนญี่ปุ่นและอื่นๆ หาใช่คนไทยในท้องถิ่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และคนเขมรเสียมเรียบที่ควรจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง [Local stakeholder] ในที่สุดความเป็นมรดกโลกอย่างแท้จริงก็คงหาบังเกิดไม่ แต่จะกลายเป็นมรดกโลกของคนข้ามชาติที่ทำให้เป็นมรดกแค้นที่นำไปสู่ความเป็นศัตรูกัน ระหว่างคนสองชาติคือ ไทยและเขมรอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในบทความนี้ ข้าพเจ้าไม่คิดเรียกร้องขออะไรจากรัฐบาลซื่อบื้อที่ปกครองบ้านเมืองอยู่ในขณะนี้ เพราะสิ่งที่แถลงมาในเรื่องการไม่ยกเลิกแผนที่มาตรา ๑: ๒๐๐,๐๐๐ ที่เป็นหลักฐานสนับสนุนเส้นเขตแดนที่ฝรั่งเศสทำไว้แต่ปางก่อนนั้น คือการแก้ตัวที่ขาดความกล้าหาญทางจริยธรรม คงจะต้องหันมายังภาคประชาชนที่ต้องรวมพลังกันอย่างมหาศาลในการยกเลิก MOU. อัปยศที่จะนำมาซึ่งความฉิบหายอย่างผ่อนส่งกับประเทศชาติในด้านดินแดน อำนาจอธิปไตย ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งบนบกและในทะเลในช่วงเวลาที่ไม่นานเกินรอนี้ เมื่อมาถึงตอนนี้ข้าพเจ้าก็ใคร่เสนอข้อคิดใหม่ว่า ทำไมพวกเราที่เป็นคนไทยอันเป็นคนตะวันออกที่ก็นับว่ามีสติปัญญา มีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ทัดเทียมกันกับคนตะวันตก ไม่ลองตั้งสติและทบทวนด้วยปัญญาแล้วพิจารณาว่า มรดกโลกที่กำลังเป็นมรดกโลภ และเส้นแบ่งเขตแดนที่เกี่ยวข้องกับ MOU. ๔๓ นั้น เนื้อแท้ก็เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นจากสติปัญญาที่ฉ้อฉลของคนตะวันตกทั้งสิ้น เป็นอกุศลกรรม กลลวงที่ทำให้คนในท้องถิ่นทั้งคนไทยในที่ราบสูงโคราช และคนเสียมเรียนในพื้นที่เขมรต่ำ เกิดความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผิดกับแต่ก่อน ๆ ที่เคยอยู่กันอย่างเป็นญาติพี่น้อง เป็นเสี่ยว เป็นสหายกัน คนทั้งสองฝ่ายต่างมีส่วนได้เสียในพื้นที่แห่งการเปลี่ยนผ่าน เช่น บริเวณสันปันน้ำ บริเวณท้องน้ำเช่นแม่น้ำโขงร่วมกัน แล้วยกให้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ทั้งสองฝ่ายช่วยกันสร้างขึ้น เช่นปราสาทพระวิหารบนเทือกพนมดงเร็ก พระบรมธาตุพนม ที่แม่น้ำโขงให้เป็นที่ซึ่งคนทั้งสองฝ่าย และคนภายนอกที่มาจากที่อื่น ๆ ประเทศอื่น ๆ ได้มาสักการะ และมาเที่ยวมาชมมาพักแรม มาซื้อขายสิ่งของที่เป็นผลิตผลที่เกิดจากชีวิตวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น อันนับเป็นการฟื้นฟูแหล่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เช่นปราสาทพระวิหาร พระบรมธาตุพนมให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มีชีวิตขึ้นมา แทนที่การเป็นมรดกโลก-มรดกโลภ บ้า ๆ บอ ๆ ของไอ้พวกฝรั่งตะวันตกที่ไม่มีประโยชน์อันใดแก่คนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของร่วมกันเลย เมื่อพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่า เส้นแบ่งเขตแดนก็ดี มรดกโลกก็ดี ล้วนเป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นให้เป็นเครื่องมือของนักธุรกิจการเมืองข้ามชาติที่ตอบสนองโดยรัฐบาลทรราชจากกรุงเทพฯ และกัมพูชา โดยมีบรรดานักวิชาการไม่มีชาติที่ชอบตามฝรั่งหมาไม่กัดเป็นพวกสนับสนุน อ้างความชอบธรรมในการแย่งชิงพื้นที่และทรัพยากรของคนท้องถิ่นของทั้งสองประเทศ ที่กล่าวมานี้ก็เพื่อที่จะเสนอว่า ควรรวมพลังกันเลิกทั้ง MOU. ๔๓ ที่เป็นเรื่องของเขตแดน และแหล่งมรดกโลก ปราสาทพระวิหารเสีย แล้วคิดใหม่ทำใหม่ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นทั้งสองชายแดนร่วมกัน อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
- คนไทยจะเป็นทาสในยุคอำมาตย์ไพร่
เผยแพร่ครั้งแรก 1 ก.ย. 2553 บ้านเมืองไทยในสยามประเทศยุคนี้ อยู่ในขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก จากโลกาภิวัตน์เข้าสู่โลกาพิบัติ ซึ่งเห็นได้จากทั้งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ทางสังคมเศรษฐกิจและการเมือง ปรากฏการณ์ธรรมชาตินั้นเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางดินฟ้าอากาศที่ทำให้เกิดพายุหมุนไม่ว่าจะเป็นเฮอริเคน ทอร์นาโด และไต้ฝุ่นต่างก็เป็นพายุที่มีอานุภาพในการพัดทำลายบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้าง รวมทั้งการนำฝนและน้ำทะเลเข้าท่วมท้น พัดทำลายทำให้เกิดภาวะบ้านแตกและการเสียชีวิต การพลัดพรากของผู้คน ภัยพิบัติธรรมชาตินี้เพิ่มความรุนแรงและศักยภาพในการทำลายเพิ่มขึ้นในเรื่องสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม ขาดการจัดการอย่างไม่มีดุลยภาพ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การทำเขื่อนพลังงาน และการชลประทาน การสร้างถนนหนทาง การขยายตัวทางอุตสาหกรรมแหล่งผลิตและการทำเกษตรอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีไม่เหมาะสม ภัยพิบัติที่เกิดจากสภาพแวดล้อมดังกล่าวนี้ สร้างความเสียหายมากในบรรดาประเทศที่มีความล้าหลังทางวัฒนธรรม เช่น ประเทศด้อยพัฒนาที่หลงตนเองว่าพัฒนาแล้ว เช่น ประเทศไทย [Modernization without development] ในส่วนปรากฏการณ์ทางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองที่ยังความพิบัติมายังบ้านเมืองและผู้คนก็คือ การมีระบบการเมืองการปกครองในระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่ทำให้การเลือกตั้งกลายเป็นเรื่องซื้อเสียงซึ่งเข้ากันได้ดีกับการเน้นระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีที่ให้ความสำคัญกับสิทธิของปัจเจกบุคคลจนทำให้มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคมกลายเป็นเดรัจฉาน ทั้งระบบการปกครองและระบบเศรษฐกิจดังกล่าวนี้ เป็นวัฒนธรรมตะวันตกที่สังคมไทยแต่สมัยรัฐบาลไทย แต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๕ รับเข้ามาแทนที่ระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชที่มีมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ อันเป็นสมัยการปกครองแบบอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพมหานคร แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงมีพระราชอำนาจสูงสุดแต่ผู้เดียว แต่ในด้านบริหารราชการแผ่นดินเป็นระบบราชการที่เป็นอำมาตยาธิปไตย เพราะพระมหากษัตริย์ทรงมอบหมายอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ ให้เป็นเรื่องของขุนนาง ข้าราชการรับผิดชอบดำเนินการกิจกรรมของแผ่นดินในลักษณะที่ลดหลั่นกันลงไป จากสูงลงต่ำ โดยมีประชาชนที่เรียกว่าไพร่เป็นผู้ถูกปกครอง อาจจะเรียกว่าบ้านเมืองถูกปกครองโดยกลุ่มของ “อำมาตย์ผู้ดี” ก็ได้ เพราะคำว่า “ผู้ดี” นั้นหมายถึงผู้ที่มีวิถีชีวิตและความประพฤติปฏิบัติอยู่ในกรอบของศีลธรรมและคุณธรรมทางศาสนา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงบำเพ็ญบารมีเป็นผู้นำ แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมานั้น เป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปไม่ว่าจะเป็นไพร่หรือผู้ดีที่มีการศึกษามีความรู้ดีแบบทางตะวันตกเข้าสู่ระบบราชการ ความคิดแบบประชาธิปไตยที่อำนาจมาจากประชาชนโดยผ่านการมีรัฐธรรมนูญก็เข้ามาแทนที่อำนาจจากเบื้องบนทางศาสนาและพระมหากษัตริย์แล้วก็ตาม แต่ระบบอำมาตยาธิปไตยแต่เดิมก็หาได้เปลี่ยนไปไม่ เพราะโครงสร้างการปกครองและการบริหารราชการยังมีลักษณะรวมศูนย์เช่นเดิม ความเหลื่อมล้ำในเรื่องอำนาจหน้าที่ก็ยังเหมือนเดิม ต่างกันแต่เพียงพวก “อำมาตย์ผู้ดี” ลดจำนวนลง มีพวก “อำมาตย์ไพร่” เพิ่มขึ้นมาแทนที่ พวกอำมาตย์ไพร่แต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามซึ่งนับอายุขัยได้จนถึงทุกวันนี้ก็คือ คนรุ่นปู่ รุ่นย่า รุ่นยายที่ยังมีคำนิยาม อุดมการณ์ การมองโลกแบบเดิม ๆ ของคนตะวันออกอยู่พอสมควร แต่ตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๕ เป็นต้นมา การพัฒนาประเทศทั้งในระบบราชการ การบริหารและเศรษฐกิจที่ได้ส่งคนไปศึกษาอบรมทางตะวันตก โดยเฉพาะจากอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศสนั้น ได้ทำให้ผู้ที่เข้ามารับราชการเลื่อนขั้นเป็นอำมาตย์ไพร่รุ่นใหม่ถูกครอบงำด้วยการมองโลก ค่านิยมและอุดมคติแบบวัตถุนิยมอย่างโลกยวิสัยอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเห็นได้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ที่มีมาแต่ละยุคสมัยนั้น แทบไม่มีมิติทางจิตวิญญาณทางศาสนาและศีลธรรมเกี่ยวข้อง คำขวัญ งานคือเงิน เงินคืองานบันดาลสุข อันเป็นที่มาของ เงินและอำนาจ คือสิ่งเดียวกันและเป็นกระบวนทัศน์ของคนรุ่นใหม่ทั้งระดับบนคืออำมาตย์ไพร่ คือผู้ปกครองและพวกไพร่ที่เป็นประชาชน ซึ่งยังคงเป็นชนชั้นของผู้ถูกปกครองเช่นเดิม แต่อำมาตย์ไพร่ครั้งสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นต้นมา ก็ยังเป็นอำมาตย์ไพร่ที่มีพวกขุนศึกคือทหาร เป็นคณะบุคคลที่ทรงอำนาจในแผ่นดิน ที่มักมีเอี่ยวกับบรรดาพ่อค้า นายทุน ที่ร่วมกันแสวงหาอำนาจและเงินจากระบบราชการ ด้วยการกระทำที่เรียกว่า คอรัปชั่นแบบถูกกฎหมาย คือมีการทั้งออกกฎหมายไม่เป็นธรรม หลีกเลี่ยงกฎหมายและละเมิดกฎหมายรวมอยู่ด้วย ทำให้สังคมไทยพัฒนาเข้าสู่การเป็นสังคม ละเมิดกฎหมายอย่างเต็มตัว [Law violating society] กลไกของรัฐ เช่น ทหารที่มีไว้เพื่อป้องกันภัยจากข้างนอกกลายมาเป็นเครื่องมือในการปฏิวัติรัฐประหารแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องความต้องการของผู้มีอำนาจ ในขณะที่กลไกในด้านรักษาและบังคับด้วยกฎหมายเพื่อความสงบสุขและยุติธรรมภายใน อันได้แก่ ตำรวจ ก็กลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในการกดขี่สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมจนในทุกวันนี้ ตั้งแต่รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ของพรรคกิจสังคมเป็นต้นมา อำนาจของคณะบุคคลที่มีอำนาจในแผ่นดินที่เป็นขุนศึกก็แผ่วลง เพราะมีแรงต้านในแผ่นดินของปัญญาชนรุ่นใหม่ที่มีมาแต่สมัย ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๔ เพิ่มแรงขึ้น นักวิชาการทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ผลักดันในด้านเศรษฐกิจ-การเมืองมากขึ้น เช่นการเน้นการเลือกตั้งลงสู่ท้องถิ่นเกิดระบบเงินผันเพื่อเพิ่มรายได้แก่ประชาชนที่ดูเหมือนเป็นต้นกำเนินของการแจกเงินแบบประชานิยมของรัฐบาลทักษิณและไทยเข้มแข็งของพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบัน สิ่งที่สังเกตได้ค่อนข้างชัดในช่วงเวลานี้ ก็คือบทบาทและอำนาจของพวกขุนศึกค่อยๆ ลดลง โดยมีพวกนายทุน พ่อค้าค่อย ๆ เข้ามาแทนที่และมีความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์ต่อกัน พอถึงรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวันก็มาถึงจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ เกิดรัฐบาลพลเรือนที่มีพวกพ่อค้านายทุนอยู่เหนือทั้งรัฐและตลาด ขยายกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจ-การเมืองทั้งในระดับบนและล่างของประเทศรวมทั้งขยายตัวไปยังบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เขมร เวียดนาม “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นการค้า” นับเป็นยุคของการเติบโตทางเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมและเกษตรอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก การเปิดรับการลงทุนจากภายนอกอย่างกว้างขวาง จนเกิดการเล่นหุ้น ปั่นหุ้น ขายที่ ปั่นที่ดิน เงินทองเป็นสิ่งที่หาได้เพราะเมืองไทยมีที่ดินอุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรมากมายที่คนท้องถิ่นรู้เท่าไม่ถึงการณ์ชักนำให้นำไปขาย นำไปจำนอง เกิดขบวนการนายหน้าหาซื้อที่ดิน จัดหาคนทำงานเป็นแรงงาน ในขณะที่ทางรัฐส่วนกลางและส่วนภูมิภาคก็ขยายกิจกรรมทางด้านโครงสร้างสาธารณะ เช่น ถนนหนทาง โรงงานไฟฟ้า เขื่อนพลังน้ำ ย่านชุมชนเมือง แหล่งอุตสาหกรรม แหล่งท่องเที่ยวอะไรต่าง ๆ นานา ในยุคของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรีก็เกิดสถาบันการปกครองท้องถิ่นใหม่เพิ่มขึ้นมา คือ อบต. และ อบจ. ที่สมาชิกขององค์กรมาจากการเลือกตั้งจากคนในท้องถิ่น สถาบันนี้เกิดขึ้นในความคิดว่าเป็นการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง [Decentralization] ลงในท้องถิ่นที่มีความเจริญเป็นเมือง ต่างกับสถาบันผู้ใหญ่บ้านและกำนันที่เป็นการมอบอำนาจ [Delegation of authority] ลงสู่ท้องถิ่นที่ยังเป็นบ้านไม่ใช่เมือง แต่โดยพฤติกรรมและความเป็นจริงแล้ว การเกิด อบจ.และ อบต. หาใช่การกระจายอำนาจไม่ หากเป็นการมอบอำนาจเช่นเดียวกันกับสถาบันผู้ใหญ่บ้านและกำนัน เพราะทั้งสองสถาบันเมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกเข้าทำงานในองค์กรแล้ว ทางรัฐเป็นผู้กำหนดอำนาจหน้าที่และเงินงบประมาณลงมาให้จัดการใช้จ่าย โดยย่อก็ยังต้องพึ่งงบประมาณจากทางส่วนกลางหรือจากทางรัฐอยู่ดี และผู้ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญขององค์กรก็มีอำนาจหน้าที่ เพราะถือว่าได้เข้ามาดำรงตำแหน่งจากการเลือกตั้งอย่างประชาธิปไตย แต่เท่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้พฤติกรรมของบรรดาผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และอบจ. อบต หรือระดับเทศบาลต่าง ๆ ก็คืออำมาตย์ไพร่ในระดับท้องถิ่น ที่ส่วนมากซื้อเสียงหาเสียงเข้ามาหลายแห่งก็หาใช้คนในท้องถิ่นไม่ หากเป็นพวกนักธุรกิจ นักก่อสร้างลงทุนจากที่อื่น เพื่อเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ผลที่ตามมาสภาวะทางสังคมของท้องถิ่นเกิดความเดือดร้อนและขัดแย้ง โดยเฉพาะในเรื่องผลประโยชน์ เกิดคอรัปชั่นในเรื่องเงินทองที่ได้มาจากทางรัฐ มีการแบ่งพรรคพวกเป็นกลุ่มปรปักษ์เพื่อผลประโยชน์อย่างแพร่หลาย แต่ก่อนในสังคมเกษตรกรรมแบบชาวนา [Peasant society] ที่คนอยู่กันเป็นหมู่เหล่า มีเทือกเถาเหล่ากอก็มีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ ต่าง ๆ และมีความขัดแย้งกัน แต่ก็อาจปรองดองกันได้ด้วยสำนึกร่วมของคนที่อยู่ร่วมบ้านเกิดหรือชุมชนเดียวกัน [Sense of belonging] ไม่ว่าคนจนคนรวยหาได้แบ่งออกเป็นกลุ่มปรปักษ์ [Faction] ที่มีผู้นำมีพฤติกรรมที่เป็นมาเฟีย หรือผู้มีอิทธิพลไม่ แต่หลังจากเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมและเกษตรอุตสาหกรรมดังเช่นทุกวันนี้ ชีวิตความเป็นอยู่ร่วมกันอย่างผ่อนผันและปรองดองกันแบบเก่าก่อนหามีไม่ คนส่วนใหญ่เน้นความเป็นปัจเจกเพื่อตัวเองและพวกพ้อง แลไม่เห็นความสำคัญของส่วนรวม หากมีแต่ส่วนตัวและแข่งขันทำลายกันตลอดเวลา ทุกวันนี้ในแทบทุกท้องถิ่นจะแลเห็นมาเฟียที่มาจากทางสายราชการหรือทางรัฐ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็ดี กับมาเฟียที่เป็นพวก อบจ. และอบต เทศบาลที่ล้วนแต่กลายเป็นเครือข่ายในระบบอุปถัมภ์ของบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองที่มีสิทธิมีเสียงในรัฐสภาทั้งสิ้น ทำให้แลเห็นความเชื่อมโยงของผลประโยชน์ในเรื่องอำนาจและเงินจากสภาท้องถิ่นเข้าสู่รัฐสภาและผู้ที่คุมอำนาจเหนือรัฐสภาและรัฐก็คือ บรรดานักธุรกิจการเมืองนายทุนที่ล้วนมีความสัมพันธ์กับนายทุนข้ามชาติในยุคโลกาภิวัฒน์ ที่สอดคล้องกับนโยบายทางเศรษฐกิจแห่งชาติของแทบทุกรัฐบาลในเรื่องการให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้า จนเกิดการลงทุนข้ามชาติเข้ามากว้านซื้อและครอบครองที่ดินและทรัพยากรนานาชนิด ทั้งในการเข้ามาเป็นเจ้าของทั้งในทางตรงและทางอ้อม กลุ่มคนเหล่านี้คือพวกที่มีอำนาจเหนือรับและเหนือตลาดอย่างแท้จริง รัฐกลายเป็นเครื่องมืออย่างทรงพลังของบรรดาทุนข้ามชาติเหล่านี้ ดังเห็นได้จากโครงสร้างอำนาจที่รวมศูนย์อย่างเบ็ดเสร็จเกิดกระทรวง กรมกองและหน่วยราชการมากมายจากข้างบนลงล่าง ควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมอย่างชอบธรรม จากการสร้างกฎหมายขึ้นมารองรับและบังคับใช้ นี่คือลักษณะของรัฐทรราชย์ยุคโลกาภิวัตน์ที่แลเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านเมืองขายได้กินได้เพื่อเกิดรายได้มาแบ่งปันกันเองในหมู่ของพวกนายทุนเป็นนายทุนที่เป็นอำมาตย์ไพร่ เพราะแฝงอยู่ในคราบของอำมาตย์ผู้ดี แต่สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง คราบของอำมาตย์ที่เห็นได้ก็คือ บรรดาเครื่องแบบ เครื่องแต่งกายและเครื่องอิสริยาภรณ์แสดงฐานะความสูงต่ำ ความมีหน้ามีตา มีอำนาจ ที่บรรดาขุนนาง ข้าราชการในสมัยสังคมศักดินาที่กว่าผู้ที่จะสวมใส่ได้นั้นต้องเป็นที่ประจักษ์ในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม พวกผู้ดีแต่สมัยศักดินาเคยปรารภให้ฟังเสมอว่าพวกอมาตย์ไพร่ในยุคนี้ ดูกริยาท่าทางและพฤติกรรมแล้ว เหมือนคางคกขึ้นวอ แต่ในขณะที่บรรดาอำมาตย์ไพร่ของทุกพรรคและทุกรัฐบาลของรัฐรวมศูนย์ที่มีอำนาจเดิมอย่างเป็นทรราชย์กำลังแย่งชิง แย่งอำนาจในเรื่องการยุบพรรคและแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญกันในขณะนี้ พวกที่เป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน คือประชาชนทั่วไปนั้นกำลังอยู่ในภาวะที่มีความขัดแย้งและล่มจมมอยู่ทุกขณะ อันเป็นผลมาจากการรุกล้ำแย่งชิงที่ดินและทรัพยากรจากบรรดานายทุนที่มีทั้งพวกข้ามชาติและในชาติ ในการประเมินที่ดินของชาติที่ผู้มีสิทธิครอบครองได้ตามกฎหมายของคณะกรรมการปฏิรูป ชุดคุณอานันท์ ปันยารชุน พบว่าคนรวยที่เป็นนายทุนทั้งข้ามชาติและในชาติจำนวนสิบเปอร์เซ็นต์ ครองครองที่ดินจำนวน เก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของชาติ ในขณะที่คนจนจำนวนเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ มีที่ดินเพียงสิบเปอร์เซ็นต์ของชาติ เพียงแค่นี้ก็เพียงพอจะอธิบายให้เห็นความล่มสลายของสังคมเกษตรกรรมแบบชาวนาที่เป็นสังคมพื้นฐานของประเทศมาแต่เดิมได้ชัดเจน นั่นคือบรรดาเกษตรกรรายย่อยที่พอมีที่ทำกินของตนเองแทบไม่เหลือ กลับมีเกษตรกรรายใหญ่ทำการเกษตรแบบคอนแทรกฟาร์มมิ่ง [Contracted farming] ของนายทุนเข้ามาแทนที่ อันเป็นลักษณะของสังคมอุตสาหกรรมที่ทำให้ชาวนาและชาวไร่เดิมลายเป็นแรงงาน มีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเดิมไปเป็นแรงงานในที่ต่าง ๆ ทั้งงานอุตสาหกรรม งานบริการในเมืองและงานเกษตรอุตสาหกรรมตามไร่ขนาดใหญ่ การเกษตรอุตสาหกรรมดังกล่าวนี้ไม่จำกัดอยู่เพียงการปลูกข้าวที่ทำในที่ลุ่มเท่านั้น แต่ขยายไปถึงพืชเศรษฐกิจนานาชนิดที่ทำกันในที่สูง อันเป็นแหล่งต้นน้ำ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ยูคาลิปตัส ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มีกระบวนการชลประทานขนาดใหญ่ที่แย่งน้ำจากชาวบ้านมาใช้ในการเกษตรที่ทำกันทุกฤดูกาล รวมทั้งการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยราชการออกเอกสารสิทธิ์รุกป่าสงวน ออกเอกสารสิทธิทับที่ทำกินของชาวบ้าน จนเกิดเป็นคดีความไปทั่ว นอกจากการแย่งที่ทำกินในเรื่องที่ดินแล้ว ในพื้นน้ำและท้องน้ำก็โดนด้วย ในสังคมแบบชาวนานั้นได้จำกัดอยู่เพียงคนที่ทำนาทำไร่บนพื้นแผ่นดินเท่านั้น หากยังครอบคลุมไปยังบรรดาผู้คนที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำลำคลอง ชายหาดและท้องที่ในอ่าวในทะเล ที่มีอาชีพเป็นชาวประมงด้วย แต่เป็นประมงรายย่อยที่เรียกว่า ประมงพื้นบ้าน ที่ผู้คนใช้พื้นน้ำทำกินร่วมกันโดยไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ แต่ในทุกวันนี้ ชาวประมงพื้นบ้านถูกบดขยี้จากการประมงพาณิชย์ของบรรดาพวกนายทุนทั้งข้ามชาติและในชาติที่มีอิทธิพลอยู่เหนือรัฐและเหนือตลาดทั้งหลาย การประมงแบบนี้นอกจากใช้เครื่องมือด้วยจักรกลและเทคโนโลยีที่ทันสมัยจับปลาและสัตว์ทำได้เป็นจำนวนมาก เช่น อวนรุน อวนลากอย่างแทบไม่มีเวลาให้พื้นน้ำหยุดหายใจบ้างแล้ว ยังเป็นการประมงที่จัดพื้นที่ท้องน้ำมาครอบครองเป็นของคนอย่างมีกฎหมายรองรับที่ชั่วช้าและโหดสุด ๆ ที่รัฐกระทำกับประชาชนก็คือ การให้เอกชนมีโฉนดน้ำไว้ครอบครอง ทำให้ชาวบ้านชาวประมงที่เคยใช้พื้นน้ำมาก่อนถูกขับไล่และถูกไล่ยิง ในทุกวันนี้ผลจากความร้ายที่สุดโหดของรัฐบาลทรราชย์อำมาตย์ไพร่ที่มีมาหลายสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาจากรัฐอำมาตย์ผู้ดี ประชาชนตามท้องถิ่นเป็นจำนวนมากไม่เพียงแต่โดนแย่งที่ทำกินอย่างถูกกฎหมายแล้ว ยังถูกจับไปดำเนินความ ดำเนินคดีต้องโทษในคุกในตะรางกันเป็นระนาว ชาวบ้านหลายคนต้องตกเป็นจำเลยของรัฐในกรณีทำผิดกฎหมายในที่ทำกินของคนที่ครอบครองมาแต่รุ่นปู่ย่าตายาย อย่างเช่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ชาวบ้านถูกขังคุกจนตายที่จังหวัดลำพูน เป็นต้น แต่ท่ามกลางความทุกข์ยากของแผ่นดิน บรรดาอำมาตย์ไพร่และนายทุนทั้งหลายของแต่ละพรรคการเมืองไม่เคยเดือดเนื้อร้อนใจ กลับมีแต่ทะเลาะกันแย่งชิงอำนาจกัน เช่นในกรณียุบพรรคและการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ เพราะฉะนั้นก็ควรที่บรรดาวิญญูชนทั้งหลายควรทบทวนกันใหม่ว่า นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนทุกวันนี้ ภายใต้การปกครองและการครอบงำของอมาตยาธิปไตยของพวกอำมาตย์ไพร่ ประชาชนได้อะไรนอกจากจะอยู่ในสภาพการไร้แผ่นดินที่อยู่อาศัย ไร้ที่ทำกิน อนาคตที่แลเห็นชัดเจนขึ้นทุกที คือการเป็นทาสติดที่ดินให้กับบรรดานายทุนข้ามชาติ ถ้าสังคมไทยกำลังกลายเป็นสังคมทาสยุคโลกาภิวัตน์ก็เป็นได้ ในสุดท้ายอยากใคร่เปรียบเทียบระหว่างกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นปรัชญาทางตะวันตกที่แก้กันอยู่หลายยุคหลายสมัยในขณะนี้กับกฎหมายตราสามดวงอันมีมาแต่สมัยอยุธยาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสังคายนาและใช้เป็นกฎหมายปกครองประเทศ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑–รัชกาลที่ ๔ มีมาตราหนึ่งที่มีเนื้อความว่า “แผ่นดินเป็นของพระมหากษัตริย์ ทรงพระราชทานให้แก่ราษฎรได้ทำกินตามศักยภาพ แต่ถ้าไม่ทำกินแล้วไม่ใช้ประโยชน์แล้วไม่อาจจะยึดเอาไว้เป็นกรรมสิทธิ์ได้ ต้องคืนกลับให้กับรัฐ” อำมาตย์ผู้ดีแต่ก่อนเขารักษาที่ดินไว้ให้ลูกให้หลานทำกิน แต่อำมาตย์ไพร่สมัยปัจจุบันแย่งที่ดินของชาติไปให้ต่างชาติแทน ประชาชนที่เป็นคนไทยทุกวันนี้จะเป็นไพร่ก็คงไม่ได้เสียแล้ว นอกจากทาสแต่เพียงอย่างเดียว โอ้ โลกาพิบัติ! อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
- “ต้องสร้างพลังประชาสังคมต่อรองอำนาจรัฐและทุนเหนือรัฐ” เพื่อการอยู่รอดของสังคมไทย
เผยแพร่ครั้งแรก 1 ก.ค. 2554 ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาตราบจนปัจจุบัน อิทธิพลของโลกาภิวัตน์ที่ครอบงำและมีผลกระทบอย่างร้ายแรงแก่ผู้คนในสังคมไทยก็คือ อำนาจของทุนเหนือรัฐและเหนือตลาดของกลุ่มนักธุรกิจข้ามชาติ อำนาจทุนดังกล่าวนี้เป็นอำนาจของเงินตัวเดียว หาได้มีตัวอื่นไม่ และเป็นอำนาจที่ใช้ได้กับรัฐไทย โดยผ่านรัฐไทยลงสู่สังคมข้างล่างได้ดีกว่ารัฐอื่น ๆ ในโลก เพราะรัฐไทยเป็นรัฐรวมศูนย์ที่ทำให้การจัดการทุกอย่างในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมือง การปกครอง กำหนดมาจากศูนย์กลางแต่ฝ่ายเดียว รัฐไทยนับว่าเป็นรัฐในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศในโลก โดยเฉพาะประเทศทางตะวันตก แต่ความเป็นประชาธิปไตยของรัฐไทยนั้นเป็นประชาธิปไตยจากข้างบนแบบผูกขาด โดยผู้ที่มีอำนาจและมีความรู้จากศูนย์กลางเป็นผู้กำหนด ตามความเคยชินของคนจากข้างบนที่ได้รับการยอมรับจากคนข้างล่างมาแต่สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงต่างกันกับสังคมในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยในที่อื่นๆ ที่ความเป็นประชาธิปไตยนั้น เริ่มมาจากข้างล่างจากการประสบการณ์ในความสัมพันธ์กันทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของผู้คนหลายท้องถิ่น หลายชาติพันธุ์และหลายศาสนา เป็นประชาธิปไตยที่อุบัติขึ้นในลักษณะที่เป็นเอกภาพท่ามกลางความหลากหลายและความขัดแย้ง แต่ที่สำคัญเป็นประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสและพื้นที่ให้คนจากข้างล่างในภาคประชาชนมีอำนาจในการต่อรองและตรวจสอบอำนาจรัฐที่มาจากเบื้องบนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยพลังประชาสังคม [Civil society] ที่เป็นกลุ่มก้อนและเครือข่าย อำนาจต่อรองของกลุ่มประชาสังคมนั้น โดยหลักการหาได้เป็นอำนาจในการบังคับใช้ [Authoritative power] เช่นของรัฐไทยไม่ หากเป็นอำนาจของการต่อรองและตรวจสอบ [Sanction] รวมทั้งการต่อต้านด้วยสันติวิธี เช่นการเดินขบวนเรียกร้องและที่เข้มข้นก็คือ อารยะขัดขืน [Civil disobedience] เช่น การไม่ยอมเสียภาษี ถ้าหากทางรัฐไม่รับฟังและใช้อำนาจบังคับจนขาดความชอบธรรมก็อาจเป็นเหตุให้เกิดการจลาจลและสงครามกลางเมือง อันเป็นการปฏิวัติจากข้างล่าง [Civil war] ในที่สุด หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นยุคของสงครามเย็นที่มีการแบ่งขั้วกันระหว่างประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยทุนนิยมเสรีกับประเทศประชาธิปไตยสังคมนิยมที่คนทั่วไปเรียกว่า คอมมิวนิสต์ อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส คือกลุ่มแกนนำของฝ่ายระบอบประชาธิปไตยทุนนิยมเสรี ในขณะที่รัสเซียและจีน คือแกนนำของฝ่ายคอมมิวนิสต์ เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างชั้วประชาธิปไตย ขั้วคอมมิวนิสต์ ได้แบ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกเป็นฝ่ายประชาธิปไตย เช่น ไทยและมาเลเซียกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ได้แก่ เวียดนาม ลาว และเขมร ส่วนพม่าเป็นการปกครองแบบเผด็จการทหาร อเมริกาใช้ประเทศไทยเป็นปราการสำคัญในการต้านคอมมิวนิสต์จากทางจีน รัสเซียและเวียดนาม โดยการให้ความช่วยเหลือทั้งด้านเศรษฐกิจ การทหารและการศึกษาที่จะอบรมบ่มสอนให้ไทยเป็นประเทศประชาธิปไตย อเมริกาประสบความสำเร็จในการอบรมความเป็นประชาธิปไตยให้แก่ไทยได้อย่างสำเร็จเบ็ดเสร็จ เพราะทำให้เกิดคนไทยรุ่นใหม่ขึ้นที่แตกต่างไปจากคนไทยรุ่นเก่าอย่างสิ้นเชิง เป็นคนไทยรุ่นที่เป็นพ่อแม่คนและรุ่นลูกในขณะนี้ที่รับรู้และยกย่องประชาธิปไตยแบบอเมริกัน ความคิดและวัฒนธรรมอเมริกันอย่างสุดโต่ง จนเรียกว่าถูกทำให้เป็นคนอเมริกัน [Americanization] ก็ว่าได้ โดยหาตระหนักถึงความเป็นจริงไม่ว่า เป็นเพียงอเมริกันแบบต่อยอดเท่านั้น หาได้มาจากกระบวนการอบรมทางประสบการณ์ที่มาจากรากฐานทางสังคมและวัฒนธรรมไม่ เพราะฉะนั้น ความเป็นประชาธิปไตยแบบต่อยอดที่รับเข้ามา จึงเป็นประชาธิปไตยข้างบนที่ห่างไกลกับความเข้าใจและประสบการณ์ของคนจากข้างล่าง ประชาธิปไตยของคนจากข้างบนจึงเป็นประชาธิปไตยของกลุ่มปัญญาชน เช่น พวกนักวิชาการที่เป็นด๊อกเตอร์ด๊อกตีน ลูกศิษย์ลูกหาที่ได้รับการอบรมปลูกฝังมาจากอเมริกาพวกหนึ่ง กับพวกนักธุรกิจการเมืองร้อยพ่อพันแม่ที่มุ่งหวังจะเข้ามาหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและพรรคพวกในการเป็นนักการเมือง โดยผ่านการเลือกตั้งเพื่อให้เข้าไปมีสิทธิ์มีเสียงในสภาและเป็นรัฐบาลคุมอำนาจในการบริหารประเทศในลักษณะธุรกิจ การเมือง การตลาด แล้วก็แบ่งออกเป็นฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านพลัดถิ่นเข้ามาทำมาหากินกันในการเป็นรัฐบาล ข้าพเจ้าเรียกประชาธิปไตยจากข้างบนนี้ว่า “ประชาธิปไตยสามานย์” ตามอย่างทุนนิยมสามานย์ของอาจารย์ณรงค์ เพชรประเสริฐ นักเศรษฐศาสตร์ที่ริเริ่มคำว่า “ทุนสามานย์” เพราะเป็นประชาธิปไตยจากข้างบนที่เกิดจากอำนาจทุนของพวกนักธุรกิจข้ามชาติ ข้ามพรมแดน ถ้ามองย้อนทางประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยแบบนี้ ฟักตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่างแต่สมัยรัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นต้นมา เพราะเป็นยุคที่มีนักธุรกิจและนักวิชาการที่เป็นพลเรือนเข้ามาบริหารประเทศแทนกลุ่มเผด็จการทหาร และเป็นรัฐบาลเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่า “ประชานิยม” ที่เห็นได้จากการผันเงินลงสู่ชนบท จนทำให้ชุมชนไม่อยากจะพึ่งตนเองอย่างแต่ก่อน หันมาหวังเงินผันจากทางรัฐแทน สืบเนื่องมาจนถึงรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเปลี่ยนสนามรบเป็นการค้า และทุนรับโครงการทางอุตสาหกรรมและการลงทุนจากภายนอก เป็นผลให้คนข้างล่างขายที่ดิน เลิกทำการเกษตร หันมาขายที่ตนเองเป็นแรงงาน ทิ้งถิ่นฐานไม่อยู่และไปทำงานในที่ต่าง ๆ เกิดสภาวะบ้านแตกขึ้นในหลายท้องถิ่นแทบทุกภูมิภาค ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นสินค้าหมดแม้แต่ลูกเมียและตนเอง การสิ้นสุดของสงครามเย็นในสมัยประธานาธิบดีบุช ผู้พ่อ เป็นเหตุให้เปลี่ยนระเบียบโลก [World order] เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจทุนนิยมข้ามชาติทำให้อเมริกามีอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองอย่างล้นหลาม ที่จะดลบันดาลให้ประเทศใด ๆ ร่ำรวยหรือยากจนก็ได้ด้วยเล่ห์กระเท่ทางเศรษฐกิจและการทหาร การสงครามและการค้าอาวุธ หลายๆ ประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์แต่ไม่ทันโลกก็อาจเป็นเหยื่อของการเข้ามาแย่งทรัพยากรธรรมชาติของชาติมหาอำนาจเช่น ประเทศไทยยุคฟองสบู่แตกที่ทำให้นักธุรกิจและนักลงทุนชาวต่างประเทศเข้ามาลงทุนทำกิจการ ใช้ทรัพยากรของประเทศไปเป็นสินค้าเพื่อเอากำไรส่วนใหญ่เป็นของตนเอง ในที่สุดยุคของการจัดระเบียบโลกก็เข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ อันเป็นยุคของประเทศมหาอำนาจและบรรษัทลงทุนข้ามชาติครอบครองโลกด้วยการสื่อสาร ด้วยการเทียบระบบคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตนี้สามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรได้แทบทุกมุมโลกอย่างไร้พรมแดน ทำให้เกิดอำนาจทุนเหนือรัฐเหนือตลาดขึ้นอันเป็นยุคใหม่ที่เรียกว่า ยุคโลกาภิวัตน์ (โลกาพิบัติ?) อย่างแท้จริง ทุนเหนือรัฐดังกล่าวคือระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีที่ไปผูกติดกับการปกครองแบบประชาธิปไตย เลยทำให้เกิดระบบประชาธิปไตยในระบบทุนนิยมเสรีขึ้น เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยในลักษณะนี้ จึงสามารถนิยามได้ว่าเป็นประชาธิปไตยสามานย์ เป็นประชาธิปไตยแบบซื้อเสียงขายเสียงที่สร้างขึ้น และกำหนดมาจากกลุ่มทุนเหนือตลาดที่ไม่มีพรมแดนนั่นเอง ประเทศไทยเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในยุคโลกภิวัตน์ เมื่อเกิดรัฐบาลใหม่ขึ้นในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นสมัยที่มีนักธุรกิจข้ามชาติเข้ามาบริหารประเทศ ได้นำเอาความคิดประชานิยมมาพัฒนาอย่างสุดโต่งในลักษณะที่เป็นการตลาด เปิดรับการลงทุนจากภายนอกที่ให้โอกาสคนต่างประเทศเข้ามาดำเนินกิจกรรมได้อย่างกว้างขวาง เปลี่ยนโครงสร้างทางกายภาพของบ้านเมือง ไม่ว่าการคมนาคม แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอุตสาหกรรมและแหล่งทรัพยากรเพื่อการลงทุน ที่ทำให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรมทั้งหนักและเบาขึ้นทั้งประเทศ อันทำให้พื้นฐานการเป็นสังคมเกษตรกรรมแบบเดิมแทบหมดไป ประเทศไทยเป็นสังคมอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว การเคลื่อนย้ายของผู้คนทั้งภายนอก ภายในเข้าไปทำงานและอยู่อาศัยตามแหล่งทรัพยากรของท้องถิ่นในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศอย่างรวดเร็ว และไม่เคยคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรมนั้นได้ทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมเดิม ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน และสภาพแวดล้อมทางนิเวศวัฒนธรรมของท้องถิ่นจนเกิดสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งการสร้างสำนึกการมองโลกและค่านิยมที่เน้นความเป็นปัจเจกบุคคลที่มองและแสวงหาในเรื่องของความต้องการทางวัตถุเพื่อตนเองและพวกพ้อง แทนการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มทางสังคม เช่น การรวมกลุ่มแบบครอบครัวและชุมชนในลักษณะเป็นสังคมมนุษย์แต่เดิม สังคมไทยในยุคโลกาภิวัตน์จึงเป็นสังคมที่เจ็บปวด เพราะกำลังขาดความเป็นมนุษย์ อาจวิเคราะห์ออกได้เป็นสองระดับ ระดับบนคือระดับของพวกนักการเมือง นักธุรกิจ ข้าราชการ นักวิชาการและคนในสังคมเมืองส่วนใหญ่ เป็นระดับที่กำลังขาดความเป็นมนุษย์ เพราะถูกครอบโดยกระแสโลกาภิวัตน์ คนเหล่านี้นอกจากเน้นตัวตนที่เป็นปัจเจกแล้ว ยังขาดสำนึกในเรื่องบ้านเกิดเมืองนอน เพราะถูกทำให้กลายเป็นคนของโลกเดียวกันที่ไร้พรมแดน ส่วนคนระดับล่างแม้ว่าจะอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดจากอิทธิพลทางเศรษฐกิจการเมืองในกระแสโลกาภิวัตน์ก็ตาม ก็ยังมีหลายกลุ่มหลายแห่งในหลายๆ ท้องถิ่นที่ยังคงความเป็นมนุษย์อยู่ คือยังมีความคิดที่จะอยู่ติดที่เป็นกลุ่มเหล่า ให้ความสำคัญกับการทำเกษตรกรรมแบบพอเพียงที่ทำเพื่อกินก่อนขาย ยังรักษาบ้านเรือนและถิ่นฐานไว้ได้ ตลอดจนยังให้ความสำคัญกับวัดวาอารามและระบบความเชื่อ คือยังคงเป็นคนมีศาสนาอยู่และมีสำนึกในเรื่องชาติภูมิ ที่คนไร้ชาติจากข้างบนมักจะกล่าวหาว่าเป็นพวกคลั่งชาติอะไรทำนองนั้น คนเหล่านี้ยังมีอยู่และทวนกระแสต่อรองกับโลกาภิวัตน์ แต่การดำรงอยู่ของคนเหล่านี้มักถูกมองข้ามไปจากคนระดับบนที่สยบกับโลกาภิวัตน์ และมักถูกกล่าวหาว่าการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิทางการเมืองและสังคมของคนเหล่านี้จัดเป็นการกระทำของชนชั้นกลาง อันมีคนเสื้อเหลืองที่เคลื่อนไหวล้มล้างรัฐบาลเผด็จการรัฐสภาของนายกรัฐมนตรีทักษิณให้พ้นอำนาจ แต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่เข้ามามีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินต่อจากรัฐบาลทักษิณและนอมินีก็หาได้มีแนวคิดและพฤติกรรมในการปกครองประเทศแตกต่างไปจากรัฐบาลทักษิณไม่ กลับเป็นรัฐบาลของคนระดับบนที่ขาดความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับรัฐบาลทักษิณและดูจะเลวร้ายกว่าเพราะแทนที่จะทำให้บ้านเมืองดีขึ้นกลับเลวลงจนเกิดความแตกแยกมากกว่าเดิม ก็เพราะนอกจากเป็นรัฐบาลที่รวบอำนาจไว้ศูนย์กลางแล้วตามแบบรัฐบาลเดิมในเรื่องประชานิยม มอมเมาชาวบ้านชาวเมืองด้วยทุนอุดหนุนและการคอรัปชั่นนานาประการ ดูเหมือนความเลวร้ายของทั้งสองรัฐบาลที่ผ่านมาที่ใช้ลัทธิประชานิยมเหมือนกันก็คือ การแย่งและแข่งกัน มอมเมาประชาชนเพื่อการขายทรัพยากรและขายประเทศ ได้เกิดการแตกแยกออกเป็นก๊กเป็นเหล่าของกลุ่มผลประโยชน์ [Factions] ที่ต่างอ้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เน้นเสียงข้างมากว่าเป็นสิ่งชอบธรรม โดยไม่ยี่หระกับการซื้อเสียงขายเสียงแม้แต่น้อย ใครมีเงินมากแจกมาก ซื้อมากก็มีสิทธิ์ชนะการเลือกตั้ง อีกทั้งถ้าหากมีการกระทำใดที่ตนต้องเสียประโยชน์และเสียอำนาจก็มักมีการออกมาคุกคามประณามความยุติธรรมและแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนรัฐธรรมนูญกลายเป็นกฎหมายสามานย์ไปกับประชาธิปไตยสามานย์ เพราะพอใครได้มามีอำนาจก็แก้กฎหมายเพิ่มกันไม่หยุดหย่อนหลายตระหลบ มาบัดนี้ รัฐบาลนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชนะเลือกตั้งและกำลังจะกลับมามีอำนาจก็ยังคงใช้นโยบายประชานิยมอย่างเดิม แต่ดูเข้มข้นกว่า เพราะสามารถมอมเมาคนให้เป็นพวกอมนุษย์ได้มากกว่า อีกทั้งดูเหมือนจะได้รับการสนับสนุนจากบรรดาประเทศมหาอำนาจ เช่น อเมริกาและพันธมิตรที่มุ่งหวังจะครอบครองดินแดนและทรัพยากร ด้วยกระบวนการเศรษฐกิจทุนนิยมข้ามชาติ ดังเห็นได้จากการศึกษาเพื่อการปฏิรูปการปกครองของคณะกรรมการปฏิรูปที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน สังคมเกษตรแบบเดิมที่ประกอบด้วยเกษตรรายย่อย ที่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง ปลูกพืชนานาชนิดแบบ กินก่อน เหลือขาย มาเป็นเกษตรกรรมแบบพันธะสัญญาที่ปลูกพืชเชิงเดียวเพื่อขายอย่างเดียว โดยมีนายทุนเป็นผู้กำหนด จนปัจจุบันคนไทยในประเทศที่เป็นเกษตรกรจำนวน ๙๐ เปอร์เซ็นต์มีที่ทำกินเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ ๙๐ เปอร์เซ็นต์บรรดานายทุนทั้งในชาติและข้ามชาติถือครอบครองหมด นอกจากนั้นแล้ว ในตามท้องถิ่นต่างๆ แทบทุกภูมิภาคของประเทศ คนท้องถิ่นที่อยู่ในชุมชนมาแต่เดิมก็ถูกคุกคามแย่งที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยและทรัพยากรจากคนข้างนอกที่เป็นนายทุน เกิดแหล่งที่อยู่อาศัยและทำกินแบบใหม่ที่ไม่เป็นชุมชนมนุษย์ขึ้นมากมาย เช่น คอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร ทาวน์เฮ้าส์และนิคมอุตสาหกรรม การรุกล้ำและคุกคามของกลุ่มทุนที่มีต่อคนข้างล่างที่เป็นเกษตรกรมาแต่เดิม ในขณะนี้รุนแรงถึงขั้นกดขี่ [Oppression] ทำให้คนไร้ที่อยู่อาศัย ไร้ที่ทำกินและถูกจองจำในคุกตะราง จนถึงภายในคุกก็มีมาก โดยที่กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถช่วยอะไรได้ ดังเช่นชาวบ้านในเขตจังหวัดลำพูนที่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ทำกินมากว่าชั่วคน ถูกรัฐออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ให้นายทุนมีสิทธิ์ตามกฎหมาย ถูกจับและศาลตัดสินลงโทษให้จำคุกจนตายไปหลายคน ซึ่งบางคนมีอายุถึง ๗๐ และ ๘๐ ปี รวมทั้งในเขตจังหวัดลำพูนก็มีการปล่อยให้นายทุนได้สิทธิ์ครอบครองพื้นที่เพื่อทำโรงงานอุตสาหกรรมราว ๔,๐๐๐-๓,๐๐๐ ไร่ก็มี ลักษณะเช่นนี้แผ่ซ่านไปทั่วราชอาณาจักร จนกล่าวได้ว่าทั่วทั้งประเทศเต็มไปด้วยราษฎรที่ถูกกดขี่ข่มเหงจากอำนาจรัฐและทุนเหนือรัฐ จนกลายเป็นคนเสื้อแดงไปหมด การกลายเป็นคนเสื้อแดงนั้นเพราะคนเหล่านี้ไม่มีที่พึ่ง ต้องหนีไปพึ่งอำนาจนอกรัฐเช่นเดียวกันกับเมื่อครั้งสงครามเย็นที่ชาวบ้านหันไปเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะเป็นระบบการปกครองที่เป็นทางเลือกได้ดีกว่าระบบประชาธิปไตยสามานย์รวมศูนย์ของรัฐบาลในยุคนั้น ปัจจุบันประวัติศาสตร์กำลังซ้ำรอยที่ประชาชนขาดที่พึ่งจึงหันไปหารัฐบาลทักษิณ ซึ่งฉลาดแกมโกง ใช้เล่ห์กลมอมเมาชาวบ้านด้วยโครงการประชานิยม จนทำให้เกิดความเชื่อมั่นใน พ.ต.ท.ทักษิณสืบมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้ง ๆ ที่พ.ต.ท.ทักษิณและรัฐบาลนอมินีก็คือตัวแทนของรัฐบาลทุนนิยมสามานย์และประชาธิปไตยรวมศูนย์ รวมอำนาจ และเป็นเผด็จการรัฐสภายิ่งกว่าสมัยใด ๆ ในระบบประชาธิปไตยของประเทศไทย เพราะคนเสื้อแดงที่เป็นสมุนและผู้ตามทักษิณ ได้มอมเมาหลอกลวงชาวบ้านชาวเมืองที่ถูกกดขี่โดยอำนาจรัฐให้มาเป็นพวก ระดมคนเหล่านี้ก่อความจลาจลวุ่นวาย เผาบ้านเผาเมืองถึงสองปีซ้อนในสมัยที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์บริหารแผ่นดิน ขณะนี้รัฐบาลประชาธิปัตย์ได้สิ้นสุดลง และรัฐบาลนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณก็กำลังเข้ามาแทนที่ ก็ยังใช้นโยบายประชานิยม (ฉิบหายนิยม) มอมเมาประชาชนอีก โดยประเดิมแต่แรกการหาเสียงจะขึ้นค่าแรงงานให้กรรมกรเป็นวันละ ๓๐๐ บาท นักศึกษาที่เรียนจบปริญญาตรีจะได้เงินเดือนขั้นแรก ๑๕,๐๐๐ บาท และประกันข้าวเกวียนละ ๑๕,๐๐๐ บาท เป็นต้น การให้คำมั่นสัญญาตั้งแต่การหาเสียงและซื้อเสียงเช่นนี้ คือการจุดประกายแห่งความหวังให้กับคนที่ขาดความรู้และสติปัญญาและมักง่ายมักได้โดยแท้ เพราะดูดีและโน้มน้าวได้พวกปัญญาชนที่เห็นใจประชาชนในเรื่องความไม่เป็นธรรมในเรื่องเงินค่าจ้างและเงินเดือน เห็นพ้องด้วยในลักษณะเข้าข้างคนด้อยโอกาส โดยหาคำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของบรรดากลุ่มบุคคลที่เป็นนายทุนผู้จ้างไม่ ซึ่งถ้าหากให้ค่อยเป็นค่อยไปแล้วก็จะเกิดการยอมรับด้วยกันทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง อันเป็นความสมดุลในความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจของคนทั้งสองกลุ่มที่เกี่ยวข้อง แต่ดูเหมือนนโยบายประชานิยมในเรื่องค่าจ้างและแรงงานดังกล่าวนี้ น่าจะมีสิ่งซ้อนเร้นมากไปกว่านั้นในเรื่องที่จะเป็นการปิดทางให้กับการลงทุนจากภายนอก ที่มีกำลังเงินทุนในการให้ค่าจ้างแรงงานได้มากกว่าคนที่เป็นนายทุนภายในประเทศ ซึ่งนั่นก็จะเป็นการนำไปสู่การขายประเทศ ขายที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยและทรัพยากรให้แก่ต่างชาติโดยตรง เพราะฉะนั้น สภาพการทางเศรษฐกิจ การเมืองของสังคมไทยในยุคโลกาภิวัตน์ โดยรัฐบาลประชาธิปไตยสามานย์ที่รวมศูนย์อำนาจ ทั้งอำนาจบังคับใช้และใช้เงินงบประมาณของทุกรัฐบาลมาจนถึงสมัยนี้ จึงกำลังเดินหน้าในการทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมแทบทุกท้องถิ่นในระดับล่างอย่างโหดร้าย เร่งสร้างภาวะของความไร้ศีลธรรม จริยธรรมและมนุษยธรรม [Demoralization] ขึ้นแก่ผู้คนในสังคมส่วนรวม ดังเห็นได้จากโพลที่ออกมาว่าคนส่วนใหญ่ไม่รังเกียจคนชั่วครองแผ่นดิน ถ้าหากว่าคนชั่วเหล่านั้นให้คนอยู่ดีกินดีได้ ข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งที่เรียกว่า ประชานิยมนั้นคือฉิบหายนิยม ที่เป็นเครื่องมือของทุนและรัฐที่ฉ้อฉลกำลังสร้างความแตกแยก และความไม่เป็นธรรม รวมทั้งความเหลื่อมล้ำที่กำลังนำพาไปสู่การทำลายร้างชีวิตมนุษย์ด้วยกันเอง [Dehumanization] ในสังคมในไม่ช้านี้อย่างแน่นอน และประเทศชาติในส่วนรวมก็จะกลายเป็นอาณานิคมทางเศรษฐกิจและปัญญาของพวกมหาอำนาจข้ามชาติทางเศรษฐกิจอย่างไม่ต้องสงสัย ในฐานะที่ข้าพเจ้าเคยเป็นคนหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูป ที่มีคุณอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธาน ที่เห็นพ้องต้องกันว่า การแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคมของประเทศนั้น ความจำเป็นที่ยิ่งยวดก็คือรัฐต้องจัดการให้มีการกระจายอำนาจการปกครองลงสู่ท้องถิ่น โดยให้องค์บริหารท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการให้ในการบริหารท้องถิ่นแทน ตัดหรือลดความสำคัญของส่วนภูมิภาคลง มติและความเห็นเช่นนี้ไม่ได้รับการขานรับทั้งรัฐบาลประชาธิปัตย์และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่กำลังจะเข้ามามีอำนาจ แถมยังเลือกปฏิบัติด้วยการสนับสนุน แต่คณะกรรมการปรองดองโดยมีนายคณิต ณ นครเป็นประธาน เพราะดูมีประโยชน์แก่คนเสื้อแดงที่ออกมาเผาบ้านเผาเมืองและทำความผิด การไม่ยอมกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นให้กับ อปท. เช่นนี้ คือการแสดงออกของความต้องการที่จะใช้ความเป็นศูนย์กลางในการใช้อำนาจและเงินอย่างไม่มีทางโปร่งใสได้ในการบริหารประเทศ และขณะเดียวกันก็ยอมสยบต่ออำนาจของทุนเหนือรัฐที่จะมาจากประเทศมหาอำนาจและบรรษัทข้ามชาติ ในขณะนี้ก็มีปรากฏการณ์บางอย่างทางเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศที่ส่งให้เห็นการสมยอมหลาย ๆ อย่างในการที่จะทำให้มหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเครือข่ายเข้ามาครอบครองประเทศไทยนับแต่เรื่องศาลโลกตัดสินให้มีการถอนกำลังทหารของทั้งไทยและเขมรออกจากพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งทางฝ่ายไทยเสียเปรียบนานาประการ เช่นกำหนดให้ทางฝ่ายไทยยอมให้ฝ่ายพลเรือนของเขมรไปทำการบูรณะจัดการปราสาทพระวิหารและพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตรที่อยู่ในเขตประเทศไทยได้ แถมยังกำหนดให้พื้นที่ถัดจากบริเวณ ๔.๖ ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นบริเวณสระตราว ผามออีแดง และภูมะเขือเป็นพื้นที่ปลอดทหารเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ทางฝ่ายมรดกโลกเคลื่อนขยับเข้าผนวกเป็นเขตพื้นที่มรดกโลกปราสาทพระวิหารได้ในอนาคต ทั้งๆ ที่ทางไทยได้ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกแล้ว เพราะเบื้องหลังของคณะกรรมการชุดนี้นั้น ล้วนมีฝรั่งเศส อเมริกาและประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ล้วนหนุนหลังอยู่ทั้งสิ้น แต่ประการสำคัญที่เห็นในเวลานี้ก็คือ การที่รัฐบาลเยอรมันนียกเลิกการประกาศห้ามไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษของรัฐบาลไทยเข้าประเทศเยอรมันได้ นับเป็นการทำลายและท้าทายอำนาจตุลาการอันเป็นเสาหลักที่สำคัญของการปกครองของประเทศอย่างชัดเจน และในขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเซลล์แมนในการขายแผ่นดินและทรัพยากรของประเทศไทยแทน ข้าพเจ้าคิดว่า ประเทศไทยและสังคมไทยกำลังอยู่ในภาวะที่โดดเดี่ยว พึ่งภาครัฐก็ไม่ได้ พึ่งภาคธุรกิจก็ไม่ได้ พึ่งความยุติธรรมจากต่างประเทศก็ไม่ได้ ก็คงต้องพึ่งตนเองเพื่อความอยู่รอด นั่นคือในหมู่ภาคประชาชน หรือภาคสังคมนั่นเองที่จะต้องมีการจัดตั้งกลุ่มที่เป็นองค์กรประชาสังคมขึ้น [Civic group] ที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางรัฐและ อปท.(องค์กรปกครองท้องถิ่น) แต่เดิมกลุ่มเหล่านี้มีอยู่ในรูปขององค์กรเอกชนที่เรียกว่า NGO กลุ่มเหล่านี้มีอยู่ในรูปมูลนิธิ และกลุ่มอิสระที่ได้รับทุนอุดหนุนจากองค์กรต่าง ๆ ทางธุรกิจ หรือสมาคมเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา องค์กรเอกชนเหล่านี้ประกอบด้วยคนรุ่นหนุ่มสาวเป็นส่วนใหญ่ที่มีความรักมนุษย์ อยากหาความรู้และสนใจในการทำงานอย่างเสียสละเพื่อสังคม การดำเนินงานขององค์กรอิสระเหล่านี้ ที่ผ่านมาเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ประสบทั้งผลสำเร็จและล้มเหลว แม้ว่าในระยะหลังจะถูกอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาแทรกก็ตาม แต่ก็ได้วางรากฐานของการเคลื่อนไหวเพื่อสังคมไม่น้อย แต่ที่สำคัญนั้นได้มีบุคคลที่ทำงานเป็นจำนวนไม่น้อยที่ขณะนี้อยู่ในวัยกลางคนและบางคนก็กลายเป็นผู้อาวุโสนั้น มีประสบการณ์ที่ดีทางสังคม เป็นผู้รู้จริงและมีจิตใจที่เสียสละและไม่ท้อถอยที่จะดำเนินการต่อไป คนเหล่านี้ได้ทำการผลักดันและขับเคลื่อนกระบวนการทางสังคม เพื่อให้มีการต่อรองกับอำนาจรัฐและอำนาจทุนในภาคประชาชน ในหลาย ๆ ท้องถิ่นอยู่แล้ว แต่ที่ยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรนั้น เพราะเมื่อเวลามีการรวมตัวกันของคนในภาคประชาชนในการต่อสู้และต่อรองกับอำนาจรัฐและอำนาจทุนนั้น กลุ่ม NGO มักถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกมือที่สาม ที่เข้าไปยุแหย่ชาวบ้านให้มีการแตกแยก และทำให้ความเข้มแข็งและพลังต่อรองทางภาคประชาชนอ่อนแอไป ดังนั้นเพื่อความเข้มแข็งของภาคประชาชนในการที่จะต้องช่วยตนเองเพื่อต่อรองกับอำนาจรัฐและอำนาจทุนนั้น ก็มีการเคลื่อนไหวกันขึ้นใหม่ในการจัดตั้งกลุ่มประชาสังคม คือต้องประกอบด้วย กลุ่มหรือองค์กรที่เป็นตัวแทนของคนในชุมชนท้องถิ่นที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากผลกระทบจากการเข้ามารุกล้ำและจัดการในทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของท้องถิ่น กลุ่มหรือองค์กรนี้ต้องเป็นตัวยืน โดยมีกลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่มองค์กรอิสระ [NGO] และมูลนิธิต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นเครือข่ายที่จะร่วมกันสร้างพลังต่อรอง ข้าพเจ้าเห็นว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มประชาสังคมที่มีอยู่แล้วนี้ ยังขาดความชัดเจนในเรื่องกลุ่มองค์กรที่เป็นตัวแทนของคนในชุมชนท้องถิ่น เพราะเท่าที่เข้าใจกันนั้นเห็นว่า องค์กรของชุมชนนั้นอยู่ในพื้นที่ทางการบริหารที่เรียกว่า หมู่บ้าน และตำบลภายใต้การควบคุมของอำเภอ รวมทั้งในหลาย ๆ แห่งก็อยู่ภายใต้ อบต. และ อบจ. ในปัจจุบัน องค์กรชุมชนดังกล่าวนี้ไม่อาจนับได้ว่าเป็นองค์กรทางประชาสังคม เพราะเป็นการจัดตั้งโดยอำนาจรัฐ เรื่ององค์กรชุมชนในพื้นที่การบริหารเช่นนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่แม้แต่คณะกรรมการปฏิรูปการปกครองก็ยังเข้าใจสับสน เพราะยังหยุดอยู่กับการกระจายอำนาจจากส่วนกลางมายังองค์กรปกครองท้องถิ่น หรือ อปท.แต่เพียงอย่างเดียว โดยคิดว่า อปท. คือตัวแทนของประชาชนในการบริหารปกครองตนเองและต่อรองกับอำนาจรัฐ ดังเห็นได้จากการแสดงความคิดเห็นของศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ที่ให้ความสำคัญกับปลัด อบต.เป็นอย่างมาก ในความคิดเห็นของข้าพเจ้าและผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านคิดว่า อปท.ก็คือองค์กรของรัฐท้องถิ่นที่มีอำนาจในการบริหารและปกครอง ถ้าหากบุคคลที่ดำรงหน้าที่ต่างๆ ในองค์กรนี้ รวมทั้งผู้ที่เป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนก็ตาม เป็นคนฉ้อฉลมาทำงานเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ก็คงไม่ต่างอะไรกันกับบรรดานักการเมืองและข้าราชการในรัฐบาลกลางปัจจุบัน เพราะเท่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ในคณะกรรมการของ อบต. และ อบจ. เอง ในหลายๆ ท้องถิ่นก็อยู่ในลักษณะที่เต็มไปด้วยการทุจริตเป็นประจำ เช่นรายได้ก็ใช้ไปในงานกับสร้างที่ทำการ หรือกิจกรรมเพื่อให้มีค่าตอบแทนเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพรรคพวก เพราะฉะนั้น ถ้ายังปล่อยให้สภาพการเช่นนี้ดำรงอยู่ การกระจายอำนาจจากส่วนกลางลงสู่ส่วนท้องถิ่นก็คงไม่บังเกิดประโยชน์ในเรื่องความเป็นธรรมและความมั่นคงทางสังคมแต่อย่างใด แต่ถ้าผลทำให้เกิดมีองค์กรประชาสังคมของชุมชนที่ผู้คนในชุมชนท้องถิ่นจัดตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ต่อรองและตรวจสอบการดำเนินงานของทางฝ่าย อบต. และ อบจ.แล้ว ก็จะทำให้มีการควบคุมจากภาคประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมัยก่อนการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังไม่มีการแบ่งเขตการบริหารออกเป็นหมู่บ้าน ตำบลและอำเภอดังเช่นทุกวันนี้ แต่มีแต่ชุมชนธรรมชาติที่เรียกกันว่า บ้านและเมือง เป็นชุมชนสองระดับที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นหนึ่ง ๆ ทั้งบ้านและเมืองเป็นสองสิ่งที่แยกกันไม่ออก เพราะสังคมในภูมิภาคนี้พัฒนาขึ้นจากกระบวนการสร้างบ้านแปงเมือง คือในท้องถิ่นหนึ่งซึ่งเป็นนิเวศวัฒนธรรมนั้นจะมีหลายบ้าน [Village] แต่ละบ้านก็จะมีวัดเป็นศูนย์กลาง ซึ่งวัดและชื่อบ้านมักมีชื่อเดียวกัน คนในชุมชนเท่านั้นที่จะรู้ว่าบ้านของตนเองมีขอบเขต และขนาดของชุมชนเป็นอย่างใด บ้านเป็นชุมชนที่คนเกิด โต และตาย อีกทั้งคนในชุมชนต่างมีความสัมพันธ์กันทางการแต่งงาน หรือการเป็นพี่น้องร่วมบ้าน แม้ว่าคนเหล่านั้นอาจจะตีความเป็นมาทางเผ่าพันธุ์และศาสนาที่แตกต่างกันก็ตาม บ้านเป็นชุมชนที่ผู้อยู่อาศัยอยู่ร่วมกันมาไม่น้อยกว่า ๓ ชั่วคน ซึ่งอาจเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า บ้านเกิด ความเป็นบ้านเกิดในทางโครงสร้างกายภาพ แลเห็นได้จากการมีอยู่ของบ้าน วัด และแหล่งเผาศพหรือฝังศพ ชื่อบ้านและวัดเป็นชื่อเดียวกัน ตั้งขึ้นกำหนดขึ้นโดยคนในชุมชน โดยดูตามลักษณะภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมธรรมชาติเป็นสำคัญ วัดเป็นของคนในชุมชนช่วยกันสร้าง อนุรักษ์และพัฒนาปฏิสังขรณ์ ในขณะที่แหล่งฝังศพ ป่าช้าและเชิงตะกอนเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนในชุมชนอยู่อาศัยได้จนถึงตาย อย่างเช่นชุมชนบ้านหลายแห่งในภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ยังมีการรักษาสถานที่และประเพณีการฝังศพและเผาศพของคนในบ้านเกิดของคนอยู่ หลายคนที่ออกไปทำงานข้างนอกอยากจะกลับมาตายและเผาศพที่บ้านเกิดของตน ดูเหมือนชุมชนอิสลามแทบทุกแห่งยังคงรักษาโครงสร้างของชุมชนในเรื่องวัดหรือมัสยิดกับแหล่งฝังศพที่เรียกว่า กูร์โบ ได้ดีกว่าที่อื่น ๆ นอกจากโครงสร้างทางกายภาพดังกล่าว ก็ยังมีขนบธรรมเนียมและประเพณีและกฎข้อห้ามต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับเวลาและสถานที่ ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า จารีต เป็นกลไกที่สร้างความเกาะเกี่ยวให้คนในชุมชนต้องปฏิบัติร่วมกันและรู้สึกว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน ดังเช่นประเพณีเกี่ยวกับชีวิตและประเพณีสิบสองเดือนเป็นต้น คนในชุมชนได้รับการเรียนรู้ในเรื่องจารีตและประเพณีเหล่านี้จากการอยู่ร่วมกัน และจากการถ่ายทอดของคนรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่ในรูปแบบที่เรียกว่า การปลูกฝังทางวัฒนธรรม [Enculturation] อันนับเป็นการศึกษาอย่างหนึ่งเพื่อให้รู้จักความเป็นมนุษย์ เป็นการศึกษาทางด้านสังคมวัฒนธรรม ที่ทำให้คนได้รู้จักตนเอง รู้จักครอบครัว เครือญาติ เพื่อนบ้าน ก่อนที่จะไปเรียนรู้เรื่องราวจากภายนอกทางเศรษฐกิจและการเมือง การอยู่ร่วมกันมาหลายชั่วคนและการรับรู้ในเรื่องความเป็นมาของชุมชนและการยอมรับกติกาในการอยู่ร่วมกันนี้ จะทำให้เกิดสำนึกร่วมกันว่าเป็นคนเกิดในบ้านเดียวกันและเป็นพวกเดียวกัน [Consciousness of the kind] และความผูกพันในท้องถิ่น [Sense of belonging] ที่เรียกว่า เมืองนอน ท้องถิ่นเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่แลเห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนในท้องถิ่นเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติในนิเวศธรรมชาติเดียวกัน และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ความสัมพันธ์ทั้งสามมิตินี้ทำให้ท้องถิ่นกลายเป็นนิเวศวัฒนธรรมที่ในทางสังคมและการเมืองเรียกว่า บ้านและเมือง หรือพูดย่อ ๆ ว่า บ้านเมือง แต่ถ้าพูดได้มีความหมายลึกลงไปก็เป็น บ้านเกิดเมืองนอน นั่นเอง บ้านและเมืองเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออกในกระบวนการบูรณาการทางสังคมและวัฒนธรรมขึ้นเป็นรัฐและประเทศชาติ เพราะแต่ละท้องถิ่นหรือในนิเวศวัฒนธรรมหนึ่ง ๆ นั้นจะมีชุมชนที่เรียกว่าบ้านหลายชุมชน ซึ่งอาจจะมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ตามสถานการณ์ทางสังคมในแต่ละสมัยเวลา แต่จะมีชุมชนที่เป็นเมืองอยู่เพียงแห่งเดียวเพื่อรวมศูนย์ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม เพราะชุมชนบ้านแต่ละแห่งไม่อาจอยู่ได้ตามลำพัง หากมีความสัมพันธ์กันทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมตลอดเวลา ซึ่งก็ต้องอาศัยเมืองเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะสถานที่และย่านที่เป็นตลาดที่ทำให้ชุมชนเมืองมีขนาดใหญ่ มีคนหลายชาติพันธุ์ หลายภาษาหลายศาสนาและหลายอาชีพ ที่อาจมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์แตกต่างกัน บ้านและเมืองเป็นชุมชนที่ต้องพึ่งพิงกันเพื่อการอยู่รอด ความต่างกันระหว่างบ้านกับเมืองในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนก็คือ บ้านเป็นชุมชนที่ผู้คนมีความใกล้ชิดสนิทกัน เช่น เป็นญาติพี่น้องกันหรือเป็นเพื่อนบ้านเดียวกัน มีอาชีพไม่ต่างกัน เช่นเป็นคนชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ทำให้มีวิถีชีวิตและความคิดเห็นที่เหมือนกันคล้องจองกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นสำนึกร่วมกันคล้าย ๆ กับกลไกของเครื่องจักรเครื่องยนต์ [Mechanical solidarity] ในขณะที่เมืองเป็นชุมชนที่มีคนหลายอาชีพหลายที่มาหลายชาติพันธุ์แต่ต้องอยู่ร่วมกันเพื่อมีชีวิตรอดร่วมกันในลักษณะที่ต้องพึ่งพิงกัน เสมือนอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทำให้มีสำนึกร่วมกันในลักษณะที่เป็นอินทรีย์ของสิ่งมีชีวิต [Organic solidarity] โครงสร้างและความสัมพันธ์ทางสังคมของชุมชนบ้านและเมืองดังกล่าวคือ โครงสร้างพื้นฐานในความเป็นมนุษย์อันเป็นสัตว์สังคมที่พัฒนาขึ้นในสังคมเกษตรกรรมที่เรียกว่า สังคมชาวนา [Peasant society] อันมีเวลายาวนานมากว่าพันปีในดินแดนประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง เป็นโครงสร้างที่บูรณาการคนที่หลากหลายทางชาติพันธุ์และความเป็นมา ทั้งจากข้างนอกและข้างในให้เป็นกลุ่มเหล่าเดียวกันหลายยุคหลายสมัย ปัจจุบันกำลังอยู่ในสภาพเปลี่ยนแปลง อันเนื่องมาจากอิทธิพลทางเศรษฐกิจ การเมืองที่มาจากภายนอก โดยเฉพาะจากทางตะวันตกที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเป็นสังคมอุตสาหกรรมมาในยุคโลกาภิวัตน์ของทุกวันนี้ ความเป็นชุมชนบ้านและเมืองอันเป็นชุมชนทางธรรมชาติและวัฒนธรรมกำลังอยู่ในสภาพล่มสลาย เพราะการครอบงำจากอำนาจในการบริหารและการปกครองของรัฐในเรื่องการปกครองท้องถิ่นที่มีมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ต่อมาจนถึงสมัยปัจจุบันในรัฐบาลประชาธิปไตยสามานย์ที่รวมศูนย์ และทุกสิ่งทุกอย่างต้องมาจากศูนย์กลางและเบื้องบน ในระบบอำมาตย์เจ้า มาถึงอำมาตย์ไพร่ในรัฐบาลนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ การล่มสลายของสังคมชาวนาอันเป็นสังคมมนุษย์มาเปลี่ยนสภาพ [Transform] เป็นสังคมอุตสาหกรรมทุนนิยมอันเป็นสังคมเดรัจฉานนั้น เหตุใหญ่มาจากการเคลื่อนย้ายและโยกย้ายถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนไปสู่แหล่งทำงาน เช่นโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งธุรกิจ แหล่งท่องเที่ยว บริการเขตเมืองและแหล่งเกษตรอุตสาหกรรมอยู่ตลอดเวลา โดยแทบไม่มีโอกาสปักหลักให้อยู่ติดที่เป็นหลักแหล่ง ผู้ที่เคลื่อนย้ายถิ่นฐานเหล่านี้แทบไม่มีหัวนอนปลายตีน และไม่ยอมรับกติกาทางจารีตประเพณีของชุมชนในท้องถิ่นที่ตนเข้าไปอยู่ บางคนเป็นนายทุน เป็นคนมีเงินกว้านซื้อที่อยู่อาศัย แย่งทรัพยากรและที่ทำกินของคนที่อยู่มาก่อน เกิดเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ เป็นกำนัน อบต. จนกลายเป็นนักธุรกิจการเมืองในท้องถิ่นไป กล่าวได้ว่ามาในปัจจุบันนี้แทบไม่มีชุมชนเก่าแก่ในท้องถิ่นใดเลยที่สามารถบูรณาการให้คนที่มาจากข้างนอกกลายเป็นคนในท้องถิ่นได้เลย แถมยังถูกเบียดเบียนให้ออกไปอยู่ในที่อื่น ๆ เสียด้วย โดยเฉพาะคนในท้องถิ่นที่ขายไร่นาและที่ดิน เลิกทำเกษตรกรรมแล้วผันตัวมาเป็นแรงงานให้กับแหล่งอุตสาหกรรมและแหล่งประกอบการของบรรดานายทุนในท้องถิ่นใดที่มีอุตสาหกรรมหนักเข้าไปดำเนินการก็จะมีการจัดการสร้างแหล่งที่อยู่ใหม่กับคนทำงานร้อยพ่อพันแม่เหล่านี้ในนามของนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งการเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดของบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม อะไรต่ออะไรอีกมากมายภายใต้สังคมอุตสาหกรรม มนุษย์กลายเป็นปัจเจกชนมีตัวตนหรืออัตตาสูง เน้นความสำคัญทางวัตถุ เห็นอะไรก็อยากได้อยากเอา ถึงแม้จะมีการรวมกลุ่มก็เป็นเพียงเพื่อหาผลประโยชน์ร่วมกัน และมีการขัดแย้งกันจนเป็นปรปักษ์ (faction) และไม่เห็นความสำคัญระหว่างคนกับคน และไม่เห็นคนกับธรรมชาติ เพราะมุ่งหน้าทำลายสภาพแวดล้อมแต่เพียงอย่างเดียว และไม่เห็นคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติในทางที่ดีงาม เช่น การยึดมั่นและสยบในอำนาจความเชื่อทางพระศาสนา อันเป็นสถาบันที่จรรโลงมนุษยธรรม ศีลธรรมและจริยธรรม นอกจากการพึ่งแต่เพียงความเชื่อทางไสยศาสตร์ เพื่อเอาตัวรอดแต่เพียงอย่างเดียว สังคมอุตสาหกรรมที่เป็นอยู่ในขณะนี้คือ สังคมไร้ราก ไร้แผ่นดินเกิด กำลังอบรมสั่งสอนให้คนรุ่นใหม่ที่เป็นเยาวชนถูกครอบงำไปด้วย ไม่ว่าการศึกษาตั้งแต่เด็กชั้นประถมถึงมัธยม และขั้นอุดมศึกษาตามมหาวิทยาลัยก็กำลังผลิตคนรุ่นใหม่ที่ไร้พรมแดนและไร้รากเช่นนี้ เพราะฉะนั้นการอยู่รอดของสังคมมนุษย์ในประเทศไทยจึงหลีกเลียงไม่ได้ที่จะต้องหันกลับไปทบทวนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ในสังคมที่มีมาในอดีตก่อน [Go back to the basic] นั่นคือหันกลับไปทบทวนสังคมชาวนาและชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนในชุมชนว่าเคยมีความราบรื่นและมีดุลยภาพในการต่อรองกับอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมืองที่มาจากภายนอกอย่างไร ชุมชนที่ว่านั้นคือชุมชน บ้านและเมือง ซึ่งตั้งขึ้นโดยคนในสังคมท้องถิ่น เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม ไม่ใช่พื้นที่การบริหารที่กำหนดโดยรัฐในรูปแบบหมู่บ้าน ตำบลและอำเภอ ชุมชนบ้านจะต้องมีองค์กรชุมชนที่คนในจัดตั้งขึ้นประกอบด้วยบุคคลอาวุโสที่มีความรู้ มีคุณธรรมเห็นโลกมามาก ผู้นำทางศาสนา เช่นพระเจ้าอาวาส บุคคลที่เป็นผู้ใหญ่บ้านที่ชาวบ้านเลือกกันเองโดยอาศัยพื้นฐานของการเป็นคนภายในที่มีความประพฤติและมาจากครอบครัวหรือตระกูลที่คนยอมรับ รวมทั้งบุคคลที่ดีมีความเสียสละ มีพฤติกรรมที่เห็นได้ เช่น ครู และคนที่มีความสามารถในกิจกรรมต่างๆ มาเป็นกรรมการชุมชน องค์กรดังกล่าวนี้ในสังคมมุสลิมเรียกว่า สุเหร่า มีสถานที่พบปะประชุมกันที่มัสยิด ในขณะที่องค์กรของชุมชนทางพุทธประชุมกันที่วัด เช่นที่ศาลาการเปรียญ เป็นต้น หลายบ้านกลายเป็นเมือง เพราะต้องอยู่ในภูมินิเวศและนิเวศวัฒนธรรมเดียวกัน การจัดการเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่นก็จะมีสภาผู้อาวุโส อันประกอบด้วยผู้อาวุโสของแต่ละบ้านมาพบปะหารือกันในเรื่องการใช้ทรัพยากรร่วมกัน การจัดการกิจกรรมสาธารณะ การป้องกันอุทกภัย พายุ อัคคีภัย โรคระบาดรวมไปถึงความขัดแย้งพิพาทระหว่างกัน สภาอาวุโสดังกล่าวนี้ในสังคมมุสลิมเรียกสภาซูรอ เป็นสิ่งที่ชาวบ้านชาวเมืองให้ความเคารพและแลเห็นคุณค่า ทั้งองค์กรชุมชนบ้านและสภาผู้อาวุโสของเมืองดังกล่าวนี้คือกลุ่มประชาสังคม อันเป็นพลังในการจัดการชีวิตความเป็นอยู่ร่วมกันของคนในสังคมเกษตรกรรม กลุ่มพลังดังกล่าวนี้จะต้องได้รับการฟื้นฟูจนมีการยอมรับ [Institutionalization] ให้เป็นสถาบันที่มีอำนาจแทรกแรง [Sanction] ในการต่อรองจากอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองที่มาจากรัฐและจากทุนเหนือรัฐ องค์กรประชาสังคมทั้งบ้านและเมืองดังกล่าวนี้ คือพื้นฐานของการสร้างขึ้นโดยประชาชนภายในชุมชนเพื่อการอยู่รอดร่วมกันอย่างเสมอภาคที่มีการจัดการการเลือกตั้งโดยคนภายในร่วมกัน นับเป็นองค์กรแบบประชาธิปไตยโดยธรรมชาติ ข้าพเจ้าสังเกตว่าในการประชุมหารือกันในเรื่องการกระจายอำนาจจากศูนย์กลางมายังท้องถิ่นนั้น ดูเหมือนจะไม่เห็นและไม่ยอมรับในองค์กรประชาสังคมที่ว่านี้ แต่มักจะมองว่าเป็นสิ่งเบ็ดเสร็จที่มีอยู่ใน อบต. และ อบจ. หมดแล้ว เพราะคิดว่าบุคคลที่เข้ามาปฏิบัติการใน อปท. นั้น คือบุคคลที่คนในชุมชนเลือกเข้ามาเป็นกรรมการก็พอแล้ว ปัญหาจึงมีอยู่ว่าถ้าคนที่เลือกเข้ามา เป็นคนไม่ดีได้รับเลือกมาจากการหาเสียงจากสมัครพรรคพวกที่มีอิทธิพลหรือการซื้อเสียงก็จะได้คนที่ทุจริตเข้ามาทำงาน และเบียดเบียนประชาชนอย่างที่แลเห็นอยู่ใน อบต. หรือในคณะกรรมการตำบลที่มีกำนันเป็นผู้มีอำนาจอย่างในขณะนี้ แล้วใครหรือองค์กรใด ๆ ในภาคสังคมจะควบคุมและต่อรองกับ อบต. หรือกำนันในขณะนี้เล่า เพราะแม้แต่อำนาจรัฐที่มาจากส่วนกลางก็ไม่อาจจะจัดการได้ อันเนื่องมาจากคนที่เป็น อบต. และกำนันผู้ใหญ่บ้าน ล้วนเป็นฐานเสียงสำคัญของนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยสามานย์ของทุกวันนี้ องค์กรบ้านและเมืองอันเป็นพลังของภาคประชาชนหรือภาคสังคม มักถูกมองข้ามไปจากบรรดานักวิชาการและนักการเมืองที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการอบรมมาจากทางตะวันตก โดยเฉพาะจากอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส คนเหล่านี้เห็นว่าเป็นสิ่งล้าหลังหมดยุคไปแล้ว มักเป็นการปฏิเสธที่ควบคู่ไปกับการไม่ยอมรับเศรษฐกิจเพียงพอของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทีเดียว แต่คนเหล่านี้ก็ไม่เคยสนใจว่า คนในท้องถิ่นอีกหลายแห่งที่หันมาทบทวนและทำการเคลื่อนไหว อย่างเช่นชุมชนท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จัดการให้มีเบี้ยกุดชุมขึ้นมาใช้ในการจัดการเศรษฐกิจภายในของตนเอง จนเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักวิชาการแบบตะวันตกมีการวิพากษ์วิจารณ์ไปในทำนองไม่ดี ในทุกวันนี้ องค์กรบ้านและเมืองอันเป็นการจัดตั้งขึ้นโดยคนในท้องถิ่นจะยังไม่เป็นที่ตระหนักของคนในชุมชน อันเนื่องมาจากการครอบงำของความคิดที่ว่า ชุมชนคือหมู่บ้าน ตำบลและอำเภอก็ตาม แต่ก็มีการเคลื่อนไหวจากกลุ่มคนผู้รู้ในภาคประชาชน หรือภาคสังคมอีกมากมาย เช่นกลุ่มของ NGO และบรรดามูลนิธิต่าง ๆ ทั้งจากภายในประเทศและนอกประเทศ ก็ได้ทำให้เกิดการตื่นตัวขึ้นของคนในชุมชนในหลาย ๆ ท้องถิ่นเกือบแทบทุกภูมิภาค ส่วนมากก็เป็นชุมชนที่มีรากเหง้ามาแต่เดิม ที่ยังแลเห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม คนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติในทางศาสนาและพิธีกรรม แต่ที่สำคัญยังสืบเนื่องทางภูมิปัญญาท้องถิ่นที่คนรุ่นใหม่ ๆ ยังรับรู้และเห็นคุณค่า การเคลื่อนไหวและตื่นตัวของคนในท้องถิ่นที่ว่านี้ คนระดับขุนที่เป็นฝ่ายปกครอง ฝ่ายบริหาร นักวิชาการและนักธุรกิจมักมองข้ามไปว่าล้าหลัง ด้อยพัฒนา แต่มองออกไปในระดับข้ามชาติ สนับสนุนให้คนจากภายนอกเข้ามาลงทุนมาตั้งหลักแหล่งอันเป็นการนำคนจากภายนอกทั้งระดับชนชั้นกลางและระดับแรงงานเข้ามา ทำให้การเพิ่มประชากรในประเทศหาได้มาจากการเกิดไม่ หากเป็นการโยกย้ายถิ่นฐานจากภายนอกเข้ามา ซึ่งมีมานานไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปีที่ผ่านมา จนทำให้ประชากรรุ่นใหม่ เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้เรียนรู้หรือรับรู้ความเป็นมาของบ้านเมืองแต่อย่างใด ขาดความรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม มุ่งแต่เรียนรู้สิ่งที่ห่างตัวในทางเศรษฐกิจ การเมือง จนมีสำนึกเป็นปัจเจกเดรัจฉาน ผิดแผกความเป็นมนุษย์ไป ความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในทุกวันนี้ก็คือ ทำอย่างไรจะฟื้นความเป็นมนุษย์ที่เคยอยู่ร่วมกันในชุมชนแบบบ้านและเมืองที่เคยมีกลับมา โดยไม่จำเป็นต้องถอยหลังเข้าคลองเป็นแบบเดิมแบบเก่า แต่เป็นแบบใหม่ที่ยังคงความเป็นมนุษย์ในฐานะสัตว์สังคมอยู่ เพราะแม้แต่บรรดาประเทศทางตะวันตกไม่ว่าอเมริกาและอังกฤษก็ยังมีชุมชนท้องถิ่นดังกล่าวนี้อยู่เป็นชุมชนทางวัฒนธรรมที่แลเห็นทั้งในเขตเมืองและชนบท แต่ประเทศไทยมีแต่เพียงชุมชนทางราชการ หรือชุมชนแบบบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมเท่านั้น จากประสบการณ์ของข้าพเจ้าในการทำงานทางด้านมานุษยวิทยาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การฟื้นฟูชุมชนธรรมชาติในท้องถิ่นท่ามกลางความล่มสลายของชุมชน ครอบครัวและสิ่งแวดล้อมในขณะนี้ไม่ยาก เพราะยังมีรากเหง้าของอดีตอยู่ในแทบทุกภูมิภาค แต่ต้องเริ่มต้นด้วยการปลุกสำนึกร่วมของความเป็นคนที่เกิดในท้องถิ่น คือบ้านเกิดเมืองนอนกลับมา โดยใช้การขับเคลื่อนให้มีการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การจัดการให้มีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่นเองเพื่อนำไปสู่การถ่ายทอดความรู้และสำนึกร่วมไปยังเด็กที่เป็นเยาวชนรุ่นใหม่ด้วยการทำให้เกิดหลักสูตรขั้นพื้นฐานของท้องถิ่นและการอบรมยุวมัคคุเทศก์ให้กับเยาวชนเพื่อเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยคนท้องถิ่นคือการถ่ายทอดความรู้ทางชีวิตวัฒนธรรม อันเป็นชีวิตร่วมของคนในบ้านเกิดเมืองนอนเดียวกัน จากคนรุ่นเก่า รุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายมายังคนขั้นลูกหลานและเหลน เป็นประวัติสังคมที่มีชีวิตที่สร้างให้เกิดสำนึกร่วม จะเป็นสิ่งนำไปสู่การจัดตั้งองค์กรชุมชนที่เป็นพลังของประชาสังคมโดยคนใน ทำให้เกิดการเลือกเฟ้นและเลือกตั้งคนที่ดีมีความรู้และการเสียสละในชุมชนเข้ามาทำงานในองค์กร โดยเฉพาะบุคคลที่ทำหน้าที่ปกครองเป็นผู้ใหญ่บ้าน จะต้องเป็นคนที่สังคมท้องถิ่น รู้จักและแลเห็นคุณสมบัติเหมาะสม ไม่ใช่คนจากที่อื่นที่เข้ามาหาเสียง ซื้อเสียงและผ่านการเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้นำ เพราะถ้าหากไม่ได้คนในที่ดีแล้ว ก็อาจเป็นพิษเป็นภัยได้ เมื่อคนเหล่านี้ถูกคัดเลือกเข้าไปเป็นตัวแทนทำงานในองค์การบริหารท้องถิ่น เป็น อบต. และ อบจ. เป็นต้น การทำให้เกิดองค์กรชุมชนทางวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ จะทำให้เกิดกลุ่มพลังจากภายใน อันเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเมืองจากภายนอก กลุ่มพลังนี้จะรวมพลังกับกลุ่มประชาสังคมที่เป็นเครือข่าย ร่วมมือและประสานกันกับกลุ่มอื่น ๆ ในท้องถิ่นอื่นกับกลุ่ม NGO และบรรดามูลนิธิต่าง ๆ เพื่อให้เกิดอำนาจต่อรองกับฝ่ายบริหาร ไม่ว่าจะเป็น อปท. หรือจากรัฐ หรือจากทุนขนาดใหญ่ เพื่อความอยู่รอดของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น อ่านเพิ่มเติมได้ที่: