“เด็กเป็นศูนย์กลาง”วาทกรรมคำโตๆ ที่แสนกลวง
- ศรีศักร วัลลิโภดม
- 23 ส.ค. 2565
- ยาว 1 นาที
อัปเดตเมื่อ 2 ก.พ. 2567
เผยแพร่ครั้งแรก 1 ม.ค. 2547
การใช้คำโต ๆ เพื่อสื่อความคิดและเจตนารมย์ของรัฐบาลให้ผู้คนทั่วไปในสังคมไทยรับรู้นั้น มีมาแต่สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อราวสี่สิบปีที่ผ่านมานับเป็นวิธีการที่รับอิทธิพลมาจากฝรั่งโดยแท้ เพราะเป็นยุคที่การศึกษาไทยทั้งระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างก็ถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมอเมริกันอย่างสิ้นเชิง คำโต ๆ ที่ใช้กันอย่างติดปากติดใจในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของยุคนั้นก็คือ “งานคือเงิน เงินคืองานบันดาลสุข” นับว่ามีฤทธิ์มากเพราะนอกจากทำให้คนไทยเกิดสำนึกในเรื่องความเป็นปัจเจกแล้วยังกระตุ้นนิสัยบริโภคนิยมทางวัตถุอย่างเพลิดเพลิน ภาวะความเป็นเศรษฐกิจฟองสบู่ที่ยังความพินาศให้กับชีวิตคนเป็นจำนวนมากอาจนับได้ว่าเกี่ยวเนื่องกับคำโต ๆ นี้ไม่ใช่น้อย

กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูกับลูกศิษย์ที่เลือก “เรียนโดยการกระทำ” คือการเรียนโดยการปฏิบัติหรือเรียนรู้อย่างมีประสบการณ์
พอมาถึงยุคนี้ในทศวรรษนี้ คำโต ๆ ก็กลับมามีฤทธิ์อีกตั้งแต่สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มาจนถึงพรรคไทยรักไทย คราวนี้ไม่ใช่เอามาใช้ในการพัฒนาประเทศแต่เป็นเรื่องการปฏิรูปการศึกษา รู้สึกว่ามีการขานรับกันอย่างมากมายในหมู่ปัญญาชนสมัยใหม่ที่นิยมชมชื่นกับการสร้างวาทกรรมในยุคหลังสมัยใหม่ ทำให้เกิดการรื้อและปรับเปลี่ยนโครงสร้างแต่เดิม มีนโยบายและการดำเนินการในระบบโครงสร้างใหม่ๆ ขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะทำให้เกิดการแบ่งเขตการศึกษาและการสร้างหลักสูตรท้องถิ่นใหม่ ๆ ให้เด็กเรียน เพื่อที่จะได้เรียนรู้ในสิ่งใกล้ตัวที่ทำให้คิดเป็นทำเป็นไม่ใช่เอาแต่เรียนแบบท่องจำเพื่อให้ได้คะแนนดีอย่างแต่ก่อน แถมยังมีคนที่เป็นเจ้าความคิดหลายคนมาสนับสนุนให้มีการสอนการเรียนที่ทำให้เด็กมีความสุขและเพลิดเพลินด้วย
แต่ผลที่ทำให้เกิดปัญหาและความขัดข้องขึ้นในขณะนี้ทำให้มีผู้ที่เกิดความทุกข์ขึ้นก็คือครู โดยเฉพาะครูตัวเล็กๆ ที่ต้องทำหน้าที่ปฏิบัติในการสอนและสร้างความรู้และหลักสูตรท้องถิ่นให้เด็กได้เรียน ความทุกข์อย่างแรกก็คือ ไม่รู้จะสร้างหลักสูตรท้องถิ่นอย่างใดที่ทำให้เด็กหรือผู้เรียนเป็นศูนย์กลางได้ ในขณะที่ความทุกข์ที่ตามมาก็คือ การปรับตัวเองเข้าสู่โครงสร้างและสถานภาพแบบใหม่ที่ตนเองกำลังถูกประเมินในเรื่องศักยภาพจากเจ้านายใหม่ โดยเฉพาะผู้บริหารโรงเรียนและหัวหน้าเขตการศึกษา
ความขัดแย้งและปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น รัฐและผู้รับผิดชอบไม่สนใจที่จะรับรู้ เพราะเคยชินกับการแก้ไขปัญหาแบบ why หาได้ใส่ใจกับการที่จะทำอย่างไรที่เรียกว่า how ให้เป็นไปได้อย่างราบรื่นไม่ การเน้นแต่เพียง why แบบลอย ๆ ด้วยคำโต ๆ ที่เรียกว่าเด็กเป็นศูนย์กลางนั้น ถ้านำมาสัมพันธ์กับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมแล้ว ก็คือเรื่องของการเปลี่ยนขั้วโดยตรง เพราะทั้งประเพณีและพฤติกรรมทางสังคมไทยที่มีมาช้านานนั้น ครูคือศูนย์กลาง เพราะถือว่าเด็กยังเป็นผู้อ่อนผู้เยาว์ต้องได้รับการสั่งสอนทั้งทางโลกและทางธรรมจากครู ทั้งทำหน้าที่เสมือนตัวแทนของพ่อแม่ ครูในสังคมไทยจึงนับเป็นปูชนียบุคคลที่เป็นสถาบันมาช้านาน เด็กจะดีหรือไม่ดีนั้นครูมีส่วนร่วมด้วยเสมอ ถ้าเด็กเรียนไม่ดีประพฤติไม่ดีครูนั่นแหละที่จะถูกสังคมประเมินและกล่าวหา
ถ้าจะมองปัญหาการศึกษาของนักเรียนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จากระบบการศึกษาที่ผ่านมาก็จะพบว่ารัฐและผู้บริหารการศึกษาระดับสูงคือผู้ที่สร้างปัญหานี้ ซึ่งก็ประเมินได้จากความรู้สึกและประสบการณ์ของข้าพเจ้าเอง กรณีเด็กนักเรียนสมัยข้าพเจ้านั้นต้องเรียนทั้งท่องจำและคิดตามครู แต่ก็สามารถนำเอาสิ่งต่าง ๆ ที่เรียนมานั้นเชื่อมโยงให้เป็นเรื่องราวได้จากการแต่งเรียงความ ซึ่งทำให้สามารถแลเห็นการคิดที่เป็นเหตุผลและนำมาเรียบเรียงเป็นภาษาที่สื่อกับคนทั่วไปได้รวมทั้งเป็นสิ่งที่จะทำให้ครูหรือคนอื่นวิพากษ์วิจารณ์และประเมินข้อดีข้อเสียได้ด้วย แต่นับแต่ที่รัฐนำเอาระบบการศึกษาแบบปรนัยเข้ามาให้ครูสอนกัน ความสามารถของนักเรียนที่จะแต่งเรียงความก็หมดความหมายไป หันมาเรียนอะไรที่เป็นเสี่ยง ๆ และท่องจำกันเอาไปตอบเป็นเรื่อง ๆ จนเชื่อมโยงอะไรไม่เป็น ครูเองก็ได้รับการอบรมชี้แนะในเรื่องเทคนิคและวิธีการสอนที่ทันสมัยแบบฝรั่งมากกว่า ที่จะนำไปปรับให้เข้ากับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของผู้คนในสังคมทั้งระดับบ้านและเมือง ความเก่งของครูจะไปขึ้นอยู่กับการได้เล่าเรียนวิชาการศึกษาที่เน้นแต่แนวคิดทฤษฎีและเทคนิควิธีการจากสังคมตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ และดูเหมือนบรรดาอรหันต์ห้าร้อยที่รับผิดชอบในการปฏิรูปการศึกษาในทุกวันนี้ก็คือผลพวงของวิชาการศึกษาแบบที่ว่านี้ทั้งสิ้น จึงแลไม่เห็นบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับครูและเด็กแต่อย่างใด
ดูเหมือนการมีปฏิกิริยาโต้ตอบวาทกรรมเรื่องเด็กเป็นศูนย์กลางที่สร้างความฮือฮาให้แก่คนทั่วไปในสังคมได้อย่างน่าประทับใจก็คือ การที่เด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่งขึ้นมากล่าวว่าการปฏิรูปการศึกษานั้นทำให้เกิดควายเซ็นเตอร์มากกว่าเด็กเป็นศูนย์กลาง ความรุนแรงของคำนี้ก็คือการที่จะทำให้เด็กกลายเป็นคนโง่แบบควายมากกว่าที่จะเป็นคนฉลาด อันที่จริงแล้วก็มีนักวิชาการศึกษาหลายคนในบ้านเมืองที่ไม่พยายามสร้างตัวเองให้เป็นอรหันต์ ได้นำเอาความคิดในเรื่องเด็กเป็นศูนย์กลางนี้มาศึกษาและถกเถียงกันนานแล้ว เพราะเป็นแนวคิดที่มาจากทางตะวันตก โดยเฉพาะจากนักคิดคนสำคัญคนหนึ่ง คือ จอห์น ดิวอี้ แก่นของความคิดที่เป็นวาทกรรมอย่างหนึ่งก็คือ “การเรียนโดยการกระทำ” นั้นคือการเรียนโดยการปฏิบัติหรือเรียนอย่างมีประสบการณ์นั้นเอง เมื่อปฏิบัติและมีประสบการณ์นั่นแหละจะสามารถทำให้คิดได้และทำได้เป็นผลตามมา แต่ดูเหมือนบรรดานักการศึกษาใหญ่ ๆ ของไทยถอดรหัสแก่นแท้ของความหมายนี้ไม่ได้ เพราะขาดความเข้าใจในบริบทของความเป็นมนุษย์และสังคม จึงมาคิดเป็นโครงสร้างและระบบเชิงเทคนิคที่ห่างความเป็นจริงไป นั่นคือการทำให้เด็กเรียนรู้อย่างเป็นปัจเจกบุคคลซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่ากลัวมากว่าเด็กในยุคต่อไปจะเรียนเก่งหรือทำอะไรเก่ง ๆ ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวเท่านั้น เมื่อเกิดขึ้นก็เท่ากับเป็นการขานรับค่านิยมในเรื่องปมด้อยปมเด่นที่สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งที่มีการเสนอมาอย่างตลกก็คือ การสร้างครูต้นแบบซึ่งก็เป็นเรื่องของการเป็นปัจเจกที่ผิดจากความเป็นมนุษย์อีกนั่นแหละ

“โรงเรียนเพลินพัฒนา” โรงเรียนแบบใหม่ที่สามารถตอบสนองการเรียนรู้อย่างมีสติปัญญา
เมื่อมาถึงตอนนี้ทำให้คิดไปถึงเรื่องต้นแบบอีกอย่างหนึ่ง คือเรื่องของโรงเรียนต้นแบบ ดูเหมือนจะเข้าท่ากว่าครูต้นแบบเป็นไหน ๆ เพราะมีอยู่แล้วในสังคมไทย เช่น โรงเรียนวชิราวุธที่รัชกาลที่ ๖ ทรงสร้างขึ้นโดยทรงเอาความคิดและแบบอย่างมาจากโรงเรียนในประเทศอังกฤษ หรือไม่ก็โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ควรจะได้มีการนำมาเปรียบเทียบและวิพากษ์วิจารณ์เพื่อหาอะไรที่ใหม่และเหมาะสมขึ้นมาเป็นโรงเรียนต้นแบบในปัจจุบันได้
แต่ข้าพเจ้าก็ยังนึกไปถึงโรงเรียนในภาคเอกชนอีกหลายแห่ง ที่ดูเหมือนประสบผลสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาให้เด็กนักเรียนได้ดีและชัดเจนกว่าของรัฐบาล ดังเช่น โรงเรียนรุ่งอรุณ และโรงเรียนเพลินพัฒนา เป็นต้น ข้าพเจ้าเคยเห็นการเรียนการสอนที่น่าสนใจของโรงเรียนเหล่านี้ แต่ไม่เคยเห็นอะไรที่เด็กเป็นศูนย์กลางหรือแม้กระทั่งครูเป็นศูนย์กลางอย่างแยกขั้ว แต่ในขณะเดียวกันแลเห็นการถอดรหัสการเรียนโดยการกระทำของจอห์น ดิวอี้ได้อย่างดีมาก นั่นคือแลเห็นการเรียนรู้ร่วมกันของครูและนักเรียนในเวลาเดียวกัน โดยครูต้องทำหน้าที่ค้นคว้าและคิดหัวข้อหรือโจทย์ให้เด็กไปทำการหาคำตอบร่วมกัน จะเป็นเรื่องของการค้นคว้าในห้องสมุดหรือจากประสบการณ์นอกสถานที่ก็ได้ ในการดำเนินงานนั้นครูไม่ได้ทิ้งลูกศิษย์ หากเฝ้าติดตาม ค้นคว้า แนะนำและเพิ่มเติมตลอดเวลา ในขณะที่เด็กเองก็มีการปรึกษาหารือแบ่งกันไปทำงานตามความถนัดหรือความสนใจของแต่ละคนโดยมีความมุ่งหมายที่ผลสำเร็จร่วมกันอย่างไม่จำเป็นว่าใครเก่งกว่าคนโน้นคนนี้ นับเป็นการเรียนโดยประสบการณ์ที่เป็นกลุ่ม เมื่อเป็นเช่นนี้ความเป็นปัจเจกก็ไม่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีการรับรู้และยอมรับความสามารถและความถนัดของแต่ละคนที่มีส่วนร่วม เมื่อทำงานเสร็จก็เป็นความภูมิใจของทุกคน สิ่งนี้นำไปสู่การเกิดสำนึกร่วมกันของการเป็นกลุ่มที่มีจริยธรรมเยี่ยงมนุษย์ในฐานะเป็นสัตว์สังคมโดยแท้
ข้าพเจ้าใคร่ฝากความหวังไว้กับการเรียนรู้ร่วมกันทั้งของครูและนักเรียนแบบนี้มากกว่าคำโต ๆ ที่แสนกลวงอย่างเด็กเป็นศูนย์กลางของนักวิชาการแบบอรหันต์ของรัฐบาล
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
Comments