top of page

ข้ามเขาสุดขอบฟ้ากว่าจะถึง....บ่อเกลือเมืองน่าน

อัปเดตเมื่อ 12 ก.พ. 2567

เผยแพร่ครั้งแรก 1 ต.ค. 2534


ที่ต้นน้ำน่านมีบ่อเกลือและมีการทำเกลือเป็นจำนวนมาก


พระวิภาคภูวดลบันทึกข้อความนี้ไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๒ คราวขึ้นเหนือไปสำรวจเพื่อทำแผนที่สากลฉบับแรกของประเทศไทย


บ่อเกลือที่บ้านบ่อเกลือในปัจจุบัน และการผลิตที่ยังคงรูปแบบเดิมไว้


พระวิภาคภูวดล หรือนายเจมส์ แมคคาร์ธี ท่านนี้ ได้เป็นเจ้ากรมแผนที่คนแรกและบุกเบิกงานสำรวจเพื่อทำแผนที่อย่างจริงจัง ดังนั้น บันทึกความทรงจำของท่านจึงเป็นเอกสารที่บอกกล่าวเรื่องราวของภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศสยามยุคนั้นได้อย่างกระจ่างชัดเรื่องหนึ่ง


เกลือสินเธาว์ มีความสำคัญมากสำหรับชุมชนที่อยู่ไกลชายฝั่งทะเล ดังเช่น พระวิภาคภูวดลบันทึกไว้ว่า ในเขตอินโดจีนที่แห่งใดซึ่งมีเกลือจะเป็นที่รู้จักกันอย่างดี และเกลือจะมีค่าราวกับทองคำ ผู้ที่ไม่เคยอดเกลือเช่นเรา ๆ ท่าน ๆ คงจะไม่รู้พิษสงว่าในยามขาดเกลือเป็นเช่นไรและคงนึกไม่ออกว่า ทองคำกับเกลือนั้น นำมาเปรียบเทียบกันได้ตรงไหน


ร่องรอยของความสำคัญของเกลือสินเธาว์ในภาคอีสาน อาจจะมีผู้คนศึกษาสำรวจเก็บข้อมูลกันอย่างแพร่หลายจำนวนหนึ่งแล้ว แต่ในภาคเหนือ เกลือสินเธาว์ที่พูดกันว่ามีค่าราวกับทองคำนั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องการข้อมูลอีกมาก


ที่ต้นน้ำน่าน เป็นที่รู้กันแพร่หลายว่ามีการผลิตเกลือสินเธาว์เป็นจำนวนมาก และหากต้องการจะทราบความสำคัญของเกลือสินเธาว์ต่อบ้านเมืองในล้านนาก็เป็นเรื่องแน่นอนที่ต้องเข้าไปหาแหล่งข้อมูลให้ถึงที่ อุบัติการณ์ข้ามเขาสุดขอบฟ้า เพื่อจะไปหาแหล่งผลิตเกลือที่เมืองน่านจึงเริ่มต้นด้วยเหตุนี้


บ่อหยวก ริมน้ำว้า ตำบลบ่อเกลือเหนือ ปัจจุบันมีเพียงการผลิตเพื่อการบริโภคเท่านั้น


เมืองบ่อชุมชนในหุบเขา


จุดที่ตั้งของบ่อเกลือเมืองน่าน ในแผนที่ของพระวิภาคภูวดลลงชื่อไว้ว่า “M.baw” หรือ “เมืองบ่อ” ซึ่งน่าจะหมายถึงบริเวณตำบลบ่อเกลือเหนือและตำบลบ่อเกลือใต้ เขตกิ่งอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ในยุคที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยังมีบทบาทอย่างสูง พื้นที่ในแถบเทือกเขาด้านตะวันตกของจังหวัดน่านตามพรมแดนไทย-ลาว กลายเป็นสิ่งต้องห้ามในการเดินทางเข้าไปของนักเดินทางปกติ (แต่คงยินดีต้อนรับผู้ที่หนีร้อนและต้องการเข้าป่า) พื้นที่เหล่านี้รวมถึงบริเวณบ่อเกลือด้วยแน่นอน


การเดินทางเข้าไปอย่างสะดวกสบายเพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อตั้งกิ่งอำเภอบ่อเกลือ โดยแยกออกจากอำเภอปัวใน พ.ศ.๒๕๓๑ ถนนลาดยางตัดข้ามเขาลูกแล้วลูกเล่าเพื่อจะเชื่อมโยงพื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกว่าพื้นที่สีแดง และแดงอย่างจัดจ้านเสียด้าย ทำให้ผู้คนในแถบนั้นมีโอกาสมีส่วนร่วมกับโลกภายนอกมากขึ้น


การเดินทางไปสู่กิ่งอำเภอบ่อเกลือทำได้ ๒ ทางคือ จากจังหวัดน่านผ่านกิ่งอำเภอสันติสุข, บ้านน้ำยาว ถึงกิ่งอำเภอบ่อเกลือ รวมระยะทาง ๑๕๒ กิโลเมตร และทางสายใหม่จากอำเภอปัวตัดตรงข้างเขาเข้ากิ่งอำเภอบ่อเกลือ ระยะทาง ๔๘ กิโลเมตร รวมระยะทางจากน่านถึงกิ่งอำเภอบ่อเกลือ ๑๑๘ กิโลเมตร ซึ่งไม่ว่าทางใดก็ต้องข้ามเทือกเขาสลับซับซ้อนทั้งสิ้น


พรมแดนไทย-ลาว ด้านจังหวัดน่านแบ่งคั่นด้วยสันปันน้ำของเทือกเขาหลวงพระบาง ในบริเวณนี้เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสำคัญหลายสาย เช่น น้ำน่าน, น้ำมาง, น้ำว้า, น้ำแคะ เป็นต้น ซึ่งลำน้ำเหล่านี้ไหลลัดเลาะอยู่ตามหุบเขา ช่วยให้กำเนินที่ราบแคบ ๆ ริมน้ำในเทือกเขาเหล่านี้ด้วย


และแน่นอน ผู้คนส่วนใหญ่ย่อมเป็นชาวดอยที่เรียกตนเองว่า ลัวะ หากแต่ทางราชการเรียกพวกเขาว่า “ถิ่น” ตั้งบ้านเรือนกันตั้งแต่บนยอดดอย บนไหล่เขา และที่ราบริมน้ำ ส่วนผู้ที่เรียกตนเองว่า “คนเมือง” ก็มีอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งรวมอยู่เป็นกลุ่ม เรียงตามที่ราบแคบ ๆ ของน้ำมางในตำบลบ่อเกลือใต้ ซึ่งกลุ่มคนเมืองเหล่านี้ล้วนมีสาเหตุการอพยพเข้ามาอาศัยในเขตหุบเขาเนื่องจากการผลิตเกลือเป็นส่วนใหญ่


เมืองน่านมีที่ราบแคบ ๆ อยู่ ๓ แห่ง แห่งหนึ่งคือที่ราบในเขตอำเภอปัว ซึ่งอยู่ติดกับเทือกเขาที่จะเข้าสู่บ่อเกลือ ผู้คนที่ควรจะคุ้นเคยและน่าจะอยู่กับพื้นราบมากกว่า แต่อพยพเข้าไปอยู่ในที่สูงอันทุรกันดารนั้น คงต้องมีสิ่งจูงใจเป็นพิเศษ และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อทราบว่าสิ่งจูงใจนั้นคือ “เกลือสินเธาว์” จากบ่อเกลือที่ไม่เคยเหือดแห้ง


เกลือเมืองน่านกับอดีตอันยาวไกล


ในเขตตำบลบ่อเกลือเหนือ มีบ่อเกลืออยู่หลายบ่อ คือบ่อหยวกและบ่อตองอยู่บริเวณเดียวกับริมน้ำว้า บ้านบ่อหยวก, บ่อเวนที่บ้านบ่อเวน, บ่อน่านและบ่อกึ๋นอยู่บริเวณต้นน้ำน่าน, บ่อแคะที่ใกล้ ๆ น้ำแคะ, บ่อเกร็ดที่บ้านสว้า บ่อเหล่านี้ปัจจุบันไม่มีการต้มเพื่อขายอีกแล้ว บางบ่อเช่น บ่อหยวกที่เคยมีการผลิตเป็นจำนวนมากก็เปลี่ยนเป็นต้มเพื่อใช้กินกันในครัวเรือน หรือบางบ่อถูกน้ำพัดดินมาถล่มกลบบ่อจนกู้คืนอีกไม่ได้


แต่สาเหตุที่น่าจะสำคัญคือ ไม่มีคนมาซื้อเกลือดังเช่นแต่ก่อน เพราะหนทางที่ค่อนข้างลำบากและปริมาณน้ำเกลือที่เจือจาง เมื่อต้มแล้วก็จะไม่คุ้มทุนนัก ศูนย์กลางการผลิตเกลือในหุบเขาเหล่าที่อยู่ที่บ้านบ่อหลวง ตำบลบ่อเกลือใต้ยังมีหลักฐานสนับสนุนอีกหลายประการถึงความสำคัญของบ่อเกลือที่บ้านบ่อหลวง ที่ตั้งของบ้านบ่อหลวงอยู่ในพื้นที่เริ่มต้นของที่ราบแคบ ๆ ระหว่างเทือกเขาริมน้ำมาง ซึ่งที่ทราบนี้จะเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านอีก ๘ หมู่บ้าน จนถึงบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดที่บ้านสบมาง ความกว้างของที่ราบเหล่านี้ โดยประมาณแล้วราว ๒๐๐-๔๐๐ เมตร เป็นระยะทาง ๖-๗ กิโลเมตร พื้นที่ดังกล่าวใช้ทำนาปลูกข้าวเพียงปีละครั้ง และไม่เคยเพียงพอต่อการบริโภคตลอดทั้งปี กลุ่มชาวพื้นราบทั้ง ๘ หมู่บ้าน เป็นกลุ่มคนเมืองกลุ่มใหญ่ที่สุดของชุมชนในหุบเขาบริเวณนี้


บ้านบ่อหลวงมีบ่อเกลือสาธารณะอยู่ ๒ บ่อ (หมายถึงผู้ใดในหมู่บ้านก็มีสิทธิ์ใช้น้ำเกลือได้เท่าเทียมกัน) เรียกว่า บ่อ ๑ และบ่อ ๒ หรือบ่อเหรือและบ่อใต้


บ่อเหนือ อยู่ริมน้ำมาง ส่วนบ่อใต้ ห่างออกมาราว ๕๐๐ เมตร ติดเชิงเขาท้ายหมู่บ้าน ทั้ง ๒ บ่อกรุขอบด้วยคอกไม้กันดินปากหลุมถล่ม และมีนั่งร้านสำหรับยืนตักน้ำเกลืออยู่ข้าง ๆ บ่อเกลือทั้ง ๒ มีน้ำเกลือซึ่งมีความเข้มข้นสูงกว่าบ่อ อื่น ๆ ในเขตบ่อเกลือเหนือ โดยวัดจากการใช้ปริมาณเชื้อฟืนและเวลาที่ใช้เป็นตัวคงที่ ปริมาณเกลือของบ้านบ่อหลวงจะได้มากกว่า


ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๐ เรื่องพงศาวดารเมืองน่าน มีข้อความกล่าวถึงแหล่งผลิตเกลือที่เป็นสาเหตุให้พระเจ้าติโลกราชยกทัพมายึดเมืองน่าน เมื่อ พ.ศ.๑๙๔๓ โดยอ้างว่าต้องการเกลือจาก บ่อมาง ไปเป็นส่วนค้า ให้กับทางเมืองเชียงใหม่ เกลือจากบ่อมางดังกล่าว น่าจะหมายถึงบ่อเกลือที่บ้านบ่อหลวงเพราะบ่อเกลือที่ติดกับน้ำมางมีเพียงแห่งเดียวคือที่บ้านบ่อหลวง


นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันถึงความสำคัญของบ่อเกลือที่บ้านบ่อหลวงในยุคสมัยใกล้เคียงกับตำนานเมืองน่านได้เป็นอย่างดี บริเวณที่ก่อสร้างโรงพยาบาลประจำกิ่งอำเภอบ่อเกลือ ซึ่งอยู่บนไหล่เขาฟากตรงข้ามกับบ่อเกลือ ๑ เคยเป็นที่ตั้งของวัดร้างชื่อวัดต้นตองและวัดตาลชุม เป็นชื่อที่ชาวบ้านบ่อหลวงเรียกสืบทอดกันต่อๆ มาราวปี พ.ศ.๒๕๓๓ ซากอาคารของวัดทั้งสองนี้ถูกกลบทับปรับที่เพื่อสร้างโรงพยาบาล โดยไม่มีผู้ใดนึกเฉลียวใจว่าได้กลบทับหลักฐานทางโบราณคดีสำคัญของเมืองน่านแห่งหนึ่งให้อยู่ใต้ดินลึกกว่า ๓ เมตร โดยไม่มีทางใดที่จะกู้คืนขึ้นมาได้อีก


แต่หลักฐานทางโบราณคดีเท่าที่หลงเหลือนับเป็นตัวชี้ถึงอายุสมัยและความสำคัญของชุมชนโบราณแห่งนี้เช่น เศษเครื่องเคลือบจากแหล่งเตาล้านนา เช่น กลุ่มเตาเวียงกาหลง, กลุ่มเตาพานหรือโป่งแดง, กลุ่มเตาม่อนออม จังหวัดพะเยา, กลุ่มเตาบ่อสวก จังหวัดน่าน นอกจากนี้ยังพบเศษเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัยและเศษเครื่องถ้วยลายครามสมัยราชวงศ์หมิงซึ่งพอจะตีความรวม ๆ ได้ว่า ควรจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒

จารึกหลักที่ ๗๕ ซึ่งตีพิมพ์ใน “ประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๓ ประมวลจารึกที่พบในภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคตะวันออกและภาคกลางของประเทศไทย” ลงศักราช จ.ศ.๙๒๗ หรือตรงกับ พ.ศ.๒๑๐๘ ข้อความกล่าวถึง การสร้างอารามเพื่ออุทิศถวายพระชั้นผู้ใหญ่ โดยเจ้าหัวแสนและขุนนางคนอื่นๆ ตัวอักษาที่จารึกเป็นอักษรในช่วงระหว่างการใช้ตัวอักษรไทยมาเป็นอักษรธรรมแบบล้านนา ที่เรียกว่า “อักษรฝักขาม”


แม้จะเป็นกลุ่มชนที่โดดเดี่ยว อยู่ท่ามกลางขุนเขาและติดต่อกับโลกภายนอกได้ลำบาก (จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุกล่าวว่าจะต้องใช้เวลา ๒ วัน กับ ๑ คืน ในการเดินทางจากบ่อหลวงไปปัว) เมื่อวัดจากโบราณวัตถุที่พบ เช่น หลักฐานสำคัญทั้งสองประการ น่าจะเป็นสิ่งสนับสนุนข้อความในพงศาวดารถึงความสำคัญของเกลือสินเธาว์ที่ควรจะมีต่อชุมชนต่าง ๆ ในล้านนา ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ถึง ๒๒


แต่ผู้ผลิตเกลือในพุทธศตวรรษดังกล่าวก็ไม่ได้อยู่ต่อเนื่องมาเป็นชาวบ้านบ่อหลวงในปัจจุบัน ชาวบ่อหลวงในปัจจุบันมีประวัติกลุ่มชนของตนเองที่บอกเล่าสืบต่อ ๆ กันมา แม้จะไม่แจ่มชัดนัก แต่เมื่อนำมาประมวลเข้ากับลักษณะทางความเชื่อ, พิธีกรรม และข้อมูลทางประวัติศาสตร์อาจจะกล่าวได้ว่า


กลุ่มชาวบ้านบ่อหลวง น่าจะมีบรรพบุรุษเป็นชาวไตลื้อ (แม้จะไม่มีผู้ใดกล่าวว่าตนเป็นคนไตลื้อ) ที่อพยพมาจากทางใต้ของสิบสองปันนาแถบเมืองบ่อแฮ่และบ่อหลวง ซึ่งมีการผลิตเกลือเป็นจำนวนมาก และนำพาลักษณะวิธีการผลิตที่คล้ายคลึงกันมาด้วย การอพยพย้ายถิ่นฐานก็อยู่ในเส้นทางที่สามารถเป็นไปได้ คือล่องน้ำทามาออกน้ำโขงแล้วพักอยู่ที่เชียงแสนระยะหนึ่ง จากนั้นเดินผ่านเชียงแสนผ่านเทิง ข้ามเขามาสู่เมืองน่านและบ้านบ่อหลวงตามลำดับ


ส่วนระยะเวลานั้น น่าจะอยู่ในช่วงที่บ้านเมืองในล้านนา “บ่มั่นบ่เที่ยงสักบ้านสักเมืองแล” ระหว่างแผ่นดินกรุงธนบุรีต่อเนื่องกับกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นช่วงที่วีรบุรุษของชาวบ่อหลวง คือ เจ้าหลวงมโน ที่ได้ถูกยกให้เป็นผีเมืองหรือเทวดาเมือง มีชีวิตอยู่


นอกจากนี้ เรายังสามารถเปรียบเทียบลักษณะพิธีกรรม เช่น การบูชาเสาใจเมือง, การเลี้ยงผีเมืองประจำปี, การเลี้ยงผีบ้านซึ่งจะนับถือผีเป็นสายตระกูล โดยมีบันทึกเรื่อง “ไทยสิบสองปันนา” ของ คุณบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ เป็นหลักฐานสำคัญให้สามารถเปรียบเทียบกับพิธีกรรมของชาวไตลื้อในสิบสองปันนาตอนใต้ได้เป็นอย่างดี ร่องรอยเหล่านี้ น่าจะช่วยยืนยันว่า ชาวบ่อหลวงในปัจจุบันเป็นกลุ่มคนที่เข้ามาใหม่ เพื่อผลิตเกลือโดยเฉพาะ เมื่อราว ๒๐๐ ปีที่ผ่านมา


ผลผลิตเกลือจากเมืองน่าน สามารถเลี้ยงชุมชนรายรอบได้ไม่เกิน ๓ หัวเมืองเท่านั้น (ศึกษาเปรียบเทียบและคำนวณจากการผลิตในปัจจุบันเทียบกับการผลิตในอดีตและประชากรเมื่อราวต้นรัชกาลที่ ๕) ซึ่งหัวเมืองเหล่านั้นน่าจะอยู่ในบริเวณรอบ ๆ เมืองน่าน เช่น แพร่, ลำปาง, พะเยาหรือเชียงราย ส่วนในล้านนาภาคตะวันออกอาจจะใช้เกลือสินเธาว์จากเมืองบ่อแฮ่ในสิบสองปันนาหรือเกลือทะเลจากพม่านั้นยังไม่สามารถยืนยันได้


นอกจากนี้ยังไม่พบว่ามีการกล่าวถึงบ่อเกลือเขตนี้เลย นับเป็นเรื่องราวน่าติดตามเพื่อให้เกิดความกระจ่างเกี่ยวกับเรื่องเกลือของภูมิภาคล้านนาทั้งหมด



ก่อนฟ้าสางลัวะเมืองน่านและนกเขาไฟ


สองชื่อหน้าเป็นชื่อหนังสือ นวนิยายของ สุรชัย จันทิมาธร เรื่องหนึ่ง และงานวิจัยของ ชลธิรา สัตยาวัฒนา เรื่องหนึ่ง ส่วนชื่อหลังเป็นบทเพลงของ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ซึ่งทั้งหมดเป็นงานที่กลั่นกรองจากการใช้ประสบการณ์ร่วมกับชาวลัวะบนภูดอยแห่งเมืองน่าน หรือจะให้แคบเข้าไปอีก คือชาวลัวะในบริเวณพื้นที่ของกิ่งอำเภอบ่อเกลือในปัจจุบัน


นอกจากข้อมูลของพระวิภาคภูวดลแล้ว การสืบหาบ่อเกลือแห่งเมืองน่านก็ได้จากเรื่องราวข้างต้น เป็นข้อมูลซึ่งให้บรรยากาศมากกว่าจะให้รายละเอียดของพื้นที่บริเวณนี้ เรื่องราวของชาวลัวะมีมิติอันลึกล้ำเกินกว่าจะเข้าใจได้ง่าย ๆ เหมือนกับที่เราไม่สามารถทำความเข้าใจบทบาทของชาวลัวะที่มีปรากฏอยู่ในตำนานต่าง ๆ ควบคู่มากับบ้านเมืองในล้านนาได้


กลุ่มคนที่สืบสายมาจากบรรพบุรุษซึ่งเป็นชาวลัวะมีอยู่หลายกลุ่ม ทั้งที่อยากจะลืมอดีตและไม่อยากจะให้ใครถามว่าตนเป็นคนลัวะหรือไม่ และกลุ่มที่เป็นลัวะอย่างเคร่งครัดทั้งขนบและประเพณี นอกจากนี้พื้นที่บางแห่งซึ่งมีชาวลัวะอยู่อาศัย ก็ยังมีซากโบราณสถานที่เรียกว่าวัดร้างอยู่หลายแห่ง ทั้งที่มีการนับถือผีกันโดยทั่วไป


พื้นที่เกือบทั้งหมดของบ่อเกลือ เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นเขตรักษาต้นน้ำสำคัญและเขตอุทยานแห่งชาติ การเข้ามาของทางราชการทำงานได้เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่และการตั้งกิ่งอำเภอที่มีนโยบายไม่ชัดเจนต่อการพัฒนาพื้นที่แถบนี้ ทำให้อนาคนของชาวลัวะอาจจะมืดมนไปมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะฝ่ายราชการไม่สามารถเข้าใจความเป็นลัวะของเขาได้


โดยเฉพาะเรื่องสำคัญ คือ การฝ่าพรมแดนข้ามประเพณีการถือผีของชาวลัวะ ซึ่งยังไม่สามารถทำได้ และเป็นปัญหาสำคัญที่ควรจะพิจารณาอย่างรอบคอบ


บ่อเกลือในปัจจุบัน สวยงามด้วยภูมิประเทศ ควันหลงของสงครามอาจมีอยู่บ้างเพียงประปราย และพื้นที่นี้กำลังจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเมืองน่าน


นอกเหนือไปจากนั้นยังเป็นพื้นที่ซึ่งควรจะมีการศึกษาอีกในหลาย ๆ ด้าน ทั้งเรื่องราวของชาวลัวะ ซึ่งยากจะเข้าใจได้อย่างแท้จริง, เรื่องของกลุ่มคนเมืองและความสัมพันธ์กับชาวลัวะ การศึกษาทางธรณีวิทยาของบ่อเกลือ หรือแม้แต่ธรรมชาติศึกษา


แต่อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นจะต้องข้ามขุนเขาสุดขอบฟ้าไปให้ถึงบ่อเกลือเสียก่อนเป็นอันดับแรก







Comments


เกี่ยวกับมูลนิธิ

เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ลำดับที่ ๕๘๐ ของประกาศกระทรวงการคลังฯ เผยแพร่ความรู้และความเข้าใจทางสังคมวัฒนธรรมในท้องถิ่นต่างๆ และเพื่อสร้างนักวิจัยท้องถิ่นที่รู้จักตนเองและรู้จักโลก

SOCIALS 

© 2023 by FEEDs & GRIDs. Proudly created with Wix.com

bottom of page