พระพุทธบาทที่บัวเชดและช่องบาระแนะ
- ศรีศักร วัลลิโภดม
- 23 ส.ค. 2565
- ยาว 1 นาที
อัปเดตเมื่อ 2 ก.พ. 2567
เผยแพร่ครั้งแรก 1 ก.ย. 2550
ในรอบปีที่ผ่านพ้นมาได้พบหลักฐานและข้อมูลใหม่เกี่ยวกับพุทธศาสนาเถรวาทในท้องถิ่นอีสานใต้เพิ่มขึ้น นั่นคือ พระพุทธบาทที่เขาศาลา อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ และพระพุทธบาทคู่ที่ช่องบาระแนะ อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งสองแห่งอยู่ในบริเวณเทือกเขาพนมดงเร็ก นับเป็นการพบใหม่สำหรับข้าพเจ้า

จากการบอกเล่าและนำทางของคนท้องถิ่น พระพุทธบาททั้งสองแห่งหาได้สร้างขึ้นไว้ในมณฑปหรืออูปมุงอย่างเช่นพบตามวัดที่มีมาแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยาอย่างที่ได้รับรู้และคุ้นเคยไม่ หากพบอยู่บนโขดหินและเขาธรรมชาติในบริเวณที่ห่างไกลชุมนุมชน
โดยทั่วไปพฤติกรรมในการสร้างรอยพระพุทธบาทนั้นอาจมองอย่างแยกแยะได้เป็น ๒ ลักษณะ อย่างแรกคือสร้างเป็นรอยพระพุทธบาทแล้วจำหลักสัญลักษณ์ที่เป็นมงคลเกี่ยวกับจักรวาลลงบนรอย บางพระบาทก็มี ๑๐๘ สัญลักษณ์ หรือบางพระบาทก็แกะหรือจำหลักเฉพาะรูปธรรมจักรหรือดอกบัวอยู่ตรงกลางเท่านั้น แล้วนำไปประดิษฐานตามวัดหรือแทนที่สำคัญทางศาสนา ส่วนอย่างที่สองก็คือ การสลักลงบนโขดหินหรือเนินหินธรรมชาติที่ถูกกำหนดให้เป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ [Supernatural Sites] จะไม่ใคร่พบ แต่ที่คุ้น ๆ กันก็คือรอยพระพุทธบาทที่เขาพระพุทธบาทและที่เขาพระพุทธฉาย จังหวัดสระบุรี ที่มีการสร้างตำนานขึ้นมาอธิบายแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเป็นต้นมา
พระพุทธบาทสองแห่งที่ทั้งบัวเชดและบาระแนะนับเนื่องในลักษณะอย่างที่สองที่กล่าวมานี้ และเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าให้ความสำคัญในที่นี้เพราะได้สะท้อนให้เห็นความคิดและความเชื่อในตำแหน่งศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติที่มีมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ข้าพเจ้าคิดว่าสังคมมนุษย์แทบทุกท้องถิ่นมีการกำหนดภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่ตนตั้งถิ่นฐานเป็น ภูมิวัฒนธรรม [Cultural Landscape] โดยการตั้งชื่อสร้างตำนานอธิบายเพื่อการใช้ร่วมกันในกิจกรรมทางความเชื่อ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ-สังคม และการเมืองการปกครอง ในด้านความเชื่อนั้นมักกำหนดด้านลักษณะธรรมชาติที่ดูโดดเด่นผิดปกติเป็นที่สะดุดตาให้เป็นบริเวณศักดิ์สิทธิ์ อันสัมพันธ์กับอำนาจเหนือธรรมชาติ อย่างเช่น ผาแต้ม ริมฝั่งแม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม ประตูผา ที่จังหวัดลำปางซึ่งมีการเขียนภาพสีมือแดงและสัญลักษณ์อื่น ๆ ลงไป บริเวณเวิ้งน้ำมีวังน้ำวนว่าเป็นที่อยู่ของจระเข้เผือกในภาคอีสาน หรือเขาลูกโดด เช่น เขาถมอรัตน์ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ เขาสามยอด ของจังหวัดลพบุรี หรือแม้แต่ เขาพระวิหาร บนเทือกพนมดงเร็กที่อยู่ต่อแดนเขมร หรือ เขาภูเก้า ที่เมืองจำปาสักของลาวที่มีแท่งหินธรรมชาติบนยอดเขาคล้ายกับศิวลึงค์ แม้แต่บนเทือกพนมดงเร็กในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ก็มีโขดหินธรรมชาติที่พวกขอมโบราณสลักเป็นแท่งศิวลึงค์แล้วสร้าง ปราสาทตาเมือนธม ครอบ ซึ่งเป็นตำแหน่งศักดิ์สิทธิ์บนช่องตาเมือนที่ผ่านและขึ้นลงจากเขมรต่ำ

รอยพระพุทธบาทที่บาระแนะมีความคล้ายกับโขดหินที่ปราสาทตาเมือน เพราะอยู่บนช่องเขาแบบเดียวกัน ที่ผู้คนผ่านไปมาจะต้องแวะเข้าทำพิธีกราบไหว้เพื่อความปลอดภัยและความเป็นสวัสดิมงคลในการข้ามเขตแดนหนึ่งไปสู่อีกเขตหนึ่ง ในขณะที่รอยพระพุทธบาทที่บัวเชดอยู่ในตำแหน่งที่อาจไม่ใช่ทางผ่าน แต่เป็นเพิงหินที่มีลักษณะโดดเด่นอยู่ท่ามกลางพื้นหินโดยรอบ อีกทั้งตั้งอยู่ในระดับความสูงที่เป็นศูนย์กลางของสภาพแวดล้อมที่เป็นที่คนมาชุมนุม ประกอบพิธีกรรมร่วมกันได้เป็นจำนวนมาก ตำแหน่งที่เลือกเป็นตำแหน่งศักดิ์สิทธิ์นี้ก็ไม่ไกลไปจากเชิงเขาที่ปัจจุบัน เป็นที่ตั้งวัดเขาศาลาที่เต็มไปด้วยโขดและเพิงหินที่พระสงฆ์หรือฤาษีชีไพรมาพำนักบำเพ็ญภาวนา ดูคล้าย ๆ กันกับบริเวณ พระพุทธบาทบัวบก บนเทือกเขาภูพานในเขตอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ที่ทางราชการไปกำหนดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท บริเวณนี้มีความสำคัญมากเพราะเคยเป็นที่พระป่าของอีสาน เช่น หลวงปู่มั่น ท่านเคยธุดงค์ไปวิปัสสนา
เมื่อมาถึงตรงนี้ข้าพเจ้าก็ใคร่สรุปว่า รอยพระพุทธบาทบัวเชดนั้นสร้างขึ้นบนเพิงหินศักดิ์สิทธิ์อันเป็นแหล่งประกอบประเพณีพิธีกรรมของพระภิกษุทางพุทธศาสนาที่มีสำนักอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น สำนักพระป่า ก็ได้
สำนักพระป่าและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาตินี้นับเป็นประเพณีของพระภิกษุอรัญวาสีของภาคอีสานมาแล้วแต่สมัยทวารวดี
เพราะมีหลักฐานหลายแห่งมากมาย โดยเฉพาะแหล่งที่มีการสลักพระพุทธรูปนอนขนาดใหญ่ตามเขาต่าง ๆ เช่น พระนอนที่เขาภูเวียง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น พระนอนที่ภูปอและภูค่าวจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นต้น
แต่ปัญหาและคำถามที่สำคัญสำหรับรอยพระพุทธบาททั้งที่บัวเชดและบาระแนะก็คือ ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยทวารวดีอย่างเช่นในที่อื่นที่กล่าวมาแล้ว อีกทั้งบริเวณเทือกเขาพนมดงเร็กนี้เป็นพื้นที่ของศาสนาฮินดูและพุทธมหายานในวัฒนธรรมขอม-กัมพูชาทั้งสิ้น ซึ่งก็ทำให้มีผู้รู้อย่างเผิน ๆ เป็นจำนวนมากมักอธิบายว่าพุทธศาสนาเถรวาทแพร่เข้ามาในอีสานใต้โดยพวกลาวล้านช้างและจำปาสัก ราวสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ ลงมา โดยอาจมีการเคลื่อนไหวในรัชกาลของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชแห่งนครเวียงจันทน์
ข้าพเจ้ายอมรับว่าคนลาวล้านช้างนิยมสร้างรอยพระพุทธบาทเหมือนกันกับทางสุโขทัยและอยุธยา เพราะติดมาจากพุทธลังกาและพุกาม อีกทั้งมีแพร่หลายมากราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ ลงมา แต่ยังแลไม่เห็นรอยพระพุทธบาทใดในอีสานและลาวที่มีอายุเก่ากว่าพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ขึ้นไป ยกตัวอย่างเช่น การสร้างรอยพระพุทธบาทบนภูพานที่บ้านผือ ไม่ว่าที่พระพุทธบาทบัวบาน พระพุทธบาทบัวบก พระพุทธบาทหลังเต่า หรือแม้แต่ที่เวินพระบาทริมแม่น้ำโขงในเขตอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ก็น่าจะเป็นของที่สร้างขึ้นแต่สมัยการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาของ พระครูหลวงโพนเสม็ก ในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ลงมา ข้าพเจ้าคิดว่าประเพณีการสร้างรอยพระพุทธบาทที่มาจากลังกานั้นมากับ ตำนานและความเชื่อในเรื่องของพระเจ้าเลียบโลก ที่สามารถอธิบายได้ถึงการสร้างรอยพระพุทธบาทตามที่ต่าง ๆ ในสุโขทัย อยุธยา ล้านนา และล้านช้าง โดยเฉพาะของล้านช้างนั้นเห็นชัดเจนในตำนานอุรังคธาตุของพระธาตุพนม
แต่ความแตกต่างของรอยพระพุทธบาทนี้กับบรรดาพระพุทธบาทอื่น ๆ ไม่ว่าเป็นรุ่นลพบุรี สุโขทัยหรืออยุธยา แม้แต่ล้านช้างและเขมรก็คือ สัญลักษณ์ที่เป็นมงคล ๑๐๘ ประการ เป็นสัญลักษณ์ที่เปรียบเทียบไม่ได้กับสัญลักษณ์ที่เป็นมงคลในที่ไหน ๆ เลย ซึ่งธรรมดาแล้วมงคล ๑๐๘ ประการของพระพุทธบาทคือสิ่งที่ทำให้เห็นจักรวาลทางพุทธที่แตกต่างไปจากคติของศาสนาฮินดูในด้านภพภูมิ เพราะจะแสดงลำดับชื่อให้แลเห็นความเป็นไตรภูมิที่ประกอบด้วย กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ค่อนข้างชัดเจน รอยพระพุทธบาทของทางพุกามและสุโขทัยแลเห็นภาพสัญลักษณ์ในรูปต่าง ๆ ที่ไม่มีรูปคนและเทพเป็นตัวแทน แต่ทางลพบุรีและอยุธยามักมีรูปเทพแสดงภพภูมิต่างลำดับชั้น
แต่รอยสัญลักษณ์ของพระบาทบัวเชดกลับเป็นรูปสัตว์และพันธุ์ไม้พันธุ์พืชนานาชนิดที่อยู่ในตำแหน่งที่สับสน กำหนดลำดับชั้นของภพภูมิไม่ได้เลย โดยเฉพาะสัตว์นั้นมีนับแต่สัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์เลื้อยคลาน ทาก กิ้งกือ ตะขาบ แมงป่อง หอย ปู ปลา และสัตว์อากาศ เช่น นก แมลง ดูแล้วเหมือนยกบรรดาสัตว์และพืชพันธุ์ทั้งหลายในป่ามาแสดงไว้ ฉะนั้น นับเป็นระบบสัญลักษณ์เฉพาะตัวที่สื่อกันเฉพาะคนในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันในท้องถิ่นหนึ่ง ๆ เท่านั้น บุคคลที่เป็นคนนอกคงไม่สามารถถอดรหัสความหมายได้
ซึ่งในที่นี้ทำให้ข้าพเจ้าต้องคิดเลยเถิดไปถึงความเป็นภาษาของสัญลักษณ์ในแต่ละช่องที่ทำให้ภาพมงคล ๑๐๘ ประการของพระพุทธบาทแห่งนี้เป็นภาษาในจารึกที่ผู้คนในท้องถิ่นใช้สื่อกันเอง ดังนั้น ถ้านำมาติดต่อเป็นบันทึกก็คงได้ความหมายที่ต้องการจะสื่อก็ได้ ข้าพเจ้าเชื่อว่ารอยพระพุทธบาทนี้ แม้ว่าจะมีกรอบโดยรอบเป็นบัวคว่ำบัวหงายตามประเพณีทางอารยธรรมอินเดียก็ตามที่เป็นพุทธหรือฮินดูก็ตาม แต่ลายสัญลักษณ์ที่เป็นสัตว์ พืช แมลง และอื่น ๆ นั้นสะท้อนให้เห็นถึงระบบความเชื่อแบบดังเดิมที่ใช้สัตว์ ต้นไม้ และสิ่งในธรรมชาติอื่นๆ เป็นสัญลักษณ์ในเรื่องความเชื่อ อีกทั้งล้วนเป็นรูปสัญลักษณ์ของคนอยู่ป่ามากกว่าอยู่ในเมือง เมื่อมาถึงตรงนี้แล้วก็ต้องมาหยุดอยู่ที่คำถามที่ว่า แล้วคนที่มาทำพิธีกรรมกราบไหว้รอยพระพุทธบาทนี้คือใคร คนเมืองหรือคนเผ่า ก็คงไม่ใช่คนเผ่าไท เผ่าลาว และเผ่าเขมร แล้วเป็นใคร ถ้าจะเดาคนเผ่าเหล่านี้ก็น่าจะเป็นคนในเผ่าพันธุ์มอญ-เขมร ที่ทางลาวเรียก ข่า ทางเหนือเรียก ลัวะ อะไรทำนองนั้น แต่ในเขตอีสานใต้นี้กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้องคงน่าจะเป็นพวกกูย พวกเยอ ที่น่าจะเคลื่อนย้ายเข้ามาแต่โบราณแล้ว แต่คนเหล่านี้ไม่ได้เลี้ยงช้างจึงไม่เรียกว่าส่วย หากมีอาชีพทำการเพาะปลูกและเก็บของป่า
เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีงานวิจัยท้องถิ่นที่ผ่านตาข้าพเจ้ามาว่า กูยพวกหนึ่งที่มีอาชีพทำการเพาะปลูกนั้นเวลาทอผ้าได้ทำลายผ้าให้มีลายตะขาบรวมอยู่ในบรรดาลายต่าง ๆ ทั้งหลาย หรือคนกูยที่ไม่ใช่เลี้ยงช้างที่บ้านตรึมในเขตจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ มีการบูชาตะกวดเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ บางทีบรรดาสัตว์ ต้นไม้ และแมลงที่ปรากฏอยู่ในรอยพระพุทธบาทก็น่าจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ที่สืบเนื่องมาแต่ความเชื่อดั้งเดิมก็ได้

ยังมีอีกแนวทางหนึ่งในการทำความเข้าใจกับรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ก็คือ น่าจะเป็นอาการแรกเริ่มของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หันมานับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องของหลักธรรมคำสอนทางปรัชญาหากเน้นในด้านพิธีกรรมเป็นสำคัญ โดยใช้สัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สมบูรณ์ในตัวเอง ดังเช่นในงานวิจัยเรื่องคนกะเหรี่ยงในเขตจังหวัดราชบุรีของอาจารย์สุรินทร์ เหลือลมัย ระบุว่า คนกะเหรี่ยงเปลี่ยนเสาหลักบ้านให้เป็นเสาหงส์เมื่อเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา เลยทำให้เสาหงส์กลายเป็นสัญลักษณ์ของวัดไป ชาวกะเหรี่ยงเรียนรู้พุทธศาสนาผ่านพระธุดงค์ที่เข้าไปช่วยรักษาคนด้วยน้ำมันที่เป็นพุทธมนต์ ก็เลยเอาน้ำมันนั้นไปกราบไหว้บูชาเรียกว่า หลวงพ่อน้ำมัน
โขดหินอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทแห่งนี้น่าจะเคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนในท้องถิ่นนี้มาก่อน และใช้ในการเดินทางเข้ามาประกอบพิธีกรรมตามฤดูกาลเพื่อความอุดมสมบูรณ์ นับเป็นที่ชุมนุมของคนหลายกลุ่มเหล่าทั้งใกล้และไกล ต่อเมื่อรับนับถือพระพุทธศาสนาก็เปลี่ยนให้เป็นรอยพระพุทธบาทโดยอาศัยกรอบบัวคว่ำบัวหงาย การกำหนดดอกบัวให้เป็นสัญลักษณ์จักรวาลและกรอบแสดงสัญลักษณ์มงคล ๑๐๘ ประการเป็นตัวบ่งชี้ เมื่อมากราบไหว้ประกอบพิธีกรรมกันตามฤดูกาลก็มีการนำเอากิ่งไม้หรือต้นไม้ขนาดเล็กมาค้ำไว้โดยรอบโขดหิน เพื่อแสดงการค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนและเพื่อต่ออายุของตนเองเช่นเดียวกันกับคนเหนือเอาไม้ไปค้ำต้นโพธิ์ต้นไม้ใหญ่ในวัด ปัจจุบันร่องรอยของซากกิ่งไม้ ลำต้นที่แห้ง ๆ จึงถูกนำมาค้ำรอยพระพุทธบาทที่เป็นเพิงหินไว้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
Comentarios