มลายูบางกอก ที่มา การกระจายตัว และวัฒนธรรมการเปลี่ยนแปลง
- ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง
- 16 ก.ค. 2567
- ยาว 1 นาที
เผยแพร่ครั้งแรก 1 มิ.ย. 2558

ภาพศุกรีย์ สาเร็ม (กลาง) นักวิชาการอิสลามศึกษา และมนตรี ยะรังวงศ์ (ขวา) กรรมการชุมชนสุเหร่าบ้านดอน ผู้มาเป็นวิทยากรในการแลกเปลี่ยนพูดคุย
เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๘ วารสารเมืองโบราณ มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ร่วมกับร้านหนังสือริมขอบฟ้า ได้จัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ มลายูบางกอก : ที่มา การกระจายตัว และวัฒนธรรมการเปลี่ยนแปลง ขึ้น โดยการเสวนาครั้งนี้ถือเป็นการเปิดโฉมหน้าใหม่ของวารสารเมืองโบราณในโอกาสขึ้นสู่ปีที่ ๔๑ ซึ่งเปิดพื้นที่เพื่อนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยฉบับแรกนั้นเป็นการนำเสนอเรื่องราวภูมิวัฒนธรรมของปัตตานี การหาอยู่หากินในอ่าวและการเมืองในคาบสมุทรมลายูที่ส่งผลต่อการโยกย้ายถิ่นครั้งใหญ่เข้ามาอยู่ยังบางกอกในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวมลายูในบางกอกในวันนี้เป็นเช่นไร วิทยากรสองท่าน คือ คุณศุกรีย์ สาเร็ม นักวิชาการอิสลามศึกษา และคุณมนตรี ยะรังวงศ์ กรรมการชุมชนสุเหร่าบ้านดอน ได้มาร่วมพูดคุยและให้ภาพในประเด็นดังกล่าว
มลายูบางกอก
ประเด็นแรกคือความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “มลายู” โดย คุณศุกรีย์ สาเร็ม นิยามคำนี้ว่าเป็นชื่อเรียกกลุ่มคนซึ่งโดยมากมีถิ่นฐานอยู่ในแหลมมลายู รวมถึงหมู่เกาะต่าง ๆ เช่น ชวา สุมาตรา ตลอดจนเขตชายฝั่งประเทศเวียดนามและทะเลสาบเขมร ซึ่งเดิมผู้คนเหล่านี้นับถือศาสนาพุทธและฮินดูหลังจากพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จึงเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามกันมากขึ้น และมีส่วนน้อยที่นับถือศาสนาอื่น จนดูเหมือนว่าผู้ที่เป็นชาวมลายูก็คือคนที่นับถือศาสนาอิสลาม และผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามมักถูกมองว่าไม่ใช่คนมลายู ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง คนมลายูเหล่านี้ถือว่าเป็น “คนทะเล” และมีความชำนาญในการเดินเรือ ปัจจุบันได้กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลกกว่า ๕๐ ประเทศ
ส่วนคำว่า “มลายูบางกอก” เป็นคำเรียกกลุ่มคนมลายูที่อพยพเข้ามาอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งเกิดขึ้นหลายระลอกในหน้าประวัติศาสตร์ นับเป็นผลพวงจากศึกสงครามระหว่างสยามกับหัวเมืองปักษ์ใต้ ซึ่งอาจแบ่งได้ดังนี้
มลายูกลุ่มเก่า
จากหลักฐาน เช่น คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ยืนยันถึงการเข้ามาของชาวมลายูในสมัยอยุธยาทั้งที่มาทำการค้าขายและเป็นทาส หรือเป็นกำลังไพร่พลในกองอาสาจาม กระทั่งหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๓๑๐ บรรดาชาวมลายูทั่วไปที่ถูกเรียกว่า “แขกแพ” ได้เคลื่อนย้ายเข้ามาลงหลักปักฐานอยู่บริเวณปากคลองบางหลวง ฝั่งตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ดังจะเห็นว่าปัจจุบันมีมัสยิดต้นสน มัสยิดกุฎีขาว กุฎีเจริญพาศน์ กุฎีปลายนา เป็นศูนย์กลางของชุมชน ส่วนกองอาสาจามภายหลังจากสงคราม ๙ ทัพใน พ.ศ. ๒๓๒๘ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งชุมชนอยู่บริเวณป่าไผ่แถบทุ่งพญาไทหรือบริเวณที่เป็นชุมชนมุสลิมบ้านครัวในทุกวันนี้
มลายูกลุ่มใหม่
หลังจากสงคราม ๙ ทัพ ในปีถัดมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทไปตีหัวเมืองปักษ์ใต้คืนมาจากพม่า ครั้งนั้นได้ตีหัวเมืองปัตตานีที่แข็งเมืองแล้วนำครัวชาวมลายูปัตตานีขึ้นมาไว้ยังกรุงเทพฯ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่รอบกรุงเทพฯ ชั้นใน บรรดาช่างฝีมือได้ตั้งรกรากอยู่บริเวณมัสยิดจักรพงษ์ ซึ่งแต่เดิมพื้นที่แถบนี้เคยมีชื่อว่าชุมชนบ้านแขกตานี แต่ปัจจุบันเหลือเพียงชื่อถนนตานีเท่านั้น

การแสดงนาเสบที่นำมาจัดแสดงในงานเสวนา เพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าใจและเรียนรู้ถึงข้อขัดแย้งของการตีความทางศาสนาที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้ยังมีการอพยพของชาวมลายูเข้ามาอีกหลายระลอกตามช่วงที่มีศึกสงครามรวมทั้งสิ้น ๖ ครั้ง ซึ่งครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๑ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้นำเอาครัวชาวมลายูจากไทรบุรีขึ้นมาไว้ยังกรุงเทพฯ ตามริมคลองแสนแสบไปจนถึงฉะเชิงเทรา
ชาวมลายูที่เข้ามาในชั้นหลังถือเป็นกำลังสำคัญในการขุดคลองสายยุทธศาสตร์หรือคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นคลองที่ต่อเนื่องจากคลองมหานาคในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในต่อเนื่องไปถึงชานเมืองทางฝั่งตะวันออกหรือคลองบางขนากที่ฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงยุทธปัจจัยในสงครามไทย-ญวน และได้รับอนุญาตให้จับจองที่ทำกินในบริเวณริมคลอง และต่อมาได้กลายเป็นชุมชนชาวมลายูปัตตานี-ไทรบุรีจนถึงปัจจุบัน
คุณมนตรี ยะรังวงศ์ กล่าวเสริมว่าชุมชนมลายูตลอดแนวคลองแสนแสบนั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มมุสลิมที่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยตั้งถิ่นฐานต่อเนื่องมาจากชาวมลายูรุ่นก่อนที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในจนถึงปลายคลองมหานาค ประกอบด้วยชุมชนสุเหร่าบ้านดอน นวลน้อย คลองตัน บางกะปิ มีนบุรี หนองจอก เรื่อยไปจนถึงฉะเชิงเทรา โดยชาวมลายูเหล่านี้ยังคงมีความสัมพันธ์และไปมาหาสู่กันนับตั้งแต่ยุคที่ใช้เรือในการสัญจร มีทั้งการเดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่ขยายออกไปตั้งรกรากยังชุมชนอื่นที่ห่างไกลออกไป หรือเดินทางไปซื้อข้าวของต่าง ๆ เป็นต้น แม้เมื่อมีการตัดถนนเสรีไทยและถนนรามคำแหงทำให้การเดินทางเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ แต่ผู้คนชาวมลายูก็ยังคงไปมาหาสู่กันเช่นเดิม
ในอดีตชุมชนสุเหร่าบ้านดอนมีอาณาบริเวณกว้างขวางไปจนถึงซอยนานา แต่เมื่อมีถนนสุขุมวิทตัดผ่านได้มีการขายที่ดินบางส่วน นับเป็นความเจริญของบ้านเมืองที่มีส่งผลต่อชาวชุมชนโดยตรง และปัจจุบันชุมชนสุเหร่าบ้านดอนยังถูกแวดล้อมด้วยสถานบันเทิงเริงรมย์ต่าง ๆ ทว่าชาวมุสลิมมลายูที่นี่ยังคงปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด มีโรงเรียนสอนศาสนา จึงทำให้ชุมชนมุสลิมมลายูแห่งนี้ยังคงอยู่กันอย่างปรกติสุข โดยยึดตามหลักคำสอนของศาสนาอิสลามที่กล่าวไว้ว่า “มุสลิมคือพี่น้องกัน เปรียบประดุจเรือนร่างเดียวกัน หากส่วนหนึ่งส่วนใดเจ็บ ส่วนอื่นก็เจ็บด้วย” ทำให้ชาวมุสลิมตลอดแนวคลองแสนแสบมีความสามัคคีกลมเกลียวและช่วยเหลือซึ่งกันและกันอยู่ไม่ขาด

ตลอดแนวคลองแสนแสบ ประกอบด้วยชุมชนมุสลิมมลายูปัตตานี-ไทรบุรี จำนวนมาก
ความเปลี่ยนแปลงของชาวมลายูพลัดถิ่น
เป็นเวลานับร้อยปีที่ชาวมลายูมุสลิมได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้วัฒนธรรมดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะภาษาพูด ซึ่งในส่วนของชุมชนสุเหร่าบ้านดอน คุณมนตรีกล่าวว่าที่โรงเรียนสุเหร่าบ้านดอน (โรงเรียนมิฟตาฮุ้ลอุลูมิดดีนียะห์) ยังคงมีการฝึกสอนภาษามลายูทั้งการอ่านและการเขียน เพื่อให้วัฒนธรรมทางภาษานั้นมีการสืบทอดไปยังคนรุ่นลูกรุ่นหลาน
ขณะที่คุณศุกรีย์กล่าวว่าสังคมมลายูบางกอกมีหลายสิ่งที่เลือนหายไป เช่น การรำกระบี่กระบอง ซึ่งมีพื้นฐานจากการซ้อมรบของบรรดาไพร่พลให้มีความพร้อมอยู่เสมอ มีการนำมาปรับท่วงท่าให้มีความสวยงามคล้ายการร่ายรำ รวมถึงการเล่นนาเสบซึ่งพัฒนามาจากการขับลำนำสดุดีองค์พระศาสดา โดยมีเครื่องเคาะประกอบจังหวะ เป็นต้น
เดิมสิ่งเหล่านี้เป็นการผสมผสานระหว่างความเป็นอิสลามที่มีมานับพันปีกับวัฒนธรรมท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ บางอย่างหากไม่ขัดกับความเชื่อตามหลักศาสนาก็ยังคงปฏิบัติกันอยู่ ทว่าต่อมาเมื่อมีชุดความรู้ใหม่ที่มองว่าการกระทำสิ่งเหล่านี้ผิดหลักศาสนา ไม่ควรนำมาปฏิบัติ จึงเกิดการปะทะกันระหว่าง ๒ แนวคิด ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหามากขึ้น กิจกรรมหลายอย่างจึงหยุดและเลิกไปในที่สุด
ซึ่งเรื่องนี้ตามทัศนะของคุณมนตรีมองว่า เนื่องจากปัจจุบันมีการเดินทางไปร่ำเรียนจากประเทศมุสลิมอาหรับ และมองวิถีปฏิบัติที่เคยทำกันมาเป็นสิ่งบิดเบือน วิถีปฏิบัติต่างจากประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดศาสนาจึงปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ หากมองในแง่ของการป้องปราม การเล่นกระบี่กระบองเมื่อพิจารณาตามยุคสมัยก็ดูจะล่อแหลมต่อการผิดหลักศาสนา เพราะมีการไหว้ครู ดังนั้นนักวิชาการรุ่นใหม่จึงปฏิเสธและมองว่าเป็นการป้องกัน เช่นเดียวกับการเล่นนาเสบซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาขึ้นมาก มีเครื่องดนตรีหลายหลาก ใช้ภาษาและท่วงท่าไม่เหมาะสม อันอาจทำให้เกิดการหลงลืมต่อการปฏิบัติศาสนกิจและหลักศรัทธาของพระผู้เป็นเจ้า เพราะฉะนั้นดนตรีจึงเป็นสิ่งต้องห้ามของชาวมุสลิม แต่อย่างไรก็ตามในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียยังคงมีการเล่นนาเสบกันอยู่ ซึ่งนักวิชาการต่างมองสิ่งนี้กันหลากหลายแง่มุม บ้างบอกว่าเล่นนาเสบไม่ได้ บ้างก็ว่าให้พิจารณาเนื้อหาและขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เป็นต้น
ถึงที่สุดแล้วการเปลี่ยนแปลงของสังคมมลายูในปัจจุบัน วิทยากรทั้งสองท่านต่างมองว่าควรพิจารณาในรายละเอียดว่าสิ่งใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม และสิ่งนั้นมีเจตนาอย่างไรเป็นสำคัญ ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีให้กับความขัดแย้งเกี่ยวกับแนวทางความคิด และยังเป็นการเปิดช่องทางให้เกิดการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคตด้วย
ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
Comments