ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับการพัฒนาจาก “ข้างใน”
- ศรีศักร วัลลิโภดม
- 26 ส.ค. 2565
- ยาว 2 นาที
อัปเดตเมื่อ 9 ก.พ. 2567
เผยแพร่ครั้งแรก 10 เม.ย. 2560

การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมตามแผนพัฒนาแต่ละยุคแต่ละสมัยของรัฐที่ผ่านมา นับแต่สมัยต้น พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่นับเนื่องกว่าครึ่งศตวรรษแล้วนั้น เป็นการพัฒนาที่มักประกาศเสมอว่า เป็นการพัฒนาแบบวางแผน [Planned change] ที่ประชาชนมีส่วนร่วม แต่โดยการปฏิบัติและการกระทำ เป็นการพัฒนาจากบนลงล่าง [Top down] แบบบังคับให้เปลี่ยนแปลง [Forced change] ในทำนองเดียวกับประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ และเป็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจล้วน ๆ แม้ว่ามีคำว่า “สังคม” พ่วงท้ายอยู่ก็ตาม เป็นการพัฒนาตามตำรา แนวคิด ทฤษฎีที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศมหาอำนาจในระบบทุนนิยมเสรี ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการจัดองค์กรการดำเนินการเป็นสภา ทบวง กรม กองต่าง ๆ ที่บุคลากรได้รับการอบรมมาจากตะวันตก รวมทั้งกระบวนการในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ จนถึงการประเมินผล
การพัฒนาคือการเปลี่ยนแปลงที่เป็นการปะทะสังสรรค์กันของคนสองกลุ่ม กลุ่มที่จะไปเปลี่ยนแปลงนับเป็นคนจากข้างนอก คือ จากข้างบนในระดับการกำหนดวัตถุประสงค์ การวางนโยบายและยุทธศาสตร์ให้กับข้าราชการผู้ออกไปปฏิบัติตามหน้าที่ของกรม กอง หรือหน่วยงานที่ทางรัฐจัดตั้ง เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตทางเศรษฐกิจ คนอีกกลุ่มที่อยู่ข้างล่างคือประชาชนและผู้คนในชุมชนท้องถิ่นที่เรียกกันว่า “คนใน”
การพัฒนาของรัฐบาลแบบนี้แทบไม่แลเห็น “คนใน” ที่เป็นเป้าหมายแท้จริงในการพัฒนาเลย แม้ว่าจะมีการอ้างการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นก็ตาม แต่เป็นการนำเข้ามาเกี่ยวข้องโดยไม่ให้อำนาจในการตัดสินใจ [Decision making]
โดยย่อก็คือการพัฒนาโดย “คนนอก” ที่จะไปเปลี่ยนแปลงโดยไม่แลเห็นคนใน เพื่อการยกระดับชีวิตวัฒนธรรมให้อยู่ดีกินดี และมีความสุขทั้งด้านกายและใจ การพัฒนาที่มุ่งแต่เนื้อหาทางเศรษฐกิจเพื่อการมีเงิน มีรายได้เป็นสำคัญนั้น สะท้อนให้เห็นจากนโยบายการเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก เพื่อทำให้เกิดรายได้ประชาชาติต่อหัว [GDP] ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันดำเนินการมาจนทุกวันนี้ เป็นการพัฒนามิติทางเศรษฐกิจที่มีคำว่า “สังคม” เป็นคำประดับให้สวยงาม เมื่อไม่สนใจในมิติทางสังคมที่หมายถึงชีวิตวัฒนธรรมของคนในชุมชนท้องถิ่นซึ่งเคยอยู่กันมาช้านาน แต่สมัยสังคมเกษตรกรรมแบบชาวนา [Peasant society] และสังคมเกษตรกรรมแบบกสิกร [Farmer] ที่มีการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่านมาโดยธรรมชาติ
สังคมชาวนาคือสังคมของคนในท้องถิ่นที่มีชีวิตร่วมกันในชุมชนแบบที่มีมาแต่ดั้งเดิมนับพันปี เป็นสังคมที่คนอยู่กันด้วยความสัมพันธ์ทางครอบครัว เหล่าตระกูลและเครือญาติของคนในหลายชาติพันธุ์ ต่างศาสนาและที่มาทางประวัติศาสตร์ ซึ่งพากันมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ต่างใช้ทรัพยากรร่วมกันในการอยู่อาศัยและทำกินอย่างมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดูแลทุกข์สุขกันเพื่อการมีชีวิตรอดร่วมกันของมนุษย์ ในฐานะที่เป็นสัตว์สังคม ไม่ใช่สัตว์เดี่ยว เช่น สัตว์เดรัจฉานที่เป็นปัจเจก ทั้งหมดนี้คือการมีชีวิตร่วมกันในชุมชน เป็นชีวิตวัฒนธรรมแบบพอเพียง [Self contain]
การพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่มีมิติทางสังคมที่ผ่านมา เน้นรายได้ทางเศรษฐกิจด้วยปรัชญาแบบ “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” เพื่อให้เกิดรายได้ต่อหัวที่เรียกว่า GDP คือสิ่งที่ทำลายชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนในชุมชนท้องถิ่นที่เคยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว เครือญาติ เหล่าตระกูลและชุมชน ที่สัมพันธ์กับการจัดการทรัพยากรทั้งดิน น้ำ และพืชพรรณ สิ่งมีชีวิตในนิเวศวัฒนธรรมที่เคยมีอยู่ร่วมกันอย่างมีดุลยภาพ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบล่มสลาย และผลที่ตามมาก็คือความทุกข์ยากของประชาชนทั่วไปในระดับล่าง ทำให้สังคมไทยอยู่ในสภาพความเหลื่อมล้ำในชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างคนรวยกับคนจน ที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาวะยากจน หิวโหยและเดือดร้อน
แต่การพัฒนาตามแนวคิดและแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ นั้น ทรงพัฒนาจากข้างล่าง จากคนในท้องถิ่นที่ประสบความเดือดร้อนให้มาเชื่อมโยงกับการพัฒนาจากข้างบนหรือจากข้างนอก เพื่อให้เกิดดุลยภาพระหว่างกัน ทรงมุ่งที่คนในซึ่งอยู่รวมกันเป็นชุมชนในท้องถิ่น เป็นการพัฒนาที่มีมิติทางสังคม และเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่อยู่ในบริบททางสังคมและสภาพแวดล้อมที่เป็นนิเวศวัฒนธรรม ในความคิดเชิงมานุษยวิทยาที่ข้าพเจ้าได้เล่าเรียนมา คือ การพัฒนาแบบองค์รวมทั้งโลกธาตุ ที่แลเห็นทุกธาตุส่วนที่เป็นองค์ประกอบของโลก มี ๖ ธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ และวิญญาณ ธาตุที่หมายถึงสิ่งที่มีชีวิต อันได้แก่ คน สัตว์ ต้นไม้ ฯลฯ การมีชีวิตรอดของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคมจะดำรงอยู่ได้นั้น ทุกสิ่งที่เป็นธาตุต่าง ๆ ทั้ง ๖ ธาตุนี้จะต้องสัมพันธ์กันอย่างมีดุลยภาพ
แต่การจะพัฒนาได้นั้น จะทำไม่ได้ผลดีโดยการพัฒนาจากข้างบน หรือจากภายนอกที่ทำตามตำราแม่บทและแนวคิดทฤษฎี แต่ต้องเป็นเรื่องของการลงไปศึกษาเก็บข้อมูลกันในพื้นที่ หรือท้องถิ่นที่มีชุมชนมนุษย์อยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ต้องทรงตรากตรำพระวรกายในการศึกษาเก็บข้อมูล ข้อเท็จจริง ด้วยพระองค์ ในท้องถิ่นที่ประชาชนประสบความเดือดร้อน แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดเป็นแนวคิด แนวทาง และวิธีการแก้ไข เพื่อขจัดทุกข์ยากและความเดือดร้อนของประชาชน ถ้าธาตุใดที่เป็นสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ หรือมนุษย์ สัตว์ ต้นไม้ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ก็จะทรงพยายามแก้ไขให้
เพราะฉะนั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมจากข้างล่าง หรือจากคนในชุมชนในท้องถิ่นตามที่กล่าวมา พระองค์ต้องทรงริเริ่มและทำทุกอย่างด้วยพระองค์เอง ด้วยทุนทางพระสติปัญญาและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยไม่คาดหวังความร่วมมือจากทางรัฐบาล ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาจากข้างบนและข้างนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ต้องระเบิดจากข้างในก่อน” และการเข้าถึงด้วยแนวทางเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา
ในเรื่องนี้ทรงละไว้ให้เข้าใจกันเองว่า การเข้าถึงคือถึงอะไร ซึ่งในแนวปฏิบัติของพระองค์ก็คือ เข้าถึงคน แต่ไม่ใช่เป็นคนในฐานะปัจเจก หากเป็นคนที่อยู่ร่วมกันในครอบครัว เป็นตระกูล หมู่เหล่า ที่แม้จะหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา และศาสนา แต่อยู่กันอย่างเป็นชุมชนในพื้นที่หรือท้องถิ่นเดียวกัน ที่สำคัญที่สุดก็คือพระองค์ได้แสดงการเข้าถึงอย่างไร เป็นตัวอย่าง ด้วยการเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทลงไปยังท้องถิ่นเป้าหมาย ด้วยแผนที่ สมุดบันทึก และกล้องถ่ายรูปออกไปเก็บข้อมูล ที่เห็นได้จากการสังเกต ได้ยินได้ฟังจากการสังสรรค์กับผู้คนในท้องถิ่นอย่างเป็นกันเอง อย่างคนธรรมดาที่ไม่แสดงอาการเหลื่อมล้ำในลักษณะต่ำสูง ทำให้ผู้คนเกิดความไว้วางใจ เคารพรักและให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงน่าเชื่อถือได้
อันที่จริงในการใช้แผนที่ในการเป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลดังกล่าว ก็มีนักวิชาการและนักพัฒนาทำกันอย่างกว้างขวาง แต่มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงในการปฏิบัติ คนทั่วไปส่วนใหญ่ใช้แผนที่ในลักษณะแบบนก [Bird eyes view] คือกางแผนที่แล้ววางแผน หรือถ้าหากจะต้องลงพื้นที่ก็ทำอย่างคร่าว ๆ แบบขี่ม้าเลียบค่ายเลียบเมืองอะไรทำนองนั้น แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงใช้แบบหนอน [Worm eyes view] โดยเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทุรกันดารอย่างไร เพื่อเข้าไปให้เห็นผู้คนและสิ่งมีชีวิตที่สัมพันธ์กับดิน น้ำ ลม และอากาศ ที่มีระดับสูงต่ำและระดับอุณหภูมิที่เป็นจริง จึงทรงเข้าถึงและเข้าใจในปัญหาของความเดือดร้อนที่จะต้องนำไปวางแผนแก้ไขในการพัฒนา ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นจากการดำเนินการแก้ไขในเรื่องการจัดการน้ำ ทั้งเพื่อการเกษตรกรรม การป้องกันน้ำท่วม ฝนแล้ง และการส่งเสริมพืชพรรณต่าง ๆ รวมทั้งการสนับสนุน เลือกเฟ้น เน้นใช้ และประดิษฐ์เทคโนโลยีที่เหมาะสมให้แก่คนในชุมชนที่จะต้องพัฒนา
ความต่างกันในแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ซึ่งเป็นการพัฒนาจากข้างใน กับการพัฒนาจากข้างนอกโดยรัฐและเอกชนก็คือ การพัฒนาที่ทำให้คนช่วยตัวเองและทำเอง ในลักษณะการเป็นพี่เลี้ยง แนะนำแนวคิด แนวทาง และวิธีการที่เป็นไปได้ รวมทั้งการช่วยเหลือลงทุนทางเทคนิคและค่าใช้จ่ายบ้าง โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ตลอดจนทรงคิดประดิษฐ์เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เหมาะสม โดยเสด็จไปแนะนำให้ความรู้ด้วยพระองค์เองตามท้องถิ่นต่าง ๆ แนวคิดและแนวทาง ตลอดจนวิธีการดังกล่าวเรียกว่า การสร้างพลังทางสติปัญญาและความรู้ให้แก่ผู้คน ให้สามารถพัฒนาด้วยตนเอง ดังที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Empowerment
การเสด็จลงไปถึงผู้คนที่จะต้องพัฒนาในท้องถิ่นด้วยพระองค์เอง ก็คือการเข้าถึงและเข้าใจในความต้องการของคน รู้ถึงศักยภาพ ความรู้และสติปัญญา และความขัดข้องได้อย่างแจ่มชัด อีกทั้งได้ทรงเข้าถึงในเรื่องโลกทัศน์และคำนิยมของผู้คนที่เป็นเหยื่อของวัตถุนิยมที่แพร่หลายจากชนชั้นปกครอง ชนชั้นกลาง ในโลกของทุนนิยมเสรีแบบทางตะวันตก ทำให้ต้องทรงพระราชทานแนวคิดและปรัชญาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น เพื่อให้เป็นรากฐานในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียงและมีคุณภาพ ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน โดยความเข้าใจของข้าพเจ้าคือ ปรัชญาของความพอเพียงในชีวิตของปัจเจกบุคคล ซึ่งมีทั้งความพอเพียงในทางวัตถุที่ได้ดุลยภาพ กับความพอเพียงทางจิตใจ อันเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า Self-sufficiency เพราะความพอเพียงของแต่ละบุคคลนั้นไม่เท่ากัน เป็นความพอเพียงตามอัตภาพของแต่ละบุคคล อันนี้เป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับส่วนรวมหรือในระดับชุมชน เพราะมนุษย์คือสัตว์สังคม ต้องอยู่ร่วมกัน จึงจะมีชีวิตรอด การพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนร่วมกัน ที่ทำให้เกิดความพอเพียงและยั่งยืน หรือเรียกว่า sustainable economy หรือ sustainable development คือ พอเพียงและยั่งยืนของคนในชุมชนร่วมกัน และตัวอย่างที่เป็นเลิศในความพอเพียงก็อาจแลเห็นได้จากวิถีทางในการดำรงพระชนม์ชีพของพระองค์จากสื่อวิดีโอและภาพยนตร์
อีกสิ่งหนึ่งในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ที่มุ่งการพัฒนาจากข้างใน แตกต่างไปจากการพัฒนาจากข้างบนหรือจากข้างนอกของคนในโลกวัตถุนิยมแบบตะวันตก ก็คือการพัฒนาทางศีลธรรม จริยธรรม ในมิติทางจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นเรื่องของความเชื่อ ศาสนา ประเพณีและพิธีกรรม ที่แสดงออกให้เห็นจากการสร้างวัด สร้างโรงเรียนที่พระองค์ทรงพระราชทานทุนทรัพย์ เสด็จไปเยี่ยมประชาชนและร่วมในประเพณีพิธีกรรมควบคู่กันไป ตลอดจนเสด็จนมัสการพระอริยสงฆ์และแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะในเรื่องสมาธิและวิปัสสนา ทั้งหมดนี้แลเห็นจากการให้ความสำคัญกับโครงสร้างความเป็นชุมชนสมัยใหม่ คือ บ้าน วัด และโรงเรียน ที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า “บวร” ที่ต้องทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยการเชื่อมโยง บูรณาการให้สัมพันธ์กับการมีชีวิตร่วมกันของคนในชุมชน
ด้วยการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ เสด็จเยี่ยมประชาชนที่เดือดร้อนทุกแห่งหนของประเทศ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรด้วยพระสติปัญญาและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์นั้น ส่งผลให้ทางรัฐและเอกชนขานรับโครงการพระราชดำริ เพื่อการพัฒนาให้เข้าถึงประชาชนกว่า ๔,๕๐๐ โครงการ ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปีที่ทรงครองราชย์ เกิดหน่วยงานที่เป็นองค์การรองรับมากมาย โดยทรงเฝ้าดูและทรงติดตามตลอดเวลา บรรดาโครงการใหญ่ ๆ ที่ทรงริเริ่มและได้ดำเนินการให้เป็นผลดีแก่ประชาราษฎร์ ที่สำคัญคือการพัฒนาดิน น้ำ ลม และอากาศ เช่น การเปลี่ยนแปลงพื้นที่แห้งแล้ง ดินเค็ม ขาดน้ำ ให้กลับฟื้นขึ้นมาเป็นป่าเขาที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นไร่ เป็นนา เป็นเรือกสวน แหล่งประมงน้ำจืดและน้ำเค็มที่สามารถเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลา สัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย และพันธุ์พืชที่มีทั้งในท้องถิ่นตามธรรมชาติและนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะพืชและไม้ผลฤดูหนาวที่นำมาให้คนบนที่สูงทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นชนเผ่าที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานและปลูกฝิ่นเป็นอาจิณ ผลสัมฤทธิ์ก็คือคนต่างชาติพันธุ์เหล่านั้น กลายเป็นคนไทยที่มีอาชีพและทำมาหากินอย่างสุจริต
ณ พื้นที่ใดที่ประชาชนทุกข์ร้อน จะเสด็จพระราชดำเนินไปช่วยเหลือและฟื้นฟูให้มีชีวิตที่ดี มีสุขภาพและสวัสดิภาพ สิ่งที่ทำให้พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่เหมือนใครในโลกก็คือ พระราชวังอันเป็นที่ประทับหาได้มีความโอ่อ่าตระการตาไม่ หากเป็นที่อยู่อาศัยของผู้บำเพ็ญกรณีย์ที่เต็มไปด้วยพื้นที่ทดลองพันธุ์พืช ต้นไม้ และปศุสัตว์ รวมทั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สิ่งของจากการเกษตรปลอดสารพิษ ออกมาจำหน่ายอย่างมีมาตรฐานในด้านคุณภาพและความปลอดภัย
ชพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นทั้งผู้นำและผู้ปฏิบัติ ในความคิดที่ประเทศไทยต้องเป็นสังคมเกษตรกรรมด้วยเศรษฐกิจพอเพียง จึงจะอยู่รอดในโลกที่กำลังถูกทำลาย ด้วยการเป็นสังคมอุตสาหกรรมที่มุ่งการผลิตจนเกินกำลังของดิน น้ำ อากาศ และทรัพยากรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ดังทรงเคยมีพระราชดำรัสว่า “ไม่จำเป็นต้องเป็นเสือ” ให้กับคนในวงการของรัฐและธุรกิจเอกชนที่มุ่งความเป็นเสือ ซึ่งเรียกกันว่า นิกส์ [NIC] อย่างเป็นแฟชั่นนิยม จนประสบความล่มจมหมดตัวเมื่อเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ใน พ.ศ. ๒๕๔๐
พระองค์ทรงสังเกตว่าก่อน พ.ศ. ๒๕๔๑ คนไทยพอมีพอกิน แต่หลังปี พ.ศ. ๒๕๔๑ แล้วไม่พอกินพอเพียง ซึ่งในช่วงเวลาของการพอมีพอกินนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นช่วงเวลาหลังทรงขึ้นครองราชย์ที่พระองค์เสด็จไปพัฒนาเศรษฐกิจพื้นฐานตามท้องถิ่นต่าง ๆ เพราะก่อนหน้านี้ บ้านเมืองแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองเรื่อยมาอยู่ในสภาพความเหลื่อมล้ำระหว่างชนบทกับเมือง ระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นล่าง ความยากจนจึงเป็นเรื่องของการด้อยโอกาสและไม่พอมีพอกิน ในขณะที่รัฐบาลแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความร่ำรวยทางวัตถุและเงินตรา เพราะเงินคือความปรารถนาสูงสุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงพัฒนา “คนใน” ที่เป็นรากหญ้าให้มีชีวิตที่พอมีพอกินในเรื่องอาหารและสิ่งจำเป็นในการบริโภคอุปโภค ไม่เน้นความร่ำรวยในเรื่องเงินตราและวัตถุ
แต่ยุคหลังฟองสบู่ที่คนชั้นกลางซึ่งร่ำรวยเงินตราประสบความหายนะ ภาวะความยากจนอันเนื่องจากการไม่มีเงินก็ระบาดทั่วไปในบรรดาคนชั้นกลาง และเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ที่ทุนนิยมข้ามชาติครอบงำประเทศไทย คนรวยที่เป็นชนชั้นกลางกลับฟื้นคืนใหม่ ประเทศไทยก็เข้าสู่การเป็นสังคมอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว ความเจริญเติบโตเป็นบ้านเมืองทันสมัยทางวัตถุ แต่ไร้ศีลธรรมและจริยธรรมก็เข้ามาแทนที่การเกษตรกรรม ซึ่งบรรดาอุตสาหกรรมหนักและเบาทั้งหลาย ทำให้คนในสังคมเกษตรกรรมแต่เดิมไร้ที่ทำกิน ผันตัวเป็นแรงงานเข้าไปทำงานในเมืองและแหล่งนิคมอุตสาหกรรมที่แพร่หลายไปแทบทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ ทำลายสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างซับซ้อน จนเกิดความขัดแย้งและความไม่พอเพียงไปทั่ว
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
Opmerkingen