โรงเลื่อย ของป่า ภาพสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้เมืองแกลง
- พนมกร นวเสลา
- 17 ก.ค. 2567
- ยาว 1 นาที
เผยแพร่ครั้งแรก 1 ธ.ค. 2561

สภาพภูมิวัฒนธรรมแกลง ปรับจากแผนที่บ้านสามย่าน กรมแผนที่ทหาร สำรวจเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐
เมืองแกลงเป็นหนึ่งในเมืองทางภูมิภาคตะวันออกของประเทศไทยที่มีสภาพแวดล้อมอุดมสมบูรณ์เพราะพื้นที่ตอนบนมีสภาพเป็นเนินและภูเขาที่มีป่าเบญจพรรณทึบมีพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด เช่น ไม้ตะเคียน ไม้ยาง ไม้กระบากไม้แก่น ไม้ประดู่ ฯลฯ ส่วนบริเวณโดยรอบที่ตั้งของเมืองแกลงมีสภาพเป็นพื้นที่ราบทุ่งนาและป่าโปร่ง ทิศใต้ของเมืองแกลงเป็นพื้นที่ราบทุ่งนากับป่าชายเลนและพื้นที่ชายฝั่งทะเล โดยมีลำน้ำสำคัญในพื้นที่คือ “ลำน้ำประแส” ที่มีต้นน้ำในเขตพื้นที่ตอนในเป็นทั้งสายน้ำหล่อเลี้ยงทั้งป่าและผู้คนในพื้นที่เมืองแกลง
นับตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์การค้าขายขยายตัวมากขึ้น ทำให้มีการเกณฑ์ตัดไม้ส่งส่วยนำมาใช้ต่อเป็นเรือสำเภาที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นส่วยไม้เนื้อแข็งจากทางภาคเหนือและภาคตะวันตก เช่น ไม้ฝาง ไม้สัก ขณะที่ภาคตะวันออกส่วยไม้ที่ส่งเข้ารัฐบาลคือ ไม้แดง อย่างไรก็ตามป่าไม้ภาคตะวันออก เริ่มปรากฏความสำคัญในสายตาราชสำนักสยาม เนื่องด้วยเป็นหนึ่งในแหล่งตัดไม้ทำเรือพระที่นั่งนับตั้งแต่ รัชกาลที่ ๓ รัฐได้ส่วยมาศเส้นจากเมืองจันทบุรียาว ๑ เส้นเศษ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นเรือพระที่นั่งกราบชื่อสุดสายตา และในช่วงเวลานี้การค้าขายของสยามมีความเจริญรุ่งเรืองมากจึงมีการตั้งการจัดเก็บภาษีขึ้นใหม่ หนึ่งในนั้นคือ ภาษีไม้แดง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ป่าไม้ภาคตะวันออกยังคงเป็นพื้นที่หาไม้ทำเรือพระที่นั่งเฉพาะในพื้นที่แกลงได้มาดเส้น ๔ ลำ สอดคล้องกับข้อความในบันทึกของ H.Warington Smyth เมื่อครั้งเดินทางตามชายฝั่งทะเลตะวันออกในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้กล่าวถึงพื้นที่เมืองแกลงไว้ว่าเป็นสถานที่นำไม้ตะเคียนไปสร้างเรือพระราชพิธี และยังระบุด้วยว่าสภาพป่าของเมืองแกลงมีลักษณะเป็นป่าทึบ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้เข้ามาสำรวจพื้นที่ป่าไม้ภาคตะวันออกและได้ก่อตั้งบริษัทศรีราชาทุนจำกัด ทำกิจการป่าไม้ในพื้นภาคตะวันออกในจังหวัดชลบุรีรวมมาถึงระยอง ซึ่งในขณะนั้นก็มีโรงเลื่อยของเอกชนรายอื่นเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน
โรงเลื่อยจักรพงษ์เกษม โรงเลื่อยไม้ในเมืองแกลง
สำหรับในอำเภอแกลงมีโรงเลื่อยไม้ที่สำคัญ คือ “โรงเลื่อยจักรพงษ์เกษม” ประวัติการก่อตั้งไม่แน่ชัดแต่จากการสัมภาษณ์คนในพื้นที่พบว่าโรงเลื่อยนี้น่าจะก่อตั้งก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ และปิดตัวลงไปเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๐ มีเจ้าของกิจการเป็นคนเชื้อสายจีน เรียกกันว่า “จิกเสี่ย” เป็นคนจากทางบ้านปากน้ำประแส ตำแหน่ง “หลงจู๊” (ผู้จัดการ) ขณะที่แรงงานส่วนใหญ่จะมีทั้งที่เป็นคนเชื้อสายจีนทำงานในตำแหน่ง “นายม้า” คุมโต๊ะเลื่อยไม้หรือเป็น “เสมียน” จดบัญชีกับแรงงานซึ่งเป็นที่มาจากทางอีสานและคนในพื้นที่อำเภอแกลงบางส่วนตำแหน่งแบกหามเรียกว่า “หางม้า” ค่าแรงต่อวันไม่ถึง ๒๐ บาท ผู้ชายแบกไม้กระดานแผ่นใหญ่ๆ ขึ้นรถ ผู้หญิงหาบขี้เลื่อย แบกเศษไม้ เรียงไม้ (สัมภาษณ์ เกียง ภูเนตร อายุ ๘๖ ปี และ ปิยะ กำแหง อายุ ๗๑ ปี)
โรงเลื่อยอยู่ติดริมน้ำประแสฝั่งตะวันออกของบ้านสามย่าน วิธีการลำเลียงไม้จากพื้นที่ตอนใน มีสองวิธีคือ ใช้เส้นทางลำน้ำประแสลำเลียงไม้ขนาดไม่ใหญ่นัก เช่น ไม้กระบก ไม้กระบาก ล่องตามน้ำลงมา คนทางข้างบนจะตัดเป็นขอนล่องมาตามคลอง ผ่านวัดประแสบน บ้านอู่ทองใช้ โดยคลองประแสเป็นหลัก (สัมภาษณ์ ศรีนวล ไกรเพชรอายุ ๗๖ ปี)

ปล่องไฟเดิมของโรงเลื่อยจักรพงษ์เกษม

ลำน้ำประแส บริเวณตลาดสามย่าน
อีกวิธีหนึ่งคือใช้รถลากซุงและแรงงานคน ชักลากซุงใส่รถขนไม้แล้วมาเทลงน้ำประแสหน้าโรงเลื่อยที่สามย่าน จากนั้นจะมีคนลงไปมัดเชือกซุงแล้วชักลากกันขึ้นมาเลื่อยตามขนาดที่ต้องการ โดยมีนายม้าเป็นคนกำหนดว่าจะเลื่อยออกมาขนาดใด เช่น หน้ากว้าง ๘ นิ้ว, ๑๒ นิ้ว, ๑๖ นิ้ว จากนั้นแรงงาน (หางม้า) จะยกไม้ขึ้นเลื้อยบนโต๊ะ เมื่อเลื่อยไม้แล้วจะมีแรงงานบางส่วนคนขี้เลื่อยออกไปทิ้งนอกโรงเลื่อย
แม้ว่าต่อมาโรงเลื่อยจะปิดตัวไป ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีนโยบายปิดป่าจากรัฐบาลส่วนกลางเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ แต่การเข้าไปบุกเบิกและถางป่าพื้นที่ตอนบนก่อให้เกิดการโยกย้ายจากพื้นที่ราบขึ้นไปตั้งหมู่บ้านในพื้นที่ตอนในทางทิศเหนือของเมืองแกลงมากขึ้นรวมทั้งการบุกเบิกเข้าไปจับจองพื้นที่ทำการเกษตรกรรมปลูกมัน และต่อมาคือ ยางพารา
วิถีหาของป่า คนเมืองแกลง
ป่าไม้ทางทิศเหนือของเมืองแกลงเป็นแหล่งหาของป่าที่สำคัญ วิถีชีวิตของคนในพื้นที่เมืองแกลงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก เมื่อเสร็จฤดูทำนาจะรวมกลุ่มพากันเทียมเกวียนเข้าป่าไปหาของป่านำออกมาขาย โดยเดินตามเส้นทางเกวียนลัดเลาะขึ้นไปทางทิศเหนือหรือเดินตามลำน้ำสายเล็ก ๆ เข้าไปยังป่าเบญจพรรณ ถึงเวลากลางคืนจะหยุดตามจุดที่เป็นชุมนุม บางแห่งอาจมีเพิงที่พักแบบชั่วคราวซึ่งคนรุ่นก่อนหรือกลุ่มอื่นได้ทำทิ้งไว้ และจุดกองไฟ นอนรวมกันป้องกันอันตรายจากสัตว์ป่าโดยเฉพาะเสือที่ออกหากินตอนกลางคืน การใช้เวลาอยู่ในป่าไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับทรัพยากรที่หาได้และปริมาณของป่าที่บรรทุกใส่เกวียน โดยทรัพยากรของป่าที่ต้องการได้แก่น้ำมันยาง ครั่ง ชัน หวาย กระวาน ลูกเร่ว รวมทั้งไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้กระบก ล่องน้ำลงมาขายคนที่ตลาดเพื่อสำหรับนำไปทำฟืนเตาถ่าน นำกลับไปใช้ในครัวเรือนหรือนำออกมาขายที่ตลาดสามย่าน
ลุงสงบ เจริญวงศ์ อายุ ๕๕ ปี เล่าว่า “...สมัยก่อนใช้เส้นนี้เดินขี้โล้น้ำมันยาง แบกน้ำมันยางมาขาย เป็นป่าหม แถวหนองพุหนองโพง (ชุมชนที่อยู่ทางทิศเหนือวัดโพธิ์ทอง)…”
ส่วนพระครูวิสุทธิ์รัตนาภรณ์ อายุ ๗๐ ปี เล่าว่า “...ฉันไปอยู่ตั้งแต่เป็นป่ามีเสือ เขาเรียกชุมนุมสูง มีหนึ่งบ่อน้ำมันยาง เลยวัดมงคลขึ้นไปหน่อยและก็ใต้วัดชุมนุมสูงลงมาหน่อยก็ตักน้ำมันยางเอามาขายกัน...”
ขณะเดียวกันบางครัวเรือนที่อยู่บนพื้นที่ราบตอนล่างอาจให้ญาติของตนเข้าไปตั้งบ้านรวมกับชุมนุมในป่าแล้วเก็บผลผลิตส่งออกมาขาย หรือนำมาให้แก่ครอบครัวตนเอง เช่น สานหลัว ตัดหวาย คนตลาดสามย่านก็เอาใส่เรือไปขายสมุทรสาคร สมุทรสงคราม
การเข้าไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ตอนในพบว่าหลายชุมนุม/สำนัก ไม่ได้ดำรงชีพด้วยการหาของป่าเพียงอย่างเดียวแต่บุกเบิกพื้นที่ราบขนาดเล็กไว้ปลูก “ข้าวไร่” ปีละครั้ง พอเลี้ยงตนเองได้ควบคู่ไปกับการปลูกมัน รวมทั้งคนพื้นที่ตอนในเองบางส่วนนำของป่าออกมาแลกเปลี่ยนข้าวสารหรือผลไม้กับคนในพื้นที่ราบทุ่งนาและคนในตลาดสามย่าน นอกจากนี้การเข้าป่ายังรวมไปถึงการตัดไม้มาสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันพื้นที่ป่าเบญจพรรณทางทิศเหนือของเมืองแกลงนั้นแทบไม่หลงเหลือแล้ว เนื่องจากถูกแทนที่ด้วยพื้นที่การเกษตรทั้งพื้นที่ปลูกยางพาราและพื้นที่สวนผลไม้ ประกอบการการขยายตัวของพื้นที่อยู่อาศัยและการตัดถนนเข้าไปยังหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่ตอนใน รวมถึงวิถีชีวิตการหาของป่าและการตัดไม้ป่าที่เลิกทำไปอย่างสิ้นเชิง คงเหลือแต่ร่องรอยของ “ชื่อชุมชน” (place name) ที่ยังบ่งบอกถึงการเคยเป็นแหล่งชุมชนพื้นที่ตอนใน เช่น วัดคลองป่าไม้ (ชุมนุมคลองป่าไม้ อำเภอแกลง), บ้านชุมนุมสูง (อำเภอแกลง), บ้านชุมนุมใน (อำเภอวังจันทร์), วัดแก่งหวาย (ชุมนุมแก่งหวาย อำเภอวังจันทร์) ฯลฯ ส่วนพื้นที่ที่ยังเป็นป่าหลงเหลืออยู่คือบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง
พนมกร นวเสลา
ขอบคุณ
พระครูวิสุทธิ์รัตนาภรณ์ อายุ ๗๐ ปี, คุณเกียง ภูเนตร อายุ ๘๖ ปี, คุณปิยะ กำแหง อายุ ๗๑ ปี, คุณประจวบ เที่ยงแท้ อายุ ๘๒ ปี, คุณพิชัย สมคิด อายุ ๕๖ ปี, คุณศรีนวล ไกรเพชร อายุ ๗๖ ปี, คุณสงบ เจริญวงศ์ อายุ ๕๕ปี, คุณเอกชัย เนตรมณี อายุ ๕๓ ปี
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
Comments