สามย่านรามา โรงหนังในย่านตลาดของคนเมืองแกลง
- จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์
- 17 ก.ค. 2567
- ยาว 2 นาที
เผยแพร่ครั้งแรก 1 มิ.ย. 2561
หากเอ่ยถึงคำว่า “สามย่าน” หลายคนคงนึกไปถึงสามย่าน แถบจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แต่สามย่านที่กำลังจะกล่าวถึงคือสามย่านที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งการให้ความหมายของคำว่า “สามย่าน” ของคนเมืองแกลงนั้นมีอยู่หลายชุดข้อมูล จากการพูดคุยกับ ครูลำใย วงศ์พิทักษ์ อดีตข้าราชครูผู้เป็นที่เคารพนับถือของคนเมืองแกลงวัย ๙๒ ปี เล่าว่า
‘การเป็น ‘สามย่าน’ คือ หากยืนตรงจุดกลางสามแยกหน้าที่ว่าการอำเภอ (หลังเก่า) หันหลังให้ที่ว่าการอำเภอแล้ว ‘หันหน้า’ ไปยังบ้านดอนเค็ดและบ้านโพธิ์ทอง ซึ่งมีถนนลงไปสู่ท่าเรือ ปัจจุบันคือหัวสะพานร้อยปีเมืองแกลง ‘ขวามือ’ คือเส้นทางไปสู่วัดพลงช้างเผือกและบ้านทะเลน้อย ‘ซ้ายมือ’ คือเส้นทางไปสู่ทางวัดสารนาถธรรมาราม’
แต่ก็มีคนรุ่นต่อมาให้ความหมายของ “สามย่าน” อีกว่า คือสามแยกที่เป็นถนนสุขุมวิทตัดกับถนนเดิมบริเวณป้ายทันใจและวงเวียนนอกซึ่งเป็นหัวถนนสุนทรโวหาร ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้ว บริเวณดังกล่าวเคยเป็นที่จอดรถโดยสารสำหรับไปมาที่ตลาดสามย่าน
เดิมเมืองแกลงที่ “สามย่าน” นั้นมีแหล่งการค้าและความเจริญอยู่เพียงแค่ช่วงถนนสุนทรโวหารและพื้นที่ท่าน้ำ ผู้คนเข้ามาทำการค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนจีนที่เล่าว่ามาจากปากน้ำประแส บริเวณแยกหน้าอำเภอมีร้านค้าและแหล่งบันเทิงต่าง ๆ เช่น โรงฝิ่นและวิกมหรสพ
คนเมืองแกลงเล่าว่า แต่เดิมมีวิกมหรสพอยู่สองวิกเท่านั้นคือ ‘วิกของลุงชิว’ เป็นวิกเล็กอยู่บริเวณหน้าโรงพักหลังเก่า ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นหอประวัติเมืองแกลงสำหรับทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ของชุมชน ส่วนวิกอีกแห่งซึ่งเป็นวิกใหญ่คือ ‘ไพบูลย์บันเทิง’ เป็นของคุณอำพล บุญศิริ บุตรชายของหลวงแกลงแกล้วกล้า (บุญศรี บุญศิริ) และคุณนายประกอบ ยิ่งภู่ ซึ่งเป็นภรรยาของคุณอำพล ส่วนชื่อวิกนั้นตั้งตามชื่อลูกชาย คือคุณไพบูลย์ บุญศิริ ก่อตั้งเมื่อประมาณช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๐ อยู่บริเวณเชิงสะพานร้อยปีในปัจจุบัน
วิกหนังไพบูลย์บันเทิงนั้นคนสามย่านจะเรียกกันอยู่หลายชื่อ บ้างก็เรียกวิกคุณพล บ้างก็เรียกวิกคุณนายประกอบ คนสามย่านที่เกิดและโตร่วมสมัยกับวิกหนังไพบูลย์บันเทิงต่างเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า วิกดังกล่าวเป็นสถานที่ที่ทันสมัย แหล่งพบปะสังสรรค์ให้ความสนุกสนานของคนเมืองแกลง มีทั้งหนัง ลิเก ละคร เป็นต้น บรรยากาศของพื้นที่ รอบ ๆ ก็เต็มไปด้วยความคึกคักของผู้คนที่สัญจรไปมา รวมทั้งแรงงานจากโรงเลื่อยที่อยู่อีกฝั่งคลอง ผู้คนที่มาจับ จ่ายชื้อของและมาต่อเรือที่ศาลาท่าโพธิ์ เพื่อจะเดินทางต่อไปยังปากน้ำประแส
"สามย่านรามา" โรงหนังแห่งเดียวในเมืองแกลง
หลังจากที่วิกมหรสพยุคนั้นเริ่มซบเซาได้เกิดแหล่งบันเทิงแห่งใหม่ขึ้นมานั่นคือ ‘สามย่านรามา’ ซึ่งเป็นโรงหนังแบบเดี่ยว ๆ หรือ Stand alone แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองแกลง ตั้งอยู่หน้าสำนักงานเทศบาลตำบลเมืองแกลง เดิมพื้นที่บริเวณนี้คือตลาดเทศบาล ๒ ซึ่งมีร้อยโท นายแพทย์ประณีตและนางกิ่งจันทร์ แสงมณี ได้สร้างและยกให้เป็นสมบัติของสุขาภิบาลทางเกวียนหรือสำนักงานเทศบาลตำบลเมืองแกลงปัจจุบัน เพื่อหวังจะขยายเมืองจากทางฝั่งถนนสุนทรโวหารออกมา แต่เดิมพื้นที่โดยรอบเป็นป่าและเป็นสวนยาง ไม่ค่อยมีผู้คนอาศัยอยู่
โรงหนังเติบโตและขยายตัวมากตามต่างจังหวัดในช่วงยุคต้นปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งเป็นผลมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๐๙) ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ต่างจังหวัดเริ่มมีระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานสะดวกขึ้น มีถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปา นับจากนั้นเป็นต้นมาทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมภาพยนตร์เติบโตขึ้นตามมาเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดธุรกิจการทำภาพยนตร์ออกตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ
"คุณสมพงษ์ โชติวรรณ" ผู้เป็นทายาทของคุณพิพัฒน์ โชติวรรณผู้ดูแลและผู้เช่าโรงหนังเฉลิมธานีที่นางเลิ้ง และเป็นผู้บุกเบิกทำธุรกิจโรงภาพยนต์ในพื้นที่ภาคตะวันออกหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือโรงหนังสามย่านรามา คุณสมพงษ์เล่าถึงที่มาที่ไปในการก่อตั้งสามย่านรามาว่า
"ประมาณช่วงปี ๒๕๐๐ กว่า ๆ ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ หมอประณีต มีนโยบายในการพัฒนาเมืองแกลง จึงได้เชิญชวนไปลงทุนทำโรงหนัง โดยการยกที่ดินใกล้กับตลาดสด พื้นที่เทศบาลเมื่อก่อนนั้นเป็นป่ายางก่อนจะพัฒนามาเป็นตลาด และหมอประณีตมองว่าถ้าทำตรงนี้เจริญแล้วอนาคตข้างหน้าจะมอบให้กับสุขาภิบาล ในเมื่อมีตลาด ต้องมีโรงหนัง หากมีโรงหนังจะสามารถดึงดูดคนให้เข้ามาตลาดมากขึ้น"
ด้วยความที่เป็นเมืองขนาดเล็ก หากมีงานวัดต่างๆ ตั๋วหนังจะขายดี คนทำบุญเสร็จแล้วก็มาดูหนังกันต่อ แต่ละวันฉายเพียงสองรอบเท่านั้น คือ รอบบ่ายและรอบค่ำ หากหนังดังคนก็ล้นอยู่เหมือนกัน ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นหนังไทยมากกว่าหนังต่างประเทศ เพราะหนังต่างประเทศไม่ค่อยเป็นที่นิยมถึงแม้จะมีกระแสดังแค่ไหน ผู้ชมส่วนใหญ่ก็คือคนในท้องถิ่น ทั้งพ่อค้า ชาวสวนและชาวประมงที่สามย่านหรือที่มาไกลจากประแส แม้ประแสจะมีโรงหนังด้วยก็ตาม
"โรงหนังทางประแสเป็นโรงเล็กและไม่ค่อยมีหนัง เป็นเหมือนโรงลิเก โรงมหรสพ" คุณสมพงษ์ให้ข้อมูล
ป้ายโฆษณา โปสเตอร์ รถแห่ และการตีตั๋ว
การโฆษณาเป็นหนึ่งสิ่งที่สำคัญและขาดไม่ได้ในธุรกิจทำโรงภาพยนตร์เพราะเป็นการกระจายข่าวถึงโปรแกรมหนังที่กำลังฉายและหนังที่กำลังจะเข้ามา ป้ายโฆษณาหรือโปสเตอร์นั้นมีช่างประจำที่มารับจ้างเขียนให้ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นที่แกลง
โดยปกติแต่ละโรงจำเป็นต้องมีช่างเขียนประจำ แต่หากช่างเขียนมีฝีมือดีก็สามารถรับงานได้หลายที่ ก่อนที่จะได้ช่างท้องถิ่นมา ต้องเอาคนที่มีฝีมือมาถ่ายทอดแล้วเรียนรู้ต่ออีกที นอกจากนั้นยังต้องมีการโฆษณาโดยการใช้รถแห่ไปหลาย ๆ จุด หรือต้องไปฝากโปสเตอร์ไว้ตามร้านค้าในท้องถิ่น แลกเปลี่ยนโดยการให้บัตรดูฟรี
คุณสมพงษ์เล่าว่า "บางทีต้องฝึกเด็กใหม่ ๆ ขึ้นมา สมัยก่อนป้ายโฆษณาหนังต้องติดรถแห่ ทากาวไม่ให้มีรอยย่น โรงหนังมันต้องไม่หยุดเรียนรู้ทุกอย่าง สมัยก่อนการทำแบนเนอร์ [Banner] ยังไม่มีต้องอาศัยช่างเขียนเป็นหลัก คนมีฝีมือก็เกิดขึ้น รถแห่สมัยก่อนเวลาไปที่ไหนชาวบ้านก็จะขี่มอเตอร์ไซค์มาดูกัน ต้องมีเทคนิคการทำโฆษณา สมัยก่อนแหล่งบันเทิงนอกจากทีวีก็มีโรงหนังเท่านั้น คนเลยนิยม"
ช่วงเวลาในการฉายหนังจะไม่มีการยืนโรงนานนัก แต่ถ้าหนังดี ๆ มีคนมาดูมากต้องเบียดแย่งกันตีตั๋วเพราะไม่มีการกำหนดหมายเลขที่นั่ง และตัดปัญหาเรื่องค่าตั๋วโดยการขายราคาเดียวกันทั้งหมด ผู้ชมจับจองที่นั่งตรงไหนก็สามารถทำได้ ก่อนฉายต้องเปิดเพลงหน้าโรงให้ครึกครื้น เช่น เปิดเพลงมาร์ช และเลือกเพลงให้เป็นเอกลักษณ์ของโรงหนัง โรงหนังสามย่านรามาขนาดของโรงหนังสามารถบรรจุคนได้ประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ ที่นั่ง โดยเป็นเก้าอี้แบบพับ โรงหนังต้องใช้คนหลายหน้าที่ ตั้งแต่พนักงานต้อนรับ คนขายบัตร คนฉายหนัง พนักงานต้อนรับเปิด-ปิดประตู และผู้รักษาความสะอาด ดูแลสภาพแวดล้อมต่าง ๆ แล้วยังต้องมีนักเลงคุมด้วย เพื่อป้องกันคนมาขอดูหนังฟรี
การเลือกหนังมาฉายนั้นตามความเข้าใจของคนทั่วไปคงคิดว่าโรงหนังสามารถที่จะเลือกเฉพาะหนังที่คิดว่าดังหรือกระแสดีมาฉายได้ แต่ความเป็นจริงแล้วไม่สามารถทำได้เพราะทางบริษัทหนังต้องส่งหนังคละกันมาให้ฉายต้องมีทั้งหนังดังและไม่ดังมาด้วย ส่วนจะฉายหรือไม่ฉายขึ้นอยู่กับผู้บริหารงานโรงหนังจะจัดการเอง

โรงภาพยนต์สามย่านรามาที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
"บรรยากาศรอบ ๆ โรงหนังเวลาหนังเลิกจะมีรถเข็นมาดักรอคน ขายของกินต่างๆ บรรยากาศครึกครื้น ช่วงทำหนัง ไม่คิดจะไปประกอบอาชีพอื่นเลย เพราะสนุก พ่อเริ่มเห็นลู่ทางจากการบริหารหนังที่นางเลิ้งก่อน ที่บ้านก็ขายอาหารมาก่อน หน้าโรงหนังบางทีต้องทำหุ่นโชว์ เพื่อเรียกคน"

เครื่องฉายหนัง โรงภาพยนตร์สามย่านรามา
การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสายหนังภาคตะวันออก
ก่อนหน้าที่จะมาทำโรงหนังสามย่านนั้นคุณสมพงษ์ได้เริ่มต้นการทำโรงหนังที่เมืองระยองก่อนคือ "โรงหนังเทศบันเทิงระยอง" ปัจจุบันกลายเป็นหอนาฬิกาเมืองระยองไปแล้ว ขณะเดียวกันก็ได้ทำโรงหนังบูรพาเธียเตอร์ที่อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ซึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกถือว่าเจ้านี้ก็เป็นแหล่งผลิตหรือให้บริการเกี่ยวกับกิจการหนังให้กับภาคตะวันออกทุกโรง จัดจองตั๋วหนัง ทั้งจัดซื้อเข้ามาและทางบริษัทเองก็ได้มาฝากให้โรงหนังบริหารงานเอง ก่อนหน้านั้นทางคุณสมพงษ์ทำโรงหนังอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่เมื่อมีพรรคพวกเข้าไปทำธุรกิจที่ระยองซึ่งเป็นนักธุรกิจที่ขายเครื่องฉายหนังแต่ไม่มีความรู้ทางด้านการบริหารโรงหนังจึงชวนทางคุณสมพงษ์เข้าไปช่วยบริหาร หลังจากนั้นจึงได้ขยายกิจการออกไปตามพื้นที่ต่าง ๆ
การทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่บ้านฉางของคุณสมพงษ์ถือว่าเป็นพื้นที่แรกๆ ที่เริ่มเติบโตโดยการเข้ามาทำธุรกิจหนังสายภาคตะวันออกอย่างเต็มตัว เพราะในช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นั้นอู่ตะเภาเป็นฐานทัพของทหารอเมริกัน จึงคิดไปลงทุนในบ้านฉางเพราะถือว่าเป็นทำเลดี มีความเจริญ และได้บริหารงานโรงหนังหลายแห่งในเวลาเดียวกันเพราะถือเป็นโอกาสทางธุรกิจ ขณะนั้นบ้านฉางมีโรงหนังถึง ๒ แห่ง คือบ้านฉางรามาและบูรพาเธียเตอร์ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๑ ฉายทั้งหนังไทยและหนังฝรั่ง และปิดไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒
คุณสงพงษ์เล่าว่า "สมัยคุณพ่อต้องเรียนรู้งานเองจากผู้ที่ทำธุรกิจโรงหนัง เพราะสมัยก่อนมีการหวงวิชา ไม่เหมือนสมัยนี้ที่มีการถ่ายทอดให้เกิดการพัฒนา ผมนี่กว่าจะฉายหนังเป็นต้องเรียนรู้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปัดกวาดเช็ดถู จึงจะสามารถฉายหนังได้ การติดต่อกับบริษัทหนังต่างประเทศต่าง ๆ มีการตั้งสำนักงานหนังอยู่ตึกอาคเนย์แถววังบูรพาหลายบริษัท เราก็ไปเช่าม้วนฟิล์มเขามา พอไปตั้งหลักที่ระยองคนก็ให้ความเชื่อถือเรา ช่วงที่อเมริกันอยู่เราก็อยู่กันที่ระยองเลย เพราะบ้านฉางอยู่ใกล้อู่ตะเภามากกว่า"
นอกจากที่ระยองแล้ว ยังรวมถึงโรงหนังดาราที่จังหวัดตราด คุณสมพงษ์ถือว่าเป็นผู้ไปบุกเบิกก็ว่าได้ โดยการเข้าไปช่วยช่วงเริ่มสร้างก่อนจะไปทำโรงหนังที่ระยอง การทำหนังนั้นไม่สามารถไปทำธุรกิจต่างโซนได้
สู่ยุคอำลาโรงหนัง Stand alone
โรงหนังสามย่านรามาปิดตัวมาราวยี่สิบกว่าปีแล้ว เกิดจากการเติบโตของสื่อสารพัดชนิดทั้งวีดีโอ ทีวีที่เข้าถึงคนได้ถึงในบ้าน รวมทั้งต้นทุนการทำโรงภาพยนต์ที่มีราคาสูง หลังจากการปิดตัวไปของสามย่านรามาแล้วคุณสงพงษ์เปลี่ยนแนวการทำธุรกิจโดยการไปซื้อที่เพื่อทำสวนแถวชานเมืองซึ่งห่างจากเมืองแกลงประมาณ ๑๒ กิโลเมตร และผันตัวมาประกอบอาชีพเกษตรกรและนักธุรกิจผู้ผลิตอุปกรณ์การเกษตร ในนามบริษัท อีสเทิร์น อกรีเท็ค จำกัด ซึ่งมีผลิตภัณฑ์เด่นคือ Rain Drop และมินิสปริงเกอร์ ซึ่งมีสำนักงานอยู่บริเวณด้านหลังโรงหนังสามย่านรามาที่เมืองแกลง
แม้ทุกวันนี้อำเภอแกลงก็ยังมีโรงหนัง Cineplex ที่ทันสมัยอยู่ที่ห้างโลตัสแกลง แต่โรงภาพยนต์อันเป็นตำนานของท้องถิ่นก็ไม่สามารถกลับมาได้อีกเลย
ตึกเก่าโรงหนังยังเด่นตระหง่านอยู่หน้าสำนักงานเทศบาลตำบลเมืองแกลง ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรไปมากกว่าการจอดรถ และเป็นอนุสรณ์สถานสำหรับให้คนรุ่นเก่ามาย้อนวันวานหวนคิดถึงความรุ่งเรืองวัยหนุ่มสาวที่เคยเพลิดเพลินอยู่กับ “สามย่านรามา”

คุณสมพงษ์ โชติวรรณ ผู้ประกอบธุรกิจสายหนังทางภาคตะวันออก
อ้างอิง
ธนาทิพ ฉัตรภูติ. ตำนานโรงหนัง. สำนักพิมพ์เวลาดี ในนามบริษัท แปลน สารา จำกัด. กรุงเทพฯ, ๒๕๔๗
สนธยา ทรัพย์เย็น และโมรีมาตย์ ระเด่นอาหมัด. สวรรค์ ๓๕ มม. : เสน่ห์วิกหนังเมืองสยาม. ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส), ๒๕๕๗
เทศบาลตำบลเมืองแกลง. เมืองแกลงของเราเมืองเก่าของบรรพชน. จังหวัดระยอง, ๒๕๔๖
เทศบาลตำบลเมืองแกลง. ๑๐๐ ปีบ้านตลาดสามย่าน. จังหวัดระยอง, ๒๕๕๒
ขอขอบคุณ
คุณลำใย วงศ์พิทักษ์, คุณสมพงษ์ โชติวรรณ, คุณสันติชัย ตังสวานิช นายกเทศมนตรีตำบลเมืองแกลง
จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
Comments