top of page

วันวานที่ย่านบางลำพู

อัปเดตเมื่อ 5 ก.พ. 2567

เผยแพร่ครั้งแรก 1 ม.ค. 2555


ปัจจุบันบางลำพูเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว หากย้อนกลับไปเมื่อราว ๗๐-๘๐ ปีก่อน บางลำพูก็เป็นย่านการค้าที่คึกคักมากแห่งหนึ่งในเวลานั้น ตลาด ห้างร้าง แหล่งบันเทิงต่าง ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก เพื่อรองรับผู้คนหลากหลายฐานะ ตั้งแต่เจ้านาย ข้าราชการ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ร่วมกันในย่านนี้ บรรยากาศการค้าในวันวานของย่านบางลำพูจึงเป็นหนึ่งสีสันที่แต่งแต้มภาพประวัติศาสตร์ของบางลำพูให้มีชีวิตชีวา ทั้งยังสะท้อนวิถีชีวิตอันหลากหลายของผู้คนที่ก้าวผ่านความเปลี่ยนแปลงของสังคมในแต่ละยุคสมัย


ภาพคลองบางลำพู ตอนล่างของภาพคือสะพานนรรัตน์ ทางฝั่งขวาของคลองคือตลาดทุเรียน

ส่วนฝั่งตรงข้ามกันเป็นตลาดนานา


บางลำพูเริ่มเติบโตเป็นย่านการค้าจากการค้าขายตามลำคลองในยุคแรก ๆ ผ่านทางคลองสำคัญของย่านคือ คลองบางลำพู จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๕ บางลำพูได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความศิวิไลซ์ตามแบบวัฒนธรรมตะวันตกไม่ต่างจากย่านอื่น ๆ มีถนนหลายสายตัดผ่าน พร้อมการสร้างตึกแถวสมัยใหม่ขึ้นบนสองฟากถนน การคมนาคมรูปแบบใหม่อย่างรถรางรถเมล์ก็เดินทางมาถึง บางลำพูจึงกลายเป็นทำเลทองในการขยายกิจการร้านค้า มีตลาดและห้างร้านเกิดขึ้นมากมาย เรียกได้ว่ามีครบสมบูรณ์ ตั้งแต่ของกินไปถึงของใช้ ทั้งที่มีราคาถูกหรือของฟุ่มเฟือยราคาแพง ใครอยู่ย่านบางลำพูแทบไม่ต้องไปหาซื้อของจากที่อื่นเลย

ตลาด ๓ แบบของคนบางลำพู


ที่ว่ามีตลาด ๓ แบบที่บางลำพูนั้น เพราะย่านนี้มีตลาดสดถึง ๓ ตลาด ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน คือ ตลาดเช้า ตลาดผลไม้ และตลาดของกินยามค่ำคืน ตลาดทั้งสามอยู่ใกล้กับสะพานนรรัตน์--สะพานโค้งข้ามคลองบางลำพู อันเป็นจุดเด่นของย่านบางลำพูสมัยนั้น


ตลาดยอด เป็นตลาดเช้า ตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานนรรัตน์ฝั่งทิศใต้ ปัจจุบันคือที่ตั้งห้างนิวเวิลด์ (ปิดตัวไปแล้ว) ตรงสี่แยกบางลำพู ถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น ตลาดแห่งนี้มีมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนขยายใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่มีการปรับปรุงตลาดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ลักษณะของตลาดยอดเป็นอาคารโรงสูง ทำด้วยไม้ มุงหลังคากระเบื้อง ซึ่งเป็นแบบแผนเดียวกันกับตลาดในยุคนั้น ภายในมีแผงสินค้าตั้งเรียงรายกัน มีทางเข้าออก ๔ ช่องทาง คือ เข้าทางถนนพระสุเมรุ ๒ ช่อง ทางถนนจักรพงษ์ ๒ ช่อง แล้วยังมีตรอกที่เป็นทางเดินไปออกทางถนนสิบสามห้างและทางถนนตานี (แต่ก่อนเรียกถนนบ้านแขก)


พ่อค้าแม่ค้ามาเปิดแผงขายกันตั้งแต่ตอนเช้ามืด ส่วนใหญ่เป็นพวกของสดประเภทต่าง ๆ เช่น เนื้อสัตว์ กุ้ง หอย ปู ปลา ทั้งแบบสดและแบบแห้ง ผักผลไม้ ตามแบบตลาดเช้าทั่วไป ไม่ใช่แค่คนฝั่งพระนครเท่านั้นที่มาซื้อขายสินค้ากันที่ตลาดยอด ชาวสวนจากฝั่งธนฯ ก็นำผลผลิตจากสวนใส่เรือมาขายด้วยเช่นกัน


“พวกทางฝั่งธนฯ จะต้องไปตลาดที่บางลำพู ไปขายใบตอง ขายผัก ขายอะไรต่าง ๆ เรียกว่าเป็นตลาดใหญ่พอสมควร มีทั้งของสด ของเค็มก็อยู่ท้ายตลาด... เด็ก ๆ ฉันอยู่กับตายายก็จะนั่งหัวเรือ พายเรือเอาชมพู่ไปขาย เอาเงาะไปขายที่ตลาดยอด ถ้าของสวยหน่อยก็จะขายได้ราคาดี บางทีร้อยละบาท ห้าสลึง แต่ถ้าไม่ค่อยสวยขายได้แค่ ๕๐ สตางค์ เราขายเป็นร้อยไม่ได้ชั่งกิโลเหมือนสมัยนี้ แต่ว่าจะขายคนอื่นนะ พวกร้านที่เขายกแผง เขาไม่ซื้อเราหรอก เพราะเขาซื้อแต่ของสวย ๆ แล้วไปขาย ๑๒ ใบ ราคา ๑ เฟื้อง ถ้าเหลือนะเขาเททิ้งลงคลองตรงเชิงสะพานนรรัตน์ปัจจุบัน” คุณยายสังวาลย์ สุนทรักษ์ วัย ๙๕ ปี ผู้เคยอาศัยอยู่ในสวนแถบบางยี่ขัน ฝั่งธนบุรี ก่อนย้ายมาอยู่ที่บางลำพู เล่าเรื่องราวเมื่อครั้งนำของจากสวนที่บ้านมาขายที่ตลาดยอด


พอตกบ่ายร้านของสดประเภทต่าง ๆ เริ่มปิดแผง แต่บรรดาของแห้ง อาหาร ขนม และของใช้ชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กระบุง ตะกร้า ถ้วยโถโอชาม เครื่องหนัง เครื่องประดับ ฯลฯ ยังคงมีขายตลอดจนถึงช่วงเย็น ร้านหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากในตลาดยอดคือ ร้านบัวสอาด เป็นร้านขายน้ำอบไทย ธูปเทียนชนิดต่าง ๆ เช่น ธูปเทียนแพ เทียนพรรษา เทียนอบขนมกลิ่นกำยาน รวมไปถึงดอกไม้ พวงมาลัย พอตกค่ำตลาดยอดก็มีข้าวต้มกุ๊ย เป็นอาหารแบบ ‘ยองยองเหลา’ ซึ่งเป็นคำเรียกล้อกับอาหารเหลาหรืออาหารที่ขายในภัตตาคารหรู ซึ่งเริ่มมีขึ้นตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ ๗ เพราะเป็นอาหารที่นั่งกินกันข้างทางและมีราคาถูก


ตรงข้ามกับตลาดยอดทางด้านถนนพระสุเมรุเป็นที่ตั้งของตลาดขายผลไม้ คือ ตลาดทุเรียน คุณยายอรุณศรี รัชไชยบุญ เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ มาอยู่ที่บางลำพูตั้งแต่อายุ ๑๐ ปี บอกเล่าความทรงจำเกี่ยวกับย่านบางลำพูที่เกี่ยวกับตลาดทุเรียนไว้ในหนังสือพิมพ์ ‘ข่าวบางลำพู’ ของประชาคมบางลำพู ตอนหนึ่งว่า


“ในหน้าทุเรียน ทุเรียนจะมาขึ้นที่คลองบางลำพู โดยขนมาจากเมืองนนท์ เขาเอาไม้ระแนงมากั้นเป็นคอก กว้าง x ยาวประมาณ ๒ เมตร ทุเรียนจะตั้งเป็นกอง ๆ สมัยนั้นมีแต่ทุเรียนนนท์และบางยี่ขัน ทุเรียนเมืองจันท์ยังไม่มี ทุเรียนที่แพงที่สุดจะเป็นทุเรียนก้านยาว ลูกละ ๑-๑๐ บาท อีรวงเป็นทุเรียนชั้นต่ำ ลูกละไม่ถึง ๑ สตางค์ ถ้าเป็นทุเรียนกบจะแพงนิดหน่อย คนจึงชอบหลอกว่าอีรวงเป็นกบ”


ทุเรียนในสมัยนั้นจัดเป็นผลไม้ที่มีราคาสูงอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ สวนเมืองนนท์ล่ม ทำให้ราคาทุเรียนยิ่งแพงขึ้นมาอีก คนที่ได้ลิ้มรสทุเรียนอย่างดีส่วนใหญ่จึงเป็นกลุ่มคนมีเงิน แต่ก็ใช่ว่าตลาดทุเรียนจะมีแค่ทุเรียนขายเพียงอย่างเดียว ยังมีผลไม้นานาชนิดที่ชาวสวนฝั่งธนฯ แถบบางยี่ขันแจวเรือข้ามฟากมาขาย เช่น เงาะบางยี่ขัน ชมพู่สาแหรก มังคุด กระท้อน เป็นต้น นอกจากนี้มีอาหารขายอยู่หลายร้าน ทั้งข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยวผัด หมูสะเต๊ะ หอยแครงลวก ขนมเบื้องไทยและญวน ล้วนแต่มีราคาย่อมเยา คนทั่วไปจึงนิยมมาหาของกินที่นี่ ทางด้านหลังตลาดริมคลองบางลำพูมีอาคารห้องแถวขายของจิปาถะ ส่วนใหญ่เป็นของใช้ราคาถูก


เมื่อข้ามคลองบางลำพูมาฝั่งตรงข้ามกับตลาดทุเรียน มีตลาดอีกแห่งหนึ่งคือ ตลาดนานา เจ้าของตลาดคือคุณเล็ก นานา มุสลิมย่านคลองสาน ในตอนกลางวันตลาดนานามีบรรยากาศเงียบเหงา ผิดกับยามค่ำคืนที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน เพราะใกล้บริเวณตลาดมีโรงหนังและวิกลิเกตั้งอยู่ จึงมีร้านอาหารต่าง ๆ ขายกันจนถึง ๒ ยาม พอดีกับตอนโรงหนังและลิเกเลิก ร้านอาหารส่วนใหญ่เป็นพวกหาบเร่ แผงลอย มีทั้งข้าวแกง บะหมี่ เย็นตาโฟ ซึ่งกลุ่มลูกค้าขาประจำเป็นคอหนังคอลิเก หรือพวกวัยรุ่นที่จับกลุ่มเที่ยวเตร่กันตอนกลางคืน


ด้านหน้าห้าง ต.เง็กชวน ประดับรูปครุฑ เนื่องด้วยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นผู้จำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องหีบเสียงและจานเสียง

ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม


นานาห้างร้าน แหล่งสินค้า ‘มีระดับ’


นอกจากแผงขายของในตลาดสด ย่านบางลำพูมีห้างร้านที่จัดว่ามีระดับอยู่หลายร้าน ร้านค้าเหล่านี้เป็นร้านตึกแถวตั้งอยู่ที่ริมถนนต่าง ๆ ที่สำคัญคือถนนพระสุเมรุ ถนนจักรพงษ์ ถนนสิบสามห้าง มีทั้งร้านตัดเสื้อผ้าอาภรณ์ รองเท้า เครื่องประดับ รวมไปถึงของฟุ่มเฟือยประเภทต่าง ๆ ที่สั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น สบู่ น้ำหอม ของเล่น อันถือเป็นของนำสมัยและค่อนข้างมีราคาสูง ลูกค้าจึงเป็นกลุ่มผู้ดีมีฐานะที่มีอยู่มากในย่านบางลำพู


ร้านที่มีชื่อเสียงในสมัยก่อนก็เช่น ห้าง ต. เง็กชวน อยู่ริมถนนพระสุเมรุ เป็นร้านจำหน่ายสินค้าหลากชนิด ตั้งแต่เครื่องประดับ ของใช้ ของเล่น สินค้าที่กล่าวขานกันมากคือสร้อยและกำไลทองชุบ เรียกว่าเป็นทองวิทยาศาสตร์ มีราคาถูก จึงเป็นที่นิยมกันมาก นอกจากนี้ ต. เง็กชวน เป็นร้านบันทึกเสียงในยุคแรก ๆ ด้วย ปัจจุบันร้าน ต. เง็กชวน เปลี่ยนมาขายขนมเบื้องไทย ซึ่งเป็นของอร่อยขึ้นชื่ออย่างหนึ่งในย่านบางลำพู


ร้านเครื่องแต่งกายก็มีอยู่หลายร้าน ขายเสื้อผ้าทันสมัยในยุคนั้น เช่น ร้านนพรัตน์ ขายพวกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ร้านสมใจนึก เดิมเป็นร้านขายของใช้ทั่ว ๆ ไป ต่อมาจึงเปิดรับจ้างตัดเสื้อผ้าและผลิตเสื้อเชิ้ตสำเร็จรูปยี่ห้อ Seamaster ก่อนจะผลิตชุดนักเรียนจนมีชื่อเสียงมาถึงปัจจุบัน ร้านไทยประณีต ขายเสื้อผ้า ผ้าไหม ร่ม ห้างแก้วฟ้า ร้านตัดรองเท้าหนังที่มีชื่อเสียงมากในหมู่ข้าราชการและนักศึกษา นอกจากนี้ยังมีร้านไทยไพรัช ปัจจุบันคือที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง ร้านนี้ขายหุ่นโชว์เสื้อ อุปกรณ์เย็บปักถักร้อย และรับสอนเย็บจักร ซึ่งสะท้อนการเป็นแหล่งผลิตเสื้อผ้าชั้นนำของบางลำพูได้เป็นอย่างดี


ส่วนย่านทันสมัยที่สุดในบางลำพูต้องยกให้ สิบสามห้าง เดิมเป็นห้องแถวไม้ ยาวจากถนนบ้านแขกถึงมุมถนนพระสุเมรุ มีร้านขายของโปเกหรือของเก่า ร้านขายเสื้อผ้า เครื่องประดับ ต่อมาห้องแถวไม้นี้โดนไฟไหม้จึงสร้างเป็นตึกแถวสองชั้น ช่วงหลังปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา สิบสามห้างโด่งดังเรื่องความล้ำสมัย มีของแปลกใหม่หลายอย่างบริการลูกค้า เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น เช่น ร้านขายไอศกรีม บางร้านมีบริการโทรทัศน์ แผงขายหนังสือ ฯลฯ ในอีกด้านหนึ่งสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของสิบสามห้างคือกลุ่มจิ๊กโก๋หรือนักเลงวัยรุ่นชายที่มีรสนิยมตามอย่างวัฒนธรรมอเมริกันที่เข้ามาในรูปแบบภาพยนตร์ ทั้งในด้านการแต่งกายและกิริยาท่าทางเลียนแบบดาราดังสมัยนั้น อดีตย่านบางลำพูมีนักเลงทำนองนี้อยู่หลายพวก ตั้งตนเป็นเจ้าถิ่นอยู่ตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ ซึ่งหลายคนในยุคปัจจุบันคงคุ้นเคยภาพนักเลงเหล่านี้จากภาพยนตร์ชื่อดังเรื่อง ‘๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง’ ที่ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้ดี


โรงหนัง โรงละคร วิกลิเก แหล่งบันเทิงยามค่ำคืน


ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้บางลำพูสมัยก่อนคึกคักตลอดทั้งกลางวันกลางคืน คือแหล่งบันเทิงต่าง ๆ ที่เริ่มเกิดมากขึ้นตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๗ เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นโรงหนัง โรงละคร วิกลิเก มีให้เลือกชมกันตามรสนิยม


ยุคที่กิจการภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ กำลังเฟื่องฟู บางลำพูมีโรงหนังเกิดขึ้นด้วย โรงหนังบุศยพรรณ ตั้งอยู่ที่เชิงสะพานนรรัตน์ฝั่งเหนือ เดิมชื่อ ตงก๊ก ภาพยนตร์ที่ฉายส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ โดยมีนักพากย์ชื่อดังคือทิดเขียว หรือนายสิน สีบุญเรือง แต่ละรอบฉายมีคนมาออซื้อตั๋วกันที่หน้าโรงเป็นจำนวนมาก นายสมัคร สุนทรเวช ผู้เคยใช้ชีวิตอยู่ตรอกหลังวัดสังเวชฯ บางลำพู ได้เล่าภาพของโรงหนังแห่งนี้ ไว้ในตอนหนึ่งของหนังสือ ‘จดหมายเหตุกรุงเทพฯ’ ว่า

“โรงหนังบุษยพรรณมีหลังคาโค้ง มี ๒ ชั้นตามแบบโรงหนังทั่วไป ชั้นล่างเป็นที่ตั้งเก้าอี้เป็นแถวยาว นั่งได้แถวละ ๗-๘ คน ตั้งเรียงกันตั้งแต่หน้าเวทีเรียงถอยหลังไปเป็นล็อก ๆ ส่วนชั้นบนทำเป็นเฉลียงอยู่บนหลังคาของห้องฉาย ยื่นออกไปทั้งซ้ายขวาเติมที่นั่งได้ทั้งสองด้าน ที่นั่งด้านหลังยกสูงเป็นอัฒจันทร์ ด้านนอกโรงเป็นห้องขายตั๋ว มีที่ให้คนมาชมภาพตัวอย่างหนัง เรียกกันว่า ‘หนังแผ่น’ คนที่บอกว่าได้ไปดูแค่หนังแผ่น คือคนที่ไม่มีเงินไปดูหนังจริง ๆ ใน โรงหนังแห่งนี้เคยมีฉายตอนกลางวัน โดยต้องใช้ผ้าดำมาบุโรง บุหน้าต่างให้มืดพอจะฉายได้ เหตุที่ฉายหนังกลางวันเพราะต้องการเอาสตางค์แดงที่ทำด้วยทองแดงไปทำหัวลูกปืน ส่วนราคาตั๋วนั้น ถ้ากลางคืน คนละ ๕, ๑๐ หรือ ๑๕ สตางค์ก็แล้วแต่ แต่ตอนกลางวันประกาศว่าเอาแค่สตางค์แดงเดียวเท่านั้น...” เมื่อข้ามฟากคลองบางลำพูไปที่ตลาดทุเรียนก็มีอยู่อีกหนึ่งโรงคือ โรงหนังน่ำแช ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ศรีบางลำพู มีคนดูมากไม่แพ้กัน


ตรงริมคลองบางลำพูใกล้ธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงละครแม่บุนนาค ก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๗ แสดงละครร้อง ซึ่งเป็นมหรสพที่เริ่มแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เรื่องที่นำมาแสดงละครร้องส่วนใหญ่มักเป็นวรรณกรรมที่มีเนื้อหาร่วมสมัยหรือวรรณกรรมแปล เช่นเรื่องสาวเครือฟ้า ละครร้องจึงเป็นความบันเทิงที่ถูกรสนิยมชนชั้นสูงในสมัยนั้น


ตรงกันข้ามกับลิเกหรือยี่เก มหรสพที่นิยมแพร่หลายกันมากในหมู่ชาวบ้าน แต่เป็นที่เหยียดหยามของหมู่ผู้ดีมีฐานะ จนเกิดบทดอกสร้อยที่ว่า “อันยี่เกลามกตลกเล่น รำเต้นสิ้นอาย ขายหน้า” แต่ด้วยเนื้อหาที่เป็นเรื่องราวแบบชาวบ้าน ดำเนินเรื่องรวดเร็ว สอดแทรกความตลกขบขัน ลิเกจึงเป็นที่นิยมในหมู่คนทั่วไป วิกลิเกชื่อดังในย่านบางลำพูคือ วิกลิเกหอมหวล มีชื่อเสียงมากในทศวรรษ ๒๔๙๐ ตั้งอยู่ในตลาดทุเรียน ทางฝั่งตลาดนานาก็มีวิกลิเกอยู่เช่นกัน โดยเริ่มเล่นกันตั้งแต่ ๒ ทุ่ม เลิกตอน ๒ ยาม สิ่งที่ขาดไม่ได้ที่ด้านหน้าโรงลิเกคือหาบขายของกินสารพัดอย่าง ตั้งคอยบริการผู้ชมที่มารอดูลิเกกันแน่นขนัดในทุกคืน


โฉมหน้าของบางลำพูย่อมแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ปัจจุบันตลาดทั้งสามแบบของบางลำพู คือ ตลาดยอด ตลาดทุเรียน และตลาดนานา ไม่เหลือร่องรอยใด ๆ ไว้นอกจากในความทรงจำ ตลาดยอดหลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เจ้าของได้สร้างเป็นห้างสรรพสินค้านิวเวิลด์ต่อมา แต่อยู่ได้ไม่นานก็มีคำสั่งจาก กทม. ให้รื้อทิ้ง เนื่องจากมีความสูงเกินกำหนดของอาคารที่อยู่ใกล้กับเขตกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ปัจจุบันจึงเหลือเพียงอาคารร้างที่ยังรื้อถอนไม่เสร็จตรงสี่แยกบางลำพู ตลาดทุเรียนเริ่มซบเซาลงเพราะมีการตัดถนนเข้าถึงเมืองนนทบุรี ปัจจุบันจึงเหลือเพียงตลาดสดขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ เรียกกันว่า ตลาดนรรัตน์ ส่วนตลาดนานากลายสภาพเป็นโรงแรม ห้างร้านเก่าแก่ต่างๆ ที่เคยคึกคักเริ่มทยอยปิดตัวลง ที่ยังเปิดอยู่ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่นเดียวกับแหล่งบันเทิงต่าง ๆ ที่เลิกราตาม ๆ กันไป


เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างรวดเร็ว ภาพจำของบางลำพูจึงกลายเป็นภาพนักท่องเที่ยวนานาชาติเดินขวักไขว่กันตามท้องถนน มีสถานเริงรมย์ยามค่ำคืน แต่อย่างไรก็ดี ‘บางลำพู’ ยังไม่ทิ้งภาพย่านการค้าที่รุ่งเรือง เพราะยังคงเป็นแหล่งรวมอาหารอร่อย ห้างร้านหลายระดับราคาเปิดบริการอยู่มากมาย และคนจำนวนมากยังแวะเวียนมาสร้างความทรงจำใหม่ ๆ ที่ย่านบางลำพูแห่งนี้

อ่านเพิ่มเติมได้ที่:




Comments


เกี่ยวกับมูลนิธิ

เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ลำดับที่ ๕๘๐ ของประกาศกระทรวงการคลังฯ เผยแพร่ความรู้และความเข้าใจทางสังคมวัฒนธรรมในท้องถิ่นต่างๆ และเพื่อสร้างนักวิจัยท้องถิ่นที่รู้จักตนเองและรู้จักโลก

SOCIALS 

© 2023 by FEEDs & GRIDs. Proudly created with Wix.com

bottom of page