ยศพระขุนนางพ่อค้าในสังคมปัจจุบัน
- ศรีศักร วัลลิโภดม
- 26 ส.ค. 2565
- ยาว 2 นาที
อัปเดตเมื่อ 9 ก.พ. 2567
เผยแพร่ครั้งแรก 22 ก.ย. 2560

ข้าพเจ้าเคยเขียนบทความที่สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมในความเหลื่อมล้ำทางสังคมของไทยมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อราวยี่สิบปีที่ผ่านมาคือ “ยศพระขุนนางพ่อค้า” ในสมัยรัชกาลที่ ๙ อันเป็นสังคมไทยสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหารและปกครองประเทศ แตกต่างจากสังคมยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เรียกว่าสังคมศักดินา ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุดในสังคมศักดินา ความเหลื่อมล้ำทางสังคมสะท้อนให้เห็นจากความต่างกันของระดับชั้นทางศักดินาที่เป็นยศถาบรรดาศักดิ์และราชทินนามที่ลดหลั่นกันลงมาจากพระมหากษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง ข้าราชการในลำดับของหมื่น ขุน หลวง พระ พระยา เจ้าพระยาและเจ้านายที่ทรงกรมในระดับต่าง ๆ ลงมาจนถึงไพร่ฟ้าประชาชนและข้าทาส
ภายใต้พระราชอำนาจสูงสุดของพระมหากษัตริย์ แม้แต่สัตว์เลี้ยงที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองก็มียศถาบรรดาศักดิ์ เช่นเดียวกันกับพระสงฆ์จนมีคำพังเพยออกมาว่า “ยศช้างขุนนางพระ” แต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว ยศช้างหายไปเพราะช้างเปลี่ยนสถานภาพจากการเป็นขุนนางมาเป็นข้าทาสทางแรงงานแทน เช่นถูกใช้ให้ลากซุง เป็นต้น ส่วนขุนนางข้าราชการยศถาบรรดาศักดิ์แต่เดิมหมดไป แต่ความเหลื่อมล้ำในสถานภาพยังดำรงอยู่ในลำดับชั้น เช่น ชั้นตรี โท เอก และชั้นพิเศษ ซึ่งมีเครื่องแบบมีขีดขั้นเป็นเครื่องแสดงออก เช่นเดียวกันกับยศชั้นของพวกที่เป็นทหารและตำรวจ โดยมีสัญลักษณ์ของความสูงต่ำที่มาจากสังคมศักดินาที่เป็นเหรียญตราและสายสะพายแสดงออกในงานพระราชพิธีต่าง ๆ จนถึงงานศพที่มีโกศเกียรติยศประดับไว้ใกล้โลงศพ
แต่ทางฝ่ายขุนนางพระไม่เปลี่ยนแม้จะไม่มีเครื่องแบบเหรียญตราและสายสะพายแสดงเกียรติภูมิ แต่ก็มีบรรดาพัดยศตามลำดับชั้นขุนนางที่ยังไม่เปลี่ยนเช่นกัน เช่น ชั้นพระครู พระธรรม พระเทพ และสมเด็จที่มีราชทินนามกำกับ ขุนนางพระเหล่านี้ตามลำดับชั้นมีหน้าที่ควบคุมดูแลวัดและพระสงฆ์ เพื่อการปฏิบัติหน้าที่และการงานในทางพระพุทธศาสนา เพื่อพุทธศาสนิกชนในสังคมทั่วราชอาณาจักร ในนามขององค์กรสงฆ์ที่รู้จักกันว่ามหาเถรสมาคม อันมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด รองลงมาจากพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก
สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง องค์กรสงฆ์และขุนนางสงฆ์ไม่ค่อยมาเกี่ยวข้องกับวัดและพระสงฆ์ในเรื่องของทางโลก เช่น ทรัพย์สินที่ดินและสมบัติวัด ตามท้องถิ่นต่าง ๆ เมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพราะบรรดาวัดทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน วัดแต่ละวัดจะมีคณะบุคคลที่เป็นฆราวาสในท้องถิ่นเข้ามาบริหารจัดการในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของพระและสมบัติวัดในนามของมรรคทายกแทน
ขุนนางพระแต่ระดับเจ้าอาวาสก็จะไม่มาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางโลกเหล่านี้ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของมรรคทายก ขุนนางพระเริ่มเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับสมบัติวัดเมื่อมีการออกกฎหมายสงฆ์ขึ้นโดยทางรัฐบาลสมัยประชาธิปไตย ที่ทำให้ขุนนางพระในระดับเจ้าอาวาสเข้ามามีสิทธิ์ในการรับผิดชอบอย่างเต็มที่ เลยเบียดหน้าที่ของมรรคทายกชิดซ้ายไป
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดเป็นปัญหาภายในชุมชนก็เกิดขึ้น ความเป็นชุมชนท้องถิ่นแต่เดิมแต่โบราณกาลก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ผู้คนยังไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้น วัดเกิดขึ้นจากที่ผู้คนมีอันจะกินในท้องถิ่น หรือพระมหากษัตริย์ เจ้านาย หรือขุนนาง ข้าราชการ พระราชทานที่ดินหรือวัดหาที่ดินสร้างวัด และกัลปนาผู้คนในท้องถิ่น เครื่องมือเครื่องใช้ พาหนะ เช่น วัว ควายให้กับวัด เพื่อผู้คนเหล่านั้นจะกลายเป็นข้าพระ อาศัยที่ดินของวัดสร้างที่อยู่อาศัยและทำกิน ทำงานให้แก่พระและวัด โดยมีคณะบุคคลที่เรียกว่ามรรคทายกเป็นผู้ดำเนินการ
แต่เมื่อเกิดกฎหมายสงฆ์ขึ้นมา เจ้าอาวาสกลายเป็นผู้มีสิทธิในสมบัติต่าง ๆ รวมทั้งที่ดินของวัดไป จึงเกิดการขัดแย้งขึ้นบ่อย ๆ เช่นการที่เจ้าอาวาสไล่ที่อยู่อาศัยของบุคคลและครอบครัวที่อยู่ในที่ดินของวัดมาแต่แรกเริ่มให้ออกไปไร้ที่อยู่อาศัยจนถึงมีการฟ้องร้องกันขึ้น การมีสิทธิ์ในเรื่องที่ดินและสมบัติวัดดังกล่าวนี้ มีผลทำให้เกิดเป็นประเพณีและศีลธรรมขึ้นกับบรรดาขุนนางพระตั้งแต่ชั้นเจ้าอาวาสขึ้นไปที่ไล่ที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในชุมชนเพื่อการขยายวัด สร้างสถานที่อาคารใหม่ ๆ รวมทั้งให้ที่ดินของวัดเช่าซื้อแก่บรรดาผู้ประกอบการที่เป็นนายทุนทั้งในชุมชนและนอกชุมชนเดิมการก่อสร้างใด ๆ ดังกล่าวนี้พระจะไม่เกี่ยวข้อง เพราะเป็นเรื่องของทางโลก
แต่พอเปลี่ยนมาถึงสมัยนี้พระเกี่ยวข้องมากถึงขนาดเปลี่ยนผลประโยชน์ของวัดเป็นของส่วนตัว พระที่มีหน้าที่และอำนาจทางการบริหารถึงขนาดมีสมุดธนาคารส่วนตัวก็มาก นับวันพระก็ไม่เป็นพระ มีแต่ “ขุนนางพระ” และวัดก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนตั้งแต่ก่อนวัดหลายวัดเกิดขึ้นจากคนชั้นกลางที่มาจากภายนอกชุมชน จากบุคคลที่เป็นนายทุนพ่อค้าและนักการเมืองที่กลายเป็นชนชั้นศักดินาในสมัยใหม่ที่เรียกว่า “ขุนนางพ่อค้า”
แต่ก่อนขุนนางพ่อค้าไม่มี เพราะชนชั้นกลางเพิ่งเกิดขึ้นแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ลงมา เมื่อมีการให้กรรมสิทธิ์ที่ดินเกิดขึ้น ก่อนหน้านี้มีเพียงพวกกระฎุมพีที่ไม่มีอาชีพทางเกษตรเป็นชาวนาหรือชาวไร่ แต่เป็นพวกค้าขายและพ่อค้าจากภายนอกที่เข้ามาสัมพันธ์กับบรรดาเจ้านาย ขุนนาง ข้าราชการเพื่อการประกอบอาชีพการงานจนเกิดมีฐานะทางเศรษฐกิจและมีหน้ามีตาทางสังคม
โดยย่อส่วนใหญ่ก็หากินกับบรรดาขุนนางข้าราชการที่มีอำนาจ หลังสมัยรัชกาลที่ ๕ ลงมาจนถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง คนเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มคนที่มีที่ดิน มีกิจกรรมทางการค้าขาย มีบริษัทร้านค้า รวมทั้งกลายเป็นเจ้าของที่ดิน แต่หลังจากสัมพันธ์ทางเครือญาติกับชนชั้นปกครอง เช่น เจ้านาย ขุนนาง ข้าราชการแล้วก็กลายเป็นคนมีเหล่ามีสกุล ช่วยกิจกรรมของแผ่นดินจนได้รางวัลเหรียญตราสายสะพายและเครื่องแบบที่เรียกได้ว่าเป็นขุนนาง มีทั้งขุนนาง พ่อค้า รุ่นก่อนสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี อันเป็นยุคของประชาธิปไตยแบบเผด็จการทหาร กับขุนนางที่เป็นนายทุนใหม่หลังสมัยจอมพลสฤษดิ์
ความสำคัญของสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อย่างหนึ่งก็คือ การขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยที่เป็นสังคมเกษตรกรรม เปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมอย่างแบบตะวันตก เปิดประเทศให้มีการลงทุนจากภายนอก มีคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักธุรกิจ พ่อค้าและนักวิชาการต่างชาติเข้ามาลงทุนและตั้งถิ่นฐาน เกิดการขยายบ้านเมือง [Urbanization] และโรงงานอุตสาหกรรม [Industrialization] และการนำมาทรัพยากรธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์มาผลิตเป็นสินค้าส่งออกที่ทำให้นักลงทุนทั้งในประเทศและที่มาจากภายนอกเกิดความมั่งคั่งและยั่งยืนเป็นลำดับ ประชากรเพิ่มขึ้นมากกว่าแต่เดิมครั้งสังคมเกษตรกรรมถึง ๓ เท่าตัว มีทั้งผู้คนที่เป็นนายทุนข้ามชาติ และแรงงานที่เป็นชาติพันธุ์ต่าง ๆ เคลื่อนย้ายเข้ามาเป็นพลเมือง เกิดนายทุนรุ่นใหม่ ตระกูลใหม่ ๆ มากมายที่มีความมั่งคั่งเข้ามาเล่นการเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพรรคพวก โดยอาศัยการเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีทุนนิยมแบบยุโรปและอเมริกา
แต่โครงสร้างทางการบริหารปกครองเป็นแบบรวมศูนย์อย่างเดิมแต่สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมเผด็จการของกลุ่มนายทุนรุ่นใหม่ที่ลงแรงลงทุนสร้างพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อได้เสียงส่วนใหญ่ในรัฐบาล และมีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองในการปกครองประเทศ สังคมไทยภายใต้เผด็จการนายทุนนักธุรกิจการเมืองคือ สิ่งที่ผลักดันให้เกิดขุนนางพ่อค้าขึ้นตั้งแต่ระดับบนจนระดับล่างในตามท้องถิ่น
เมืองไทยในยุคสังคมอุตสาหกรรมในทุกวันนี้ เปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรกรรมเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมในยุคใหม่อย่างเต็มตัว ด้วยคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดเป็นปัจเจกเพื่อตัวเองมากกว่าส่วนรวม มีความต้องการทางวัตถุนิยมและบริโภคนิยมสูง แต่ยังคงค่านิยมของความเหลื่อมล้ำและความมีหน้ามีตาที่เป็นมรดกตกทอดมาแต่สมัยสังคมศักดินา เหตุนี้จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่าขุนนางพ่อค้าขึ้นมาอย่างแพร่หลาย ที่อาศัยเครื่องแบบและสัญลักษณ์ของความสูงต่ำในสังคมศักดินาเป็นเครื่องแสดงออก ในวาระที่เป็นงานประเพณีพิธีกรรมตามสถานที่ซึ่งเป็นสถาบัน เช่น วัด วัง และสถานที่ทางศิลปวัฒนธรรมที่มีทั้งใหม่และเก่า โดยเฉพาะสถาบันทางความเชื่อและพิธีกรรม เช่น วัดวาอารามที่อยู่ในการดูแลของขุนนางพ่อค้า ทำให้เกิดกิจกรรมที่เป็นระบบอุปถัมภ์กันระหว่างขุนนางพ่อค้าและขุนนางพระอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ เป็นกิจกรรมและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่นำไปสู่การกระทำที่เรียกว่าทุจริตคอรัปชั่น ยกตัวอย่างเช่น นักการเมืองใช้วัดและพระสงฆ์เพื่อการหาเสียงในการเลือกตั้ง ติดสินบนให้ขุนนางช่วยขอเครื่องราชย์ให้เป็นต้น หรือมีวัดใหม่ๆ เป็นจำนวนมากที่เกิดขึ้นโดยขุนนางพ่อค้าเป็นผู้สร้างเพื่อเกียรติภูมิของครอบครัวและวงศ์ตระกูล ซึ่งวัดเหล่านี้มักใหญ่โตโอ่อ่าสวยงามกว่าบรรดาวัดในอดีตที่เจ้านาย ขุนนาง คหบดี และผู้คนในชุมชนสร้างขึ้น วัดเกิดใหม่หลายแห่งมีรูปแบบและขนาดที่ผิดแผกไปจากวัดของชุมชนของบ้านเมืองที่มีมาแต่เดิม เกิดความไขว้เขวขึ้นในเรื่องเขตพุทธาวาส สังฆาวาส และพื้นที่เอนกประสงค์ มีสถานที่เกิดใหม่ที่ไม่เคยมีในพื้นที่ของวัดมาก่อนในสมัยสังคมศักดินา คือกุฏิพระที่เป็นขุนนางดูใหญ่โตรโหฐาน มีช่อฟ้าใบระกายิ่งกว่าตำหนักของเจ้านายสมัยก่อน และเมรุเผาศพ ศาลาสวดศพ และอาคารเอนกประสงค์เพื่ออุทิศให้ผู้วายชนม์ที่เป็นนายทุน
ปัจจุบันเมรุเผาศพ ศาลาสวดศพและลานประกอบพิธีกรรมได้กลายเป็นอัตลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของวัดใหญ่ ๆ เกือบแทบทุกวัด เพราะเป็นแหล่งที่มาของรายได้เลี้ยงวัดที่อยู่ในการดูแลของขุนนางพระผู้เป็นเจ้าอาวาส ต่างเหมือนจะแบ่งกันว่าเมรุเผาศพใครจะใหญ่โต สวยงามกว่ากัน จนความสูงและความอลังการของสถานที่เผาศพเป็นสิ่งที่แลเห็นได้แต่ไกลแทนโบสถ์ วิหาร และพระสถูปเจดีย์ไป ยิ่งไปกว่านั้นยังเกิดวัดใหม่แบบไฮเทคที่ดูอลังการใหญ่โต มีสิ่งก่อสร้างสลับซับซ้อนด้านรูปแบบและลวดลายสัญลักษณ์แบบใหม่ที่พระและนักศิลปะคิดขึ้นและสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในลัทธิสมัยใหม่ที่ระคนไปด้วยไสยศาสตร์ คัมภีร์และตำนานใหม่ ๆ อีกมากมาย จนในที่สุดแล้วทำให้คิดได้ว่า บรรดาวัดทางพุทธศาสนาในปัจจุบันเป็นเพียงแต่สถานที่ประกอบประเพณีพิธีกรรมเพื่อการบริการให้กับคนในสังคมยุคใหม่เท่านั้นเอง โดยเฉพาะพิธีกรรมเผาศพที่แสดงสถานภาพสูงมาทางสังคมของชนชั้นนายทุนและชนชั้นกลางเท่านั้น
ในรอบขวบปีที่ผ่านมาสังคมไทยได้แลเห็นความขัดแย้งทางสังคมที่เกิดจากขุนนางพระและขุนนางพ่อค้าเพิ่มขึ้นหลายเรื่อง ที่สำคัญก็คือ กรณีลัทธิธรรมกายกับการคอรัปชั่นเงินอุดหนุนของรัฐที่ให้กับวัดต่าง ๆ ในประเทศ เรื่องแรกเป็นการสร้างลัทธิศาสนาใหม่ที่อ้างว่าเป็นลัทธิในทางพุทธศาสนาที่ไม่อาจยอมได้ว่าเป็นพระพุทธศาสนาที่นับถือกันทั่วไปในสังคม คณะผู้ก่อตั้งเป็นพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์เป็นขุนนางพระ ที่นอกจากแพร่ลัทธิใหม่ให้แพร่หลายแล้ว ยังมีการเรี่ยรายและบริจาคจากชนชั้นกลางภายใต้การอุปถัมภ์ของขุนนางพ่อค้าที่เป็นนักธุรกิจสำคัญๆ ของประเทศ แต่ที่สำคัญก็คือ ผู้ก่อตั้งลัทธินี้เป็นที่ยอมรับของพระสงฆ์สำคัญ ๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ในองค์กรปกครองสงฆ์ของประเทศ จนมีการแสดงออกที่ท้าทายต่อกฎหมายของบ้านเมือง จนถึงมีการปราบปรามและติดภาพจับกุมเพื่อนำมาลงโทษที่ยังค้างคาอยู่จนบัดนี้
ความผิดของลัทธิความเชื่อใหม่นี้ก็คือ การอ้างและอวดตัว อวดอุตริว่าเป็นสถาบันทางพระพุทธศาสนาซึ่งคนที่เป็นพุทธศาสนิกทั่วไปไม่ยอมรับ แต่ถ้าแสดงว่าเป็นลัทธิความเชื่อใหม่ที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนาก็คงจะไม่มีใครขัดข้อง เพราะบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนสามารถเลือกนับถือลัทธิศาสนาของตนได้ ความผิดอย่างมหันต์ของขุนนางพระรูปนี้และพวกสาวกก็คือ การละเมิดกฎหมายบ้านเมืองและมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เป็นคอรัปชั่นที่ศาลตัดสินให้เห็นว่าผิด เมื่อทางบ้านเมืองจะเข้าไปจับกุมมาดำเนินการก็ได้รับการดูแลคุ้มครองจากบรรดาขุนนางพระ และขุนนางพ่อค้าหลายกลุ่มหลายหมู่เหล่า จนทั้งการจับกุมผู้ทำผิดท่านนี้ไม่ประสบความสำเร็จและการกระทำและแสดงออกของขุนนางพระในองค์กรสงฆ์ก็ส่อไปในทางแสดงอำนาจบารมีที่อยู่เหนือกฎหมายและสังคม
กรณีที่สองที่แสดงอำนาจบารมีของขุนนางพระอันเป็นข่าวใหญ่ในสังคมเป็นเวลานานพอสมควรก็คือ เรื่องทุจริตคอรัปชั่นเงินงบประมาณของรัฐที่รัฐบาลจัดให้ไปช่วยบำรุงและพัฒนาวัด โดยผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีวัดหลายวัดไม่ได้รับเงินอุดหนุนอย่างเต็มที่ตามจำนวนเงินงบประมาณ เกิดพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องที่ทางสื่อเรียกว่า “เงินทอน” คือเมื่อทางสำนักงานพระพุทธศาสนาส่งเงินงบประมาณช่วยเหลือให้เต็มจำนวนแล้ว ขอให้ทางวัดที่ได้รับเงินอุดหนุนส่วนหนึ่งกลับไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนา เงินที่ต้องส่งกลับคืนไปนี้เรียกว่า “เงินทอน” ซึ่งไม่มีระบุในทางการว่าเพื่ออะไร และไปให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ใด
ซึ่งในกรณีนี้ทั้งพระสงฆ์ของวัดที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาจะต้องรับรู้ระหว่างกัน ถ้าไม่ยอมกันก็จะต้องร้องเรียนกับทางรัฐบาล จึงมีเหตุการณ์ที่วัดบางวัดไม่เห็นด้วยกับการทอนเงิน แต่บางวัดก็เงียบอยู่โดยที่น่าจะมีการรู้เห็นเป็นใจด้วยกันทั้งพระและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทางองค์กรสงฆ์ที่มีอำนาจเต็มดูเหมือนละเลยกับการที่จะตรวจสอบเอาผิดพระสงฆ์ที่เกี่ยวข้องในการคอรัปชั่นนี้ ในขณะที่ทางฝ่ายรัฐบาลได้สอบสวนเอาผิดเจ้าหน้าที่ของสำนักพระพุทธศาสนาที่ทำผิดด้วยการย้ายผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในการบริหารออกไป โดยเฉพาะผู้รับผิดชอบสูงสุดและได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่จากกรมการสืบสวนคดีพิเศษมาทำหน้าที่แทน ท่านผู้ดำรงตำแหน่งใหม่ท่านนี้เข้มแข็งและเอาจริงกับบรรดาผู้ที่กระทำผิดที่แม้ว่าจะจำกัดอยู่ในหมู่ข้าราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาในสังกัดก็ตาม แต่ก็ดูกระทบกระเทือนไปถึงบรรดาขุนนางพระและบุคลากรของทางวัดและองค์กรสงฆ์ด้วย ทำให้เกิดความขัดเคืองและไม่พอใจแก่บรรดาขุนนางพระที่มีทั้งได้กระทำผิดและไม่ได้กระทำ แต่มีความรู้สึกเสียหน้าเสียตาและศักดิ์ศรีของพระสงฆ์ผู้ควรเป็นที่เคารพบูชาของฆราวาสทุกคน
โดยเฉพาะขุนนางสงฆ์ในระดับผู้ใหญ่ขององค์กรสงฆ์ที่ออกมาประกาศว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รับผิดชอบที่เป็นสุจริตชนในองค์กรของรัฐบาล ดูหมิ่นทำลายเกียรติภูมิของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระสงฆ์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชน มิใยดีต่อคำรับรองสนับสนุนของนายกรัฐมนตรีผู้เป็นหัวหน้ารัฐบาลที่ออกมารับรองและเห็นชอบในการปฏิบัติงานที่กล้าแข็งของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติคนใหม่ ได้เรียกร้องให้ทางรัฐบาลย้ายผู้อำนวยการท่านนี้ออกไปให้พ้นตำแหน่ง
ด้วยการแสดงออกด้วยถ้อยวาจาของขุนนางสงฆ์ผู้ใหญ่ที่ทำหน้าที่คล้าย ๆ จะเป็นโฆษกขององค์กรสงฆ์ทั่วประเทศ ได้ทำให้เกิดปฏิกิริยาของบรรดาวิญญูชนในสังคมที่ออกมาตำหนิและโต้ตอบขุนนางพระผู้มากด้วยอำนาจบารมีในลักษณะที่รุนแรงและเหยียดหยาม
ในส่วนตัวของข้าพเจ้าคิดว่า ปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางสังคมที่มีเหตุมาแต่ขุนนางพระทั้งในกรณีธรรมกาย และวัดกับสำนักงานพระพุทธศาสนาตามที่กล่าวมาแล้วนั้นคือ สิ่งที่สะท้อนให้เห็นภาวการณ์มีรัฐซ้อนรัฐในสังคมไทย ซึ่งสมัยก่อนไม่มี เพราะทั้งศาสนจักรและอาณาจักรต่างต้องอยู่ภายใต้ผู้มีอำนาจสูงสุดผู้เดียวกัน คือพระมหากษัตริย์
แต่ในปัจจุบันแม้ว่าโดยองค์กรสงฆ์และขุนนางสงฆ์จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐตามรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ขุนนางข้าราชการของรัฐก็ยังไม่มีอำนาจบารมีพอที่จะจัดการกับขุนนางพระและพระสงฆ์ที่มีอิทธิพลได้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
Comments