top of page

ป่าซาง ถิ่นผ้าฝ้ายทอมือ หรือชู้สาวงาม

เผยแพร่ครั้งแรก 1 เม.ย. 2550


หากย้อนกลับไปเมื่อ ๔๐ กว่าปีก่อน เสียงเพลงครวญหาสาวงาม “ป่าซาง” และธรรมชาติแห่งมนต์เมืองเหนือช่างเป็นดินแดนแสนงามแห่งความใฝ่ฝันของนักเดินทาง  เมื่อมาเยือนก็ยากที่จะลืมเลือน คนผ่านป่าซางต้องแวะซื้อผ้าฝ้ายพื้นเมืองและชื่นชมสาวงามป่าซางไปพร้อม ๆ กัน


ป่าซาง ถือเป็นถิ่นที่มีการทำผ้าฝ้ายทอมือที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ซึ่งผ้าฝ้ายทอมือดังกล่าวเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของป่าซาง เนื่องจากกลุ่มที่ทำการทอผ้าฝ้ายทอมือนั้นส่วนใหญ่เป็นชาวยอง โดยแต่เดิมพวกเขาทำการทอเพื่อใช้กันเองอยู่ที่บ้านหรือไม่ก็นำไปแลกเปลี่ยนกับสิ่งของที่ตนเองต้องการ ไม่ได้ทอเพื่อทำการซื้อขายแต่อย่างใด 


การทอผ้าของชาวยองป่าซางในอดีต จะเป็นการทอผ้าฝ้ายไม่ใช่ผ้าไหมเหมือนในตัวเมืองลำพูนหรือป่าซางในปัจจุบัน  ในอดีตเป็นการทอที่เรียบง่ายไม่มีลวดลายที่สลับซับซ้อนหรือมีความวิจิตรแต่อย่างใด เพราะทำเพียงเพื่อใช้สอยเท่านั้น กระทั่งพระชายาเจ้าดารารัศมีได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการทอผ้าไหมยกดอกที่พระองค์ได้เรียนรู้มาจากภาคกลาง ให้แก่เจ้าหญิงส่วนบุญ พระชายาเจ้าจักรคำขจรศักดิ์  และเจ้าหญิงลำเจียก ธิดาในเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ให้เป็นผู้เริ่มทำภายในคุ้มก่อน ต่อมาการทอผ้าไหมยกดอกจึงเริ่มแพร่หลายไปสู่สาธารณชนทั่วไป ทางป่าซางจึงหันมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการทอผ้าให้มีความวิจิตรมากขึ้นด้วยเช่นกัน นั่นคือเริ่มมีการทอผ้าฝ้ายเป็นลายยกดอกนั่นเอง  


โรงงานผ้าฝ้ายทอมือในป่าซาง เมื่อครั้งอดีตที่ปากบ่องยังเป็นอำเภอก่อนที่จะเป็นอำเภอป่าซาง


เมื่อเวลาเปลี่ยนผ่านไป ความเจริญที่มีเข้ามาในป่าซางมีมากขึ้น กลุ่มชาวยองแถบป่าซาง ได้อาศัยประสบการณ์จากการที่เคยมีโอกาสติดต่อค้าขายในเส้นทางทั้งการค้าทางน้ำกับกลุ่มพ่อค้าชาวจีนที่มาจากกรุงเทพฯ ปากน้ำโพ เมืองระแหง และเส้นทางการค้าทางบกกับกลุ่มพ่อค้าไทยใหญ่ พ่อค้าจีนฮ่อที่มาจากเมืองทางตอนบน สามารถสะสมทุนจนสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นเจ้าของกิจการการค้าอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะการผลิตและการค้าผ้า เช่น ตระกูลนันทขว้าง ตระกูลอุนจะนำ และตระกูลอังกะสิทธิ์  ตระกูลต่าง ๆ เหล่านี้จึงได้เข้ามารับซื้อผ้าที่ชาวบ้านทอถึงในหมู่บ้านแทบทุกที่ในป่าซาง ไม่ว่าจะเป็นหนองเงือก บ้านดอน บ้านกองงาม ฯลฯ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะนำไปขายริมถนนพหลโยธินในเขตเมืองป่าซาง ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗  เชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ กับเชียงใหม่ ตัดผ่านเถิน ลี้ บ้านโฮ่ง ป่าซาง และลำพูน การสร้างถนนสายดังกล่าวนี้เป็นไปตามแผนบูรณะประเทศในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม  จากการที่มีถนนพหลโยธิน สาย ๑๐๖ ดังกล่าว ทำให้เศรษฐกิจป่าซางเติบโตสูงสุด ทั้งการเปลี่ยนอำเภอจากที่ปากบ่อง มาเป็นตลาดป่าซาง รวมไปถึงการเกิดเป็นศูนย์กลางการค้าทางบก และกลายเป็นจุดแวะพักการเดินทางระหว่างเชียงใหม่ถึงกรุงเทพฯ ซึ่งการเป็นศูนย์กลางดังกล่าวได้มีการขายสินค้าของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้าพื้นเมือง โดยเฉพาะผ้าฝ้ายทอมือซึ่งมีเป็นจำนวนมาก  


การทอผ้าฝ้าย หนึ่งในวิถีชีวิตของชาวป่าซาง ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน 


ที่ป่าซางเมื่อครั้งที่เจริญเติบโตสูงสุด ช่วงประมาณปี ๒๔๙๕-๒๕๒๐ นั้น ได้มีการค้าขายในรูปแบบห้างร้านขึ้นตามถนนในเขตตัวเมืองป่าซาง บนถนนป่าซางทั้งสองฟากฝั่งถนนจะละลานไปด้วยร้านค้าขายผ้าทอมือของชาวยอง หรือไทยใหญ่ เต็มไปด้วยรถทัวร์ที่มาจอดซื้อสินค้าและของฝากอีกเป็นจำนวนมาก ร้านค้าต่าง ๆ ในแต่ละร้าน ได้ทำการโฆษณาลูกค้าโดยการเปิดร้านโชว์การทอผ้าให้เห็นถึงกรรมวิธีการทอมือ ผู้ที่ทำการทอผ้าที่ร้านต่าง ๆ ก็คือชาวบ้านที่อยู่อาศัยตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในป่าซาง ซึ่งในอดีตครั้งที่ป่าซางรุ่งเรือง ชาวบ้านที่รับจ้างทอผ้าจะไม่มีการประจำร้านใดร้านหนึ่ง ชาวบ้านที่เป็นคนทอจะสามารถเปลี่ยนร้านทอไปแต่ละวันก็ย่อมได้ ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเวลาและราคา 


 นางสาวสุธีรา ศรีสมบูรณ์  สาวป่าซางที่ได้รับเลือกเป็นนางสาวไทยเมื่อปี ๒๔๙๗ เป็นหนึ่งในสาวงามป่าซาง 

ที่สร้างชื่อเสียงในกับป่าซาง และได้รับคำนิยามตามมาว่า “สาวงามป่าซาง”


บ้านดอนหลวง ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง ศูนย์กลางหัตถกรรมผ้าฝ้ายทอมือแห่งใหม่ของป่าซาง

ที่มาแทนที่ตลาดสินค้าพื้นเมืองป่าซางในอดีต


ส่วนวัตถุดิบ เช่น ฝ้าย นอกจากชาวบ้านจะทำการปลูกเองในพื้นที่บ้านของตน เมื่อการทอผ้ามีความสำคัญมากกว่าแค่การสวมใส่ หรือใช้ในชีวิตประจำวันเช่นอดีต ผู้ผลิตและผู้ประกอบการได้มีการสั่งซื้อฝ้ายมาจากที่ต่าง ๆ ทั้งเชียงใหม่และลำปางอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อที่จะรองรับกับจำนวนสินค้าที่นักท่องเที่ยวต้องการในสมัยดังกล่าว  กี่ทอผ้าที่ใช้ทอจะเป็นกี่พื้นเมืองแบบกี่พุ่งกระสวย แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนเป็นกี่กระตุกบ้างเพื่อความรวดเร็ว และเพื่อให้ได้ในปริมาณที่มาก แต่การทอที่อยากจะได้ความประณีตจะต้องเป็นกี่พุ่งกระสวยเป็นสำคัญ 


การที่ป่าซางในอดีตเป็นแหล่งพักของนักเดินทาง ประกอบกับการมีร้านค้าของฝาก ของที่ระลึกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผ้าฝ้ายทอมือ และมีการประกวดสาวงามลำพูนขึ้น จึงนำเอาสาวงามที่ได้รับรางวัลจากเวทีดังกล่าวมาเป็นผู้ประชาสัมพันธ์ให้กับร้านค้าที่มีมากในป่าซางขณะนั้น ไม่เพียงแต่ร้านค้าผ้าฝ้ายทอมือเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงโรงแรม ร้านอาหาร ที่มีในตัวป่าซางด้วย เมื่อใครก็ตามที่เข้าไปแวะพักหรือเที่ยวชมตลาดป่าซาง ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องตลาดผ้าฝ้ายทอมือแล้ว ก็ย่อมที่จะได้ยิน ได้เห็นบรรดาสาวงามป่าซางที่เป็นประชาสัมพันธ์ในแต่ละร้าน 


ความงามของสาวป่าซางโด่งดังและเป็นที่ยอมรับก็เริ่มตั้งแต่เมื่อปี ๒๔๗๘ ที่ร้านทอผ้าชื่อดัง “นันทขว้าง” ทำการส่งสาวงามเข้าประกวดสาวงามลำพูน อีกทั้งเมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๗ นางสาวสุธีรา ศรีสมบูรณ์ ซึ่งเป็นคนป่าซางได้รับเลือกเป็นนางสาวไทย จึงทำให้ความงามของสาวป่าซางเป็นที่โจษขานและมีชื่อเสียง ไม่เพียงเท่านี้จากการที่คุณสุรพล สมบัติเจริญ ได้เข้ามาเที่ยวชมป่าซาง และได้ประพันธ์เพลงถึงเสน่ห์ป่าซาง โดยเฉพาะสาวงาม ที่ว่า 


“โอ โอ๊โอ ป่าซาง ดินแดนความหลังนี้ช่างมีมนต์ ใครได้ไปเยือนยากที่เลือนลืมได้สักคนคล้ายว่าป่านี้มีมนต์ดลหัวใจให้พี่ใฝ่ฝัน เพียงได้เห็นสาวเจ้าเพียงครั้งเดียว หัวใจโน้มเหนี่ยวรักเดียวแต่เจ้าเท่านั้น ยามเอ่ยอ้างน้ำคำเจ้าช่างฉ่ำหวาน นางเคยพร่ำสาบานว่าจะฮักกันบ่จืดจาง ลืมไม่ลง ลืมไม่ลง ลืมไม่ลงป่าซาง แม้นว่าดวงวิญญาณจะออกจากร่าง ถึงกายจะถูกดินฝัง ก็ลืมป่าซางไม่ลง...”


และแล้วหลังปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นต้นมา การพัฒนาทางหลวงสาย ๑๑ จากลำปางไปเชียงใหม่ หรือที่เรียกกันว่า ซุปเปอร์ไฮเวย์ ได้เสร็จสิ้นลง จึงทำให้การคมนาคมระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เปลี่ยนไปใช้ถนนสาย ๑๑ ดังกล่าวแทน โดยทั้งนี้หมายความว่ารถบัสรถทัวร์ต่าง ๆ ที่เคยวิ่งผ่านและแวะที่ป่าซาง จะไม่ได้ผ่านตัวเมืองป่าซางหรือทางหลวงสาย ๑๐๖ อีกแล้ว จึงส่งผลให้ภาวะทางเศรษฐกิจของพื้นที่ป่าซางเริ่มซบเซา มีการขยายตัวในด้านต่าง ๆ รวมถึงการทอผ้าที่ลดลง เมื่อเส้นทางเดินรถเปลี่ยนไป จึงเป็นเหตุและปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การทอผ้าในตัวป่าซางซบเซาลงด้วย และจากการที่ร้านผ้าซบเซาและลดจำนวนลง ต่างก็ส่งผลต่อบรรดาสาวงามที่อยู่ตามร้านค้าต่าง ๆ ด้วย ที่ต้องออกจากพื้นที่ป่าซางเพื่อไปหาอาชีพใหม่เลี้ยงปากท้องของตนด้วยเช่นกัน


จากการที่ป่าซาง เป็นแหล่งทอผ้าฝ้ายชื่อดัง ความที่เป็นแหล่งทอผ้าดังกล่าว อาจจะลดปริมาณลงแต่กลับไม่ได้สูญหายตามกาลเวลาและความเงียบเหงาของตัวป่าซาง เพียงแต่ถูกเปลี่ยนสถานที่จากอดีตที่มีการค้าขายผ้าฝ้ายทอมือ บริเวณถนนป่าซาง ในปัจจุบันมีการก่อตั้งกลุ่มทอผ้าฝ้ายขึ้นในชุมชนบ้านดอนหลวง ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซางแทน ลักษณะการผลิตก็เปลี่ยนไป เดิมทีจะมีการทอเป็นผืนขายในร้าน แต่ปัจจุบันนอกจะมีการทอขายเป็นผืนขนาดใหญ่แล้ว ยังมีการประดิษฐ์ให้เป็นของใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อีกด้วย เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ผ้าคลุม หมวก ฯลฯ   และในส่วนของสาวงามป่าซางนั้น ดูเหมือนปัจจุบันสิ่งดังกล่าวยังไม่เลือนไปจากใจของนักท่องเที่ยวและชาวป่าซางเมื่อหลายสิบปีก่อนนัก แต่ทว่าป่าซางในปัจจุบันมิใช่มีเพียงแต่สาวงามแต่กลับมีทั้งคนหนุ่ม คนสาว ผู้เฒ่าผู้แก่ ที่พยายามผลักดันให้ป่าซางกลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอีกครั้ง 


เหมือนพิมพ์ สุวรรณกาศ


อ่านเพิ่มเติมได้ที่:




Comments


เกี่ยวกับมูลนิธิ

เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ลำดับที่ ๕๘๐ ของประกาศกระทรวงการคลังฯ เผยแพร่ความรู้และความเข้าใจทางสังคมวัฒนธรรมในท้องถิ่นต่างๆ และเพื่อสร้างนักวิจัยท้องถิ่นที่รู้จักตนเองและรู้จักโลก

SOCIALS 

© 2023 by FEEDs & GRIDs. Proudly created with Wix.com

bottom of page