top of page

ประเทศสยามวันนี้ : เมืองสองฝ่ายฟ้าระหว่างอเมริกันกับจีน

อัปเดตเมื่อ 9 ก.พ. 2567

เผยแพร่ครั้งแรก 1 เม.ย. 2559


สำหรับข้าพเจ้าในทุกวันนี้ ภาวะที่ทำให้เกิดความระเหี่ยใจก็คือ ความรู้สึกของคนปัญญาชนในสังคมที่สะท้อนออกมาจากทั้งการแสดงออกในโซเชียลมีเดียและข่าวสารตามหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ ที่เห็นว่าแผ่นดินไทยในขณะที่ถูกปิดล้อมและคุกคามจากต่างชาติภายนอกทั้งในด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยมีเหตุใหญ่มาจากความแตกแยกภายในทั้งรัฐและสังคมของผู้ที่เรียกว่าคนไทยนั่นเอง


ประเทศไทยอยู่ในระหว่างอิทธิพลทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมระหว่างมหาอำนาจ อเมริกาและจีน


ประเทศสยามอันมีกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางรุ่งเรืองทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองที่สุด คือ ในรัชสมัยของรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พอสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การคุกคามของมหาอำนาจตะวันตกนักล่าอาณานิคมก็แผ่เข้ามา และนับว่าโชคดีด้วยเหตุสองประการ เพราะอสุรกายใหญ่สองตนที่มีอำนาจมากที่สุดในขณะนั้น คือ อังกฤษและฝรั่งเศส ได้หลีกเลี่ยงการประจัญหน้าด้วยการปล่อยให้ “สยามเป็นประเทศกันชน” หลังจากได้บรรดาบ้านเมืองใหญ่น้อยที่เคยอยู่ในราชอาณาจักรทั้งทางเหนือ ทางใต้ ตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือไปเป็นประเทศในอาณานิคม


ประเทศสยามแม้จะอยู่รอดมาในฐานะเป็นประเทศเอกราชทางการเมืองการปกครองแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ตาม แต่ในทางสังคมและวัฒนธรรมนั้นหาได้เป็นอิสระไม่


เพราะการรับอารยธรรมตะวันตกเพื่อมาสร้างความทันสมัย [Westernization] ให้ทัดเทียมกับบ้านเมืองทางตะวันตกนั้น กลับทำให้คนสยามตั้งแต่ชั้นสูงลงมาจนถึงชั้นล่าง กลายเป็นอาณานิคมทางปัญญาของฝรั่งตะวันตกไปสิ้น เพราะไปเห็นดีเห็นงามกับตะวันตกไปทั้งหมดทั้งในด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง และการปกครอง


โดยเฉพาะระบบการปกครองที่เรียกว่าสมบูรณาญาสิทธิราช ที่ทำให้ประเทศสยามเป็นรัฐอำนาจรวมศูนย์แบบเด็ดขาด จนไม่มีช่องว่างให้การปกครองท้องถิ่น [Local government] อย่างที่เคยมีมาแต่สมัยอยุธยาและสุโขทัย ก็เป็นผลมาจากเอาโครงสร้างและวิธีการบริหารปกครองแบบตะวันตกเข้ามาใช้แทนในทางสังคม


เกิดชนชั้นใหม่ขึ้นมาคือ “คนชั้นกลาง” ที่ส่วนใหญ่มาจากคนต่างชาติ ต่างชาติพันธุ์ที่มาจากภายนอกที่เป็นผู้ประกอบการกิจกรรมต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ อาศัยการมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งแต่เดิมไม่มีในหมู่ไพร่ฟ้าประชากรของรัฐก่อนสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันได้มาจากการซื้อขายและการยึดครองจากประชาชนที่ด้อยโอกาสและด้อยปัญญามาเป็นของตน ของครอบครัว ของพรรคพวกและบริวาร


กล่าวโดยย่อก็คือ “ระบบทุนและนายทุน” นั่นเอง ซึ่งมีผลทำให้ความขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคมชาวนา [Peasant] แต่เดิมที่ชาวบ้านไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินในระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพ มาเป็นสังคมกสิกร [Farmer] ที่มีผู้ประกอบการเป็นพ่อค้า นายทุน เจ้าของที่ดิน และปลูกข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งรวมไปถึงการสัมปทานป่าไม้และอื่น ๆ


เกิดการขยายตัวของสังคมเมือง [Urbanism] เป็นบ้านเมือง มีตึกรามบ้านช่องและถนนหนทางเป็นแบบตะวันตก รูปแบบการดำรงชีวิตของคนเมือง [Life style] ก็เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการแต่งกายตามแบบตะวันตกที่สร้างความเหลื่อมล้ำกับผู้คนในสังคมระหว่างคนชั้นสูงและคนชั้นกลางกับชาวบ้านที่เป็นชาวนาและแรงงาน


แต่ที่สำคัญคือการศึกษาแบบตะวันตกทำให้เกิดปัญญาชนรุ่นใหม่ที่มีความคิดและการมองโลกเปลี่ยนไปจากเดิมมากมาย คือ เน้นความสำคัญทางวัตถุและความเจริญทางเศรษฐกิจที่ลดความสำคัญทางศาสนาและจริยธรรมในมิติทางจิตวิญญาณจนไม่ได้ดุลย์กับความเจริญทางวัตถุจนทำให้บรรดาเจ้านาย ขุนนางข้าราชการ รวมทั้งพ่อค้า นักธุรกิจ คนชั้นกลางกลายเป็น “คนหัวนอก” ไป แตกต่างจากปัญญาชน “คนใน” ที่มีมาแต่เดิมให้กลายเป็นคนคร่ำครึไม่ทันโลกที่เรียกว่า “เชย”


เพราะประเทศไทยเป็นอิสระไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตกนี่เองที่ทำให้คนไทยเกิดความภูมิใจว่า ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่ตกอยู่ในสภาพเป็นคนในอาณานิคมของตะวันตก คนไทยนอกจากไม่รู้สึกในความเจ็บปวดในสิ่งเหล่านี้แล้วยังดูถูกคนในประเทศเพื่อนบ้านว่าต่ำต้อยกว่าตน และในขณะเดียวกันก็พยายามทำคนให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมกับคนตะวันตกเพื่อความศิวิไลซ์ [Civilized] เพื่อความมีหน้ามีตาเป็นชาติศิวิไลซ์


ทำให้ปัญญาชนไทยส่วนใหญ่คิดอะไรไม่เป็น ลืมความเป็นมาของบ้านเมืองในอดีต ตั้งหน้าตั้งตาแต่จะลอกเลียนแบบตะวันตก นับแต่การศึกษา การปกครอง การบริหารราชการ รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จนคนไทยกลายเป็นทาสทางปัญญาของคนตะวันตกที่ทำอะไรตามคำแนะนำหรือเอาแบบอย่างตะวันตกมาข่มคนชั้นล่างที่ด้อยโอกาส และคนในประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นอาณานิคมคนตะวันตกในทางการเมืองและเศรษฐกิจ จนกลายเป็นที่เกลียดชังของเพื่อนบ้านแทบทุกประเทศในภูมิภาคเดียวกัน


ความเป็นทาสทางปัญญาของคนไทยต่อคนตะวันตกนี้ ได้เพิ่มพูนทวีคูณมาเป็นทาสทางการเมืองและเศรษฐกิจของคนตะวันตกในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งรู้จักกันในนามว่า “ยุคสงครามเย็น” ที่โลกแบ่งออกเป็นสองขั้ว คือ ขั้วของระบบเศรษฐกิจการเมืองที่เรียกว่า “ทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย” กับ “สังคมนิยมคอมมิวนิสต์”


สังคมนิยมคอมมิวนิสต์นั้น แท้จริงคือการต่อสู้เรียกร้องของคนที่เคยเป็นเบี้ยล่างทางเศรษฐกิจการเมืองของคนตะวันตกที่เป็นมหาอำนาจในยุคการล่าอาณานิคม เป็นการต่อสู้ที่มาจากคนชั้นล่าง แต่คนไทยและรัฐไทยไม่เคยอยู่ในสภาพเช่นนั้นทางเศรษฐกิจและการเมือง อยู่กันอย่างสบายและประเทศมั่งคั่งด้วยทรัพยากรและอาหารการกิน จึงคิดว่าการเคลื่อนไหวต่อสู้ของบรรดาประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคอมมิวนิสต์นั้นคือ ภัยร้ายแรงที่คุกคามรัฐไทยและคนไทย


แต่ภัยนี้ใหญ่หลวงนักเกินกว่าที่คนไทยจะต่อสู้ได้ ต้องพึ่งมหาอำนาจทางฝ่ายทุนนิยมคืออเมริกาที่มีผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขคืออังกฤษและฝรั่งเศสที่เคยเป็นอสุรกายในการยึดครองและกดขี่บ้านเมืองที่เป็นคอมมิวนิสต์มาก่อน


ในยุคสงครามเย็นนี้ไทยอ้างตนเองว่าเป็นทุนนิยมประชาธิปไตย แต่แท้จริงแล้วไทยไม่เคยเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตกเลย เพราะยังคงเป็นรัฐรวมศูนย์ที่ไม่มีการกระจายอำนาจตามอุดมคติของการเป็นประชาธิปไตย โดยแท้จริงแล้วไทยคือรัฐเผด็จการทุนนิยมตลอดมา


บ้านเมืองยังคงอุดมสมบูรณ์และสามารถพึ่งพาตนเองได้ หากไม่มีแรงกระทบจากภายนอกมาทำให้เสียสมดุลย์ทางนิเวศวัฒนธรรมไป


โดยเฉพาะในยุคสงครามเย็นที่เป็นรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เป็นเผด็จการเต็มตัว ไทยกลายเป็นสาวกอเมริกันอย่างเต็มที่ ซึ่งนอกจากพลีแผ่นดินไทยให้เป็นฐานทัพสำคัญในการทำสงครามกับฝ่ายสังคมนิยมประชาธิปไตยที่เรียกว่าคอมมิวนิสต์แล้ว ไทยยังปรับปรุงการบริหารการเมืองการปกครอง การเศรษฐกิจ และการศึกษา รวมทั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสังคมให้เปลี่ยนสังคมเกษตรกรรมที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ให้เป็นสังคมอุตสาหกรรม เกิดกระบวนการทำให้เป็นอเมริกัน [Americanization] ที่ทำให้ผู้คนในระดับสูง ระดับกลางที่เป็นนักการเมือง นักปกครอง บริหาร นักการศึกษา และนักวิชาการคิดอะไรเป็นอะไรไปเป็นแบบอเมริกันทั้งสิ้น


จนกระทั่งในยุคปัจจุบันที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์นั้น ความคลั่งไคล้อเมริกันกลายเป็นโรคขึ้นสมองในบรรดาคนชั้นสูง ข้าราชการ นักธุรกิจ นักวิชาการและนักศึกษาไปทั้งหมด ดังตัวอย่างเช่น การมีรัฐธรรมนูญและการปกครองแบบประชาธิปไตยของไทยต้องเป็นแบบรัฐสภา มีประธานาธิบดี และการเลือกตั้งจากคะแนนเสียงของคนส่วนใหญ่ที่มาเลือกตั้งผู้แทนเป็นสำคัญ


จึงเกิดความขัดแย้งที่ยากจะหาข้อยุติได้ในเรื่องการเป็นประชาธิปไตยของคนไทย ซึ่งกำลังกลายเป็นเครื่องมือหากินและทำลายล้างสังคมไทยด้วยการพยายามล้มล้างสถาบันกษัตริย์และพระมหากษัตริย์ของบรรดานักการเมือง นักธุรกิจ นักศึกษา นักวิชาการที่ออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยแบบอเมริกัน คนไทยเกือบจะฆ่ากันตายอย่างนองเลือดเพราะความกระหายที่จะเป็นประชาธิปไตยแบบอเมริกันนี้ ซึ่งแท้จริงก็คือยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ของบรรดานักธุรกิจการเมืองและนายทุนข้ามชาติที่ชั่วร้ายเพื่อการยึดครองประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม แต่เคราะห์ดีที่ก่อนการนองเลือดเกิดขึ้นก็เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมืองขึ้นสองอย่าง


อย่างแรกคือการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลคอรัปชั่นที่มาจากการเลือกตั้งและบูชาประชาธิปไตยแบบอเมริกันโดยนายทหารกลุ่มหนึ่งที่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และประเทศชาติบ้านเมือง สามารถยุติความรุนแรงและนำประเทศชาติกลับเข้าสู่ภาวะที่สงบได้อย่างเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ในสังคม


ปรากฏการณ์อย่างหลังคือ การตื่นรู้ทางสติปัญญาของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม ที่มีทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่แสดงออกจากการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองในนามของมวลมหาประชาชน


คนเหล่านี้แต่ก่อนไม่ใคร่นำพาต่อปัญหาใด ๆ ที่เกิดจากการคอรัปชั่น การโกงกิน และการกดขี่หลอกลวงของกลุ่มทรราชที่ขึ้นมามีอำนาจเป็นรัฐบาลปกครองบ้านเมือง คนเหล่านี้คือพลังทางสังคมที่ชอบธรรมหนุนการดำเนินการของคณะปฏิวัติให้ปราบปรามทุจริตและปฏิรูปบ้านเมือง แต่ในขณะเดียวกันก็คอยเฝ้าดูการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ของรัฐบาลว่าเป็นไปโดยชอบธรรมและแก้ไขให้เกิดความเรียบร้อยและความมั่นคงทางสังคมและการเมืองได้สำเร็จหรือไม่


เวลาล่วงมาเกือบสองปีเต็มแล้ว การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของบ้านเมืองก็ยังไม่ดูดีเท่าใด แม้ว่าความรุนแรงภายในจะค่อย ๆ หมดไปหรือน้อยลงก็ตาม แต่เกิดความกดดันจากภายนอกที่ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ใน “สภาพของการเป็นเมืองสองฝ่ายฟ้า” ขึ้นในลักษณะที่เป็นไดเลมม่า [Dilemma] คือภาวะที่อยู่ท่ามกลางเขาควาย หนีเสือปะจระเข้ คือเป็นเมืองที่อยู่ระหว่างมหาอำนาจสองกลุ่มคือ “อเมริกัน” กับ “จีน” ซึ่งกลายเป็นแอกสองแอกที่ต้องได้รับการปลดปล่อย


ข้าพเจ้ามองไม่เห็นว่ารัฐบาลปฏิวัติคณะนี้ จะสามารถปลดแอกทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศออกจากภาวะระหว่างเขาควาย [Dilemma] นี้ได้ เพราะขาดความเด็ดเดี่ยวและเชื่อมั่นในตนเองเป็นประการแรก กับประการที่สองขาด ความรอบรู้และเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของผู้คนทั้งในระดับต่าง ๆ และท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ


ข้าพเจ้าคิดว่าสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้อยู่ในภาวะวิกฤต


เพื่อปลดปล่อยสังคมให้ดำรงอยู่ได้อย่างราบรื่นนั้น รัฐต้องเข้มแข็งและเป็นรัฐบาลเผด็จการอย่างเต็มตัว อย่าไปคาดหวังหรือตกอยู่ในกับดักของประชาธิปไตยแบบอเมริกันที่บรรดานักการเมืองนักวิชาการและนายทุนที่ชั่วร้ายนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งอย่างรวดเร็ว


รัฐควรจัดการอย่างเด็ดขาดด้วยศาลทหารกับการปลุกผีและเคลื่อนไหวของฝ่ายที่ไม่หวังดีที่อ้างต่างชาติ เช่น อเมริกา และองค์กรต่าง ๆ ของสหประชาชาติที่อ้างอิงและกดดัน เพราะเท่าที่ดูในขณะนี้คนส่วนใหญ่ที่เป็นผลพวงมาจากการตื่นรู้ของมวลมหาประชาชนนั้นสนับสนุนรัฐบาลอยู่แล้ว


ข้าพเจ้านึกถึงครั้งสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่แสดงความเป็นเผด็จการอย่างเฉียบขาดและแก้ไขประเทศชาติในยามวิกฤตด้วยการสร้างกฎหมายของรัฐบาลปฏิวัติขึ้นมาดูแลประเทศเป็นเวลานาน ก่อนที่จะเปิดโอกาสให้เป็นการปกครองแบบเลือกตั้งทุนนิยมประชาธิปไตยเข้ามาแทนที่ แต่จุดอ่อนของรัฐบาลเผด็จการสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรื่อยมาถึงสมัยจอมพลถนอม กิตติขจรก็คือ ปัญหาเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของบ้านเมืองเพื่อการเปลี่ยนสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรมเพื่อเกิดความทันสมัยขึ้นมา ซึ่งเป็นการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจแบบทุนนิยมตะวันตก ซึ่งเป็นที่มาของวัตถุนิยมและบริโภคนิยมที่ทำลายรากเหง้าทางศีลธรรมและความเชื่อในมิติทางจิตวิญญาณที่ทำให้คนกลายเป็นคนวัตถุนิยมและเป็นปัจเจกชนที่เห็นแก่ตัว แย่งชิงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างไร้ศีลธรรมและจริยธรรมในขณะนี้


ความล้มเหลวของบ้านเมืองในยุคเผด็จการทหารที่แล้วมา คือไม่สามารถสถาปนารัฐประชาธิปไตยในหลักการที่แท้จริงได้ เพราะทำให้การสืบเนื่องของการเปลี่ยนรัฐรวมศูนย์นี้เป็นหัวใจของเผด็จการมาจนกระทั่งปัจจุบัน


แม้กระทั่งรัฐบาลปัจจุบันจะเป็นรัฐบาลเผด็จการที่หวังจะสร้างแนวทางไปสู่การเป็นประชาธิปไตยก็จะไม่สำเร็จ ตราบใดที่ยังมองไม่เห็นโครงสร้างและแผนการในการกระจายอาจลงสู่ท้องถิ่นและทำให้เกิดรัฐบาลท้องถิ่นขึ้น


ซึ่งนอกจากความกล้า ๆ กลัว ๆ ไม่เด็ดขาดในการจัดการกับความขัดแย้งทางการเมืองจากฝ่ายตรงข้ามแล้ว ยังขาดความเข้าใจในเรื่องสังคมเศรษฐกิจ คือการจัดการเศรษฐกิจเพื่อสังคมเพื่อผู้คนในสังคมได้เกิดความมั่นคงในชีวิตวัฒนธรรม สิ่งที่รัฐในปัจจุบันไม่เข้าใจในเรื่องนี้เห็นได้จาก การแก้ไขทางเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดรายได้ประชาชาติ [GDP] แก่คนทั่วไปได้


บ้านเมืองยังคงอุดมสมบูรณ์และสามารถพึ่งพาตนเองได้ หากไม่มีแรงกระทบจากภายนอกมาทำให้เสียสมดุลย์ทางนิเวศวัฒนธรรมไป


อันความคิดในเรื่องรายได้ต่อหัวประชาชาติที่ตัดสินกันด้วยตัวเลขเงินทองนั้น เป็นความเชื่อในทางมายาที่อุปโลกน์ว่ามีอยู่จริง เพราะรายได้ที่แท้จริงนั้นจะไปตกอยู่กับคนที่เป็นนายทุนหมด รัฐบาลโดยการชี้แนะของนักการเมืองและนักวิชาการฝ่ายเศรษฐกิจที่วางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในรูปแบบประชารัฐที่เน้นแต่ GDP และการประกาศพื้นที่ทางเศรษฐกิจพิเศษนั้น ไม่มีทางที่จะพบความสำเร็จในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนที่อยู่เบื้องล่างตามท้องถิ่นต่าง ๆ ได้ ทั้งที่ในปัจจุบันหลายท้องถิ่นในหลายบ้านหลายเมืองภาวะทางสังคมเศรษฐกิจอยู่ในสภาพดีอยู่แล้วด้วยระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงที่แลเห็นชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนกลับคืนมา และสะท้อนให้เห็นสิ่งที่หลายคนพร่ำกล่าวถึง ความสุขมวลรวมของประชาชาติ [GNH] ที่แท้จริงแล้วคือความสุขมวลรวมของผู้คนที่อยู่ในชุมชนนั่นเอง


ทุกวันนี้รัฐบาลถูกกดดันบีบคั้นให้รับเป็นประชาธิปไตยแบบอเมริกันจากข้างนอกและข้างใน จากข้างในนั้นหลุดมาแล้ว แต่จากข้างนอกก็คือ ชาติอเมริกันและพรรคพวกทางตะวันตก ซึ่งที่แท้จริงต้องการทรัพยากรในด้านต่าง ๆ ของประเทศไทย ที่ทำให้ผู้นำทางรัฐบาลต้องหันไประวังการถ่วงดุลทางอำนาจกับมหาอำนาจทางตะวันออกโดยเฉพาะกับจีนและพรรคพวก เลยทำให้รัฐไทยและสังคมไทยกลายเป็นเมืองสองฝ่ายฟ้าไป เพราะอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ และการตลาด ถูกถ่ายทอดโดยประเทศมหาอำนาจข้างนอก


แต่อสุรกายจากตะวันออกที่รัฐไทยและนายทุนไทยกำลังลุ่มหลงอยู่ในขณะนี้ ดูราวกับว่าไม่เบาไปจากอเมริกันเลย เพราะไม่สนใจในรูปแบบทางการเมืองการปกครอง แต่สนใจในมิติทางสังคมเศรษฐกิจที่เคลื่อนด้วยการขยายตัวทางการลงทุนเข้ามายึดครองที่ทำกินและแย่งตลาดผลผลิตภายในประเทศด้วยการส่งสินค้าราคาถูกเข้ามาขาย แต่ที่สำคัญคือการอุดหนุนส่งเสริมคนของตนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน แต่งงานกับคนท้องถิ่นที่ตกเป็นเหยื่อวัตถุนิยมและบริโภคนิยม นับเป็นการรุกคาดแบบยึดครองที่ทำให้ไทยที่มีมาแต่เดิมสูญพันธุ์ไปได้ในที่สุด


ประเทศไทยนี้มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพนานาชนิดที่สามารถเป็นแหล่งอาหารของคนได้ทั่วโลก ถ้าหากไม่ต้องการอุตสาหกรรมแบบทุนนิยมและประชาธิปไตยแบบอเมริกันแล้ว สามารถปิดประเทศได้นานกว่าห้าปีที่ทำให้ผู้คนในชุมชนมนุษย์มีความสุขมวลรวมด้วยระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง แต่บรรดาอมนุษย์ทั้งหลายที่เป็นนายทุนน่าจะตายหมด


อ่านเพิ่มเติมได้ที่:


Comments


เกี่ยวกับมูลนิธิ

เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ลำดับที่ ๕๘๐ ของประกาศกระทรวงการคลังฯ เผยแพร่ความรู้และความเข้าใจทางสังคมวัฒนธรรมในท้องถิ่นต่างๆ และเพื่อสร้างนักวิจัยท้องถิ่นที่รู้จักตนเองและรู้จักโลก

SOCIALS 

© 2023 by FEEDs & GRIDs. Proudly created with Wix.com

bottom of page