“บางลำพูในความทรงจำ” จากย่านตลาดเก่าสู่สวรรค์ราคาถูกของนักท่องเที่ยว
- ปิลันธน์ ไทยสรวง
- 22 เม.ย. 2565
- ยาว 2 นาที
อัปเดตเมื่อ 5 ก.พ. 2567
เผยแพร่ครั้งแรก 1 มี.ค. 2554
“บางลำพู” เป็นอีกหนึ่งย่านเก่าที่อยู่ในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ สิ่งที่โดดเด่นของบางลำพูคือเป็นแหล่งที่มีงานช่างฝีมืออันประณีตงดงามทั้งเครื่องทอง เครื่องถม และยังเป็นย่านตลาดสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ แต่วันนี้บางลำพูถูกกลบด้วยธุรกิจการท่องเที่ยวและแหล่งบันเทิงต่าง ๆ กลายเป็นถิ่นพำนักของชาวต่างชาติ มีที่พักราคาถูก ร้านอาหารหลายระดับหลายราคา รวมทั้งเสียงเพลงและแสงสีที่ทำให้บางลำพูมีชีวิตเคลื่อนไหวเกือบตลอดค่ำคืน
อะไรทำให้ย่านการค้าเก่าแก่ของคนกรุงเปลี่ยนโฉมไปได้เช่นนี้ ?

วัดบวรนิเวศวิหาร ถนนสิบสามห้าง ถ่ายจากเครื่องบินเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙
(ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
เมื่อสืบอดีตกลับไปพบว่าย่านบางลำพูแห่งนี้เป็นเพียงชุมชนเล็ก ๆ ริมน้ำที่มีมาก่อนสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ มีวัดเก่าแก่ปรากฏอยู่ในพื้นที่ ได้แก่ วัดบางลำพูหรือวัดกลางนา หรือวัดสังเวชวิศยาราม และวัดชนะสงคราม ก่อนจะเติบโตเป็นแหล่งพำนักของบรรดาเจ้านาย ขุนนาง ข้าราชบริพาร และประชาชนพลเมืองหลายหลากชาติพันธุ์ ทั้งไทย จีน มอญ มุสลิม ที่มาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยคละเคล้ากัน จนทำให้เป็นแหล่งเกิดอาชีพที่หลากหลาย อันเนื่องจากความชำนาญ เช่น ชาวจีนนิยมทำการค้า ชาวมุสลิมมีฝีมือทำทอง ชาวลาวทำเครื่องเงินเครื่องถม เป็นต้น
ในช่วงของการสร้างกรุงฯ ตามแม่น้ำคูคลองในแถบบางลำพูมีการค้าทางเรือแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ กระทั่งเมื่อมีการขุดคลองรอบกรุง ทำให้เกิดท่าน้ำหลายแห่งที่เป็นแหล่งขนถ่ายและแลกเปลี่ยนสินค้า พืชผักผลไม้จากย่านฝั่งธนฯ ก่อนจะพัฒนากลายเป็นตลาดบกที่สำคัญในเวลาต่อมา โดยเฉพาะในช่วงรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการสร้างพระราชวังดุสิตขึ้นทางตอนเหนือของพระนคร เกิดการตัดถนนหลายสายในพื้นที่บางลำพูเพื่อรองรับเครือข่ายถนนที่ตัดเชื่อมมาจากพื้นที่สามเสน ได้แก่ ถนนจักรพงษ์ ถนนพระอาทิตย์ ถนนพระสุเมรุ ถนนข้าวสาร ถนนรามบุตรี และถนนสิบสามห้าง ส่งผลให้บางลำพูเติบโตจอแจไปด้วยผู้คน รถราง และการค้าพาณิชย์
ตลาดบางลำพูที่เคยเป็นตลาดขายผลไม้และของสดต่างๆ เพื่อสนองต่อคนในพื้นที่ก็พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ และขยายตัวมากขึ้นในปลายรัชกาลที่ ๕ แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถพัฒนาตลาดได้มากนัก อันเนื่องจากเกิดเพลิงไหม้อาคารบ้านเรือนในย่านนี้บ่อยครั้ง กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๔๕ จึงมีการจัดตั้งตลาดขึ้นมาใหม่ พร้อม ๆ กับการเกิดแหล่งบันเทิงขึ้นในย่านนี้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงภาพยนตร์ อย่างโรงหนังปีนัง โรงหนังบุษยพรรณ โรงละครแม่บุนนาค และโรงลิเกคณะหอมหวล ธุรกิจบันเทิงเหล่านี้ส่งผลให้ย่านบางลำพูได้รับความสนใจจากบรรดาพ่อค้านักลงทุนมากยิ่งขึ้น จนเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางการค้าและเป็นศูนย์รวมมหรสพแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ในระยะเวลานั้น
ตลาดสำคัญของย่านบางลำพูซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในอดีต ได้แก่ ตลาดยอด ตลาดนานา ตลาดทุเรียน และสิบสามห้าง
“ตลาดยอด” มีคำคล้องจองเมื่อกล่าวถึงคือ “บางลำพูประตูขาดตลาดยอด” ตั้งอยู่เชิงสะพานนรรัตน์ฝั่งทิศใต้ เป็นตลาดใหญ่และมีความสำคัญของชุมชนบางลำพูในฐานะตลาดประจำชุมชนในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนจะถูกปรับปรุงในช่วงรัชกาลที่ ๕ และรุ่งเรืองในช่วงรัชกาลที่ ๗ สินค้าที่นำมาจำหน่าย ได้แก่ ดอกไม้ ธูปเทียน มาลัย แป้ง กระแจะ น้ำอบไทย เครื่องหอม ขนมไทยต่าง ๆ และบุหรี่ไทยประเภทยาใบบัว ยาใบตองอ่อน เป็นต้น (พิเชษฐ์ สายพันธ์ : ๒๕๔๒) นอกจากนี้ตลาดยอดยังเป็นแหล่งเครื่องหนัง เสื้อผ้า ร้านอาหารมุสลิม ร้านเครื่องถ้วยชาม และห้างขายทองรูปพรรณต่าง ๆ ความรุ่งเรืองของตลาดยอดสะดุดลงจากเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ หลังจากไฟไหม้ในครั้งนั้นได้มีการสร้างตลาดใหม่ขึ้น แต่เนื่องจากแผงเช่ามีราคาสูงขึ้น ทำให้พ่อค้าแม่ค้าสู้ราคาไม่ไหว จึงแยกย้ายกันไป เจ้าของจึงรื้อตลาดแล้วสร้างเป็นห้างสรรพสินค้านิวเวิร์ด ตลาดสดจึงหายไป ชาวบ้านย่านนี้ได้หันไปจับจ่ายซื้ออาหารยังตลาดเช้าบริเวณถนนไกรสีห์ (ข้างนิวเวิร์ด) กับตลาดนรรัตน์ (เชิงสะพานนรรัตน์ด้านทิศใต้) แทน บริเวณตลาดยอดต้องเปลี่ยนโฉมกลายเป็นอาคารจอดรถและห้างสรรพสินค้านิวเวิร์ดที่กำลังถูกรื้อทิ้ง
“ตลาดนานา” ตั้งอยู่ฝั่งเหนือของคลองรอบกรุง ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของวังริมคลองบางลำพู ชื่อของตลาดนานาเป็นชื่อที่ตั้งตามชื่อเจ้าของตลาด คือ คุณเล็ก นานา ชาวมุสลิมย่านคลองสาน ตลาดแห่งนี้ขายอาหารการกินและพืชผลทางการเกษตร เช่น ผัก ผลไม้ และของสดเป็นส่วนมาก ก่อนจะซบเซาลงในราว พ.ศ. ๒๕๒๙ และหายไปในที่สุด ในระยะหลังเจ้าของตลาดได้เปลี่ยนพื้นที่ตลาดให้เป็นโรงแรม เกสท์เฮ้าส์ ตามกระแสนิยม ตลาดนานาจึงเป็นเพียงความทรงจำของคนยุคปู่ย่าที่ปัจจุบันเหลือเพียงแต่ชื่อและป้ายตลาดเท่านั้น
“ตลาดทุเรียน” ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามคลองรอบกรุง ด้านทิศใต้ของสะพานนรรัตน์ เป็นแหล่งชุมนุมทุเรียนที่พ่อค้าแม่ค้านำมาขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งฤดูกาลทุเรียนออกเป็นที่มาของชื่อตลาด นอกจากขายทุเรียนแล้ว พ่อค้าแม่ขายยังนำพืชพันธุ์การเกษตรมาขายเช่นเดียวกับตลาดนานา เช่น ผักผลไม้นานาชนิดที่ชาวสวนบรรทุกเรือมาจอดขาย แต่ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนเป็นตลาดขายเสื้อผ้า มุ้ง และของใช้ราคาถูก ก่อนจะกลายเป็นตลาดสดในปัจจุบัน เรียกกันว่า “ตลาดนรรัตน์”
“สิบสามห้าง” ปัจจุบันเป็นชื่อถนนเส้นสั้น ๆ ที่ตั้งขนานกับถนนบวรนิเวศ ชื่อถนนสิบสามห้างนี้มาจากเรือนแถวไม้สองชั้นจำนวน ๑๓ ห้อง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับห้างร้านของชาวจีนในกวางตุ้ง ต่อมาเรือนแถวดังกล่าวถูกรื้อเพื่อสร้างเป็นตึก จึงเหลือไว้เพียงชื่อถนน สินค้าที่ขายในสิบสามห้าง ได้แก่ อาหารจำพวกข้าวแกง อุปกรณ์เย็บเสื้อผ้า ด้าย กระดุม เป็นต้น ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๐ สิบสามห้างเป็นที่ชุมนุมของวัยรุ่น เพราะมีร้านอาหารเปิดขายจนดึกถึงสามสี่ทุ่ม มีร้านขายไอศกรีมซึ่งเป็นของหากินยากในยุคนั้น อีกทั้งทางร้านยังบริการเปิดโทรทัศน์ซึ่งเป็นสื่อบันเทิงที่เพิ่งเข้ามาในเมืองไทยให้ประชาชนดู จึงกลายเป็นแหล่งชุมนุมของวัยรุ่นยุคนั้น และถือกันว่าบางลำพูสมัยนั้นเป็นย่านที่ทันสมัยแห่งหนึ่ง
ตลาดเช้าเต็มไปด้วยของสดนานาชนิดจนสายตลาดจึงวาย หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็นตลาดขายผ้า ขายเสื้อและรองเท้า เครื่องหนังต่าง ๆ เมื่อตลาดแบบเก่าและร้านค้ารุ่นแรก ๆ เริ่มซบเซาลง กิจการการค้ารูปแบบใหม่ได้เข้ามาแทนที่และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง บางกิจการมีฐานเติบโตมาจากกิจการเดิม เช่น ห้างแก้วฟ้า ที่เติบโตจากร้านขายเครื่องหนังซึ่งค้าขายในยุคแรก ๆ
ส่วนตลาดขายเสื้อผ้าเริ่มมีประมาณ ๒๐ ปีก่อน โดยพ่อค้าแม่ค้านิยมเอาสินค้ามาลดราคาหน้าร้านหรือเลหลังขาย โดยจับจองพื้นที่ริมถนนเปิดเป็นแผงลอยจำนวนมาก การค้าเสื้อผ้าที่ขึ้นชื่อในย่านบางลำพูแต่ก่อน คือ เสื้อผ้าชุดนักเรียนที่บรรดาผู้ปกครองต้องพากันมาซื้อหาเมื่อถึงฤดูกาลเปิดเรียน ร้านค้าเสื้อนักเรียนเปิดมากแถบถนนไกรสีห์และถนนตานี
ปัจจุบันแม้บางลำพูมิได้โด่งดังเรื่องการค้าชุดนักเรียนเหมือนดังแต่ก่อน ทว่าก็ยังเป็นแหล่งขายเสื้อนักเรียนและเครื่องแบบนิสิตนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย รวมทั้งยังเป็นแหล่งจับจ่ายซื้อของ ทั้งอาหารการกิน สินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์เย็บปักถักร้อย และย่านขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปแหล่งสำคัญแหล่งหนึ่งของกรุงเทพฯ

ย่านถนนข้าวสาร ความรุ่งเรืองที่มาแทนที่ตลาดเก่าบางลำพู
ขณะเดียวกันย่านบางลำพูก็มิได้หยุดอยู่เพียงเป็นย่านการค้าเท่านั้น แต่ยังขยายเติบใหญ่เป็นศูนย์รวมของธุรกิจการท่องเที่ยวที่คึกคักและมีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศ โดยเฉพาะบนถนนข้าวสารที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวแบบแบกเป้ที่ตอบสนองนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกซึ่งต้องการที่พักอาศัยในราคาย่อมเยาว์
ถนนข้าวสารถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชุมชนบางลำพู จากผลการศึกษาของนักวิจัยหลายท่านระบุว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของชุมชนข้าวสารเกิดขึ้นเมื่อราว ๔๐ ปีก่อน หลังจากเกิดบริษัททัวร์ในชุมชน เป็นที่มาของสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวทั้งในด้านที่พักและอาหารการกิน ที่เบียดเสียดแน่นขนัดในย่านบางลำพูในขณะนี้
แต่ถนนข้าวสารเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดและไร้ทิศทาง จากชุมชนที่เคยอยู่อย่างสงบ มีวิถีชีวิตในการพึ่งพาอาศัยระหว่างกัน มีการพบปะแลกเปลี่ยนในรูปแบบสภากาแฟตามร้านค้าสองข้างทางก็แปรเปลี่ยนเป็นห้างร้านแออัดยัดเยียดแทบทุกตารางนิ้ว ปัจจุบันเกสท์เฮาส์ บาร์ ไนท์คลับ ไม่ได้หยุดอยู่ที่ถนนข้าวสาร แต่ได้ขยายออกรอบด้าน เห็นได้จากถนนรามบุตรีตลอดทั้งสาย ข้ามฝั่งมาด้านข้างวัดชนะสงคราม ซึ่งมีสถานบันเทิงต่าง ๆ รายรอบวัด ไล่ลามไปถึงถนนพระอาทิตย์และถนนพระสุเมรุ
การขยายของแหล่งบันเทิง ห้างร้านต่างๆ นั้นมีผลมาจากการไหลบ่าของชาวต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถนนข้าวสารปัจจุบันกลายเป็นชุมชนที่มีผู้คนไปมาขวักไขว่เกือบตลอดทั้งวัน เต็มไปด้วยชนต่างชาติต่างภาษา อาคารบ้านเรือนถูกปรับให้เป็นที่พัก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านหนังสือเช่า ร้านขายของที่ระลึกและสถานเริงรมย์
แม้กระทั่งซอยรามบุตรีบริเวณข้างวัดชนะสงคราม ศาสนสถานแห่งนี้เป็นตัวอย่างที่อาจสะท้อนถึงวิถีที่เปลี่ยนไปของคนข้าวสารได้อย่างดี ด้วยบรรยากาศยามค่ำคืนของถนนรามบุตรี-ถนนข้างวัดชนะสงครามเวลานี้ เต็มไปด้วยสถานบันเทิงเริงรมย์ เสียงเซ็งแซ่ของผู้คนที่มาเที่ยวคละเคล้าไปกับเสียงเพลงที่บรรเลงเสียงดังตลอดถนนได้โอบล้อมวัดที่เปรียบเสมือนที่พักทางใจของพุทธศาสนิกซึ่งต้องการความสุขสงบ รวมถึงเป็นสถานที่ขัดเกลาคนในชุมชนให้ออกห่างจากอบายมุขทั้งปวง แต่บัดนี้ได้กลายเป็นสิ่งใกล้ชิดเพียงกำแพงกั้นถนนข้าวสารจากชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดกับวัดได้กลายเป็นชุมชนที่อยู่คู่ขนานกับสิ่งเย้ายวนทางโลกไปเสียแล้ว
กล่าวได้ว่าบางลำพู ย่านการค้าสำคัญของคนไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน แต่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อันเนื่องจากบริบทแต่ละช่วงเวลา จากชุมชนที่มีเอกลักษณ์และความงดงามทั้งทางด้านสังคมวัฒนธรรมของชุมชน ได้มีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ย่านบางลำพูกลายเป็นแหล่งศูนย์รวมของนานาชาติ สิ่งอำนวยความสะดวกและสถานบันเทิง
ดูเหมือนว่าถนนข้าวสารจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างชื่อให้กับชาวบางลำพู ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสบรรยากาศ แทนที่จะเป็นย่านค้าขายที่มีกลิ่นอายของชุมชนในอดีต
อย่างไรก็ตามความเปลี่ยนอย่างรวดเร็วนี้ทำให้ชาวบางลำพูบางส่วนตระหนักถึงรากเหง้าและความเป็นตัวตนที่เหลือเพียงเลือนรางในพื้นที่ให้พื้นกลับมาอีกครั้ง จึงมีการรวมตัวกันภายใต้แนวคิด “ประชาคม” ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๑ เป็นต้นมา เพื่ออนุรักษ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เคยมีชีวิตและลมหายใจให้คงอยู่ ตลอดจนพยายามมีส่วนในการกำหนดทิศทางของมาตุภูมิ ถิ่นกำเนิดของตนอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
จักรสิน น้อยไร่ภูมิ. การศึกษาเพื่อหาแนวทางการอนุรักษ์ชุมชนเมืองบางลำพู เขตพระนคร. ภาควิชาการออกแบบ และวางผังชุมชนเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๘.
ปรารถนา รัตนะสิทธิ์. “การเปลี่ยนแปลงของถนนข้าวสารในชั่วชีวิต. ” สารนิพนธ์ปริญญาบัณฑิต ภาคมานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๓๗.
ย่ำตรอก ซอกซอย บนถนนข้าวสาร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๕๐.
พิเชฐ สายพันธ์. รายงานโครงการวิจัยชุมชนศึกษา เรื่องจินตภาพบางลำพู. สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์, ๒๕๔๒.
วิมลสิริ เหมทานนท์. ”การมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรการท่องเที่ยว : ศึกษากรณีชุมชนย่านบาง ลำพู.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๖.
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
Comentários