top of page

“ตลาดพลู” ไชน่าทาวน์ฝั่งธนฯ ในวันไร้พลู

อัปเดตเมื่อ 5 ก.พ. 2567

เผยแพร่ครั้งแรก 1 พ.ค. 2554


ขณะที่สำเพ็งคือศูนย์กลางการค้าของชาวจีนฝั่งพระนคร ทางฝั่งธนบุรีก็มี “ตลาดพลู” ที่ยืนนานและยืนยงมาจนถึงปัจจุบัน ในอดีตย่านนี้เป็นตลาดค้าพลูและปลูกพลูมาก จนกลายเป็นที่มาของชื่อบ้านนามเมืองแทนชื่อเดิมคือ ย่านบางยี่เรือ


ตลาดสดวัดกลางในปัจจุบัน


ดังหลักฐานสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่อธิบายว่า แหล่งปลูกพลูสำคัญคือย่านบางไส้ไก่และย่านบางยี่เรือ ซึ่งเหลือร่องรอยเรียกชื่อวัดสำคัญ ๓ แห่งในย่านนี้คือ วัดอินทาราม (วัดบางยี่เรือบน) วัดจันทาราม (วัดบางยี่เรือกลาง) และวัดราชคฤห์ (วัดบางยี่เรือใต้ หรือบ้างก็เรียก วัดบางยี่เรือมอญ)


ขอบเขตตลาดพลูด้านกายภาพมีความหมายเป็น ๒ ลักษณะ คือ ๑ หมายถึงสถานที่ที่เป็น ตัวตลาด ๒ หมายถึง ย่านตลาด ซึ่งพื้นที่จะมีความยืดหดไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลา สำหรับคนในพื้นที่มองว่าย่านตลาดพลูกินพื้นที่ริมคลองบางกอกใหญ่หรือคลองบางหลวงฝั่งซ้าย นับแต่วัดเวฬุราชินเรื่อยไปจนจรดวัดขุนจันทร์ ริมคลองด่านหรือคลองสนามชัย ส่วนตลาดพลูเริ่มตั้งแต่สะพานช้างตรงคลองวัดราชคฤห์ถึงบริเวณสะพานรัชดาภิเษก ซึ่งมีถนนตอนในเรียกว่า ถนนตลาดพลู ไม่เรียกตลาดวัดกลางว่าตลาดพลู แต่ตลาดวัดกลางจัดอยู่ในย่านตลาดพลู


ขณะที่คนนอกพื้นที่กลับมองว่า ย่านตลาดพลูเริ่มตั้งแต่หัวเลี้ยวโรงพักบางยี่เรือเรื่อยไปตามแนวถนนเทอดไทถึงแยกถนนวุฒากาศ สิ้นสุดตรงบริเวณวัดขุนจันทร์ ส่วนตัวตลาดพลูอยู่ใต้สะพานรัชดาภิเษก ในท้องถิ่นย่านตลาดพลูมี ศาสนสถานสำคัญ ๆ หลายแห่ง ทั้งวัดในศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาลเจ้า และมัสยิดของอิสลาม


เนื่องจากบริเวณย่านตลาดพลูเป็นพื้นที่ที่มีแม่น้ำลำคลองสำคัญพาดผ่าน โดยเฉพาะเป็นเส้นทางสัญจรที่ออกสู่อ่าวไทย และสามารถติดต่อไปยังหัวเมืองตะวันตกและทางตอนใต้ได้ จึงทำให้ผู้คนจากท้องถิ่นดังกล่าวนำสินค้าในพื้นที่มาขายแลกเปลี่ยนกับคนกรุงได้สะดวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านตลาดพลูที่มีตลาดท้องน้ำตั้งอยู่ในจุดที่สบกันของคลองใหญ่ ๓ สาย คือ คลองบางหลวง คลองสนามชัย และคลองภาษีเจริญ (ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔) อีกทั้งยังอยู่ใกล้ด่านเก็บภาษีอากรขนอนตลาดตรงปากคลองด่าน จึงเป็นศูนย์กลางการค้าทั้งสินค้าขาเข้าและขาออก สินค้าที่แลกเปลี่ยนค้าขายในท้องน้ำบริเวณนี้จึงหลากหลาย ไม่เพียงพืชผัก ส้มสูกลูกไม้ตามสวนในคลองซอยต่าง ๆ ของเมืองบางกอก แต่ยังมีเรือข้าวจากสุพรรณบุรี อ่างทอง เรือเกลือ เรือปลาทู กะปิ น้ำปลา ปลาเน่า ไม้แสม และของทะเลแห้งจากเพชรบุรีและเมืองสมุทร เรือพริก หอม กระเทียม จากบางช้าง เรือขนไม้รวกจากเมืองกาญจน์ เรือบรรทุกโอ่งอ่าง หม้อไห จากราชบุรี เรือน้ำตาลจากเพชรบุรีและแม่กลอง เพื่อมาค้าขายแลกเปลี่ยนกับสินค้าสำคัญที่เป็นที่ต้องการในทุกถิ่นที่ นั่นคือพลูและหมากที่ปลูกกันมากในสวนเมืองบางกอก อีกทั้งยังมีชื่อเสียงในเรื่องรสชาติ โดยเฉพาะพลูเหลืองที่ปลูกกันเป็นขนัดใหญ่ในแถบบางยี่เรือ ตั้งแต่คลองสำเหร่ คลองบางน้ำชน และคลองบางสะแก ซึ่งชาวสวนจะนำมาวางจำหน่ายกันริมคลองบางหลวงในย่านนี้ จนเป็นศูนย์กลางของการค้าหมากพลู อันกลายเป็นชื่อตลาดและคำเรียกขานย่านไปในที่สุด แม้เมื่อหมดยุคการค้าพลูไปแล้วก็ตาม


ตลาดท้องน้ำในย่านนี้กินพื้นที่กว้างตั้งแต่ปากคลองด่านไปจนถึงหน้าวัดเวฬุราชิน แต่ที่หนาแน่นจะอยู่แถบหน้าวัดอินทาราม วัดจันทาราม และวัดราชคฤห์ ซึ่งชาวบ้านเรียกออกเป็นสองตลาดใหญ่ๆ คือ ตลาดวัดกลางกับตลาดพลู โดยขอบเขตพื้นที่ของตลาดวัดกลางและตลาดพลูปรากฏชัดเจนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ระบุว่า ตลาดพลูกินพื้นที่บริเวณตั้งแต่ปากคลองบางน้ำชนไปถึงปากคลองบางสะแก ส่วนตลาดวัดกลางนั้นเริ่มตั้งแต่วัดอินทารามเรื่อยมาถึงวัดราชคฤห์


การเติบโตของย่านตลาดพลูนอกจากปัจจัยในเรื่องเส้นทางน้ำแล้ว การพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบกก็มีส่วนสำคัญ คือในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้มีการสร้างทางรถไฟสายท่าจีนจากคลองสาน จังหวัดธนบุรี ถึงมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ทำให้สะดวกต่อการขนส่งอาหารทะเลขึ้นมาขาย ทำให้ตลาดพลูมีความคึกคักยิ่งขึ้น ด้วยมีสถานีรถไฟเกิดขึ้นในย่านนี้ สินค้าทะเลสามารถส่งมาขายในตลาดได้รวดเร็วขึ้น และย่านตลาดพลูได้กลายเป็นชุมทางของการสัญจรที่คนในท้องที่สวนด้านในจากหนองแขม บางแค บางแวก บางขุนเทียน ที่มีแต่เส้นทางเรือสัญจรจะมาขึ้นย่านตลาดแห่งนี้ เพื่อต่อเรือเมล์หรือรถไฟเข้าไปในพระนครหรือเมืองแม่กลองและหัวเมืองทางใต้ ประกอบกับย่านตลาดพลูมีโรงบ่อนเบี้ยหลวง ซึ่งเป็นบ่อนการพนันที่ถูกกฎหมายของรัฐ ตลอดจนโรงหนัง โรงงิ้ว โรงยาฝิ่น ไว้ให้บริการแก่ชาวจีนที่นิยมเสพ โดยเฉพาะกุลีชาวจีนตามโรงสี โรงเลื่อย คานเรือ ที่มีดาษดื่นริมสองฝั่งคลองบางหลวง จึงทำให้ย่านตลาดพลูคลาคล่ำไปด้วยผู้คนเกือบตลอดทั้งวัน


นับแต่รัชกาลที่ ๔ จนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นช่วงเวลาที่มีคนจีนอพยพเข้ามายังสยามอย่างต่อเนื่อง ชาวจีนบางส่วนพากันมาตั้งถิ่นฐานในย่านตลาดพลู ทำให้การค้าในพื้นที่นี้เติบโตกลายเป็นตลาดใหญ่สุดในย่านฝั่งธนฯ ที่ใคร ๆ ก็ต้องเดินทางมาจับจ่ายซื้อของ ด้วยมีของอุปโภคบริโภคบริบูรณ์ ทั้งผลิตในประเทศและจากเมืองจีน อาทิ เครื่องโต๊ะ เก้าอี้ ตู้เตียง ถ้วยชาม เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว น้ำปลา ลูกพลับ ลูกไหน ลิ้นจี่ดอง ใบชา เหล้าจีน เครื่องอัฐบริขาร เครื่องจันอับ ตลอดจนขนมและข้าวของเซ่นไหว้นานาชนิดของคนจีน


กระทั่งช่วง พ.ศ. ๒๔๘๐ มีการตัดถนนเทอดไทผ่านเข้ามาในย่านตลาดพลู ส่งผลให้การคมนาคมสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้ชาวตลาดพลูเกิดการปรับเปลี่ยนจากการทำการเกษตรอย่างเดียวมาทำการค้าโชห่วย เปิดร้านอาหาร และธุรกิจอย่างอื่น เช่น โรงงานยาหม่องตราถ้วยทอง ยาหอมตรา ๕ เจดีย์ โรงทำเต้าเจี้ยว โรงนึ่งปลาทู โรงน้ำปลา เป็นต้น เกิดการจ้างงานของชาวจีนจำนวนมาก ช่วงเวลานี้ตลาดพลูนับเป็นช่วงที่มีความเจริญสูงสุด รวมทั้งการค้าพลูก็ยังคงมีความคึกคักเช่นเดิม


เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น การทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้ผู้คนฝั่งพระนครพากันอพยพหลบหนีเข้ามาอยู่ในสวน ประกอบกับเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ส่งผลให้สวนล่ม และรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีนโยบายให้ยกเลิกการกินหมากพลู ส่งผลกระทบให้มีการทำลายต้นหมากพลู และการค้าพลูหยุดลง ชาวสวนที่สวนล่มจึงเห็นลู่ทางให้เช่าที่ปลูกบ้านแก่คนที่อพยพเข้ามาหลังสงคราม


ประจวบกับในราว พ.ศ. ๒๕๐๐ เมื่อรัฐบาลมีแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร โดยขยายเมืองและสร้างสาธารณูปโภคด้านต่างๆ รองรับ ส่งผลให้ตลาดพลูมีการเติบโตด้านเศรษฐกิจอย่างมาก พร้อม ๆ กับเกิดความเปลี่ยนแปลงภายในพื้นที่ด้วย เนื่องจากมีการถมคลอง สร้างบ้านเช่าห้างร้านมากขึ้น ทำให้พื้นที่สวนลดน้อยลงเรื่อยๆ ผู้คนจำนวนมากต่างเลิกทำสวน และเนื่องจากความสะดวกสบายที่เอื้อต่อการทำมาหากินในย่านนี้ ส่งผลให้ย่านตลาดพลูมีปัญหาแรงงานอพยพ พื้นที่ตามชุมชนต่าง ๆ เริ่มแออัดมากขึ้น พื้นที่การเกษตรถูกปรับเปลี่ยนเป็นย่านที่อยู่อาศัย พื้นที่การค้าหลักของย่านถูกถนนตัดคร่อม จากท่าพระถึงแยกถนนจรัญสนิทวงศ์ กอปรกับตัดเส้นทางรถไฟสายแม่กลองมาสิ้นสุดที่วงเวียนใหญ่ จึงทำให้ย่านวงเวียนใหญ่พัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการค้าขึ้นมาแทนที่ คนมาจับจ่ายซื้อขายสินค้าในย่านตลาดพลูลดลง จนในที่สุดก็ซบเซาลงเรื่อย ๆ


ปัจจุบันย่านตลาดพลูมีตลาดวัดกลางเป็นตลาดใหญ่ที่ยังคงขายอาหารสดและอาหารแห้ง รวมถึงของอุปโภคบริโภค โดยภายในตลาดมีทั้งแผงขายของและเรือนแถวไม้กับตึกแถว ส่วนแนวทางเดินริมเขื่อนที่เป็นถนนในมีร้านขายยา ร้านขายอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องจักสาน ไปจนถึงหลังวัดราชคฤห์ ตลาดวัดกลางจะคึกคักตั้งแต่เช้าตรู่ไปจนสายตลาดก็จะวาย ขณะเดียวกันร้านค้าบริเวณสองฝั่งถนนเทอดไทยังมีคลินิก ร้านค้าเปิดขายอยู่ ในบริเวณที่ใกล้กับสถานีรถไฟตลาดพลูไปจนจรดใต้ถนนรัชดาภิเษกจะค่อนข้างคึกคัก เพราะเป็นตลาดขายอาหาร มีร้านก๋วยเตี๋ยว หอยทอด ผัดไท ข้าวราดแกงต่าง ๆ


นอกจากนี้ยังมีร้านขายขนมหวานขึ้นชื่อ เช่น ร้านขนมหวานตลาดพลู ร้านหมี่กรอบจีนหลี ร้านขายกุยช่าย ร้านข้าวหมูแดงหมูกรอบ เป็นต้น ตลาดริมทางรถไฟเปิดขายตั้งแต่เช้าและปิดในเวลา ๔-๕ โมงเย็น พอตกค่ำจะมีตลาดช่วงเย็นมาเปิดแทน หรือเรียกว่าตลาดโต้รุ่ง ปัจจุบันตลาดวัดกลางบริเวณริมคลองวัดจันทารามเป็นแผงขายของสด เช่น ผักสด ผักดอง ผลไม้ตามฤดูกาล ปลาน้ำจืด ปลาน้ำเค็ม หมู เนื้อ เป็นต้น ส่วนบริเวณแนวซอยถนนเทอดไท ๑๒ จะเป็นร้านขายของชำของคนจีน ของอุปโภคบริโภค บริเวณนี้มีลักษณะเป็นเรือนไม้และตึกแถว โดยชั้นล่างเปิดเป็นร้านขายของ ตลาดวัดกลางตั้งแผงตั้งแต่เช้ามืดและวายในตอนสาย ๆ ราว ๐๙.๐๐-๑๐.๐๐ น.


ตลาดพลูเป็นตลาดที่มีการพัฒนามาจากตลาดชุมชน ซึ่งเป็นตลาดขายพลูและผลหมากรากไม้ จนพัฒนากลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าของฝั่งธนบุรี ที่มีทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคนานาชนิด ตลอดจนเป็นแหล่งบันเทิงที่มีโรงมหรสพต่าง ๆ ไว้บริการ กระทั่งเจริญถึงขีดสุดก็ทรุดโทรมลงในเวลาต่อมา เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เปลี่ยนผ่านไปตามกาลเวลา


อย่างไรก็ดีย่านการค้าเก่าแก่อย่างตลาดพลูจะเงียบเหงาลงมากในปัจจุบัน หากแต่มิได้สิ้นสูญไป กลับปรับเปลี่ยนไปสู่ตลาดขายอาหารที่เป็นต้นทุนเดิมของชาวตลาดพลู ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชาวจีนที่ยังสามารถธำรงเอกลักษณ์ความเป็นชุมชนชาวจีนและกลิ่นอายของความเป็นตลาดพลูในอดีตไว้ได้เช่นเดิม

เอกสารอ้างอิง


กวี รักษ์พลอริยะคุณ. การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนย่านตลาดพลู. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์ มหาบัณฑิต สถาบันราชภัฏธนบุรี. ๒๕๔๖.

พวงร้อย กล่อมเอี้ยง และคณะ. โครงการวิจัยประวัติศาสตร์วิถีชีวิตท้องถิ่นย่านตลาดพลู. สำนักงานกองทุน สนับสนุนการวิจัย กลุ่มโครงการวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคกลาง. ๒๕๔๖.


อ่านเพิ่มเติมได้ที่:




 
 
 

Comentários


เกี่ยวกับมูลนิธิ

เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ลำดับที่ ๕๘๐ ของประกาศกระทรวงการคลังฯ เผยแพร่ความรู้และความเข้าใจทางสังคมวัฒนธรรมในท้องถิ่นต่างๆ และเพื่อสร้างนักวิจัยท้องถิ่นที่รู้จักตนเองและรู้จักโลก

SOCIALS 

© 2023 by FEEDs & GRIDs. Proudly created with Wix.com

bottom of page