top of page

การผนวกรัฐพิธีสู่พิธี "กรรมเมือง" ของท้องถิ่นที่แม่สาย

เผยแพร่ครั้งแรก 1 เม.ย. 2554


แม่สายเคยเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กเมื่อครั้งก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ความเป็นช่องทางเดินทางผ่านเทือกเขาแดนลาวที่เรียกว่า “ฮ่องลึก” ทำให้เป็นด่านพรมแดนโดยธรรมชาติ ผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ทั้งที่อาศัยอยู่บนพื้นราบและชาวเขาต่างอาศัยเดินทางผ่านและโยกย้ายกลุ่มไปมาตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้เกิดชุมชนบ้านเมืองเก่าแก่ เช่นที่เวียงโบราณเชิงเขาต่อกับทุ่งราบใกล้เมืองแม่สายในปัจจุบันที่เรียกว่า “เวียงพางคำ” ร่องรอยการขุดลำเหมือง “เหมืองแดง” ที่ชักน้ำจากลำน้ำสายมาหล่อเลี้ยงส่วนหนึ่งของทุ่งราบเชียงแสน-แม่จันอันอุดมสมบูรณ์ และมีตำนานการสร้างบ้านเมืองที่เล่าสืบต่อกันมาอย่างหลากหลายและน่าติดตาม และภายหลังถูกเขียนขึ้นใหม่อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรโดยพระภิกษุแห่งล้านนา ในยุคที่พุทธศาสนาแบบเถรวาทเข้ามาสู่ดินแดนนี้และตั้งมั่นอย่างรุ่งเรืองจนกลายเป็นโลกทัศน์ทางศาสนาที่ปะปนกับการดำเนินชีวิตอย่างแยกไม่ออก


บริเวณอนุสาวรีย์พระเจ้าพรหมมหาราชที่แม่สาย


ผู้คนจากแม่สายพื้นเดิมอพยพมาจากลำพูนเมื่อมีเหตุการณ์เนื่องจากภาวะอดอยากแห้งแล้ง แบ่งออกเป็นกลุ่มคนยองที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองยองในยุคพระเจ้ากาวิละเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง กวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองทางเหนือไปอยู่ที่เชียงใหม่และลำพูนสืบเนื่องมาจากศึกครั้งพม่าและกรุงเทพฯ เมื่อเกิดภาวะหาอยู่หากินยากหลังจากหมดยุคเจ้าเมืองเมื่อเปลี่ยนแปลงมาเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาลในราวสมัยรัชกาลที่ ๕ คำเล่าลือถึงพื้นที่ราบอันอุดมสมบูรณ์และเป็นทางผ่านที่จะเดินทางไปสู่เมืองไตทั้งหลายทั้งฝั่งน้ำโขงและสาละวิน ที่ “ต้นข้าวใหญ่ราวต้นตะไคร้” ปลูกอะไรก็งอกงามดี ทำให้คนที่ถูกกวาดต้อนไปย้อนกลับมาอยู่ที่เมืองยองเดิมบ้าง และส่วนหนึ่งมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่แม่สาย


เมืองแม่สายผ่านสงครามโลกครั้งที่ ๒ ด้วยความเป็นเมืองด่านชายแดน ซึ่งเป็นปากประตูของทหารไทยที่เดินทัพไปยึดเชียงตุง และการสร้างถนนพหลโยธินมาจรดทางด้านเหนือสุดของประเทศต่อกับฝั่งท่าขี้เหล็กของรัฐฉาน ทำให้ชุมชนชายแดนทั้งสองฝั่งกลายเป็นเมืองด่านสำคัญและมีผู้คนอพยพโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีการสร้างตลาดใหม่และมีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ย้ายมาอยู่จนกลายเป็นท้องถิ่นที่ประกอบด้วยกลุ่มคนหลากภาษา ศาสนา และความเชื่อ


เมื่อท่าขี้เหล็กเปลี่ยนแปลงเพราะถูกยึดโดยรัฐบาลทหารพม่าในภายหลัง การค้าทางฝั่งท่าขี้เหล็กที่เคยคึกคักและมีสินค้ามากมายกว่าทางฝั่งแม่สายก็กลายเป็นสิ่งตรงกันข้าม การค้าทางฝั่งนั้นซบเซาลง ในขณะที่ทางฝั่งแม่สายคึกคักขึ้น จากตลาดท้องถิ่นก็กลายเป็นตลาดภูมิภาคขนาดใหญ่ มีการรับและส่งสินค้ามากขึ้น ชาวบ้านที่ทำการเกษตรแต่เดิมก็ปรับตัวจากการขายที่ดิน กลายเป็นคนค้าขายและประกอบอาชีพในเมืองที่เปลี่ยนแปลงขยับขยายบ้านเรือน โรงเรียนต่าง ๆ หนาแน่นกลายเป็นเขตเทศบาลแม่สาย ซึ่งภายหลังทางฝั่งท่าขี้เหล็กของพม่ามีการลงทุนมากขึ้น ก็เปลี่ยนจากตลาดที่เคยซบเซาเป็นอาคารร้านค้า คาสิโน และเส้นทางที่นำไปสู่เมืองเชียงตุงและเมืองในเขตมณฑลยูนนานในประเทศจีนด้วย ทั้งสองฝั่งน้ำแม่สายภายหลังการเปิดให้เป็นด่านชายแดนสากลก็เปลี่ยนแปลงทางกายภาพ กลายเป็นเมืองที่ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วภายในเวลาราว ๒๐ ปีที่ผ่านมา


จากลักษณะความเป็นท้องถิ่นเก่าแก่ และสำคัญมาแต่เดิม ที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ยุคแรกเริ่มของการตั้งถิ่นฐานในเขตที่ราบลุ่มเชียงแสน-เชียงราย ซึ่งสัมพันธ์กับตำนานสิงหนวัติกุมารที่กล่าวถึงวีรบุรุษทางวัฒนธรรมองค์หนึ่งที่สืบต่อมาจนถึงพระเจ้าพรหมกุมาร ตำนานเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นจากพระภิกษุในพุทธศาสนา ดังนั้นห้วงเวลาจึงกลายเป็นอุดมคติและใช้ศักราชหลายแบบ ซึ่งสร้างให้สัมพันธ์กับพุทธประวัติ เวลาที่ปรากฏและเนื้อเรื่องจึงเป็นโลกทัศน์ที่เป็นผลมาจากคัมภีร์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นชาดกทางศาสนาจนไม่อาจค้นหาความจริงจากช่วงเวลาที่ปรากฏ ทั้งธรรมเนียมการเขียนตำนานบ้านเมืองนั้นเกี่ยวพันกับเจ้าผู้ปกครองมากกว่าที่จะพรรณนาถึงสภาพแวดล้อมทั่วไปของสังคมในยุคนั้น ทุกอย่างที่ปรากฏในเอกสารตำนานจึงกลายเป็นภาพสะท้อนที่ต้องถอดรหัสและตีความสารที่ปรากฏในสื่อเช่นนี้ ซึ่งการเขียนประวัติศาสตร์ยุคแรก ๆ ของประเทศไทยขาดการวิเคราะห์ตำนานในลักษณะดังกล่าว แต่เป็นการนำข้อมูลไปใช้โดยตรง ดังนั้น พระเจ้าพรหมกุมารจึงถูกนักประวัติศาสตร์ตีความว่าเป็นบรรพบุรุษของกษัตริย์ในราชวงศ์แห่งอยุธยา ซึ่งมีความเชื่อเหล่านี้สืบทอดมาตั้งแต่สมัยปลายอยุธยาแล้ว


พิธีกรรมเมืองคือการใช้รูปแบบการเลี้ยงผีเมืองแบบท้องถิ่น ผนวกเข้ากับการสืบชะตา สวดนพเคราะห์

เพื่อความเป็นสิริมงคลของบ้านเมืองที่แม่สาย (ขอภาพที่บอม)


การเขียนประวัติศาสตร์ในยุคแรก ๆ ซึ่งอยู่ในสมัยสร้างชาติไทยในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ และในภายหลัง จนผลิตงานประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมจำนวนมากออกมาเผยแพร่และใช้เป็นแบบเรียน จึงทำให้พระเจ้าพรหมกลายเป็นมหาราชพระองค์แรกและเป็นปฐมกษัตริย์ของชาติไทยหลังจากที่ชาติไทยถอยร่นมาจากทางทิศเหนือ พระเจ้าพรหมมหาราชจึงถูกหยิบยกกล่าวถึงในหมู่นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ข้าราชการ ครูบาอาจารย์และปราชญ์ในพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือในเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งในแม่สายเอง จนกระทั่งเวียงพางคำซึ่งยังคงปรากฏคูน้ำคันดิน รวมทั้งสถานที่ต่าง ๆ ที่ปรากฏในตำนานและการสร้างวัดที่เกี่ยวเนื่องกับทั้งพระบิดา และตัวพระเจ้าพรหมเองก็ถูกผนวกให้กลายเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้ในตำนานของพระเจ้าพรหมมหาราชในภายหลัง


การสร้างพิธีกรรมการบวงสรวงที่ปรากฏมาเกือบสิบปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นพิธีกรรมแบบรัฐที่ระดมกลุ่มชาวบ้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์จากบริเวณอำเภอแม่สายทั้งที่สูงและพื้นราบมาร่วมเดินขบวนเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าพรหมฯ และสนับสนุนให้มีการจัดแสดงละครกลางแจ้งประกอบแสงสีในเวลาค่ำคืน ในเนื้อหาที่ดึงออกมาจากตำนานในทำนองเรื่องแต่ง ซึ่งสะท้อนความเป็นผู้นำของพระเจ้าพรหมกุมารที่มีชัยเหนือฝ่ายตรงข้ามมากกว่าเรื่องอื่น ๆ 


แต่ส่วนที่สำคัญและชาวบ้านชาวเมืองมีส่วนร่วมมากที่สุดคือการทำบุญสืบชะตาและทำพิธีนพเคราะห์ที่ถือเสมือนเป็นพิธีกรรมเพื่อความเป็นสิริมงคลของคนแม่สาย ชาวบ้านจึงแต่งชุดขาวมาโดยสมัครใจอย่างล้นหลามมากกว่าการแห่ขบวนบวงสรวงที่ดูว่าเป็นพิธีการที่ทางอำเภอขอความร่วมมืออย่างมีส่วนร่วมกับคนในท้องถิ่น 


แต่อย่างไรก็ตาม พิธีกรรมที่เพิ่งสร้างเหล่านี้ก็กำลังกลายเป็นพิธีกรรมเมืองในรูปแบบใหม่ ผสมผสานกับรูปแบบการเลี้ยงเมืองหรือเลี้ยงผีบรรพบุรุษหรือผีเจ้านายของเมืองที่ปรากฏอยู่ทั่วไปตามเมืองต่าง ๆ ในท้องถิ่นภาคเหนือในปัจจุบัน และเริ่มมีผู้เข้าร่วมในงานอย่างเต็มใจมากขึ้นทุกปี


พิธีกรรมเมืองในรูปแบบใหม่นี้กำลังกลายเป็นการยกเอาวีรบุรุษในตำนานของท้องถิ่นผสมผสานกับตำนานจากประวัติศาสตร์ชาติไทยแบบจารีต เป็นการฟื้นตัวตนของวีรบุรุษในตำนานให้กลายเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ ผ่านกระบวนการพิธีกรรมบวงสรวงแบบเป็นทางการผ่านอำนาจรัฐและแบบประเพณีท้องถิ่นในเชิงความเชื่อและศาสนา 


เป็นการแสดงอัตลักษณ์ของคนแม่สายที่มีความหลากหลายทางกลุ่มผู้คน คือในชาติพันธุ์ ความเชื่อ เศรษฐกิจและการเมืองให้มารวมภายใต้ความคุ้มครองของพระเจ้าพรหมมหาราชผู้ปกปักรักษาเมืองแม่สายมาตั้งแต่สมัยอดีตจนในทุกวันนี้


วลัยลักษณ์ ทรงศิริ


อ่านเพิ่มเติมได้ที่:


Comments


เกี่ยวกับมูลนิธิ

เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ลำดับที่ ๕๘๐ ของประกาศกระทรวงการคลังฯ เผยแพร่ความรู้และความเข้าใจทางสังคมวัฒนธรรมในท้องถิ่นต่างๆ และเพื่อสร้างนักวิจัยท้องถิ่นที่รู้จักตนเองและรู้จักโลก

SOCIALS 

© 2023 by FEEDs & GRIDs. Proudly created with Wix.com

bottom of page