หนังสือ“ความล้มเหลวในการศึกษาของชาติ” หนังสือชุด “คู่มือฉุกคิด” โดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
การทำงานเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี รวมทั้งความรู้ด้านสังคมและวัฒนธรรมของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ที่ผ่านมานั้น ใช้วิธีการถ่ายทอดและนำเสนอความรู้แบบนอกระบบการศึกษาอย่างเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น การอบรมความรู้เรื่องประวัติศาสตร์บอกเล่า หรือการทำความเข้าใจเรื่องการใช้แผนที่เพื่อการศึกษาท้องถิ่น และอื่นๆ
พบว่าการศึกษาในระบบโรงเรียนนั้นละเลยการอบรมความรู้แบบปลูกฝังทางวัฒนธรรมที่เป็นการส่งผ่านถ่ายทอดความรู้แบบเป็นธรรมชาติที่เคยเกิดขึ้นนี้อันเป็นพื้นฐานของมนุษย์ ทำให้เด็กและเยาวชนในสังคมไทยส่วนใหญ่ขาดแคลนความรู้และความเข้าใจในขนบธรรมเนียม ประเพณี และความรู้เกี่ยวกับบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองไปอย่างเห็นได้ชัด
แก่นของความคิดที่เป็นวาทกรรมอย่างหนึ่งก็คือ "การเรียนโดยการกระทำ" คือ การเรียนโดยการปฏิบัติหรือเรียนอย่างมีประสบการณ์นั้นเอง เมื่อปฏิบัติและมีประสบการณ์นั่นแหละจะสามารถทำให้คิดได้และทำได้เป็นผลตามมา แต่ดูเหมือนบรรดานักการศึกษาใหญ่ๆ ของไทยถอดรหัสแก่นแท้ของความหมายนี้ไม่ได้ เพราะขาดความเข้าใจในบริบทของความเป็นมนุษย์และสังคม จึงมาคิดเป็นโครงสร้างและระบบเชิงเทคนิคที่ห่างความจริงไป นั่นคือ การทำให้เด็กเรียนรู้อย่างเป็นปัจเจกบุคคล ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่ากลัวมากว่าเด็กในยุคต่อไปจะเรียนเก่งหรือทำอะไรเก่งๆ ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวเท่านั้น เมื่อเกิดขึ้นก็เท่ากับเป็นการขานรับค่านิยมในเรื่องปมด้อยปมเด่นที่สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
สารบัญ ประกอบด้วย
๑. การปลูกฝังทางวัฒนธรรม (Cultivation) กระบวนการศึกษาทางสังคมที่ขาดไป
๒. ปัญหาการศึกษาสังคมวัฒนธรรมไทย
๓. เด็กเป็นศูนย์กลาง วาทกรรมคำโตๆ ที่แสนกลวง
๔. พฤติกรรรมวัยรุ่นกับความวิบัติของสังคมไทย
๕. โรงเรียนชุมชน โรงเรียนทางเลือก กับปฏิบัติการโหดของกระทรวงศึกษาธิการ
๖. การอ่านแผนที่กับการเรียนรู้นิเวศวัฒนธรรมของเด็กไทยในยุคปฏิรูปการศึกษา
๗. แด่การวิจัย
ข้อมูลหนังสือ
หนังสือชุด “คู่มือฉุกคิด” เรื่องความล้มเหลวในการศึกษาของชาติ
ISBN ๙๗๘-๖๑๖-๗๘๑๑-๐๔-๘ จัดพิมพ์โดยมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ พิมพ์ครั้งที่ ๒ : มีนาคม ๒๕๕๗, หนังสือปกอ่อนขนาด (๑๔.๘x ๒๑.oซม.), จำนวน ๗๗ หน้า